xs
xsm
sm
md
lg

การจัดตั้งรัฐบาลพิธา / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

 เมื่อได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งด้วยเสียงมากเป็นลำดับหนึ่งได้รับที่นั่ง ส.ส.จำนวน 151 ที่นั่ง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลก็ได้ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลผสม ด้วยการจับมือกับพรรคเพื่อไทยที่ชนะเป็นลำดับสองที่มีส.ส. จำนวน 141 คน และพรรคเล็กอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง นายพิธารวบรวมเสียง ส.ส.ได้จำนวน 312 เสียง ซึ่งเกิน 250 เสียงอันเป็นกึ่งหนึ่งของส.ส.ทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎรอยู่จำนวน 62 ที่นั่ง ด้วยจำนวนเสียงขนาดนี้ หากจัดตั้งรัฐบาลได้ จะทำให้เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสูง


หากประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยปกติตามหลักสากล การจัดตั้งรัฐบาลพิธาคงประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนด้วยเวลาไม่นานนัก ทว่า ความจริงคือประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่พิกลพิการ เพราะการได้รับเสียงของประชาชนเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถทำให้เป็นรัฐบาลได้ทันที หากจะอาศัยเฉพาะเสียงประชาชนจะต้องใช้เสียง ส.ส. ถึงสามในสี่ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด หรือประมาณ 376 เสียง ไม่ใช่กี่งหนึ่งตามหลักสากล ความพิกลนี้เกิดจากนักร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารที่ใช้เล่ห์กลกำหนดให้การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องเลือกในรัฐสภา แทนที่จะเลือกในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

ความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลพิธาจึงต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่แหลมคมและทรงพลัง เพื่อเอาชนะคู่แข่งและปรปักษ์ทางการเมือง แต่จะเลือกใช้ยุทธศาสตร์แบบใด จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสและสิ่งคุกคามให้กระจ่างเสียก่อน เพื่อใช้เป็นรากฐานในการกำหนดยุทธศาสตร์ต่อไป

จุดแข็งของนายพิธาและพรรคก้าวไกลมี 4 ประการหลัก ประการแรก มีความชอบธรรมสูง เพราะชนะการเลือกตั้งมาเป็นลำดับหนึ่ง ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุดทั้งการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และ ส.ส.แบบแบ่งเขต และเป็นชัยชนะที่สะอาดหมดจด อันเกิดจากการรณรงค์หาเสียงที่สุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายโดยปราศจากข้อโต้แย้งว่า ทุกคะแนนเสียงที่ได้มาเกิดจากเจตจำนงทางการเมืองที่แท้จริงของประชาชน

 ประการที่สอง นายพิธามีภาวะผู้นำสูง มีทั้งวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีพันธกิจที่ชัดเจน มีความสามารถในการสื่อสารถ่ายทอดวิสัยทัศน์ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ในการรับมือกับสิ่งท้าทายได้เป็นอย่างดี มีความมั่นคงในจุดยืนที่เชื่อมโยงกับหลักการประชาธิปไตย และที่สำคัญมีบุคลิก ท่วงทำนองอ่อนน้อม และการปฏิบัติที่ให้เกียรติผู้คนอย่างทั่วหน้า จนทำให้ได้รับความนิยมและชื่นชมจากผู้คนจำนวนมาก

 ประการที่สาม พรรคก้าวไกลมีนโยบายที่เป็นระบบและครอบคลุมรอบด้านสำหรับการบริหารประเทศ เป็นนโยบายที่เกิดจากการศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมไทยอย่างลุ่มลึก ลักษณะนโยบายมีทั้งการจัดการอาการของปัญหาที่ต้องบรรเทาและแก้ไขในระยะสั้น และนโยบายที่แก้ไขสาเหตุของปัญหาในระยะกลาง และระยะยาว รวมทั้งมีการร่างกฎหมาย อันเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาไว้อย่างพร้อมพรั่ง พร้อมที่จะขับเคลื่อนได้ทันทีหากได้เป็นรัฐบาล
 ประการที่สี่ พรรคก้าวไกลมีบุคลากรจำนวนมากที่เปี่ยมด้วยความรู้ความสามารถ และมีความมุ่งมั่นในการทำงาน เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนเอง รับฟังเสียงประชาชน ซื่อตรงมั่นคงในหลักการ และพร้อมรับผิดชอบการกระทำของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากนักการเมืองรุ่นเก่า

 สำหรับประเด็นที่อาจถือได้ว่าเป็นจุดอ่อนคือ นโยบายบางอย่างที่มีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกของคนจำนวนหนึ่งในสังคมไทย ที่มีความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมขวาจัด รวมทั้งกลุ่มชนชั้นนำทางอำนาจ นโยบายดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ โจมตี และต่อต้านอย่างแข็งขันจากกลุ่มคนเหล่านั้น

ด้านโอกาสที่เอื้อให้การจัดตั้งรัฐบาลพิธาประสบความสำเร็จประกอบด้วย  ประการแรกคือ ความล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์ในการบริหารประเทศอย่างรอบด้านในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ประชาชนเกือบทั้งหมดเบื่อหน่ายรัฐบาลชุดเดิม และต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างแรงกล้า  ประการที่สอง ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ คนกรุงเทพฯ คนปริมณฑล และคนภาคตะวันออกมีความคาดหวังสูงในตัวนายพิธาและพรรคก้าวไกล และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันในการจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ ประการที่สาม กลุ่มนักธุรกิจที่ประกอบกิจการอย่างสุจริตให้การยอมรับและสนับสนุนอย่างกว้างขวาง ประการที่สี่ นานาชาติยอมรับ เพราะเป็นพรรคที่ได้รับชัยชนะมาตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ประการที่ห้า สื่อมวลชนและนักวิชาการจำนวนมากให้การสนับสนุน เพราะต้องการเห็นการเมืองแบบใหม่ที่ยึดหลักธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ โปร่งใส มีส่วนร่วม รับผิดชอบต่อสังคม และยึดหลักจริยธรรมทางการเมือง อันได้แก่ ยึดประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ยึดความยุติธรรม และเคารพสิทธิของประชาชนอย่างแท้จริง และประการที่หกคือ ผุ้คนในแผ่นดินปรารถนาให้ประเทศมีการเมืองที่มีเสถียรภาพ มีเกียรติภูมิ มีความรุ่งเรือง และเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ อันจะเป็นที่กล่าวขานในอนาคตว่าเป็นยุคสมัยที่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความศิวิไลซ์

กระนั้นก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลพิธามีอุปสรรคที่สำคัญสี่ประการด้วยกัน

 ประการแรก พันธมิตรพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคอันได้แก่พรรคเพื่อไทยเล่นเกมอำนาจทางการเมือง เพื่อช่วงชิงการนำในการจัดตั้งรัฐบาล  เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในสองสัปดาห์แรกของจัดตั้งรัฐบาล มีเหตุการณ์หลายอย่างที่สามารถอนุมานได้ว่าพรรคเพื่อไทยใช้ยุทธศาสตร์เชิงซ้อนในการจัดตั้งรัฐบาล ยุทธศาสตร์แรกคือ การประกาศสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการโดยแกนนำหลักของพรรคหลายคน เช่น นายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค น.ส. แพทองธาร ชินวัตร ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือเรื่อง  “ดีลลับ” ระหว่างแกนนำของพรรคอีกกลุ่มกับอดีตพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค เช่น พลังประชารัฐ และภูมิใจไทย พร้อมกันนั้นก็มีนักการเมืองบางคนของพรรคเพื่อไทยก็ออกมาพูดเพื่อช่วงชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างต่อเนื่อง มีมวลชนเสื้อแดงบางกลุ่มยื่นข้อเสนอให้พรรคเพื่อไทยแยกตัวออกจากการจัดตั้งรัฐบาล และการแสดงท่าทีของนายทักษิณ ชินวัตร ที่มีนัยบ่งบอกถึงความรู้สึกไม่ค่อยพอใจในการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในที่สุดหลังจากผ่านการถกเถียงทางความคิดอย่างเข้มข้น พรรคเพื่อไทยก็มีการปรับท่าที และในวันที่ 30 พฤษภาคม ผู้นำพรรคก็ประกาศยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะร่วมมือกับพรรคก้าวไกลอย่างเหนียวแน่นและไม่แยกออกจากกันไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ตาม ความเสี่ยงจากการคุกคามนี้จึงลดลง

 ประการที่สอง ความเสี่ยงในการถูกตัดสิทธิในการสมัคร ส.ส. ของนายพิธา อันเนื่องมาจากการถือหุ้นสื่อ  เรื่องนี้คู่แข่งได้ยื่นเรื่องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วันก่อนวันเลือกตั้งว่า นายพิธาถือหุ้นไอทีวี อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ หาก กกต. พิจารณาเรื่องนี้แล้วเห็นว่ามีมูล ก็จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป ในเรื่องนี้หากพิจารณาตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและแนวการตัดสินเรื่องทำนองเดียวกันของศาลฎีกา นายพิธา ก็มีโอกาสรอดพ้นจากข้อกล่าวหาอย่างแน่นอน เพราะถือหุ้นเป็นจำนวนน้อยมากไม่สามารถมีอิทธิพลครอบงำสื่อได้ และในทางพฤตินัยไอทีวีก็ยุติการออกอากาศร่วมสิบกว่าปีแล้ว จึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าจะทำให้เกิดความได้เปรียบและเสียเปรียบในการเลือกตั้งแต่อย่างใด แต่ทว่าหากพิจารณาตามตัวอักษร ประกอบกับการมีธงบางอย่างทางการเมืองของกลุ่มอำนาจที่ครอบงำสังคมไทยอยู่ ก็มีความเป็นไปได้ว่านายพิธาอาจถูกตัดสิทธิการเป็นผู้สมัคร ส.ส.ได้ แต่จะสร้างความแตกแยกและขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงตามมา

 ประการที่สาม จุดยืนและการตัดสินใจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วยความจริงที่ว่า ส.ว. ชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ซึ่งมีทัศนะและจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกับพรรคก้าวไกล จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ส.ว. จำนวนมากจะลงมติไม่รับนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี หรืออาจลงมติงดออกเสียง แต่ไม่ว่าจะลงมติแบบใดในสองประการนี้ ส่งผลเหมือนกัน นั่นคือทำให้เสียงสนับสนุนนายพิธาไม่เพียงพอในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มีความเป็นไปได้ว่าอำนาจที่ครอบงำ ส.ว. อ่อนตัวลงมากเมื่อเทียบกับปี 2562 จึงทำให้ ส.ว. จำนวนไม่น้อยมีอิสระในการเลือกลงมติมากขึ้น และด้วยความจริงที่ว่า มนุษย์จำนวนไม่น้อยยังมีมโนธรรม ยึดหลักการที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรมและหลักประชาธิปไตย เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน คำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของชาติ ต้องการให้ประเทศมีเสถียรภาพทางการเมืองและเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย จึงคาดว่าจะมี ส.ว. จำนวนมากเพียงพอที่จะลงมติให้แก่นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี

 ประการที่สี่ การต่อต้านจากกลุ่มขวาจัดและกลุ่มทุนผูกขาด  ในสังคมไทยมีกลุ่มขวาจัดที่มีท่าทีเป็นปรปักษ์กับพรรคก้าวไกลอย่างชัดเจน กลุ่มขวาจัดมีสองประเภทหลักคือ กลุ่มขวาจัดตามธรรมชาติ อันเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อเชิงอุดมการณ์ที่ตรงข้ามกับพรรคก้าวไกล และ  “กลุ่มขวาจัดดัดจริต” ซึ่งเป็นกลุ่มที่แสดงตัวเป็นฝ่ายขวาเพื่อใช้เป็นเสื้อคลุมแอบอ้าง แต่โดยธาตุแท้เป็นพวกกระหายอำนาจและแสวงหาผลประโยชน์หรือใช้ความเป็นฝ่ายขวาในการทำมาหากินนั่นเอง แต่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขวาตามธรรมชาติหรือ “พวกขวาจัดดัดจริต” ต่างก็ดำเนินการโจมตีและปล่อยข่าวปลอมป้ายสีพรรคก้าวไกลตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เพื่อสกัดไม่ให้พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ผลและล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง หลังการเลือกตั้งในการจัดตั้งรัฐบาลกลุ่มขวาจัดเหล่านี้ก็ดำเนินการต่อต้านการจัดตั้งรัฐบาลพิธาอย่างต่อเนื่องทั้งในที่ลับและที่แจ้ง โดยการใช้ทุกวิธีการทั้งการปลุกระดม สร้างความหวาดกลัว ด้วยจินตนาการเกินจริง และใช้กลไกทางกฎหมายและกลไกอื่น ๆ อีกมากมายเพื่อหยุดยั้งไม่ให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลได้

 ภายใต้จุดแข็งและจุดอ่อนเหล่านี้ พรรคก้าวไกลจึงเลือกใช้ยุทธศาสตร์หลายประการ อย่างแรกคือ การสร้างพันธะที่แนบแน่นกับพรรคพันธมิตรร่วมรัฐบาลด้วยการจัดทำ MOU และยืนยันในการเป็นพันธมิตรถาวรในการร่วมทำงานการเมืองในวาระของสภาชุดนี้ ประการที่สองการสร้างความมั่นใจกับผู้สนับสนุน ด้วยการที่นายพิธา เดินสายไปพบปะกับกลุ่มนักธุรกิจ ภาคประชาสังคม และประชาชนอย่างต่อเนื่อง ประการที่สาม การจัดตั้ง “คณะกรรมการและคณะทำงานเปลี่ยนผ่าน” ตามประเด็นที่แถลงใน MOO เพื่อเตรียมรับงานจากรัฐบาลชุดเดิม ประการที่สี่ การให้ว่าที่ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลเริ่มต้นปฏิบัติงานตามความถนัดของตนเอง เช่น การเปิดโปงส่วยรถบรรทุก ประการที่ห้าการเดินสายสร้างความเข้าใจและขอการสนับสนุนจาก ส.ว. ที่มีความคิดสายกลางและยึดครรลองประชาธิปไตย ประการที่หก การเตรียมการรับมือกับการร้องเรียนกรณีการถือหุ้นสื่อของนายพิธา และประการที่เจ็ดการเตรียมแผนรับมือในกรณีที่เกิดเหตุการณ์เหนือความคาดหมาย ด้วยการวิเคราะห์ฉากทัศน์ และเตรียมแผนรับมือสำหรับฉากทัศน์แต่ละอย่างรัดกุม

ด้วยการที่มีแผนในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างชัดเจนและรัดกุมจึงมีความเป็นไปได้สูงว่า รัฐบาลพิธาจะประสบความสำเร็จในการจัดตั้ง และถึงแม้ว่าในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดหมายกับนายพิธา ภายใต้วิถีของระบอบประชาธิปไตยพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยก็ยังคงเป็นรัฐบาลอยู่ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น