xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“สุราก้าวหน้า” เวอร์ชัน 2 เดินหน้าขั้นสุด ติดปีกร่างกฎหมายทลาย “ทุนผูกขาด”!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  หัวใจสำคัญของบันทึกข้อตกลง (MOU) ข้อ 10 ที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลคือยกเลิกการผูกขาดทุกอุตสาหกรรม โดยยกตัวอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นไฮไลท์ นั่นหมายถึงว่าถ้าการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จนี่คือหนึ่งในงานเร่งด่วนร้อยวันแรกที่ต้องทำทันที เพื่อทวงคืนชัยชนะจากกรณีที่พรรคก้าวไกลเคยเสียเหลี่ยมผู้เฒ่าในสภาฯ ทำให้ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ถูกตีตกในวาระ 3 แบบเฉียดฉิว 

เป้าหมายทลายทุนผูกขาด ถือเป็นการปรับรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศครั้งใหญ่ ซึ่ง “รอยเตอร์” สำนักข่าวต่างประเทศ ระบุว่า การยกเครื่องเศรษฐกิจอย่างชาญฉลาดอาจสามารถช่วยให้ไทยหลุดพ้นการเติบโตของ GDP ซึ่งติดอยู่ที่ระดับ 2-3% ได้ รวมทั้งอาจช่วยให้ไทยเข้าใกล้เป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูง ผ่านการลดการผูกขาดและยกระดับการแข่งขันของประเทศ

 มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย (biothai)  ซึ่งสนับสนุนนโยบายที่ชัดเจนและตรงเป้ามากที่สุดต่อการแก้ปัญหาการผูกขาดและสร้างระบบนิเวศในการแข่งขัน เพื่อระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม มองว่า ความเข้มแข็งและเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่เพียงนโยบายกระตุ้นการเติบโต แต่ต้องสร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ ทลายทุนผูกขาดเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง ผู้ประกอบการหน้าใหม่ ได้มีโอกาสเติบโต สร้างความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคให้ได้รับบริการและผลิตภัณฑ์ที่ดีในราคาที่เป็นธรรม อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เพราะนี่คือกติกาพื้นฐานในระบบเศรษฐกิจเสรีทั่วโลก

ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ที่โดนใจคนตัวเล็กตัวน้อย ก็ด้วยว่า ประเทศไทยมีสภาพตลาดแข่งขันค่อนข้างจำกัด และกฎหมายต่อต้านการผูกขาดมีปัญหาการบังคับใช้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ถูกครอบงำโดยผู้เล่นไม่กี่ราย

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวของภาคธุรกิจนั้นยิ่งแย่ลงไปกว่าเดิมหลังจากที่ไทยผ่านช่วงวิกฤตโควิด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลด้านแข่งขันยอมให้มีการควบรวมกิจการขนาดใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม โดยที่กฎหมายแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ปรับปรุงแก้ไขในปี พ.ศ. 2560 และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่มีอยู่เป็นเพียงเสือกระดาษเท่านั้น

ไม่เพียงแต่เกิดสภาพปลาใหญ่กินปลาเล็กเท่านั้น บางน่านน้ำธุรกิจถึงกับวางยาไม่ให้เกิดปลาเล็กปลาน้อยกันเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีกฎกติกามากมายเพื่อควบคุมหรือทำหมันไม่ให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยได้ผุดได้เกิด ทั้งที่เมืองไทยนี้อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร เป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นดีสำหรับการต่อยอดไปสู่การทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สามารถสร้างชื่อเสียงและเงินทองกระจายไปยังชุมชนเหมือนบ้านเมืองอื่นๆ ทั่วโลก

อย่างที่  “นายกมล กมลตระกูล” นักวิชาการอิสระ มองเกมเตะถ่วงร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ด้วยวิธีการต่างๆ นาๆ ว่าเป็นเรื่องสุดล้าหลังชาวโลก ซึ่งแท้ที่จริงแล้วถึงเวลาที่ควรมีพ.ร.บ.สุรา ฉบับใหม่ที่ส่งเสริมการผลิตสาโท สาเก ไวน์ผลไม้ไทย วิสกี้ผลไม้ไทย เบียร์ปรุงเอง (Craft Beers) Brandy และลิเคียว (Liqueurs) หรือสุราผลไม้หวานอย่างเสรีและหลากหลายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลไม้ไทย ขยายการส่งออกไปตลาดโลก จะได้ช่วยให้ประชาชนมีอาชีพ เป็นเศรษฐกิจชุมชนที่ดีที่สุด เหมือนในประเทศญี่ปุ่น อิตาลี สเปน ที่มีการผลิตกันแทบทุกหมู่บ้าน เป็นการลดความยากจน ลดการผูกขาด

นายกมล ย้ำเตือนว่ากระแสเรียกร้องและเคลื่อนไหวของชาวบ้านในการขอผลิตและจำหน่ายสุราพื้นบ้านมีมานาน เมื่อพรรคก้าวไกลเสนอกฎหมายนี้กลับถูกตีตก เป็นเรื่องน่าเศร้า ตัดโอกาสลืมตาอ้าปากของเกษตรกร ชาวบ้าน ผู้ประกอบการรายย่อย ปล่อยให้ทุนใหญ่ผูกขาดร่ำรวยต่อไป

สำหรับเสียงจากฟากฝั่งของผู้ประกอบการนั้น “ต๊อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี”  กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ทายาทรุ่นที่ 4 ของสิงห์ ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่และรายแรกของประเทศไทย โพสต์ภาพการรวมตัวของประชาชนในพื้นที่นนทบุรี เพื่อต้อนรับขบวนของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย พร้อมข้อความ “มิติใหม่ครับ” รวมถึงยังได้ตอบคอมเมนต์ภายใต้โพสต์ที่มีผู้เข้ามาสอบถามว่า “อยากรู้ว่าพี่ต๊อดคิดยังไงกับสุราก้าวหน้า ? มีความกังวลมั้ยถ้ากฎหมายผ่าน ซึ่งจะกระทบต่อกลุ่มทุนเหล้าเบียร์ไม่มากก็น้อย” ว่า

“ผมเห็นด้วยมาแต่เริ่มแล้วครับ”

“เรื่องสุราก้าวหน้าผมว่าเรื่องเล็กเทียบกับความคาดหวังจากสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นครับ”

และตอบคำถาม “นโยบายหลัก ๆ ของก้าวไกล คือทลายทุนผูกขาด และสุราก้าวหน้า อยากทราบว่าคุณปิติมีหวั่นไหวบ้างไหมคะ ด้วยความเคารพค่ะ” ว่า

“มีผลกระทบแน่ครับ แต่การค้าเสรีเรามีคู่แข่งมาตลอด ก็ต้องปรับแผนกันไปและบุญรอดก็มีธุรกิจอื่นๆนอกจากเบียร์ด้วยครับ” และยังได้อธิบายถึงธุรกิจคราฟเบียร์ของตนว่า “ทำมานานละครับ ผมเปิดอิสระอาคาเดมี่สอนคราฟเบียร์มานานแล้ว และ ก็มีหลายคนที่ทำคราฟเบียร์ที่จบจากหลักสูตรนี้มา”

ขณะที่  “นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์”  รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต ให้ความเห็นว่า ถือเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับนโยบายของกรมสรรพสามิตอยู่แล้ว ดังนั้น หากพรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาลและเดินหน้านโยบายดังกล่าว ทางกรมสรรพสามิตไม่ได้มีข้อจำกัดในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ผลิตสุราจะแบ่งเป็นผู้ผลิตในระดับชุมชนและรายใหญ่ ซึ่งนับตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติปลดล็อกให้มีผู้ผลิตตั้งแต่รายกลางขึ้นไปได้ ดังนั้นประเทศไทยจึงมีผู้ผลิตทุกขนาด คือตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยรายเล็กหรือในระดับชุมชนนั้น มีผู้ผลิตกว่า 1,000 ราย ส่วนรายกลาง นับตั้งแต่เปิดเงื่อนไขจนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตรายกลางยื่นจดทะเบียนเป็นผู้ผลิตเข้ามามากนัก ส่วนรายใหญ่นั้นมีไม่เกิน 5 ราย โดยมูลค่าตลาดสุราอยู่ที่ 400,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นระดับคงที่มานานหลายปีแล้ว

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ผลิตเบียร์ถือว่ายังมีข้อจำกัดเพราะวิธีการผลิตเบียร์ไม่เหมือนสุรา เพราะจะมีปัญหาเรื่องน้ำเสีย และสิ่งแวดล้อม หากจะเปิดเสรีแบบทำเองกินเองอาจต้องดูผลกระทบว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องเงื่อนไขนั้น จะมีเงื่อนไขของกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมมาเกี่ยวด้วย เช่น กรณีโรงงานเบียร์ ถูกจัดอยู่ในจำพวกที่ 3 ซึ่งต้องมีเกณฑ์เรื่องของสิ่งแวดล้อมเข้ามาด้วย ขณะที่สุราไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเสีย หรือสิ่งแวดล้อม

 ส่วนการจัดเก็บรายได้สุราและเบียร์ในรอบ 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 ในส่วนของสุราจัดเก็บได้ 40,300 ล้านบาท หรือ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นเนื่องจากปีที่แล้วยังปิดประเทศ สถานบันเทิงยังไม่เปิด ทำให้ยอดขายสุราตก ส่วนรายได้ของเบียร์นั้นอยู่ที่ 54,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 3% เมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะเบียร์สามารถหาซื้อได้ในร้านค้าทั่วไป 

ตัดภาพกลับมาที่  นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ…. หรือ ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ซึ่งเป็นผู้ที่ถือธงนำในการต่อสู้เพื่อปลดล็อกการปิดกั้นโอกาสของชาวบ้านในการผลิตสุราเพื่อการค้า ลั่นวาจากลางศึกสู้รบตบมือกับทุนผูกขาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเหล่านักการเมืองที่ขัดขวางร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าว่า “.... ผมขอฝากทุกคน เรามาไกลเกินกว่าจะแพ้แล้ว”

ก่อนหน้านี้ นายเท่าพิภพเล่าถึงเส้นทางความฝันผลักดัน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า 1,838 วัน จากโรงพักถึงสภา ซึ่งยังไปไม่ถึงไหนและต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ว่า นับตั้งแต่เคยถูกจับด้วยคดีผลิตคราฟต์เบียร์เพื่อจำหน่าย ในที่สุด ร่างแก้ไข พ.ร.บ.สรรพสามิต มาตรา 153 เพื่อปลดล็อกให้การผลิตเหล้าเบียร์ก็เข้าสู่การพิจารณารับหลักการของสภาได้สำเร็จ แต่ท้ายที่สุดร่างกฎหมายนี้ก็เจอรัฐบาลใช้เกมการเมือง “ขอนำร่างกฎหมายไปให้ ครม. พิจารณา 60 วัน”   ซึ่งต่อมา มติครม.เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ก็ปัดตก และต้องวนเอากลับเข้ามาสู่สภาฯ อีกครั้งก่อนจะถูกตีตกไปในที่สุด




“ในประเทศนี้แค่จะทำความฝันเล็กๆ อย่างการต้มเบียร์ให้เป็นจริงมันยากเหลือเกิน 1,838 วันก่อน ผมรู้ว่าจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จได้ต้องเปลี่ยนกฎหมาย ผมต้องเป็นผู้ออกกฎหมาย จึงตั้งใจเป็น ส.ส. เพื่อทำเรื่องนี้ ….” นายเท่าพิภพ เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565

ย้อนกลับไปเมื่อคราวที่พรรคก้าวไกล นำร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เข้าสภาฯ อีกครั้ง ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 มีมติรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวในวาระแรก ความหวังทลายทุนผูกขาดเห็นแสงรำไร แต่ท้ายที่สุด ก็เหมือนปาหี่ม้วยล้มต้มคนดู

 ทั้งนี้ เมื่อมีการนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสภาฯเพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งใช้เวลาพิจารณายาวนานหลายชั่วโมง มีการลงมติวาระ 3 ถึงสองรอบ โดยรอบแรกเป็นการเสียบบัตรปกติ ที่ประชุมฯ ลงมติเห็นด้วย 174 เสียง ไม่เห็นด้วย 177 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 4 เสียง ต่อมาส.ส.ขอใช้ข้อบังคับขอนับคะแนนใหม่โดยวิธีการขานชื่อรายบุคคล ซึ่งผลลงมติ เห็นด้วย 194 เสียง ไม่เห็นด้วย 196 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงตกไปในวาระ 3 ปิดฉากร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าฉบับก้าวไกล ยกที่หนึ่ง 

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 หนึ่งวันก่อนที่สภาจะพิจารณาร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ในวาระ 2 และ 3 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และก็มีการประกาศกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 2 พ.ย. 2565 เป็นต้นไป

ในครั้งนั้น ฝ่ายรัฐบาล โดย “นายธนกร วังบุญคงชนะ” จากพรรคพลังประชารัฐ ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้ายังมีจุดบกพร่องอยู่ในหลายจุด ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนมาก ซึ่งรัฐบาลได้ระบุเงื่อนไขเพื่อลดผลกระทบต่างๆ ดังกล่าวในกฎกระทรวงเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยแท้จริงเพราะต้องยอมรับว่าสุราส่งผลกระทบต่อสังคม ต่อศีลธรรม ต่อสุขภาพ การกระจายตัวของการผลิตไปยังทุกๆ บ้าน ทุกท้องถิ่น สุรา เบียร์ มีราคาถูกลง ทำให้การเข้าถึงสุราได้โดยง่ายในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนและครอบครัวที่อ่อนไหวต่อปัญหาสุรา ซึ่งสุดท้ายจะหนีไม่พ้นปัญหาเดิมๆ คือ ปัญหาครอบครัว การเมาแล้วขับ การทะเลาะวิวาท

“พ.ร.บ.สุราก้าวหน้านั้น แม้ว่าอาจจะแก้ไขการผูกขาดได้ แต่กลายเป็นว่ามองข้ามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมในอนาคต ซึ่งกฎกระทรวงนั้นได้แก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้เอาไว้แล้ว ...กฎกระทรวงนี้ดีที่สุดกับทุกฝ่ายแล้ว จึงขอให้ฝ่ายค้านเข้าใจและอย่าคิดแบบไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นนี้อีกต้องหัดมองให้ครบทุกมิติ” นายธนกรแจกแจง

หลังพ่ายแพ้ในสภาฯ นายเท่าภพขอเศร้าไม่เกินครึ่งชั่วโมง โดยยอมรับเสียเหลี่ยมการเมืองของผู้เฒ่าทางการเมืองในทำเนียบรัฐบาล แต่แม้ร่างกฎหมายจะถูกตีตกแต่ก็ได้เรียนรู้และมีความมุ่งมั่นเพิ่มขึ้น โดยจะร่างกฎกระทรวงที่เป็นของพรรคก้าวไกล ถ้าพรรคได้เป็นรัฐบาลจะสามารถแก้กฎกระทรวงได้อย่างรวดเร็ว

ตามความตั้งใจของนายเท่าพิภพ ที่ยืนหยัดผลักดันร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ และหลังการเลือกตั้ง  “สุราก้าวหน้า ภาค 2”  จะกลับมาอีกครั้ง

ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ซึ่งเสนอโดย ส.ส.พรรคก้าวไกล เพื่อแก้ไขพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 จากเดิมที่กำหนดให้การผลิตหรือกลั่นสุราไม่ว่าจะเพื่อจุดประสงค์เพื่อบริโภคเองในครัวเรือนหรือเพื่อการค้า ก็ต้องขออนุญาตก่อน แก้ไขเป็นเฉพาะการผลิตสุราเพื่อการค้าเท่านั้นที่ต้องขออนุญาต แต่ถ้าผลิตเพื่อการบริโภค (homebrewing) หรือการทดลองต้มสุราเพื่อคิดต้นสูตรใหม่ สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

นอกจากนี้ ภายใต้กฎกระทรวง การอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ซึ่งออกตามความของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้เพียงบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายไทยเท่านั้นที่สามารถขอใบอนุญาตผลิตสุราได้ ยกเว้น สุราสามทับ สุราแช่ที่ไม่ใช่เบียร์ และสุราชุมชน

แต่ในร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า กำหนดไว้ว่า ห้ามไม่ให้การออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้ากำหนดประเภทบุคคลผู้มีสิทธิขออนุญาต เปิดทางให้ผู้ประกอบการผลิตสุราที่มีเจ้าของเดียวหรือมีรูปแบบห้างหุ้นส่วนสามารถริเริ่มกิจการได้

กฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ยังกำหนดให้ผู้ประสงค์ขอใบอนุญาตผลิตเบียร์ต้องเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท โดยมีเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากและบังคับใช้ต่อเบียร์เท่านั้น

อีกทั้งยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องกำลังการผลิตไว้ในกฎกระทรวงด้วยว่า ผู้ผลิตสุราต้องมีศักยภาพผลิตขั้นต่ำที่สูง เช่น โรงผลิตเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (brewpub) ต้องมีขนาดกำลังการผลิต 100,000 - 1,000,000 ลิตรต่อปี เป็นต้น

ขณะที่ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการกำจัดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้าที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอเกี่ยวกับขนาดกำลังการผลิต ทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการผลิตเบียร์เพื่อขายไม่ว่า ณ สถานที่ผลิตหรือไม่ สามารถเลือกขนาดกำลังการผลิตที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด

สงครามใหญ่ที่สู้กันมาหลายยก กำลังลั่นระฆังขึ้นยกใหม่ คราวนี้ พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำหากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นผลสำเร็จ นายเท่าพิภพ บอกว่า ตอนนี้พรรคได้ร่างกฎกระทรวงสุราก้าวหน้าเตรียมไว้แล้ว เป็นรัฐบาลเมื่อไหร่ ภายใน 7 วัน สามารถประกาศใช้ได้ทันที เป็นภารกิจสำคัญต้องขับเคลื่อนให้ได้ภายใน 100 วัน เพราะมันคือช่วงเวลาทอง


และหนึ่งในนั้นคือจะแก้กฎกระทรวงสุราก้าวหน้า เป็นสเตปแรก จากนั้นจะผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า อย่างแน่นอน

 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคก้าวไกล วางเป้าผลักดันให้ร่างกฎหมายดังกล่าว สำเร็จให้ได้ เพราะว่าจะทำให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย กระจายรายได้เข้าเศรษฐกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท ช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวชุมชน ต่อยอดภูมิปัญญา ลดการนำเข้าเหล้าเบียร์จากต่างประเทศ เพิ่มการส่งออกให้กับประเทศ แก้ปัญหาราคาพืชผลการเกษตร เพิ่มอำนาจการต่อรองให้เกษตรกรได้ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายเพิ่มรายได้

ต้องไม่ลืมว่า ประเทศไทย ซึ่งมีระบบนิเวศน์เศรษฐกิจการเมืองที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดความมั่งคั่ง รายงานของธนาคารโลก ชี้ว่า ไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

และจากข้อมูลการวิจัยของ Credit Suisse Global Wealth Data Book พบว่า ประชากรที่รวยที่สุดร้อยละ 10 ของไทยถือครองทรัพย์สินมากกว่าร้อยละ 77 ของคนทั้งประเทศ และประชากรที่รวยที่สุดร้อยละ 1 มีความมั่งคั่งเฉลี่ย 33 ล้านบาทต่อคน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรที่จนที่สุดร้อยละ 20 ถึง 2,500 เท่า

ในการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ยืนยันอีกครั้งถึงนโยบายสำคัญที่พรรคจะดำเนินการ ซึ่งประกอบด้วย 3D ได้แก่ Demilitarize การเอาทหารออกจากการเมือง Demonopolize การทลายทุนผูกขาด และ Decentralize การกระจายอำนาจจากศูนย์กลาง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สามารถยืนหยัดบนเวทีโลก บนเวทีการแข่งขันทางธุรกิจ และทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากนิยามของคำว่าโลกาภิวัฒน์

ขณะที่  ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวในการหาเสียงเลือกตั้งตอนหนึ่งว่า ไทยต้องเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจากกระจุกเป็นกระจาย ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจตอนนี้กระจุกอยู่กับทุนนิยมพวกพ้องที่ใกล้ชิดภาครัฐ (Crony Sector) ซึ่งประเทศไทยมี Crony Sector อันดับ 9 ของโลกจากการจัดอันดับโดย The Economist ถ้าไม่ทลายทุนผูกขาดที่อิงแอบกับอำนาจรัฐเหล่านี้ได้ก็จะไม่สามารถกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปให้กับทุกคนได้

 คำตอบที่ง่ายที่สุด คือการกระจายอำนาจ คืนอำนาจและงบประมาณ ให้โอกาสในการทำมาหากิน ปลดล็อกท้องถิ่น ระเบิดพลังทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญ เพื่อให้ประชาชนรากหญ้าลืมตาอ้าปากได้  


กำลังโหลดความคิดเห็น