xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผ่าแนวคิดงบประมาณ “ฐานศูนย์” เขย่า “รัฐราชการ” ปั่นป่วน ปิดฉากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี “ยุคลุง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หนึ่งในข้อตกลงบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคก้าวไกล ที่มีความท้าทายอย่างยิ่งก็คือ การจัดทำงบประมาณแบบใหม่โดยยึดหลัก Zero-Based Budgeting (ZBB) หรือ “งบประมาณแบบฐานศูนย์” เพื่อเขย่า “รัฐราชการ” ให้กระฉับกระเฉง ฉับไว คุ้มภาษีประชาชน และเป็น “ราชการเพื่อราษฎร” เป็นที่ตั้ง


ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลมองว่า ปัญหาระบบราชการไทยคือมีโครงสร้างและกฎระเบียบที่ใหญ่เทอะทะและไม่มีความคล่องตัว ไม่เอื้อให้เกิดการปรับเปลี่ยนได้อย่างทันท่วงทีตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่วนของข้าราชการไม่มีระบบจูงใจให้แข่งขันกันสร้างผลงาน เพราะระบบประเมิน/เลื่อนขั้น ยังไม่ยึดโยงกับผลงานที่ให้บริการประชาชนมากเท่าที่ควร

ขณะเดียวกันในด้านการให้บริการประชาชนยังไม่ได้รับความสะดวก ระบบยังไม่รองรับบริการออนไลน์ได้ทุกบริการ ทุกการขอใบอนุญาต มีกฎหมายที่ล้าหลังจำนวนมาก และยังเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตใช้ดุลพินิจได้สูง

ที่สำคัญ การรื้อปรับแก้กฎหมายที่ไม่จำเป็นทำไปได้อย่างล่าช้า เพราะรัฐบาลให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการริเริ่มทบทวนปรับแก้กฎหมายตัวเอง ซึ่งผลสรุปคือไม่มีหน่วยงานไหนจริงจังในการริเริ่มปรับแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย ดังนั้น การรื้อระบบจัดทำงบประมาณใหม่แบบ ZBB จึงเป็นหัวใจหลักหากต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในในระบบการทำงานของ “รัฐราชการ”

การจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ อาจฟังดูไม่คุ้นหูและระบบราชการไทยไม่คุ้นเคย อย่างไรก็ดี ขณะนี้กรุงเทพมหานคร ยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้นำระบบการจัดทำงบแบบ ZBB มาใช้เป็นครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง ขณะที่ในต่างประเทศมีการใช้ระบบนี้มานานกว่า 40-50 ปีแล้ว

ด้วยว่าเป็น  “เรื่องใหม่”  สื่อหลายสำนักจึงชวนทำความรู้จักกับ ZBB และชี้ให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียเมื่อเปรียบเทียบกับระบบการจัดทำงบประมาณที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร หากพรรคก้าวไกล ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาล และนำระบบการจัดทำงบประมาณแบบใหม่มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามนโยบายที่รัฐบาลผสม 8 พรรค ร่วมกันจัดทำ MOU อาจทำให้  “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”  ที่  “รัฐบาลลุง” ทุ่มเทงบจัดทำมาก่อนหน้านี้ถูกปรับเปลี่ยนไป หรืออาจถึงขั้นกลายเป็นเพียงความว่างเปล่า

 “งบประมาณฐานศูนย์” ถูกพัฒนาขึ้นโดย Peter Pyhrr ผู้จัดการบริษัท Texas Instruments ในสหรัฐอเมริกา ในช่วงทศวรรษ 1960 จากนั้นเขาได้เขียนบทความเรื่อง ZBB ใน Harvard Business Review เมื่อปี 1970 จนโด่งดัง และต่อมาในปี ค.ศ. 1973 อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จิมมี่ คาร์เตอร์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย เห็นชอบกับแนวคิดงบประมาณฐานศูนย์ ได้แต่งตั้ง Peter Phyrr เป็นผู้บริหารกระบวนการงบประมาณของรัฐจอร์เจีย 

แนวคิดงบประมาณฐานศูนย์ ในหนังสือชื่อ “Zero-Based Budgeting : A Practical Management Tool for Evaluating Expenses” อธิบายว่า ระบบจัดทำงบประมาณดังกล่าว จะเป็นการนำวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์มารวมกัน แล้วบริหารการใช้จ่ายงบประมาณด้วยการจัดกลุ่มค่าใช้จ่าย และประเมินผลความสำเร็จของค่าใช้จ่ายนั้น

 การจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ จะใช้หลักของการตั้งคำถามต่องบประมาณที่ต้องใช้ในทุกๆ ปี โดยจะต้องแจกแจงค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะต้องจ่าย และจัดลำดับความสำคัญ โดยไม่นำงบประมาณที่เคยอนุมัติไปในปีก่อนหน้านี้มาอ้างอิงการจัดงบประมาณปัจจุบัน การจัดทำงบประมาณในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการประเมินถึงผลสำเร็จและความคุ้มค่าของงบประมาณ รวมถึงการประเมินความสำคัญของโครงการหรือการจ่ายงบประมาณสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

โดยทั่วไปแล้ว การจัดทำงบประมาณประจำปีของทั้งภาครัฐและเอกชน มักจะใช้วิธีที่เรียกว่า “Incremental Budgeting”  หรือการพิจารณา  “เฉพาะงบประมาณส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมา”  ยกตัวอย่างเช่น ปี 2565 รายการขุดลอกคลอง ได้รับงบประมาณ 100 ล้านบาท ต่อมาในปี 2566 มีการของบประมาณ รายการขุดลอกคลอง 110 ล้านบาท และขุดสระเก็บกักน้ำขนาดเล็ก 50 ล้านบาท ในการพิจารณางบประมาณปี 2566 ก็จะพิจารณาเพียงแค่รายการขุดลอกคลองส่วนที่เพิ่มขึ้นมา 10 ล้านบาท และขุดสระเก็บกักน้ำขนาดเล็ก 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นการพิจารณางบประมาณที่อ้างอิงจากรายการเดิมที่ได้รับไปแล้วและพิจารณาเฉพาะส่วนที่เพิ่มเติมใหม่ที่ยังไม่เคยขอมาก่อน

 ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงบประมาณแบบ Incremental Budgeting ที่ใช้กันอยู่ในเวลานี้ก็คือ เมื่อใกล้สิ้นปีงบประมาณ หน่วยงานราชการต่างๆ ก็จะพยายามเบิกงบที่เหลือมาใช้ให้หมด หรือที่เรียกว่า “งบล้างท่อ” เพราะกลัวว่าปีหน้าจะถูกตัดงบลงหากใช้ไม่หมดหรือไม่ได้ใช้ ดังนั้นจึงจะเห็นการผลาญงบไปทัวร์เมืองนอกโดยอ้างไปดูงานบังหน้า หรือการจัดสัมมนา จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อใช้งบให้หมดไปโดยที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดแก่ประเทศชาติและประชาชนเจ้าของภาษี 

ครั้นเมื่อถึงเวลาจัดทำการของบประมาณในปีต่อไป ก็มักจะใช้รายการเดิมเป็นฐาน และบวกเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อ หรืออาจบวกเพิ่มตามปริมาณงาน เช่น 5 - 10% ซึ่งข้อเสียของการจัดทำงบประมาณแบบนี้คือ รายการเก่าที่ไม่จำเป็น อาจจะยังคงได้รับงบประมาณในปีต่อไป ตัวเลขงบประมาณจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นการเอาฐานเก่ามาปรับขึ้น ที่สำคัญคือขาดการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน เพราะไม่มีแรงจูงใจ เนื่องจากไม่ว่าจะปรับปรุงประสิทธิภาพหรือไม่ หน่วยงานนั้นก็จะได้รับงบประมาณมากกว่าเดิมอยู่ดี

การทำงบประมาณแบบนี้มีข้อดีคือทำได้รวดเร็วเพราะอ้างอิงจากฐานข้อมูลเดิม และหน่วยงานรัฐคุ้นชิน

 ขณะที่งบประมาณฐานศูนย์ เสมือนเป็นการ “Set Zero” หรือยกเครื่องร่างงบประมาณขึ้นมาใหม่จากฐานที่เป็นศูนย์ ไม่มีการอ้างอิงรายการเดิมที่เคยได้รับงบประมาณว่าจะต้องได้รับเหมือนเดิม การจัดทำงบแบบ ZBB จะมีขั้นตอนการจัดทำโดยดูจากแผนยุทธศาสตร์ นโยบาย วัตถุประสงค์และผลลัพธ์ที่ต้องการ จากนั้นก็จัดลำดับความสำคัญของงาน ความจำเป็นของงาน ข้อมูลสนับสนุน ทางเลือกและวิธีการอื่นๆ ในการดำเนินงานนั้น และจัดงบประมาณตามรายการหรือโครงการ หลังจากนั้นจะต้องมีการควบคุมและติดตามผลดำเนินงานเพื่อตรวจสอบว่างบประมาณที่จัดสรรได้ดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่  

การจัดทำงบประมาณแบบระบบ ZBB มีข้อดีหลายประการ เช่น การจัดสรรงบประมาณให้แต่ละหน่วยงานจะตรงตามวัตถุประสงค์ มีทบทวนปรับลดงบสำหรับงานที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ที่คุ้มค่า สามารถปรับเปลี่ยนไปตามยุทธศาสตร์หรือสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันสถานการณ์ ที่สำคัญคือ กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพโดยใช้งบประมาณเท่าเดิมหรือน้อยลง

อย่างไรก็ดี ระบบงบประมาณแบบฐานศูนย์ มีข้อที่ต้องคำนึงถึงโดยผู้บริหารและผู้อนุมัติงบประมาณ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการพิจารณางบประมาณแต่ละรายการ ต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก และต้องใช้ทรัพยากรบุคคลจำนวนมากในการจัดทำและพิจารณา เมื่อมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาก็ทำให้ต้องใช้เวลามาก ซึ่งข้อห่วงกังวลบางประการ เช่น การที่ต้องอาศัยฐานข้อมูลจำนวนมากนั้นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาจช่วยตอบโจทย์นี้ให้ง่ายขึ้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าถ้า Set Zero งบประมาณทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ก็อาจทำให้การพัฒนาในด้านต่างๆ ทำได้ไม่ต่อเนื่อง

อันที่จริง ZBB ก็ใช่ว่าจะใหม่ถอดด้ามสำหรับประเทศไทย เพราะเวลานี้  กรุงเทพมหานคร  ในยุค  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  เป็นผู้ว่าฯ นำใช้ระบบงบประมาณแบบ ZBB ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ เมื่อปี 2565 ที่ว่า “ปกติงบประมาณของ กทม.จะใช้งบประมาณของปีก่อนหน้าเป็นฐานและปรับเพิ่มสำหรับปีงบประมาณใหม่ การทำงบประมาณในลักษณะนี้อาจไม่ได้สะท้อนสถานการณ์จริง ดังนั้น กทม.จะจัดทำงบประมาณแบบ Zero-Based Budgeting โดยพิจารณางบประมาณใหม่ทุกรายการ ไม่ใช่เพียงใช้งบประมาณของปีที่แล้วเป็นฐานเพื่อปรับความเหมาะสมของการจัดสรรงบประมาณไปในจุดต่าง ๆ เพื่อประสิทธิภาพและความต้องการสูงสุด รวมถึงการทบทวนและปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการปฏิบัติงานของ กทม.”

 ทวิดา กมลเวชช  รองผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งขับเคลื่อนการนำแนวคิดงบประมาณฐานศูนย์มาใช้ มองว่า เป้าหมายเเละนโยบายทั้ง 214 มาตรการของผู้ว่าฯ กทม. จะเปิดโอกาสให้มีการทบทวนเเละสร้างโครงการใหม่ๆ ที่ได้ผลตรงตามจุดประสงค์มากกว่าเดิม การใช้งบประมาณต้องตั้งอยู่บนหลักความโปร่งใสเเละคุ้มค่า บางเเผนงานอาจต้องการเเค่การกระชับกระบวนงานเเละเร่งประสิทธิภาพโดยอาจจะไม่ต้องจำเป็นต้องใช้งบประมาณเลยก็ได้

อย่างไรก็ดี ต้องให้เวลาผู้ว่าฯ ชัชชาติ ประเมินผลของการปรับระบบงบประมาณแบบใหม่ของ กทม.อีกสักหน่อย ถึงจะรู้ว่าได้ผลดังเป้าประสงค์หรือไม่ อย่างไร

หลังการทำ MOU ที่จะมีการรื้อระบบการจัดทำงบฯแบบใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณก็ขยับขานรับนโยบาย โดย  นายดนุชา พิชยนันท์  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช. เตรียมหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการพิจารณาการทำงบประมาณฐานศูนย์ตามที่ระบุเอาไว้ในร่างบันทึกข้อตกลงร่วม หรือ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคแกนนำ

เบื้องต้น สศช. มองว่า การจัดทำงบประมาณฐานศูนย์เป็นแนวคิดที่แตกต่างจากเดิม หน่วยงานต่างๆ จึงต้องมาหารือและเร่งศึกษาข้อมูลรองรับการดำเนินการดังกล่าว ถ้าต้องทำจริงตามนโยบายของรัฐบาลใหม่ก็อาจเริ่มในปีงบประมาณ 2568-2569 ส่วนในงบประมาณปี 2567 ตอนนี้การจัดทำร่างงบประมาณเสร็จสิ้นแล้ว แต่การบังคับจะล่าช้าออกไป จึงต้องเร่งมือทำให้เสร็จโดยเร็วเพื่ออัดฉีดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ

เลขาฯ สภาพัฒน์ คาดว่าหากมีการใช้งบประมาณแบบ zero-based budgeting มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือการสะท้อนการใช้งบประมาณไปในอนาคต แต่ข้อเสียก็คือเป็นระบบการจัดทำงบประมาณแบบที่ต้องใช้ฐานข้อมูลจำนวนมาก ต้องเตรียมความพร้อมซักซ้อมความเข้าใจกับทุกหน่วยงานราชการ เพราะระบบงบประมาณเป็นระบบใหญ่ผูกพันไปทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานราชการส่วนกลาง ระบบการเบิกจ่ายของส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงสถานศึกษาและสถานพยาบาลด้วย

นอกจากนั้น จะต้องหารือกับพรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล และหน่วยงานเศรษฐกิจ ว่าแนวทางการจัดทำงบประมาณแบบ zero-based budgeting สำหรับประเทศไทยนั้นเหมาะสมที่จะทำทุกปีงบประมาณ หรือทำทุกๆ 5 ปี เพราะมีรายละเอียดและรูปแบบในการจัดทำที่แตกต่างกัน

 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร  ประธานยุทธศาสตร์และนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย ฐานะนักวิชาการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สนับสนุนร่างเอ็มโอยูของพรรคร่วมรัฐบาลในข้อระบบงบประมาณแบบใหม่หรือฐานศูนย์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่แตกต่างจากปัจจุบันซึ่งพิจารณาเฉพาะส่วนเพิ่มที่แตกต่างหรือแบบ Incremental

“Zero-Based Budgeting เป็นการพิจารณางบประมาณแบบฐานศูนย์ พิจารณาตั้งแต่บาทแรกของการตั้งงบประมาณของหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานคือ การรื้อระบบงบประมาณใหม่ โดยหน่วยราชการต้องชี้แจงความมีเหตุผลของงบประมาณที่เคยได้รับในอดีตว่ามีความจำเป็นอย่างไรจึงจะได้งบในอนาคต ไม่ใช่ว่าเคยได้ก็ต้องได้ต่อไป"

ระบบ Zero-Based Budgeting จึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ทั้งแนวคิดและการดำเนินการ ต้องทำความเข้าใจหน่วยราชการ การจัดเตรียมระบบ ฝึกอบรม และใช้เวลาในการดำเนินการอย่างน้อย 2 ปี จึงจะเปลี่ยนใหม่ได้ สำหรับงบฯปี 2567 เป็นไปไม่ได้ ส่วนปี 2568 น่าจะไม่ทัน อาจจะทำได้ในปี 2569 หากมีการเตรียมการอย่างเป็นระบบและจริงจัง อย่างไรก็ตาม ในเชิงประสบการณ์ของต่างประเทศ Zero-Based Budgeting ควรเป็นนโยบายที่นำมาใช้ทุก 5 ปี หรือ 10 ปี เพื่อทบทวนใหญ่ มากกว่าที่จะใช้ต่อเนื่องทุกปี ไม่เช่นนั้นเวลาที่ใช้ในการทำงบประมาณอาจจะยาวกว่าเวลาที่ใช้งบประมาณ

 ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ให้ความเห็นผ่านสื่อว่า แม้พรรคก้าวไกลอาจไม่เห็นด้วยกับการทำงบประมาณแบบเดิมที่ต้องทำงบฯ ให้สอดคล้องกับยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี แต่การทำงบประมาณหรือการก่อหนี้ก็ต้องอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ กรอบที่กฎหมายกำหนด แต่อาจปรับเปลี่ยนตัวเลขต่างๆ ใหม่ โดยไม่ต้องไปคำนึงแผนยุทธศาสตร์แล้ว แต่จะเน้นการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง และต้องคำนึงถึงกรอบเสถียรภาพการเงินและการคลังด้วย

ทางด้าน  นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร  ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ ว่าสำนักงบประมาณเตรียมหารือกับรัฐบาลใหม่เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าการจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์จะทำในระดับใด เพราะทำได้ทั้งในการจัดทำงบประมาณใหม่ทั้งหมด หรือทำเฉพาะงบลงทุน หากจะทำใหม่ทั้งหมดก็ต้องมาดูทั้งงบประจำและงบลงทุนซึ่งจะใช้เวลานาน เพราะมีหน่วยงานรับงบประมาณจำนวนมาก ส่วนงบประจำก็ต้องดูว่าจะจัดสรรเงินเดือน ค่าจ้าง รวมทั้งอัตราใหม่ที่ขอเพิ่มว่าจำเป็นและเหมาะสมหรือไม่ โดยรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นทุกปี

ผอ.สำนักงบฯ ยังจะชี้แจงให้รัฐบาลใหม่รับทราบด้วยว่าตอนนี้มีการจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์อยู่แล้วสำหรับงบรายจ่ายลงทุนในแต่ละปี ที่ดูตั้งแต่ตัวโครงการ ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ความจำเป็น และประสิทธิผลของการใช้จ่าย หากเป็นโครงการต่อเนื่องก็จะดูประสิทธิภาพของการใช้งบฯ โดยมีเครื่องมือชี้วัดอยู่แล้ว

“….ระบบงบประมาณของไทยไม่ได้เป็นแบบกำหนดว่าปีที่แล้วตั้งงบเท่าไหร่ แล้วปีนี้จะเพิ่มหรือลดกี่เปอร์เซ็นต์ ข้อเท็จจริงไม่ได้ทำแบบนั้น แต่มีเกณฑ์มีหลักคิดในการจัดทำโดยมีการทบทวนเป้าหมาย ตัวชี้วัดผลผลิต กิจกรรมที่มีผลสัมฤทธิ์ ความสอดคล้องกับแผนงาน นโยบาย และยุทธศาสตร์ชาติ แล้วกำหนดเป็นงบประมาณที่จัดสรรให้กับหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งคล้ายกับการทำงบประมาณฐานศูนย์อยู่แล้ว....” ผอ.สำนักงบฯ กล่าว และพร้อมปรับเปลี่ยนตามนโยบายของรัฐบาลใหม่

 การวางเป้าเขย่าระบบการจัดทำงบประมาณใหม่ของพรรคก้าวไกล สะท้อนให้เห็นจากการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เปรียบเปรยการจัดงบประมาณปี 2566 เสมือน “งบช้างป่วย ปรับตัวไม่ได้" โดยงบประมาณ 3 ใน 4 ส่วน เป็นรายจ่ายประจำ ทั้งยังจัดงบสวัสดิการข้าราชการสูง เป็นการจัดทำงบประมาณที่ไม่ได้ตอบสนองต่อวิกฤตและโอกาสในอนาคตแต่อย่างใด โดยไร้เม็ดเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วยธุรกิจรายเล็กรายย่อยหรือเอสเอ็มอีที่ได้รับจัดสรรแค่ 2,700 ล้านบาท งบฯภาคเกษตรส่วนใหญ่เพื่อชำระหนี้ให้กับนโยบายโครงการประกันราคาและจำนำสินค้าเกษตร ขณะที่งบเกี่ยวกับซอฟท์พาวเวอร์ กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งไว้แค่ 60 ล้านบาท 

นายพิธา อภิปรายว่าการจัดทำงบประมาณแห่งความหวังจะต้องเป็นการจัดสรรงบประมาณที่กระจายไม่กระจุก เช่น ปัจจุบันการแบ่งรายได้ อปท.อยู่ที่ 70 : 30 ซึ่ง อปท.จะมีรายได้สุทธิ 7 แสนล้านบาท เฉลี่ย 7,850 องค์กรส่วนท้องถิ่นละ 89 ล้านบาท หากเปลี่ยนสัดส่วนเป็น 50 : 50 อปท.จะมีรายได้สุทธิ 1,200,000 ล้านบาท เฉลี่ยรายได้ อปท.ละ 153 ล้านบาททันที ซึ่งงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจะนำไปแก้ไขปัญหาหรือเสริมสร้างศักยภาพของท้องถิ่นได้ตรงจุด ทั้งการทำน้ำประปา การกำจัดขยะ หรือชลประทานย่อย ถือเป็นการระเบิดระบบเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งแต่ทุนใหญ่

 แนวคิดผ่าตัดใหญ่ในระดับรื้อโครงสร้าง รื้อระบบใหม่อย่างเช่นการจัดทำระบบงบประมาณแบบฐานศูนย์ นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง แต่ความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ พรรคก้าวไกลต้องฝ่าด่านจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จเสียก่อนเป็นอันดับแรกสุด  


กำลังโหลดความคิดเห็น