xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ค่าครองชีพพุ่ง! ต้อนรับ “เปิดเทอม 66” รัฐ “คุมราคาสินค้า - เพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สำรวจความท้าทายของการแก้ปัญหาค่าครองชีพของรัฐ สะท้อนผ่านราคาชุดนักเรียน ปี 66 ปรับขึ้นราคา 20 -30 % เหตุอั้นไม่ไหวเพราะต้นทุนต่างๆ ทั้ง วัตถุดิบ การขนส่ง ฯลฯ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดันภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองเพิ่มขึ้น 5.3% สูงสุดในรอบ 14 ปี และนโยบายสนับสนุนการศึกษา เคาะเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลังจากไม่ได้มีการปรับเพิ่มมานานกว่า 10 ปี 

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจแบบประเมินผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม พบว่า ปี 2566 ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของค่าบำรุงการศึกษา ค่าอุปกรณ์การเรียน แบบเรียนและชุดนักเรียนเฉลี่ย 19,507.33 บาทต่อคน เพิ่มขึ้น 6.6% จากปี 2562 ที่อยู่ 18,299.94 บาทต่อคนบาท ส่งผลทำให้เงินสะพัดในช่วงเปิดเทอมปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.3% คิดเป็นมูลค่ากว่า 57,885 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าที่สูงสุดในรอบ 14 ปี

ขณะที่ผู้ประกอบการจำหน่ายเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนครวญระงม ปัจจุบันได้รับความเดือดร้อนจากต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ราคาตามท้องตลาดปรับขึ้นประมาณ 20% หรือบางร้านปรับขึ้น 10 - 15 บาท

อีกทั้งสถานการณ์ในตลาดยอดคนขายบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ชุดนักเรียนขายไม่ดีเหมือนแต่ก่อน เนื่องจากคนขายเยอะกว่าคนซื้อ แถมยังมีเอเย่นต์นำสินค้าจำหน่ายในโรงเรียน นำไปขายในห้าง และขายผ่านออนไลน์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าปลีกหน้าร้านซบเซา

 “ต้นทุนการผลิตชุดนักเรียนปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากค่าเช่าตึกปรับราคาขึ้น 10% ทุกๆ 5 ปี ค่าไฟฟ้า ค่าแรง ค่าขนส่ง ก็ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงราคาวัตถุดิบ อาทิ กระดุม และถุงพลาสติกก็แพงขึ้น และแม้ว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้น แต่ช่วง 6 ปีที่ผ่านมาสมอก็ยังขายในราคาเดิม เนื่องจากกรมการค้าภายในไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นราคา แม้ว่าจะเสนอขอปรับราคาไป 3 ครั้งแล้ว โดยครั้งล่าสุด ยื่นขอปรับขึ้นราคาไป 7 - 8% เมื่อช่วงปลายปี 2565” นายวรวิทย์ ศิรินิชสุนทร ผู้จัดการร้านสมอ ย่านบางลำพู สะท้อนต้นทุนชุดนักเรียนที่สูงขึ้น 

ทว่าในปีนี้ทางผู้จำหน่ายชุดนักเรียนตราสมอไม่ได้ปรับขึ้นราคาชุดนักเรียน เนื่องจากมีการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าทำให้ได้สินค้าในสต็อกเดิมซึ่งยังคงเป็นราคาเก่า แต่ปีหน้าจะตรึงราคาไม่ไหว ทำให้ประมาณเดือน ก.ค. 2567 จะปรับขึ้นราคาชุดนักเรียน ทั้ง เสื้อ กาง เกง กระโปรง อีกตัวละ10 บาท เพื่อชดเชยกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม  อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่าการปัจจัยปรับขึ้นราคาชุดนักเรียน ต้องพิจารณาต้นทุนเป็นรายตัวว่าปัจจัยต่างๆ มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ หากปรับราคาขึ้นๆ ลงๆ ก็อาจจะขอให้ตรึงราคาจำหน่ายออกไปก่อน โดยผู้ประกอบการจะต้องใช้วิธีลดค่าบริหารจัดการ เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนไปก่อน การปรับขึ้นราคาสินค้าเป็นแนวทางสุดท้ายที่จะดำเนินการ

โดยรัฐสร้างกลไกควบคุมทำคลอดมาตรการคุมราคา ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในเปิดทอมอยู่เป็นประจำ ภายใต้การกำกับของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ผ่านโครงการ พาณิชย์...ลดราคา! ช่วยประชาชน Back To School Lot 24 ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการลดราคาสินค้าเครื่องแบบนักเรียน รองเท้านักเรียน และอุปกรณ์การเรียน สูงสุด 85% ทั้งสิ้น 11 หมวด ดังนี้ 1. เครื่องแบบนักเรียน 2. รองเท้า ถุงเท้า 3. กระเป๋าเรียน 4. ตำราเรียนและหนังสือ 5. เครื่องเขียน 6. สื่อการเรียนการสอน 7. อุปกรณ์ไฟฟ้า 8. อุปกรณ์สำนักงาน 9. อินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ 10. แพลตฟอร์มออนไลน์ และ 11. เบ็ดเตล็ด ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 พ.ค. 2566 เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ปกครองลดภาระค่าใช้จ่าย รวมทั้งผลักดันให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงเท่าเทียม

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางสนับสนุนภาคการศึกษาในระดับนโยบายโดยกระทรวงศึกษาธิการดำเนินภารกิจหลักตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ขับเคลื่อนแผนการพัฒนาการเรียนรู้ และแผนการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต รวมทั้งแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายรัฐบาลทั้งในส่วนนโยบายหลักด้านการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย และนโยบายเร่งด่วนเรื่องการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 และพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงกลางปี 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอนุมัติในหลักการให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลังจากไม่ได้มีการปรับเพิ่มมานานกว่า 10 ปี โดยปรับครั้งล่าสุดในปี 2553

การปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น สามารถจำแนกตามรายการค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายด้านผู้เรียน มี 2 ส่วน คือ 1. ค่าอุปกรณ์การเรียน ปรับเพิ่มตามผลการศึกษาค่าใช้จ่ายจริงสำหรับอุปกรณ์การเรียนพื้นฐาน ซึ่งอ้างอิงราคาขายร้านสหกรณ์โรงเรียน โดยจัดให้ผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคน ตั้งแต่ปี 2566 และคงอัตราเดิมในปีต่อไป 2. ค่าเครื่องแบบ ปรับตามผลการศึกษาค่าใช้จ่ายจริงสำหรับเครื่องแบบนักเรียน 1 ชุด ประกอบด้วยเสื้อ กางเกง หรือกระโปรง โดยให้ผู้เรียนทุกคนมีเครื่องแบบครบ 1 ชุด และเพิ่มเติมอีก 1 ชุดเฉพาะผู้เรียนยากจนที่ผู้ปกครองถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

โดยปรับอัตราเงินอุดหนุนต่อเนื่อง 4 ปี พ.ศ. 2566 - 2569 ใน 4 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน ( สื่อ วัสดุการสอน ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ) ปีสุดท้ายเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 20, ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (กิจกรรมวิชาการ ทัศนศึกษา ฯลฯ) ปีสุดท้ายเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 30, ค่าอุปกรณ์การเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ตั้งแต่ปี 2566 และคงที่ในปีต่อๆ ไป และค่าเครื่องแบบนักเรียน เพิ่มให้ครบ 1 ชุด และเพิ่มเติมอีก 1 ชุดเฉพาะผู้เรียนยากจนที่ผู้ปกครองถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

และค่าใช้จ่ายด้านสถานศึกษา คือ 1. ค่าจัดการเรียนการสอน 2. ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ทั้งในระบบและนอกระบบ ให้ใช้วิธีทยอยปรับเพิ่มอัตราแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 – 2569 ซึ่งปัจจุบันหรือปีงบฯ 2565 ให้เงินอุดหนุนฯประมาณ 46,482 ล้านบาท ปีงบฯ 2566 จะเพิ่มขึ้น 2,259 ล้านบาท เป็นอุดหนุน 48,741 ล้านบาท จากนั้นทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดในลักษณะงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง โดยในปีที่ 4 หรืองบฯ ปี 2569 จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 8,066 ล้านบาทเศษ เป็นอุดหนุนฯ 54,548 ล้านบาท

ขณะที่  ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยรายงานจากการสำรวจสถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษของ กสศ. ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2565 พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษในระดับการศึกษาภาคบังคับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 994,428 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 มีจำนวน 1,174,444 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,244,591 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,301,366 คน และล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีจำนวนมากถึง 1,307,152 คน

หากพิจารณาโดยใช้รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า มีเด็กและเยาวชนอายุ 3-14 ปี จำนวนกว่า 2.5 ล้านคน อยู่ใต้เส้นความยากจน เนื่องจากมีรายได้ไม่ถึง 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน และหากเปรียบเทียบข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษของ กสศ. ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ถึงปีการศึกษา 2565 พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษลดลงมากถึงร้อยละ 5 โดยตัวเลขล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 พบว่ารายได้เฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษที่คัดกรองใหม่เฉพาะสังกัด สพฐ. อยู่ที่ 1,044 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นวันละ 34 บาทเท่านั้น ซึ่งมีนักเรียนกว่า 1.3 ล้านคน ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) จาก กสศ. และนักเรียนยากจนอีก 1.8 ล้านคน กสศ. ได้สนับสนุนผลการคัดกรองให้ต้นสังกัดจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติม

ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนในปัจจุบันที่จัดสรรให้ระดับประถมศึกษา จาก 1,000 บาท เป็น 1,190 บาท และระดับมัธยมต้น จาก 3,000 เป็น 3,300 บาท ขณะที่ทุนเสมอภาคซึ่งสนับสนุนนักเรียนในระบบการศึกษาภาคบังคับ จาก 3,000 บาท เป็น 3,300 บาท เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา

 การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษาของไทย เป็นประเด็นที่ภาครัฐตระหนักให้ความสำคัญ ภายใต้การกำหนดนโยบายต่างๆ ในการสนับสนุนส่งเสริมในภาคการศึกษา 


กำลังโหลดความคิดเห็น