xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คนไทย “หนี้ล้น-จนกระจาย” พอร์ตสินเชื่อฯ โกยรายได้เต็มหน้าตัก จำนำทะเบียนรถชิงเค้ก 2.2 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. สะท้อนวิกฤตครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันสูงกว่า 80% ของ GDP โดยพบว่าสัดส่วนหนี้ดังกล่าวประมาณ 35% เป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือบัตรเครดิต ทำให้พิจารณาออกหลักเกณฑ์คุมสินเชื่อ เป็นหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบนการเงิน (นอนแบงก์) เพื่อเป็นแนวทางการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล หรือบัตรเครดิต ที่เป็นลักษณะการโฆษณาผ่านแคมเปญต่าง ๆ 

พร้อมกับเตรียมกำหนดหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อ ซึ่งจะไม่พิจารณาเฉพาะความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้เท่านั้น แต่จะพิจารณาด้วยว่าเมื่อชำระหนี้แล้ว ยังมีเงินเหลือเพียงพอในการดำรงชีพหรือไม่ โดยจะพิจารณาระดับรายได้สุทธิของลูกหนี้ที่เหมาะสมประกอบกันไปด้วย

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส (ASPS) วิเคราะห์จะกระทบเชิง Sentiment (องค์ประกอบโดยรวม) ลบเล็กน้อย ซึ่งภายใต้ Sensitivity Analysis (วิเคราะห์ความอ่อนไหว) ของฝ่ายวิจัย พบว่าทุก 1% ของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น จากสมมติฐาน จะทำให้กำไรแต่ละธนาคาร เพิ่มขึ้น ราว 1% อีกทั้ง หากการควบคุมการปล่อยสินเชื่อทำให้ GDP ชะลอตัว อาจเห็นการผ่อนคลายเกณฑ์บางช่วง เหมื่อนกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ที่มีการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV เป็นบางช่วง

นอกจากนี้ ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ ธปท.ฝคง.ว. 951/2564 เรื่อง การยกระดับการกำกับดูแลการบริหารจัดการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ทำให้ภาคธุรกิจต้องดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวทางการบริหารจัดการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม โดยให้ความสำคัญและส่งเสริมการช่วยเหลือ ติดตามแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ รายย่อยที่ประสบปัญหาหนี้สินอย่างตรงจุดและทันท่วงที รวมถึงการพัฒนากระบวนการให้สินเชื่อตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ (End-to End process) อย่างยั่งยืน ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความเสี่ยง การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการจ่ายชำระคืน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Debt Restructuring) การไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน (Debt Mediation) เพื่อบรรเทาภาระหนี้ให้แก่ประชาชน

หากกางผลประกอบของแบงก์และนอนแบงก์จะเห็นว่าโกยกำไรถ้วนหน้า อาทิ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี  เผยภาพรวมของตลาดบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 เติบโตดีต่อเนื่อง โดยเคทีซีมีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตและลูกหนี้สินเชื่อบุคคล เทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 14.6% และ 3.7% ตามลำดับ ข้อมูลสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2566 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 เคทีซีมีกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการและงบการเงินรวมเท่ากับ 1,843 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 5.2%) และ 1,872 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 7.1%) ตามลำดับ ผลจากพอร์ตสินเชื่อรวมขยายตัวสร้างรายได้เติบโตดี และมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR  เปิดเผยผลดำเนินงานประจำไตรมาส 1 ปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 955 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้ 4,345.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.3% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากพอร์ตสินเชื่อรวมขยายตัว และยอดเบี้ยประกันวินาศภัยที่เติบโต

โดยรายได้จากดอกเบี้ยรับจากเงินให้กู้ยืมเท่ากับ 37.2 ล้านบาท เพิ่ม 20.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้กู้ยืมเท่ากับ 3,170.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะที่มูลค่าพอร์ตสินเชื่อในไตรมาส 1/66 เพิ่มขึ้นเป็น 83,040 ล้านบาท เติบโต 26.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแผนปีนี้ มุ่งเน้นธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและธุรกิจนายหน้าประกันภัย

ขณะที่ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ของบริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิรวม 1,320.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,117.89 ล้านบาท

 น.ส. ธิดา แก้วบุตตา  ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าบริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยราว 3,107.71 ล้านบาท และรายได้อื่นราว 852.13 ล้านบาท รวมรายได้อยู่ที่ 3,959.84 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 57.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการเติบโตทั้งรายได้และกำไรมาจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ของบริษัท เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำเงินไปใช้ในการหมุนเวียนธุรกิจและชีวิตประจำวัน

โดยเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 บ.ศรีสวัสดิ์ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566 ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด (FM) จำนวน 4,900,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท โดยเป็นการซื้อหุ้นคืนจากธนาคารออมสินตามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นระหว่างธนาคารออมสินและบริษัท ในราคาหุ้นละ 306.00 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกันกับที่บริษัทได้เคยขายหุ้นสามัญจำนวนดังกล่าวให้แก่ธนาคารออมสิน

 นายวิทัย รัตนากร  ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่าธนาคารออมสิน เตรียมใช้สิทธิ์ขายหุ้น 49% ในบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด มูลค่า 1,500 ล้านบาท คืนให้กับบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นตั้งแต่เริ่มลงทุน

โดยธนาคารออมสินได้เข้าลงทุนใน บจ.เงินสดทันใจ เป็นระยะเวลา 2 ปี มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มการแข่งขันในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสามารถปรับลดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยของตลาดลงได้ประมาณ 8% - 10% ต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 26% - 28% ต่อปี ในช่วงที่เริ่มประกาศเปิดตัวโครงการ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 16% - 18% ต่อปี และยังสามารถสร้างผลกำไรให้กับผู้ประกอบการในระดับที่เหมาะสม ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบด้วย

ทั้งนี้ บจ.เงินสดทันใจ ได้อนุมัติสินเชื่อที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำลงแก่ผู้มีรายได้น้อย จำนวนกว่า 1.7 ล้านราย และคาดการณ์ว่ามีผู้ได้รับประโยชน์จากการที่ดอกเบี้ยถูกลงทั้งตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เป็นจำนวนกว่า 5 ล้านราย

ภายหลังจากที่ได้ดำเนินการขายหุ้นคืน ธนาคารออมสิน และ บมจ.ศรีสวัสดิ์ ได้ตกลงร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจ โดยธนาคารจะให้สินเชื่อกับ บจ. เงินสดทันใจ ในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ส่วน บจ.เงินสดทันใจ จะยังปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ด้วยอัตราดอกเบี้ยปกติที่ไม่เกิน 18% เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงสินเชื่อ

สำหรับธุรกิจจำนำทะเบียนมีมูลค่า 2.26 แสนบาท เป็นธุรกิจเนื้อหอมที่แบงก์และนอนแบงก์เข้าร่วมชิงเค้กกันต่อเนื่อง ล่าสุด บริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด ได้จัดตั้ง บริษัท เงินให้ใจ จำกัด โดยถือหุ้น 100% ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 5 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อรถที่มีหลักประกัน และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ทั้งนี้ ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้อยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทย

สำหรับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเดิมทีไม่ได้อยู่ในการควบคุมของ ธปท. แต่หลังจากมีการแข่งขันที่รุนแรง เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง และไม่มีการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นฉวยโอกาสคิดอัตราดอกเบี้ยสูงเกินจริง รวมทั้ง คิดค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน ซึ่งไม่เป็นธรรมกับลูกค้า

ในปี 2562 ทาง ธปท. เข้ามาดูแลธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ให้มาอยู่ภายใต้กำกับภายใต้ใบอนุญาต (License) สินเชื่อบุคคลภายใต้กำกับ (Personal Loan) โดยผู้ประกอบการจะต้องเข้ามาขออนุญาตประกอบธุรกิจ หากไม่ขออนุญาตถือว่าผิดกฎหมาย แต่เดิม ธปท.ได้มีการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 28% ต่อปี และปัจจุบันปรับลงมาเหลือ 24% ต่อปี

 น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สินเชื่อจำนำทะเบียนรถถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนสูง (high yield) เมื่อเทียบกับสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น ส่งผลให้มีผู้เล่นทั้งที่เป็นแบงก์และนอนแบงก์เข้ามาเล่นในตลาดนี้กันมากขึ้น ทั้งยังมีแนวโน้มเข้ามาเพิ่มเติมต่อเนื่อง เพราะในแง่ความเสี่ยงของการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่ำกว่าสินเชื่อรายย่อยประเภทคลีนโลน แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยกลุ่มจำนำทะเบียนจะโดนแคปเพดานไว้ที่ระดับ 24% ต่อปี แต่ถือว่าดีกว่าสินเชื่ออื่นในแง่ผลตอบแทน

ข้อมูล ณ เดือน ก.ย. 2565 ตัวเลขสินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับประเภทที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (จำนำทะเบียนรถ) มีอัตราการเติบโตสูงถึง 34% ยอดสินเชื่อคงค้างทั้งระบบอยู่ที่ 2.26 แสนล้านบาท ซึ่งมีการเติบโตเป็น 2 หลักทั้งแบงก์และนอนแบงก์ โดยศูนย์วิจัยคาดการณ์กรอบการเติบโตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในปี 2566 ในส่วนของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 17-20 % ยอดสินเชื่อคงค้างภายในสิ้นปีอยู่ที่ 3.77 หมื่นล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น