xs
xsm
sm
md
lg

นัยของการเลือกตั้ง และโอกาสที่พิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

 ชัยชนะการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลด้วยการได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากเป็นลำดับหนึ่ง หรือ 152 ที่นั่ง เฉือนเอาชนะพรรคเพื่อไทยที่ได้รับ 141 ที่นั่งมาได้อย่างเหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์การเมือง นับเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี ที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคลำดับหนึ่ง ส่วนความพ่ายแพ้ของพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่ในความคาดหมายของคนจำนวนมาก แต่แน่นอนว่าคงเหนือความคาดหมายของฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ผมมีข้อสังเกตบางประการ ประการแรก ผมคิดว่าคะแนนเสียงจากระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นภาพสะท้อนต้องการทางการเมืองที่แท้จริงของประชาชนมากกว่าคะแนนเสียงจากระบบ ส.ส. เขต เพราะการเลือกระบบบัญชีรายชื่อเป็นการแสดงเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนต่อทิศทางการเมืองในภาพรวม และเป็นระบบที่ถูกแทรกแซงจากการซื้อขายเสียงต่ำมาก ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ที่ค่อนข้างเปราะบางและอ่อนไหวต่อการซื้อขายเสียง สมมติฐานอย่างหนึ่งในการเลือกตั้งไทยคือ หากพรรคการเมืองใดที่มีคะแนนนิยมต่ำ แต่ได้รับ ส.ส. แบ่งเขตมากแบบไม่สมสัดส่วนกับคะแนนนิยม มีความเป็นไปได้สูงว่า พรรคการเมืองนั้นจะใช้การซื้อเสียงอย่างเข้มข้นและกว้างขวางในเขตเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งที่ผ่านมามีพรรคการเมืองบางพรรคมีลักษณะสอดคล้องกับสมมติฐานนี้

 ประการที่สอง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ อุดมการณ์ทางการเมืองแสดงบทบาทสำคัญในการแข่งขันมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ อันที่จริงอุดมการณ์ทางการเมืองมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งไทย 3 ช่วงด้วยกัน ครั้งแรกคือ การเลือกตั้งช่วงในปี 2489 ซึ่งมีพรรคการเมืองที่สะท้อนความเป็นตัวแทนของอุดมการณ์สังคมนิยม เสรีนิยม และอนุรักษ์นิยมอย่างชัดเจน ครั้งที่สอง ช่วงปี 2518-2519 ก็มีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของอุดมการณ์การเมืองทั้งสามเช่นเดียวกัน และครั้งที่สามคือ ครั้งนี้ ปี 2566 ซึ่งมีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนอุดมการณ์ทางการเมืองในสี่ประเภทด้วยกัน

 พรรคก้าวไกลมีอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยเสรีนิยมเชิงสังคม (Liberal Social Democracy) พรรคเพื่อไทยมีอุดมการณ์แบบประชานิยมเชิงอนุรักษ์นิยมใหม่ (Neo-Conservative Populism) พรรครวมไทยสร้างชาติมีอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยมจารีต (Traditional Conservative) ส่วนพรรคหลักอื่น ๆ ที่เหลือมีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเชิงปฏิบัติ (Pragmatic Conservative) ซึ่งวางจักรกลการเมืองของการเลือกตั้ง โดยสร้างและจัดตั้งเครือข่ายหัวคะแนนด้วยระบบอุปถัมภ์ในระดับพื้น เพื่อแสวงหาคะแนนเสียง และมีแนวโน้มจะใช้วิธีการทุกอย่างโดยเฉพาะการซื้อเสียงเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง

 ประการที่สาม ความพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยมาจากการไม่สามารถปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ได้ทันท่วงทีระหว่างการรณรงค์เลือกตั้ง ในช่วงก่อนและช่วงต้นของการรณรงค์หาเสียง พรรคเพื่อไทยใช้  “ยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์” ในการหาเสียงระดับมหภาค และใช้  “ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” ในการต่อสู้ระดับพื้นที่ รวมทั้งการใช้นโยบาย “อภิประชานิยมแจกเงินดิจิตัล 10,000 บาท” พรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นในยุทธศาสตร์ทั้งสองและนโยบายประชานิยมของตนเองมาก แต่ละเลยการแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนของตนเองเกี่ยวกับการร่วมมือหรือไม่พรรคพลังประชารัฐ และละเลยการแสดงความชัดเจนว่าใครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีลำดับหนึ่ง รวมทั้งไม่สนใจในการให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไปร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในเวทีดีเบตของสื่อมวลชน เงื่อนไขทั้งหมดมาซึ่งความพ่ายแพ้ที่เจ็บปวดของพรรคเพื่อไทย

อันที่จริงก็มีเหตุให้แกนนำพรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นต่อยุทธศาสตร์และนโยบายของตนเอง เพราะคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นตลอดในช่วงก่อนและต้นฤดูการเลือกตั้ง แต่จุดพลิกผันก็แสดงออกมาในช่วงต้นเดือนเมษายน ซึ่งมีสัญญาณว่าคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยกำลังเริ่มมีทิศทางลดลง (นิด้าโพลสำรวจศึกเลือกตั้งครั้งที่ 1 ช่วงต้นเดือนมีนาคม พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยม 49.85 % ต่อมาในช่วงต้นเมษายนคะแนนนิยมลดลงเหลือ 47.0 %) แต่อาจเป็นเพราะว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย พรรคเพื่อไทยจึงไม่ตระหนักว่าหายนะกำลังรออยู่ข้างหน้า ยังคงเดินหน้าใช้ยุทธศาสตร์เดิมอย่างต่อเนื่อง จวบจนต้นเดือนพฤษภาคม ในการสำรวจศึกเลือกตั้งครั้งที่สามของนิด้าโพล คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญเหลือ 37.92 % และคะแนนนิยมของคุณแพทองธาร ชินวัตรจากที่เคยนำคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์กลายเป็นตามคุณพิธา

สัญญาณปรากฏชัดเช่นนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยพยายามปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ แต่ก็สายเกินไป มิหนำซ้ำก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วันนายทักษิณ ชินวัตรก็ได้โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ในทำนองว่าจะกลับเข้ามาประเทศไทย ซึ่งเป็นการซ้ำเติมให้คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยลดลงไปอีก

 เป็นครั้งแรกของการเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยได้จำนวน ส.ส. เป็นลำดับสองนับตั้งแต่จัดตั้งพรรคขึ้นมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามนต์ขลังของนายทักษิณ และตระกูลชินวัตรเสื่อมลง ไม่สามารถดึงดูดผู้เลือกตั้งเสียงข้างมากได้อีกต่อไป ยุทธศาสตร์การเมืองแบบประชานิยมผสมกับการเมืองแบบบ้านใหญ่ที่พรรคเพื่อไทยใช้มาโดยตลอดกำลังไร้ประสิทธิผล ในอนาคต หากพรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถปรับวิธีคิดและยุทธศาสตร์การเมืองให้สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป พรรคก็คงตกต่ำลงไปอย่างต่อเนื่อง เฉกเช่นเดียวกับพรรคการเมืองบางพรรคที่ยังจมอยู่ในการเมืองแบบเดิมและวิธีคิดแบบเดิม

 ประการที่สี่ ความพ่ายแพ้อย่างราบคาบของพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ทั้งสองพรรคได้ที่นั่งรวมกันเพียง 76 ที่นั่ง และไม่มีความชอบธรรมในการเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าจะมีเสียงสมาชิกวุฒิสภาหนุนหลังอยู่ก็ตาม กล่าวได้ว่าการเลือกตั้งครั้ง อดีตผู้นำรัฐประหารและนักการเมืองที่สนับสนุนคณะรัฐประหารถูกประชาชนลงโทษด้วยบัตรเลือกตั้งอย่างชัดเจน การพ่ายแพ้อย่างยับเยินทั้งที่ควบคุมอำนาจรัฐอยู่ในมือคงสร้างความประหลาดใจและเจ็บปวดแก่อดีตผู้นำรัฐประหารอยู่ไม่น้อย และคงทำให้เขาสำนึกและตระหนักความจริงว่า มายาภาพที่คนรอบข้างเป่าหูให้ฟังว่าประชาชนยังนิยมอยู่ เป็นเพียงการประจบสอพลอที่ปราศจากรากฐานของความเป็นจริงแม้แต่น้อย นับจากนี้อดีตผู้นำรัฐประหารคงต้องเผชิญกับชะตากรรมบางอย่างที่รออยู่ข้างหน้า และการพ่ายแพ้ของพรรคทั้งสองก็เป็นการยืนยันความจริงอย่างหนึ่งของการเมืองไทยว่า พรรคที่สืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร มักจะมีอายุไม่ยืนยาวในบริบทการเลือกตั้งของระบอบประชาธิปไตย

 ประการที่ห้า พรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมเชิงปฏิบัติของกลุ่มทุนท้องถิ่น ยังคงสามารถรักษาที่นั่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตไว้ได้มากพอสมควร ทั้งที่คะแนนนิยมของพรรคต่ำมาก ลักษณะเช่นนี้สะท้อนความจริงอย่างหนึ่งว่า แม้ว่าการเมืองไทยกำลังเดินไปทิศทางการเมืองแบบพลเมืองที่มีอุดมการณ์เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน แต่ก็ยังคงไม่อาจกวาดล้างการเมืองระบบอุปถัมภ์ให้หมดสิ้นไปได้ พรรคการเมืองบางพรรคยังสามารถใช้เงินซื้อเสียงได้อย่างมีประสิทธิผลและสามารถเอาชนะในระบบ ส.ส.แบบแบ่งเขตในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบางอย่างบ่งบอกว่า เงินไม่อาจซื้อใจของประชาชนได้เสียทั้งหมด เพราะพรรคการเมืองที่ใช้เงินซื้อเสียงพ่ายแพ้ในระบบบัญชีรายชื่อ แม้แต่ในจังหวัดที่เป็นฐานที่เข้มแข็งที่สุดของตนเอง ก็ยังได้คะแนนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อน้อยกว่าพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย นั่นแสดงว่า ด้านหนึ่งผู้เลือกตั้งอาจจำเป็นต้องรับเงินเนื่องจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจ แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังพยายามรักษาจุดยืนและความต้องการทางการเมืองที่แท้จริงของตนเองเอาไว้
 
 ประการที่หก ชัยชนะอย่างเหนือความคาดหมายของพรรคก้าวไกล ในภาพรวมสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนว่าต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองไทยในเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริง และบ่งบอกว่ากระบวนทัศน์วิสัยทัศน์ และวิถีทัศน์ของการเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กรอบความคิดหลักในการเข้าใจความเป็นจริงทางการเมืองที่ถูกครอบงำด้วยการเมืองแบบอุปถัมภ์และการเมืองแบบประชานิยมถูกสั่นคลอนและถดถอย ในขณะที่การเมืองแบบพลเมืองและการเมืองเชิงอุดมการณ์กำลังพัฒนาขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ

วิสัยทัศน์ใหม่ในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศที่ประชาชนต้องการเกิดขึ้นหลายประการ เช่น การสร้างความโปร่งใสในการบริหารประเทศ การทำให้การเมืองหลุดพ้นจากอิทธิพลของทหาร การจัดการกับการผูกขาดทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การสร้างสังคมพหุนิยมทางวัฒนธรรมและทางเพศ การสร้างสังคมสวัสดิการ และการสร้างเมืองที่มีอากาศสะอาด และในท้ายที่สุดวิถีทัศน์ของการเมืองไทยก็เริ่มเปลี่ยนเป็นการเมืองแบบดิจิตัล การเมืองแบบตรงไปตรงมา การเมืองที่ชัดเจนในจุดยืน และการเมืองแบบมีส่วนร่วมของคนธรรมดา โดยเข้ามาแทนที่การเมืองแบบอนาล็อค การเมืองแบบซ่อนเงื่อน การเมืองแบบคลุมเครือ และการเมืองแบบผูกขาดของตระกูลการเมือง

 ประการที่เจ็ด ในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลที่ได้รับชัยชนะลำดับหนึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยดึงพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม และพรรคเล็ก ๆ ที่มีแนวคิดใกล้เคียงกันมาร่วมรัฐบาล และสามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ได้ 313 เสียง ซึ่งเป็นเสียงข้างมากแบบเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร หากประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแบบสากล การจัดตั้งรัฐบาลก็คงเรียบง่าย ทำได้โดยเร็ว และเสร็จสิ้นหลังการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน แต่เนื่องจากการเมืองไทยยังมีสิ่งตกค้างของการรัฐประหารเหลืออยู่ นั่นคือ อำนาจของสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้การจัดตั้งรัฐบาลมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย เพราะ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร และการกระทำทางการเมืองของ ส.ว.ที่ผ่านมามีทิศทางสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมี ส.ว. จำนวนมากลงมติไม่เลือกนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงที่ว่ามี ส.ว.จำนวนไม่น้อยยึดมั่นในหลักการที่ว่าจะลงมติให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่งเป็นหลักการที่ ส.ว.ใช้ในการลงมติเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2562 ประกอบกับเหตุผลที่ว่า ส.ว.จำนวนหนึ่งมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อบ้านเมืองสูง ต้องการเกื้อหนุนให้ครรลองของระบอบประชาธิปไตยพัฒนาต่อไปตามวิถีที่ควรจะเป็น และไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมอีกต่อไป จึงเคารพเจตนารมณ์ของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า นายพิธาจะได้รับคะแนนเสียงเกิน 376 เสียง และส่งผลให้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต่อไป ในอนาคตอันใกล้

 หากการเมืองไทยเดินไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ก็จะทำให้เกิดเสถียรภาพและเปิดโอกาสให้การพัฒนาประเทศเดินไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ได้รับการยอมรับและมีเกียรติภูมิในสากล แต่หากกลุ่มขวาจัดอนุรักษ์นิยมและกลุ่มทุนผูกขาดที่สูญเสียประโยชน์เดินหน้าขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลก็มีความเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าไปสู่ความขัดแย้ง แตกแยก และถดถอย จมไปสู่ภาวะด้อยพัฒนาเหมือนประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น