ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ชีวิตเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูยังสาหัสสากรรจ์จากปัญหาหมูเถื่อนทะลักเข้ามาตีตลาด ส่วนผู้บริโภคคนไทยก็สุดเสี่ยงไม่แตกต่างกัน การขีดเส้นไล่บี้ให้ภาครัฐโดยเฉพาะกรมศุลกากร จัดการกับขบวนการทุจริตลักลอบนำเข้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังและด่านชายแดนให้เห็นผลภายในสิ้นเดือน พ.ค. นี้ จะต้องรอดูน้ำยาของอธิบดีกรมศุลฯ ว่าจะกล้าลงดาบเจ้าหน้าที่ที่ต้องสงสัยว่ามีเอี่ยวหรือไม่
อย่างที่รู้กันดีว่าปัญหาหมูเถื่อนระบาด เป็นเรื่องที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศได้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาจัดการแต่จนบัดนี้ยังเหมือนย่ำอยู่กับที่ กระทั่งเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ม็อบผู้เลี้ยงหมูรวมพลหน้าทำเนียบรัฐบาลกว่าสองพันคน เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการปราบขบวนการทุจริตลักลอบนำเข้าซึ่งเป็นต้นตอของปัญหา ทั้งยังขอให้คุมต้นทุนอาหารเลี้ยงสัตว์ที่ราคาสูงเกินควรอีกด้วย
ตามคำบอกเล่าของ นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ซึ่งติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยสมาคมฯ เก็บรวบรวมข้อมูลเส้นทางขบวนการทุจริตอย่างละเอียด พบว่าขบวนการทุจริตลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมีความเชื่อมโยงกับหลายหน่วยงานรัฐ และ “ทุนสีเทา” หรือผู้นำเข้าไม่เกรงกลัวกฎหมายเพราะมีการเอื้อประโยชน์ เปิดช่องให้มีการทุจริตจากเจ้าหน้าที่รัฐหลายระดับ
“สมาคมฯ และผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ ขอเรียกร้องให้เร่งปราบปรามขบวนการหมูเถื่อนเป็นการเร่งด่วน โดยนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ผู้เลี้ยงหมูสงสัยว่ามีการทุจริตสมคบคิดนำเข้าสินค้าเนื้อสุกรผิดกฎหมาย... ขบวนการนี้ซับซ้อนมาก กรมปศุสัตว์ก็ทำอะไรไม่ได้มาก เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจึงต้องพากันออกมาเรียกร้อง” นายสุรชัย กล่าวถึงเบื้องหลังที่ต้องนำม็อบหน้าทำเนียบรัฐบาล
ข้อสงสัยในเรื่องการเอื้อประโยชน์ต่อการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนนั้น ปรากฏตามหลักฐานอย่างชัดเจนตั้งแต่เมื่อช่วงกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ครานั้นผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ ที่เข้ารับฟังมาตรการป้องกันหมูเถื่อนของกรมศุลกากร ณ สำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง ถึงกับตกตะลึงเมื่อรับทราบข้อมูลการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือฯ จำนวน 189 ตู้ แล้วพบเป็นตู้บรรจุหมูเถื่อนทั้งเนื้อและชิ้นส่วนจำนวนมหาศาลถึง 140 ตู้ น้ำหนักตกประมาณ 4 ล้านกิโลกรัม ผู้แทนเกษตรกรฯ จึงเรียกร้องให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมรัฐ-เกษตรกรเพื่อแก้ปัญหาด่วน
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ตั้งข้อสังเกตว่าหมูเถื่อนที่ตรวจพบในตู้มีจำนวนมากขนาดนี้ ส่วนที่เล็ดลอดออกสู่ท้องตลาดนั้นย่อมมากมายกว่านี้มาก ทำไมภาครัฐถึงไม่สามารถจัดการปัญหาให้เด็ดขาดได้ ยิ่งฟังมาตรการกรมศุลฯ อธิบายถ้าทำตามนั้นได้จริงก็ไม่มีทางที่ของผิดกฎหมายจะเข้ามาได้มากขนาดนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยและน่ากังวลมาก
ทั้งนี้ ของกลางหมูเถื่อน 4 ล้านกิโลกรัมที่ตรวจจับได้ ผู้บริหารกรมศุลฯ ก็ออกตัว แม้ว่ากรมศุลกากรจะทราบชื่อชิปปิ้ง หรือผู้นำเข้าตามที่ระบุไว้ในเอกสาร แต่ตามขั้นตอนมีหน้าที่เพียงยึดสินค้าผิดกฎหมายไว้เท่านั้น ไม่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีใดๆ และของกลางที่อยู่ในตู้ตกค้างก็ต้องส่งมอบให้กรมปศุสัตว์รับไปทำลายต่อ ซึ่งกรมปศุสัตว์ก็มีข้อจำกัดทั้งด้านงบประมาณและกำลังคนในการทำลายหมูเถื่อน ที่ผ่านมามีการของบสนับสนุนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ จนสมาคมฯ ไม่มีงบให้ การทำลายของกลางก็อืดอาดล่าช้า
นอกจากนั้น นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ยังแฉว่ามีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐแนะนำให้ตีกลับตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุหมูเถื่อนตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบังไปยังนอกราชอาณาจักร หรือ reexport ซึ่งจากการเฝ้าสังเกตของสมาคมฯ พบว่าเรือที่บรรจุคอนเทนเนอร์หมูเถื่อนไม่ได้ตีกลับไปยังประเทศต้นทาง แต่มีจุดหมายปลายทางที่ประเทศกัมพูชา จากนั้นมีการทยอยลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนสุกรกลับมายังไทยผ่านทางชายแดนหลายจังหวัดในภาคตะวันออก
การตรวจพบตู้คอนเทนเนอร์หมูเถื่อนที่ท่าเรือแหลมฉบังตกค้างจำนวนมาก ไม่ใช่แค่เพียง 140 ตู้ แต่เพิ่มเป็น 161 ตู้ และการแก้ไขปัญหาก็ไม่ชัดเจนว่าจะจัดการอย่างไร เมื่อปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ จึงทำหนังสือถึง นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ขอให้เร่งทำลายชิ้นส่วนเนื้อสุกรที่ตกค้าง 161 ตู้ พร้อมกับเปิดเผยรายชื่อผู้กระทำผิด และขอรายชื่อผู้ประกอบการนำเข้าที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานราชการ รวมถึงตัวเลขจำนวนการส่งตู้สินค้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรผิดกฎหมายที่ตกเป็นของแผ่นดินและส่งให้กรมปศุสัตว์เพื่อทำลาย ปีงบประมาณ 2565-2566
เสียงตอบรับจากนายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร ต่อข้อเรียกร้องของสมาคมฯ ก็คือ กรมศุลฯ กำลังตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเนื้อสุกรแช่แข็งตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนรายชื่อผู้นำเข้านั้นกรมศุลฯ เปิดเผยไม่ได้ แถมแผ่นเสียงตกร่องซ้ำๆ ว่าอำนาจกรมศุลฯ ทำได้เพียงของกลาง จากนั้นหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจหน้าที่จะรับไปดำเนินการต่อ ฯลฯ
เหมือนจะคุยกันไม่รู้เรื่อง และไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาใดๆ จนสุดท้ายนำไปสู่การม็อบใหญ่หน้าทำเนียบฯ โดย นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ย้ำข้อเรียกร้องเดิมคือขอให้เร่งปราบขบวนการทุจริตนำเข้าหมูเถื่อนและเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
ทั้งนี้ สมาคมฯ ตั้งข้อสงสัยว่า การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมศุลฯ บางคน อาจมีการใช้ช่องทางการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ตามประกาศของกรมศุลกากร ที่ 174/2560 เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการตรวจของที่กำลังผ่านพิธีการ หรืออยู่ในอำนาจกำกับตรวจตราของศุลกากร” ออกตาม พ.ร.บ.กรมศุลกากร พ.ศ. 2560 ที่ให้อำนาจพนักงานศุลกากรตรวจของที่กำลังผ่านพิธีการในลักษณะไม่ต้องตรวจสอบประเภทพิกัด อัตราศุลกากร ราคาและชนิดของในลักษณะของการผ่านแบบ green line
นอกจากนั้น นายกสมาคมฯ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า จากข่าวการตรวจพบและจับกุมสินค้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรแช่แข็งผิดกฎหมาย พบโยงใยหลุดจากระบบการตรวจสอบจากสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ด่านศุลกากรมุกดาหาร และสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ เป็นจำนวนมาก ส่อการทุจริตของนายด่านและผู้บริหารด่านดังกล่าว สมาคมฯ จึงเรียกร้องให้ย้ายนายด่านทั้ง 3 แห่งเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง
ส่วนสินค้าชิ้นส่วนเนื้อสุกรตกค้างทั้ง 161 ตู้ จำนวน 4.5 ล้านตัน ที่ท่าเรือแหลมฉบังต้องเร่งให้กรมปศุสัตว์ทำลายให้หมดภายในเดือนพ.ค.นี้ โดยก่อนส่งขอให้ตรวจสอบการนำเข้าของบริษัทผู้นำเข้าทั้ง 161 ตู้ ย้อนหลัง 3 ปี และแจ้งให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รับทราบผลการตรวจสอบทั้งจำนวนการนำเข้าสินค้าทั้งหมดทั้งปริมาณและประเภทสินค้าที่สำแดง
ส่วนอีกข้อเรียกร้อง คือให้เร่งแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงเกินจริง โดยยกเลิกอากรขาเข้ากากถั่วเหลืองจาก 2% เหลือ 0% เพื่อความเสมอภาค และยกเลิกระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต และการอนุญาตให้นำเข้าข้าวสาลีเข้ามาในราชอาณาจักร ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรอย่างเร่งด่วน
“ตั้งแต่เป็นนายกสมาคมหมูมา ก็มีครั้งนี้แหละที่ชาวหมูสาหัสมาก หลังจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ที่ทำให้ปริมาณผลผลิตสุกรของประเทศลดลง ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงสุกรของไทยในปัจจุบันถือว่าสูงที่สุดในโลก จึงเกิดขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนที่มีราคาเนื้อสุกรที่ชำแหละแล้วเพียงกิโลกรัมละ 50 บาท มาจำหน่าย” นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ โอดครวญ
ม็อบใหญ่ของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูคราวนี้ ได้รับการตอบรับจากกรมศุลกากร โดยนายพชร อนันต์ศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งหารือร่วมกับผู้แทนเกษตรกร ได้ข้อตกลงร่วมกัน 9 ข้อ ประกอบด้วย การกระทำความผิดและมีตู้ตกค้างคดีจะไม่จบที่กรมศุลกากร โดยจะส่งเรื่องต่อยังกรมสอบสวนกลาง, ตู้เย็นคอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 161 ตู้ กรณีคดีถึงที่สุดกรมศุลกากรแล้วจะส่งให้กรมปศุสัตว์ทำลาย ส่วนที่เหลือจะส่งต่อยังกรมสอบสวนกลาง
ส่วน “ของกลาง” ยืนยันจะไม่มีหลุดรอดออกมา, การนำเข้าสินค้าแช่เย็นแช่แข็งจะอัพเดทข้อมูลเชิงสถิติในเว็บไซต์ของกรมศุลกากร, การนำเข้ากลุ่มสินค้า Frozen foods จะต้องผ่านระบบ Red line เท่านั้น ไม่ผ่านระบบ Green Line เพื่อลดโอกาสที่จะหลุดลอดหรือทุจริต, ตู้ทุกตู้ที่อายัดไว้สามารถดำเนินการตรวจสอบได้โดยคณะกรรมการสมาคมฯร่วมกับกรมศุลกากรส่วนกลาง และจะมีการตั้งคณะทำงานมีตัวแทนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ตัวแทนกรมศุลฯ กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อทำงานร่วมกันแบบทันท่วงที
อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมีข้อตกลงร่วมกันและการเฝ้าระวังที่เข้มแข็งขึ้น แต่คนในแวดวงการนำเข้าส่งออก ได้ตั้งข้อสังเกตว่ามีการนำเข้าหมูเถื่อนด้วยการสำแดงเท็จว่าเป็นปลาแช่แข็ง หรือไม่? เมื่อดูสถิติการนำเข้าปลาแช่แข็งผ่านกระบวนการศุลกากรในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปี 2564 พบว่ามีมูลค่านำเข้าสูงผิดปกติ โดยเฉพาะสินค้าที่สำแดงว่าเป็นปลาแช่แข็ง ภายใต้รหัสสินค้า HS Code 0303 ทั้งหมดที่นำเข้ามาประเทศไทยในปี 2565 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 16,606,386,533 บาท หรือกว่า 1.66 หมื่นล้านบาท
หากประเมินราคาปลาตามเกณฑ์ประเมินของกรมศุลกากรที่ 50 บาทต่อกิโลกรัม จะคำนวณได้ว่า ปริมาณปลาแช่แข็งที่นำเข้ามามีมากถึง 332,127,370 กิโลกรัม หรือ 332,127 ตัน ซึ่งปกติในหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์จะบรรจุอาหารแช่แข็งได้ราว 30 ตัน หมายความว่าในปี 2565 มีการนำเข้าสินค้าอาหารที่สำแดงว่าเป็นปลาแช่แข็งเพิ่มขึ้นจากปกติถึง 11,070 ตู้คอนเทนเนอร์
ตัวเลขนำเข้าสูงขึ้นขนาดนี้ แสดงว่าในปีที่แล้วประเทศไทยต้องขาดแคลนเนื้อปลาอย่างหนัก ระดับราคาเนื้อปลาในประเทศต้องสูงมากผิดปกติจนถึงกับต้องเพิ่มการนำเข้าปลาแช่แข็งจำนวนมาก แต่กลับไม่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นเลยแม้แต่น้อย และที่น่าแปลกคือปลานำเข้ามาจากแหล่งผลิตหมูของโลกอย่างเช่น บราซิล ฝรั่งเศส และสเปน เพิ่มขึ้นถึง 250% ที่สำคัญหมูเถื่อนแช่แข็งที่รัฐจับกุมได้ก็มีแหล่งที่มาจากประเทศเหล่านี้เป็นหลักเช่นกัน
ทั้งนี้ ตัวเลขการจับกุมหมูเถื่อนครั้งใหญ่ในตู้ตกค้าง 161 ตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือแหลมฉบัง พบจำนวนหมูเถื่อนถึง 4.5 ล้านกิโลกรัม หรือ 4,500 ตัน ทั้งยังเป็นตู้ที่ตกค้างในพื้นที่แหลมฉบังมานานกว่า 7-8 เดือน โดยส่วนใหญ่เป็นหมูเถื่อนจากบราซิล ทำให้ข้อสันนิษฐานที่ว่า “ขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนสำแดงเท็จว่าสินค้าในตู้เป็นปลาแช่แข็ง ส่งผลให้ตัวเลขยอดนำเข้าปลาสูงผิดปกติ” ใช่หรือไม่?
อีกทั้งยังตั้งข้อกังขาด้วยว่า ตู้คอนเทนเนอร์หมูเถื่อน 161 ตู้ จนป่านนี้ยังไม่มีการส่งมอบตู้หมูเถื่อนเหล่านั้นให้กรมปศุสัตว์นำไปฝังทำลาย แต่เสียบปลั๊กตู้เย็นกินไฟไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาสภาพของหมูผิดกฎหมายเอาไว้ จึงไม่ทราบว่าทำไปเพราะเหตุผลใด และจะยื้อไปอีกนานแค่ไหน ทั้งที่หากทำการส่งมอบของกลาง กรมปศุสัตว์จะสามารถดำเนินคดีฟ้องร้องกับเจ้าของตู้/ผู้นำเข้าทั้งหมดได้ทันที
หากต้องการล้างขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน กรมศุลกากรต้องทบทวนการทำหน้าที่ครั้งใหญ่ การถูกชิปปิ้งหลอกด้วยวิธีสำแดงเท็จเป็นสินค้าชนิดอื่นแล้วรอดการตรวจสอบจับกุมไปได้ ก็เหมือนศุลกากรถูกหยาม เว้นเสียแต่ว่ามีเจ้าหน้าที่กรมศุลฯ บางคนร่วมอยู่ในขบวนการนั้นด้วยดังที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ตั้งข้อสังเกต
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด กรมศุลฯ ต้องทบทวนการทำหน้าที่ครั้งใหญ่ และยังมีคำถามต่อด้วยว่าคอนเทนเนอร์แช่เย็นอีกกว่า 100 ตู้ที่ตกค้าง ณ ท่าเรือฮัทชิสัน (D1) ... ณ ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อไหร่จะเปิดตรวจสอบ ... หรือมันสำแดงเป็น “ปลาแช่แข็ง” รหัสสินค้า HS Code 0303 เข้ามาอีกแล้ว ใช่หรือไม่?
นอกเหนือจากปัญหาหมูเถื่อนแล้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทย ยังเผชิญกับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นไม่หยุด การละเลยแก้ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงเกินควร ส่งผลกระทบซ้ำเติมให้ผู้เลี้ยงปศุสัตว์มีปัญหาหนักหนาสาหัส ปัจจุบันผู้เลี้ยงต้องแบกรับการขาดทุน 30 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 3,000 บาทต่อตัว มาเป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว
นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา สะท้อนว่าผู้เลี้ยงสุกรจับตาความเคลื่อนไหวของราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เห็นความผิดปกติของส่วนต่างราคาพืชอาหารสัตว์ทั้งกลุ่มพลังงาน ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มโปรตีนเช่นกากถั่วเหลืองที่ราคาในประเทศขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ราคาตลาดโลกย่อตัวลงมานานแล้ว
นายประพันธ์ วิมลเมือง ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู กลุ่มวิสาหกิจหมูหลุมบ้านหนองสองพี่น้อง หมู่ 5 ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด จ.ตรัง บอกว่า ตอนนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเดือดร้อนหนัก ทั้งจากราคาอาหารหมูเบอร์ 3 สำหรับหมูขุน น้ำหนัก 70-90 กก. ที่มีราคากระสอบละ 580 บาท จากเมื่อ 4 เดือนก่อนราคาแค่กระสอบละ 545 บาท ส่วนอาหารหมูอนุบาล ราคาขึ้นเป็นกระสอบละ 800 บาท จากที่ก่อนหน้านี้กระสอบละ 680 บาท ซึ่งอาหารหมูยังแพงขึ้นต่อเนื่อง ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงมา
สำหรับต้นทุนการเลี้ยงหมู ประกอบด้วย ลูกหมู ตัวละ 2,500 บาท ค่าอาหารกว่าจะถึงเวลาจับขายใช้เวลา 4 เดือน หมู 1 ตัว กินอาหาร 4,200 บาท รวมต้นทุน 6,700 บาท ยังไม่นับรวมค่าคนงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเลี้ยง แต่พอเลี้ยงไปได้ประมาณ 4 เดือนจับขาย ก็จะได้หมูน้ำหนักประมาณ 110 กิโลกรัม หากขายหน้าฟาร์มตอนนี้ กก.ละประมาณ 70 บาท ก็จะขายได้ตัวละประมาณ 7,000 บาท เมื่อหักต้นทุนค่าลูกหมู ค่าอาหาร จะเหลือเงินต่อตัวประมาณ 300 บาท แต่หากนำไปหักค่าแรง ค่าน้ำ ค่าไฟด้วย ก็เท่ากับขาดทุน ถ้าไม่ปรับวิธีการเลี้ยง
ผู้เลี้ยงหมูทั้งรายเล็กรายใหญ่ที่เลี้ยงหมูขายเพื่อเอากำไรอย่างเดียว จะประสบภาวะขาดทุนทั้งหมด นอกจากราคาหมูขายหน้าฟาร์มจะขยับขึ้นเป็น กก.ละ 85 บาท จึงจะอยู่ได้ แต่หากต่ำกว่า กก.ละ 85 บาท จะขาดทุนทันที จนตอนนี้ผู้เลี้ยงหมูหลายรายในกลุ่มวิสาหกิจหนองช้างแล่น ต่างประสบภาวะขาดทุนในการเลี้ยงครั้งละ 3-4 แสนบาท หลายรายเริ่มท้อ ไม่มีทุนเลี้ยงต่อ จนต้องหยุดเลี้ยงชั่วคราว
ทั้งนี้ ราคาหมูตกต่ำลงมาต่อเนื่องติดต่อกันประมาณ 2-3 เดือนมาแล้ว ราคาลดลงชนิดเกษตรกรตั้งตัวไม่ติด โดยราคาจะลดลงทุกๆ วันพระ วันพระละ 5-7 บาท จนตอนนี้มาอยู่ที่ กก.ละ 71-72 บาท ซึ่งสาเหตุมาจากหมูเถื่อนตีตลาด ต้นทุนอาหารสัตว์แพง บวกค่าไฟแพงกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ตั้งแต่เลี้ยงหมูมาก็เพิ่งประสบกับต้นทุนการเลี้ยงสุกรที่สูงถึง 100 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนต่างราคาข้าวโพดที่เกษตรกรขายได้กับราคาหน้าไซโลอาหารสัตว์ไม่ควรบวกเกิน 1 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเห็นความผิดปกติราคาข้าวโพดเม็ดที่ 13-14 บาทต่อกิโลกรัม จึงมองไม่เห็นอนาคตผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเลย
นายสิทธิพันธ์ ยังกังวลว่า ปัญหาหมูเถื่อนที่หนีการตรวจสอบยังคงเป็นปัญหากัดกินอาชีพเกษตรกรและสุขภาพคนไทย ขอให้ภาครัฐเร่งตรวจสต๊อกห้องเย็นอย่างใกล้ชิด รวมทั้งปริมาณการนำหมูเข้า-ออกโรงฆ่าชำแหละว่ามีอัตราส่วนที่สอดคล้องกันหรือไม่ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่ามีความพยายามผลักดันหมูเก่าเก็บในสต๊อกที่ยังไม่ถูกตรวจสอบมากระจายวางจำหน่ายให้ผู้บริโภคทั่วประเทศ ขณะนี้ราคาหมูทุกภูมิภาคอ่อนตัวลงอย่างน่าเป็นห่วงต่อความอยู่รอดของเกษตรกร สวนทางกับปริมาณหมูในประเทศที่ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ โดยราคาหมูหน้าฟาร์มเกษตรกรปรับตัวลดลงมาตลอด ล่าสุด ราคาอยู่ที่ 70-79 บาทต่อกิโลกรัม ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตสูงถึงที่ 100.70 บาทต่อกิโลกรัม
อีกทั้งผู้เลี้ยงหมูต่างกังวลว่าหมูเถื่อนดังกล่าวจะมีเชื้อ ASF และโรคต่างถิ่นที่อาจกระทบต่อการเลี้ยงหมูของไทย ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการเพิ่มซัปพลายหมูในประเทศ รวมทั้งหวั่นเกรงต่อสารเร่งเนื้อแดงที่อาจปนเปื้อนมากับเนื้อหมูต่างแดนที่อนุญาตให้ใช้สารดังกล่าวได้อย่างเสรี ซึ่งจะส่งผลอย่างยิ่งต่อสุขภาพคนไทย จึงเรียกร้องต่อภาครัฐเข้มงวดกวดขันการกวาดล้างก่อนที่หมูเก่าเก็บพวกนี้จะถูกเทออกขายให้ผู้บริโภค พร้อมหาตัวคนบงการมาลงโทษให้ถึงที่สุด ก่อนที่เกษตรกรต้องล้มหายตายจาก และผู้บริโภคต้องตายผ่อนส่งเพราะสารปนเปื้อนต่างๆ
มีข้อแนะนำผู้บริโภคต้องระวังในการเลือกซื้อเนื้อหมู ควรซื้อจากร้านค้าที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” เป็นสัญลักษณ์สำหรับสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่าเป็นผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ และมีความปลอดภัยในอาหาร
ถึงเวลานี้ แรงกดดันจากการเร่งตรวจสอบหมูเถื่อนที่สร้างความระส่ำระสายในเส้นทางการกระจายหมูเถื่อน อาจเกิดสถานการณ์ “กรุแตก” โดยเฉพาะหมูที่รอดพ้นการตรวจสอบจากท่าเรือและย้ายมาสต็อกตามห้องเย็นของจังหวัดต่างๆ จะเร่งระบายหมูออกสู่ท้องตลาดเร็วที่สุดเพื่อทำลายหลักฐานไม่ให้มีของกลางหลงเหลือ บวกกับการเก็บนานใกล้หมดอายุจึงต้องเร่งปล่อยของ ซึ่งนอกจากจะกระทบราคาหมูในท้องตลาดที่ตกต่ำลงมา ล่าสุด วันพระที่ 4 พฤษภาคม 2566 ราคาตกต่ำมาอยู่ที่ 70-79 บาทต่อกิโลกรัม (แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค) สวนทางต้นทุนการผลิตเฉลี่ยที่ยังคงสูงอยู่ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม
การปล่อยหมูเถื่อนทะลักล้นตลาด ยังน่ากังวลกับผู้บริโภคไทยที่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน โดยเฉพาะร้านชาบู หมูกระทะ ผู้บริโภคควรเลือกร้านที่ไว้วางใจได้ ไม่เช่นนั้น อาจเจอบางร้านที่นำเนื้อหมูแช่แข็งใกล้หมดอายุ หรือหมดอายุแล้วออกมาให้บริการลูกค้า ซึ่งเป็นอันตรายไม่น้อยไปกว่าสารตกค้างที่ปนเปื้อนอยู่ในเนื้อหมูเหล่านั้น