xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ความพ่ายแพ้ของ “พรรค 2 ลุง” ความเสื่อมขั้นสุดของ “ประชาธิปัตย์ “อนุรักษ์นิยมก้าวหน้า” คือคำตอบสุดท้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทยในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะ “ความพ่ายแพ้” แบบไม่มีทางสู้ของพรรคการเมืองที่มีแนวทางอนุรักษ์นิยมอย่างน้อง 3 พรรคคือ “พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์” และอาจรวมถึง “พรรคชาติไทยพัฒนา” รวมทั้ง “พรรคไทยภักดี” เข้าไปด้วย 

ผลการเลือกตั้ง(อย่างไม่เป็นทางการ) พรรครวมไทยสร้างชาติที่มี  “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”  เป็นแม่ทัพ ได้ ส.ส.ในระบบแบ่งเขต 23 คน และ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ 13 คน ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ที่มี  “ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”  เป็นหัวหน้า ได้ ส.ส.ในระบบแบ่งเขต 39 คน และ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ 1 คน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ที่มี  “เสี่ยอู๊ด-นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์”  เป็นหัวหน้าพรรค ได้ ส.ส.ในระบบแบ่งเขต 22 คน และ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ 3 คน

ด้านพรรคชาติไทยพัฒนาของ  “วราวุธ ศิลปอาชา”  ได้ ส.ส.ในระบบแบ่งเขต 9 คน และ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ 1 คน และพรรคไทยภักดีของ  “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” ไม่มี ส.ส.แม้แต่เพียงคนเดียว

เหตุและผลของการพ่ายแพ้ ประการสำคัญคือ  “คนเบื่อลุง”  และต้องการเห็น  “ความเปลี่ยนแปลง”  เกิดขึ้นในบ้านนี้เมืองนี้ ประกอบกับการหาเสียงในรูปแบบเดิมๆ ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองบนโลกโซเชียลอย่างใกล้ชิด ยิ่งเมื่อบรรดา  “อินฟลูเอนเซอร์”  ตลอดรวมถึงดารานักร้อง ซึ่งคนรุ่นใหม่ติดตามใกล้ชิด แปรสภาพกลายเป็น  “ด้อมส้ม” ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้คะแนนไหลไป  “แลนด์สไลด์”  ที่  “พรรคก้าวไกล”  แทนที่  “พรรคเพื่อไทย”  อีกต่างหาก

ปัญหาที่ต้องขบคิดก็คือ ปรากฏการณ์เช่นนี้จะดำรงอยู่ตลอดไป หรือเป็นเพียง  “ภาวะชั่วคราว”  เท่านั้น
สำหรับ 3 พรรคหลักคือพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์นั้น ถ้าหากพิจารณาในแง่ของ  “ความเป็นสถาบันทางการเมือง” ก็คงเห็นตรงกันว่า  “พรรคประชาธิปัตย์”  ถือเป็นเรือธงใหญ่ที่สังคมเฝ้าจับตามากที่สุด ขณะที่อีก 2 พรรคยังมีคำถามในเรื่องความเป็น  “พรรคเฉพาะกิจ”  เพราะเมื่อใดก็ตามที่  “2 ลุง” ตัดสินใจวางมือทางการเมือง โอกาสที่สมาชิกพรรคจะแตกกระซานซ่านเซ็นไปคนละทิศละทางมีความเป็นไปได้สูง

คำถามสำคัญมีอยู่ว่า แล้วพรรคการเมืองในฝ่ายอนุรักษนิยมจะแก้ไขสถานการณ์อย่างไรให้สามารถพลิกกลับมาสู้กับพรรคที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่มี “พรรคก้าวไกล” และ “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำ โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่นับวันยิ่งได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ

หลังผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดออกมา เริ่มมีนักวิชาการ กูรูทางการเมือง เริ่มมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า พรรคฝ่ายอนุรักษนิยม และโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ต้องปฏิวัติตัวเองครั้งใหญ่และนำ “คนรุ่นใหม่” เข้ามาแทนที่คนรุ่นเก่าได้แล้ว ดังที่มีการชี้นำแนวทางแล้วว่า ต้องเป็นไปในลักษณะของ  “NEO CONSERVATIVE” หรือ “อนุรักษ์นิยมก้าวหน้า” ไม่ใช่อนุรักษนิยมอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

เป็นอนุรักษ์นิยมก้าวหน้าที่ยังเห็นคุณค่า เชื่อมั่นในรากฐานทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมอยู่ แต่ต้องยอมรับพลวัตการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เข้ามา การพลิกขั้วของโลกในทุกมิติ เพื่อผลักดันประเทศไทยให้อยู่กับร่องกับรอย สามารถทำให้ประเทศชาติก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ยั่งยืน ทำให้ประชาชนชาวไทยใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข สามารถปกป้องประเทศชาติ ประชาชน และสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่รอดปลอดภัยได้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงในโลกนี้

กล่าวสำหรับ  “พรรคประชาธิปัตย์”  นั้น ในเบื้องแรก “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ตัดสินใจลาออกจากหัวหน้าพรรคพร้อมกับ  “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรค เพื่อแสดงความรับผิดชอบ โดยแจ้งในกรุ๊ปไลน์พรรคเมื่อช่วงดึกวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมหลังทราบผลการเลือกตั้ง

“ผมขอแสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้ง ด้วยการลาออกจาก ตำแหน่งหัวหน้าพรรค และขอให้ทุกท่านช่วยกันทำหน้าที่เพื่อพรรคต่อไป สำหรับผมไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด ผมพร้อมอยู่เคียงข้างพรรคเสมอ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาตลอดชีวิตการเมืองของผมครับ”

นั่นคือข้อความที่นายจุรินทร์สื่อสารออกมา

กระนั้นก็ดีสิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจก็คือแล้ว  “ใคร”  จะมานำทัพค่ายแม่พระธรณีบีบมวยผมแทน จะใช้บริการคนหน้าเก่าๆ ที่เป็น  “ผู้อาวุโส”  ก็ดูจะไม่มีความหวังและอนาคตเท่าใดนัก หรือต้องจำใจมอบหมายให้  “เดอะมาร์ค-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”  อดีตหัวหน้าพรรคเข้ามาสังคายนาพรรค ก็ยังคงมีคำถามว่า แล้วจะได้ผลสักกี่มากน้อย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีเสียงสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ให้กลับมารื้อฟื้นพรรคออกมาบ้างแล้ว หนึ่งในนั้นก็คือ “นายสาธิต ปิตุเตชะ” ในฐานะรักษาการรองหัวหน้าพรรค ที่ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของเจ้าตัวเองที่สนามเมืองระยองก็พ่ายแพ้เก้าอี้ให้กับพรรคก้าวไปแบบสุดช็อกเช่นกัน

“นายอภิสิทธิ์มีความเหมาะสมที่จะเข้ามากอบกู้ แต่ต้องมีการพูดคุยกันภายในพรรค และผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่คนซึ่งเคยอยู่ ปชป.แล้วย้ายออกไปอยู่พรรคอื่นๆ ควรกลับมาร่วมกันทำให้ปชป.กลับมาเป็นสถาบันทางการเมืองที่ทันสมัยและยึดหลักการอุดมการณ์”นายสาธิตกล่าว

ถ้าหากย้อนหลังไปพิจารณาความเป็นไปในประวัติศาสตร์ของพรรคประชาธิปัตย์ก็จะพบว่า พรรคนี้มีความแตกแยกมาอย่างต่อเนื่อง มีสมาชิกพรรคแยกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่หรือย้ายไปสังกัดพรรคอื่นมาเป็นระยะๆ ที่สำคัญคือนาทีนี้ต้องยอมรับว่าบุคคลากรใน “ค่ายสะตอ” ระดับที่พอผลักดันให้ไปถือธงนำพรรคแทบไม่เหลือ หลังเกิดภาวะ “เลือดไหลออก” มาตลอดหลังเลือกตั้งปี 2562 หรือนับตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ลาออกจากหัวหน้าพรรคและนายจุรินทร์เข้ามารับไม้ต่อแทน

ตั้งแต่ “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” อดีต ส.ส.พิษณุโลก ที่ไปสร้างดาวดวงใหม่พรรคไทยภักดี, “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” อดีต ส.ส.กทม. และอดีต รมว.ยุติธรรม ที่ไปกินตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และกลายเป็นขุนพลการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ, “กรณ์ จาติกวณิช” อดีต รมว.คลัง ที่ก่อตั้งพรรคกล้าก่อนที่จะย้ายไปผนึกรวมกับ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” แห่งพรรคชาติพัฒนา ในชื่อพรรคใหม่ว่า “ชาติพัฒนากล้า”

 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 ชวน หลีกภัย

  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ที่ผ่านมาแม้ “หัวหน้าอู๊ด” จะพยายามแก้เกม เปิดแคมเปญ “เลือดใหม่ไหลเข้า เลือดเก่าไหลกลับ” เพื่อบรรเทาอาการ “เลือดไหลออก” แล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนอะไรๆ ก็ยังไม่ดีขึ้น รวมถึงการดึง “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์  อดีตอธิการบดีสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทำมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับ  “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”  ไปแบบไม่มีลุ้น และในการนำทัพสนามเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เที่ยวนี้ ปชป.ก็ไม่มี ส.ส.แม้แต่เพียงคนเดียว

ยิ่งในช่วงท้ายๆ ก่อนการเลือกตั้ง สถานการณ์ภายในพรรคยิ่งแตกแยกกันอย่างหนัก เมื่อ  “กลุ่มกบฏ” ต้องการโค่น “เสี่ยอู๊ด” ให้พ้นจากเก้าอี้หัวหน้าพรรค เพราะระยะหลังกระแสพรรคไม่กระเตื้อง กระทั่งภาคใต้ยังร่อแร่ โดย “บิ๊กเนม” ที่หันหลังให้พรรคในยุค “หัวหน้าอู๊ด” โดยส่วนใหญ่ต่าง “ทิ้งบอมบ์” ออกปากว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการบริหารพรรคทั้งสิ้น

ในพื้นที่ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ถือว่า ตกอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ที่สุด ด้วยถูกยุทธศาสตร์  “ตกปลาในบ่อเพื่อน” ของพรรครวมไทยสร้างชาติดูด ส.ส.เก่าออกไปรวมงานด้วยจำนวนไม่น้อยและได้ ส.ส.กลับเข้ามาเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่พรรคภูมิใจไทยของ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล”  ก็คืบคลานเข้ามาตีหัวหาดในหลายจังหวัด เฉกเช่นเดียวกับ “พรรคก้าวไกล” ที่ส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่า จะเป็นคู่แข่งสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ ดังตัวอย่างที่เห็นในจังหวัดภูเก็ต เป็นอาทิ

ขณะที่ผลการเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีเก้าอี้ ส.ส.แม้แต่เพียงคนเดียวติดต่อกันถึง 2 สมัยเลือกตั้ง คือการเลือกตั้งในปี 2562 และ 2566

เรียกว่า หนักหนาสาหัสจนไม่สามารถพรรณนาออกมาเป็นคำพูดได้เลยทีเดียว

ยิ่งถ้าดูภาพรวมคะแนนเสียงจาก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ได้ 905,546 คะแนน ซึ่งต้องถือว่าน้อยมาก ขณะที่พรรคลุงตู่ได้ 4,671,202 คะแนน แต่ถ้าเทียบกับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วยแล้ว ก็ต้องใช้คำว่า  “ไม่เห็นฝุ่น”  กล่าวคือพรรคก้าวไกลได้ 14,136,838 คะแนน ได้เก้าอี้ 39 ที่นั่ง ส่วนพรรคเพื่อไทย 10,795,470 คะแนน ได้เก้าอี้ 29 ที่นั่ง

และถ้าเน้นเฉพาะในพื้นที่  “ภาคใต้”  ก็ปรากฏว่า พรรคก้าวไกลเอาชนะในระบบบัญชีรายชื่อถึง 25 เขตในภาคใต้ ขณะที่พรรคประชาชาติเอาชนะไป 13 เขต อีก 22 เขตเป็นชัยชนะของพรรครวมไทยสร้างชาติ

และเมื่อเจาะลึกในรายละเอียด 13 เขตบัญชีรายชื่อที่พรรคประชาชาติชนะ มีพรรคก้าวไกลทำคะแนนตามมาในอันดับ 2 เช่นเดียวกับ 22 เขตที่พรรครวมไทยสร้างชาติเอาชนะไปในบัญชีรายชื่อ ก็มีพรรคก้าวไกลตามมาในอันดับ 2 ทั้งสิ้น

สำหรับ ส.ส.เขต 22 ที่นั่งของพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย 1.นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ตรัง 2.นายกาญจน์ ตั้งปอง ตรัง 3.นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ ประจวบคีรีขันธ์ 4.นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ประจวบคีรีขันธ์ 5.นายราชิต สุดพุ่ม นครศรีธรรมราช 6.นายทรงศักดิ์ มุสิกอง นครศรีธรรมราช 7.นายพิทักษ์เดช เดชเดโช นครศรีธรรมราช 8.ว่าที่ร้อยโทยุทธการ รัตนมาศ นครศรีธรรมราช 9.นายชัยชนะ เดชเดโช นครศรีธรรมราช 10.นางอวยพรศรี เชาวลิต นครศรีธรรมราช

11.นายชาตรี หล้าพรหม สกลนคร 12.นายสรรเพชญ บุญญามณี สงขลา 13.นายสมยศ พลายด้วง สงขลา 14.นายเดชอิศม์ ขาวทอง สงขลา 15.นางสาวสุภาพร กำเนิดผล สงขลา 16.พลตำรวจตรีสุรินทร์ ปาลาเร่ สงขลา 17.นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สงขลา 18.นายยูนัยดี วาบา ปัตตานี 19.นางสุพัชรี ธรรมเพชร พัทลุง 20.นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ พัทลุง 21.นายวุฒิพงษ์ นามบุตร อุบลราชธานี 22.นายสมบัติ ยะสินธุ์ แม่ฮ่องสอน

ขณะที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 คน ก็คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายชวน หลีกภัย

แน่นอน ต้องยอมรับว่า “แฟนานุแฟนเดิม” ที่ครั้งหนึ่งเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็ตีตัวออกห่างไปอีกเป็นจำนวนมากด้วยมองไม่เห็น “ความหวัง” ว่าจะสามารถนำพาประเทศชาติได้ โดยเฉพาะภาพลักษณ์ที่ยากยิ่งต่อการลบเลือน นั่นก็คือคำว่า “ดีแต่พูด”  ด้วยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ในยามที่หัวหน้าพรรคนี้ก้าวไปเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเข้าไปร่วมเป็นฝ่ายรัฐบาล ก็ไม่สามารถสร้างผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์หรือเป็นรูปธรรมในสายตาของประชาชนได้

นี่คือโจทย์ใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์

กล่าวเฉพาะ “ประชาธิปัตย์” นายสาธิต ปิตุเตชะให้ความเห็นถึงประเด็นคำถาม “หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคต้องเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหมดหรือไม่” เอาไว้ว่า

“หลักการของประเทศไม่ใช่แค่ต้องมีคนรุ่นใหม่อย่างเดียว คนทุกรุ่นมีความสำคัญเหมือนกันหมด เพียงแต่เราจะสื่อสารอย่างไรให้คนที่เป็นคนรุ่นเก่ามาอยู่เบื้องหลัง เป็นคลังสมอง มีประสบการณ์ ส่วนคนรุ่นกลาง คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดแหลมคมก็ออกมามีบทบาท แต่ถ้าปล่อยให้คนส่วนนี้ทำอย่างเดียวอาจเกิดข้อผิดพลาด ดังนั้น การทำงานต้องผสานคนทุกรุ่นแล้วนำคนเหล่านี้ไปสื่อสารในรูปแบบใหม่ที่มีความชัดเจน แต่การสื่อสารกับประชาชนต้องเข้ากับบริบทนั้นด้วย ดังนั้นพรรคการเมืองต้องมีความเปลี่ยนแปลงความยืดหยุ่น”

ด้าน  “นายชวน หลีกภัย” อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลการเลือกตั้งที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้แบบยับเยิน ว่า หากมีเวลาต้องคุยกับนายจุรินทร์เพื่อประเมินผลเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง

“การเลือกตั้งรอบนี้ ต้องยอมรับและดูโดยภาพรวมแล้ว เสียงของพรรคลดลงมากว่าที่คาดหมายมาก ผมไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค แต่พยายามตระเวนช่วยหาเสียงไปให้ได้ 77 จังหวัด เพื่อหวังว่าจะได้สส.บัญชีรายชื่อเข้ามามาก เพราะดูจากผลสำรวจของนิด้าโพลแล้วคาดว่าเราจะได้สส.บัญชีรายชื่อ 5 คน แต่พอไปได้สักระยะหนึ่งนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคขอร้องให้ผมกลับไปช่วยในภาคใต้ ต่อมานายจุรินทร์ ก็โทรมาให้ผมลงไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทุกจังหวัดขอให้ไปช่วย นายบัญญัติบอกว่าสถานการณ์เปลี่ยน ใช้เงินรุนแรงมาก ขอให้ผมรีบกลับมา เพราะผมเป็นคนต่อต้านการซื้อเสียง จึงใช้คำที่ว่า “ชาวตรังใครอย่ามุ่งหวังซื้อด้วยเงินตรา” ต้องเอามาใช้ใหม่ ในการรณรงค์การซื้อเสียง ซึ่งนายจุรินทร์คุยกับผมว่ามีระบบการยิงแล้ว แต่ก็เสียดายบัญชีรายชื่อเราได้ต่ำกว่าโพลที่คาดไว้ คือได้เพียง 3 คน”

และนายชวนยังได้กล่าวประเด็นเรื่องการเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคควรจะเป็นคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ ด้วยว่า การเมืองเป็นของคนทุกรุ่น เราไม่เลือกว่ารุ่นเก่า รุ่นใหม่ รุ่นกลางแต่ละรุ่นมีศักยภาพของเขา คนรุ่นเก่าเขาก็มีอดีตที่จะช่วยพรรค คนรุ่นใหม่ก็จะมีความคิด เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา ปัจจุบันก็เอามาเชื่อมต่อกัน พรรคประชาธิปัตย์จึงมีอดีต ปัจจุบัน และมีอนาคต

ขณะที่ “นายเดชอิศม์ ขาวทอง” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะทำหน้าที่  “เลขาธิการพรรค”  คนใหม่ แทนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ซึ่งมีถ้อยความตอนหนึ่งว่า “มีความมุ่งมั่นที่จะต้องฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เป็นวาระที่คนประชาธิปัตย์มีความเห็นตรงกัน

หรือ “ดร.มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข” อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีความเห็นว่า ประชาธิปัตย์ต้อง Change หรือการเปลี่ยนแปลง มี Innovation นวัตกรรม มี Idealist หรือความคิดใหม่ และมี Freedom หรือเสรีภาพ เพราะโลกยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีกติกาใหม่ๆ ระเบียบใหม่ๆมากขึ้น เพราะฉะนั้นทางเลือกสำหรับการทำงานการเมืองของตนเองและหลายคนนับจากนี้ต่อไปคือ 1. เว้นวรรคทางการเมืองเพราะก็มีเรื่องอื่นที่จะต้องไปทำ หรือ 2. เดินหน้ากอบกู้พรรคประชาธิปัตย์โดยระดมพลปฏิรูปพรรคเคียงข้างประชาชน และถ้าจะเลือกทางเลือกที่2 ก็ต้องเริ่มใหม่หารือคนรุ่นใหม่ที่ยังสนใจทำงานการเมืองในรูปแบบที่สร้างสรรค์ใครคิดคนนั้นลงมือทำและแบ่งหมวดการทำงาน 3 ขาในรูปแบบบุคลากรไม่ต้องทับซ้อนกันคือ 1. ที่ยืนในสภาให้เสรีภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำงานในสภานิติบัญญัติได้อย่างเต็มที่ 2.ที่ยืนในรัฐบาล(ถ้ามี)ให้อำนาจการบริหารจัดการของฝ่ายบริหารในรัฐบาลอย่างเต็มที่ 3.ที่ยืนในพรรค ให้บุคลากรมีอำนาจและเสรีภาพในการบริหารจัดการและตัดสินใจเพื่อสร้างศรัทธาความนิยมและผลักดันนโยบายอย่างเต็มที่

“เราต้องพร้อมหันส่องทะลุกระจกให้เห็นอนาคตให้ได้ และขณะนี้ในส่วนที่สำคัญที่สุดคือข้อ3 ซึ่งจะเป็นฝ่ายที่ทำงานหนักอย่างมากในสถานการณ์หลังจากนี้เพราะจะต้องสร้างความนิยมความศรัทธาให้เข้ากับยุคสมัยและไปกับคนรุ่นใหม่และคนทุกกลุ่มได้อย่างมีศิลปะทันโลกและไม่อคติไม่นำอัตตามาเป็นตัวตั้งลดความยึดมั่นถือมั่นเพื่อสร้างความร่วมมือและสามัคคีและจะต้องเป็นการทำงานเป็นทีมแบ่งงานแบ่งหน้าที่กันทำอย่างบูรณาการที่สุดและนี่จะเป็นทางเลือกและเป็นทางรอดของพรรคประชาธิปัตย์” ดร.มัลลิกา กล่าว

 ...ถึงตรงนี้ ต้องบอกว่า สุดท้ายแล้วโจทย์ของพรรคประชาธิปัตย์มีเพียงประการเดียวคือ ต้องเปลี่ยนแปลงในระดับชนิดต้อง “ปฏิวัติ” กันเลยทีเดียว เพราะถ้าไม่ปฏิวัติ พรรคประชาธิปัตย์ที่ว่ากันว่าเป็น “พรรคแมลงสาบ” ฆ่าไม่ตาย มาถึง 76 ปี ก็อาจสิ้นชื่อได้ ด้วยพิสูจน์ให้เห็นแล้ว หมดยุคของวาทกรรมอันลือลั่นอย่าง “ประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าลง คนก็เลือก” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 


คำถามก็คือแล้วจะให้ “ใคร” มาเป็นหัวหน้าพรรคในการนำทัพปฏิวัติเที่ยวนี้

พิจารณาดูแล้วต้องใช้คำว่า “ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์”

 ขณะที่ “พรรค 2 ลุง” นั้น ทั้ง “ลุงป้อมและลุงตู่” ยังไม่มีท่าทีอะไรชัดเจนว่าจะทำการเมืองต่อหรือถอยกลับไปอยู่บ้าน 



กำลังโหลดความคิดเห็น