ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ดึกๆ วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผลการนับผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการคงเสร็จสิ้นกันในหลายพื้นที่ ทำให้พอมองเห็น “หน้าตัก” ของแต่ละพรรคการเมืองว่า จะมีจำนวนที่นั่ง ส.ส.กันประมาณเท่าไร
ต่อมาเช้าวันรุ่งขึ้น วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 จะได้เห็นการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อเดินหน้าเปิดโต๊ะเจรจาจับมือกันตั้งรัฐบาลในเบื้องต้น
เนื่องจากต้องรอผลการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน โดยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 127 กำหนดให้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อได้จำนวน ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง
และตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ มาตรา 127 และมาตรา 129 กำหนดให้ กกต.จะต้องประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง
ฉะนั้น อย่างช้าสุด กกต.จะต้องรับรองผลการเลือกตั้งไม่เกินวันที่ 12 กรกฎาคม 2566
หลังรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 กำหนดเอาไว้ว่า เมื่อมี ส.ส. ได้รับเลือกตั้งถึงร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดแล้ว ให้ดำเนินการเรียกประชุมรัฐสภาได้ โดยให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 121 กำหนดให้ภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก
หากนับจากวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 การเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกอย่างช้าสุดจึงจะเกิดขึ้นไม่เกินวันที่ 26 กรกฎาคม 2566
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก จะเป็นการประชุมเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2
โดยระหว่างวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 จะเป็นกระบวนการเปิดโต๊ะเจรจาจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่า ต้องจบก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพราะผู้ที่จะได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร จะได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรกัน ทั้งที่กระบวนการเจรจาต่อรองจัดตั้งรัฐบาลยังไม่เสร็จ เพราะตามหลักการแล้ว ตัวประธานสภาฯ กับตัวนายกรัฐมนตรี ต้องมาจากฝ่ายรัฐบาลที่ครองเสียงข้างมากจากสภาผู้แทนราษฎร
โดย “ละ” ในส่วนของ “พรรค ส.ว.” 250 เสียงที่รอโหวตนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา “ไว้ในฐานที่เข้าใจ” ก่อน
ใครจะได้ไปนั่งในทำเนียบรัฐบาลนั้น เช้ารุ่งขึ้นวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 คงเห็นเค้าโครงหน้ากันแล้ว ต่อให้ กกต.ยังไม่ได้รับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก็ตาม
เอาว่าถึงนาทีนี้เซียนทุกสำนักก็ยังเชื่อว่า “ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย คงได้รับชัยชนะเป็นที่ 1 ในสนามเลือกตั้ง ส่วนจะได้ ส.ส.เกินครึ่งหรือ 250 ที่นั่ง หรือได้ตามเป้าแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน 310 เสียงอย่างที่คาดหวังหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง
เมื่อเป็นเช่นนั้น ตาม “ธรรมเนียมปฏิบัติ” แล้วก็ต้องเปิดทางให้ พรรคที่มี ส.ส.อันดับ 1 เป็นผู้เจรจาจัดตั้งรัฐบาล ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง ตามปัจจัย พรรค ส.ว.ที่ยังคงมีสิทธิ์ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา
ทำนองเดียวกับเมื่อครั้งเลือกตั้งปี 2562 ที่ พรรคเพื่อไทยพยายามจัดตั้งรัฐบาลอยู่เป็นแรมเดือน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเสียง ส.ส.ไม่มากพอที่จะรวบรวมให้ได้ถึง 376 เสียง
ครั้งนี้ทางพรรคเพื่อไทยจึงวางยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์เพื่อให้ได้เสียง ส.ส.แบบ “ชนะขาด” มาตั้งแต่ต้น หวังว่าจะมี “ต้นทุน” ในการรวบรวม ส.ส.ให้ได้มากกว่าเมื่อ 4 ปีก่อน รวมทั้งหากได้ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์จริง ก็จะยกเป็น “ฉันทมติ” ว่าได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ในการจัดตั้งรัฐบาล
ปิดโอกาสซ้ำรอยเหมือนครั้งปี 2562 ที่แม้ได้รับที่นั่ง ส.ส.มากที่สุด แต่จำนวนเสียง “ปอปปูลาร์โหวต” กลับได้น้อยกว่า พรรคพลังประชารัฐ ที่ปาดหน้าตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
อนุมานล่วงหน้าว่า พรรคเพื่อไทยชนะ และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ก็น่าสนใจว่าสูตรกันจัดตั้งรัฐบาล จะออกมาหน้าตาเช่นไร
เพราะแม้ “ค่ายดูไบ” จะฟอร์มดี นำมาแบบม้วนเดียวจบ แต่ตามรูปการณ์แล้ว ก็เป็นไปได้ยากที่จะได้ที่นั่ง ส.ส.พรรคเดียวเกิน 376 เสียง จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยเสียงของพรรคอื่นเข้ามาร่วม ในรูปแบบ “รัฐบาลผสม”
ถึงตรงนี้คงมีแค่ 2 สูตร คือ สูตรพรรคเพื่อไทย จับมือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเก่า ได้แก่ พรรคก้าวไกล, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคเพื่อชาติ และพรรคใหม่อย่างพรรคไทยสร้างไทย
กับอีกสูตรคือ ที่ต้องหันไปพึ่ง “ขั้วอำนาจเก่า” นำโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ, พรรคภูมิใจไทย, พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น
เพียงแต่มันต้องดูหน้าตัก โดยยืนพื้นที่พรรคเพื่อไทย เต็งหนึ่งว่า จะจับมือกับใครบ้าง หากแลนด์สไลด์การจัดตั้งรัฐบาลจะง่าย เลือกเพียงไม้ประดับไม่กี่ช่อมาอยู่ในแจกัน
ทีนี้ก็จะถึงจุดวัดใจที่ว่า จะเลือกแบบมีเสถียรภาพ อยู่ยาวๆ 4 ปี หรือจะยอมเสี่ยง เพื่อหวังผลระยะยาวในสนามเลือกตั้งครั้งต่อไป
หากยอมเสี่ยงคือ กล้าจับมือกับ “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไกล ที่เป็นเหมือน “ของร้อน” ที่หลายพรรคการเมืองไม่กล้าเข้าใกล้
แต่หากต้องการเสวยสุขนานขึ้นก็ต้องทิ้งพรรคก้าวไกล แล้วหันไปจับมือกับพรรคการเมือง “ฝ่ายลุง” เพื่อเสริมความมั่นคง ทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาได้ โดยเฉพาะ “ค่ายลุงป้อม” พรรคพลังประชารัฐ ที่นำโดย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค ที่มีกระแสหนาหูมาโดยตลอด
เพียงแต่การเลือกแบบหลัง พรรคเพื่อไทยต้องแลกกับการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะหากจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นมรดกของคณะรัฐประหาร และตัวเองก็เคยประกาศจะไม่จับมือด้วยในตอนหลัง จะทำให้เสียมวลชนปีกประชาธิปไตยไปให้กับพรรคก้าวไกล ที่รอวันขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในปีกนี้อยู่อย่างแน่นอน
หรือกรณีพรรคเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ แต่เมื่อรวมเสียงกับพันธมิตรในฝ่ายค้านเก่า ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ รวมไปถึงพรรคไทยสร้างไทย แล้วเพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาล โอกาสที่อายุรัฐบาลจะสั้นนั้นมีสูงมาก
เพราะเชื่อว่า พรรคก้าวไกลย่อมต้องเดินหน้าผลักดันนโยบายที่ตัวเองหาเสียงไว้ นั่นคือ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, การยกเลิกเกณฑ์ทหารมาเป็นแบบสมัครใจ รวมไปถึงการปฏิรูปกองทัพ ที่เป็น “ของแหลม” และ “ของร้อน” ทันที เพื่อรักษาสัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับแฟนคลับ
2-3 นโยบายเรือธงของพรรคก้าวไกลข้างต้น ล้วนเป็นนโยบายที่ “ละเอียดอ่อน” กระทบกับความมั่นคงของประเทศ ซึ่งจะเป็นการไปปลุกมวลชนฝ่ายต้าน หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมให้ลุกฮือกันขึ้นมาต่อต้าน
เรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น มีคนไม่เห็นด้วยจำนวนมาก อาจได้เห็นภาพม็อบล้อมรัฐสภา เหมือนกับตอนที่รัฐบาล “หนูปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับสุดซอย
แน่นอนว่า จะกลายเป็น “จุดตาย” ของรัฐบาลทันที เพราะจะมีฝ่ายที่คัดค้าน และฝ่ายที่สนับสนุน ออกมาประจันหน้า เสี่ยงจะเกิดความรุนแรง และจะโกลาหลมากกว่าตอน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ชงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสภาหลายเท่า
เท่ากับเปิดช่องให้ “อำนาจนอกระบบ” เข้าแทรกแซงอีกครั้ง
พรรคเพื่อไทยที่มีประสบการณ์โดนดึงอำนาจออกจากมือซึ่งๆหน้ามาแล้วถึง 2 ครั้ง คงรู้ดีว่าการจับกับพรรคก้าวไกล ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี และย่อมต้องคุยเรื่องเงื่อนไขนี้กันให้จบก่อน หากพรรคก้าวไกลยืนยันหนักแน่นว่า ต้องเดินหน้าตามธงให้ได้ ก็ทำให้พรรคเพื่อไทยอาจจะต้องชั่งใจว่า จะยอมแลกฐานมวลชนที่จะเสียไปให้กับ “พรรคสีส้ม” และอวสานตัวเองในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพียงเพื่อขอให้เป็นรัฐบาลในครั้งนี้ก่อนหรือไม่
ซึ่งถ้าไม่จับกับพรรคก้าวไกล อย่างไรพรรคเพื่อไทยต้องยอม “กลืนน้ำลายตัวเอง” เพื่อไปจับกับพรรคพลังประชารัฐ, พรรคภูมิใจไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา รวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้ตัวเองมีเสียงเพียงพอจัดตั้งรัฐบาล ทดแทนการขาดหายไปของ “พรรคสีส้ม”
ตามประสบการเมืองไม่มีมิตรแท้ หรือศัตรูถาวร มีวิธีการมากมายที่จะเอาพรรคการเมืองที่ไม่เผาผีกันมาร่วมรัฐบาล ง่ายที่สุดคือการเซ่นสังเวย “บางคน” เช่นกรณี “จารย์มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องยอมลาออกจาก ส.ส. และหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดทางให้ “ค่ายสะตอ” เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ
พูดกันว่า สูตรการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ สามารถจับมือได้ทุกพรรคในสารบบ ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ค่ายลุงตู่” พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ไม่มี “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในสมการ
ในแวดวงการเมืองมองถึงขั้นว่า ในมุมการรักษาดุลอำนาจ โอกาสที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะมี พรรครวมไทยสร้างชาติ เข้าร่วม มีมากกว่าจะมี พรรคก้าวไกล เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเสียอีก
สูตรที่ว่ากันว่า เป็นไปได้มากที่สุด คือการที่นำทุกพรรคการเมืองมาร่วมรัฐบาลทั้งหมด ในทำนอง “รัฐบาลแห่งชาติ” และโดดเดี่ยวพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียว หรือถ้าจะให้สวยก็ส่ง “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ไปเป็นฝ่ายค้านอีก 1 พรรค เพราะการจับมือกับพรรคลุงตู่จะทำให้ตอบคำถามมวลชนได้ยาก
ในเงื่อนไขที่ว่า พรรคเพื่อไทยไม่สามารถชนะแลนด์สไลด์แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้
และดูเหมือนว่า สูตรนี้เป็นสูตรที่มวลชนทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายที่อ้างตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยน่าจะต้องยอมรับ เพราะเป็นสมการที่ลงตัวและไม่น่าจะนำพาประเทศไปสู่วิกฤตความขัดแย้งที่รุนแรง และตรงใจกับคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในรอบ 8 ปี ซึ่งอาจจะไม่ได้ดั่งใจทั้งหมด แต่ก็ถือเป็นการถอดชนวนร้อนของสังคมไทยให้คลี่คลายลงไปได้
อีกสูตรที่อาจจะเป็นไปได้ คือการที่ พรรคเพื่อไทย ที่ได้ที่นั่งอันดับ 1 แต่ไม่ถึง 200 ที่นั่ง ก็เท่ากับว่าเสียง ส.ส.ตกหล่นไปอยู่กับพรรคก้าวไกล รวมไปถึงขั้วรัฐบาลเก่า ประกอบด้วย พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคภูมิใจไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคชาติพัฒนากล้า รวมไปถึงพรรคไทยสร้างไทย
หากเป็นเช่นนั้นโอกาสที่ พรรคเพื่อไทยต้องไปเป็นแกนนำฝ่ายค้าน โดยมีพรรคก้าวไกลร่วมงานด้วยเหมือนสมัยที่ผ่านมาก็เป็นไปได้สูง ปล่อยให้พรรคการเมืองที่เหลือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพียงแต่ขั้วนี้ต้องดูว่า ใครจะเป็นผู้นำ พรรครวมไทยสร้างชาติ ของ “บิ๊กตู่” หรือ พรรคพลังประชารัฐ ของ “ลุงป้อม” รวมไปถึง “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย ที่นำโดย “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ในทางการเมืองว่ากันว่า หากตัดเรื่องกระแสออกไป “ค่ายเซราะกราว” มีศักยภาพในการคว้าที่นั่ง ส.ส.ได้มากกว่า พรรค 2 ลุงเสียด้วยซ้ำ
โดยขีดเส้นเน้นว่า ต้องรวบรวมเสียงได้มากกว่า 250 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรด้วย ปิดประตูเรื่อง “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ที่จะไม่สามารถทำงานได้ไปได้เลย
เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่ได้เสียง ส.ส.มากพอ ก็เสมือนสร้างความชอบธรรมในการเดินหน้ารวบรวมเสียงของขั้วอำนาจเก่า เหมือนเมื่อ 4 ปีที่แล้วอย่างไรอย่างนั้น แม้จะ “ค้านสายตา” แต่จนแล้วจนรอด “รัฐบาลพลังประชารัฐ” ที่เสถียรภาพง่อนแง่นมาโดยตลอด ก็อยู่มาได้แทบจะครบเทอม 4 ปี
ตามสูตรที่ว่านี้ ก็ต้องดูว่า “ค่ายลุงตู่-ค่ายลุงป้อม-ค่ายเสี่ยหนู” ใครจะมี ส.ส.มากกว่ากัน และได้รับการยอมรับในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งย่อมหมายถึงการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วย
หากจำนวนเสียง ส.ส.มากน้อยกว่า 2-3 เสียง น่าจะเดินเกม “ขอกันได้” เพราะไม่น่าเกลียด แต่หากน้อยกว่าหลักสิบ พรรคที่มาเป็นที่ 1 ในขั้วนี้ย่อมไม่ยอมแน่
เพราะ “บิ๊กป้อม” เอง อยากจะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสักครั้ง เป็นความฝันสูงสุดมานาน บารมี คอนเนกชั่นมีมากมาย เพียบพร้อม หาก “บิ๊กตู่” น้องเลิฟได้น้อยกว่า คงไม่มีทางยกเก้าอี้ให้อีกแล้ว เพราะถือว่า ได้ช่วยมาแล้วหนหนึ่งเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว
ต่อให้มีการต่อรองว่า เป็น “นายกฯ คนละครึ่ง” ที่ 2 ปีแรกให้ “บิ๊กตู่” และ 2 ปีหลังให้ “บิ๊กป้อม” แต่ “บิ๊กป้อม” ไม่น่าจะยอมให้อีกเช่นกัน เพราะบทเฉพาะกาลที่ให้ ส.ว.สามารถร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีได้ เหลืออีกแค่ 1 ปีเศษๆ เท่านั้น 2 ปีหลังไม่มี “ตัวช่วย” แล้ว เสี่ยงที่จะถูกหลอกให้รับประทานแห้ว
เช่นเดียวกับ “เสี่ยหนู” ที่เป็นพรรคเต็งหนึ่งที่จะคว้าเก้าอี้ ส.ส.ได้มากที่สุดในขั้วนี้ ที่จะยอมหลีกให้ “บิ๊กตู่” แค่ 2 กรณีเท่านั้นคือ กรณีแรก “บิ๊กตู่” ได้ ส.ส.มากกว่า และกรณีต่อมาคือ “บิ๊กตู่” ได้น้อยกว่าก็จริง แต่ได้น้อยกว่าไม่มาก อาจจะสละสิทธิ์ให้เพื่อความปลอดภัยของพรรค
อย่างไรก็ดี ในสูตรนี้จะออกมาในทางตรงกันข้ามทันที หากพรรครวมไทยสร้างชาติของ “บิ๊กตู่” ได้ปริมาณ ส.ส.ที่น้อยกว่าพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทย จนไม่สามารถไปเอ่ยปากขอปาดหน้าเค้กได้ หรือเรียกว่า ล้มเหลวในการเลือกตั้ง ถ้าแบบนั้น “บิ๊กตู่” จะถูกไฟต์บังคับให้เก็บกระเป๋าออกจากเวทีการเมืองทันที เพราะไม่ได้ลงสมัคร ส.ส. และคงไม่ยอมเป็นแค่รัฐมนตรีทั่วไป แน่นอน
ฉะนั้น สูตรนี้ต้องดูที่หน้าตักของแต่ละพรรคกันก่อนว่า ใครได้กันเท่าไหร่ เพื่อที่จะเป็นผู้นำของขั้วจัดตั้งรัฐบาล
แต่หาก “บิ๊กตู่” และพรรครวมไทยสร้างชาติประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้ง ได้เป็นที่ 1 ของขั้วนี้ และสามารถรวมกับพันธมิตรในฝ่ายรัฐบาลเก่าได้ในปริมาณที่พร้อมท้าชิง แบบขาดเหลืออีกไม่เท่าไหร่ อาจจะมีปฏิบัติการ “งูเห่าภาค 2”
โดยก่อนหน้านี้มีเสียงเล็ดรอดออกมาว่า ขั้วรัฐบาลเก่าคุยกันว่า พยายามทำให้แต่ละพรรคได้ ส.ส.มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อจะได้ชอบธรรมในการแข่งขันจัดตั้งรัฐบาลหากพรรคอันดับหนึ่งล้มเหลวในการรวบรวมเสียง โดยมีแกนนำพรรคการเมืองหนึ่ง ระบุถึงขั้นว่า หากขาด 20-30 เสียง ไม่เป็นปัญหา สามารถหามา “เติม” ได้
ทว่า ต่อให้หามาเติมได้ แต่ดูแล้วรัฐบาลน่าจะบริหารประเทศลำบาก เนื่องจากไม่สง่างาม ไม่ได้เป็นพรรคอันดับหนึ่ง เหมือนกับครั้งก่อนที่ถูกค่อนแคะว่า ไปแย่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเขามา
เรื่องกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างเรื่องการให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี จะถูกขุดนำมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เพื่อหาเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวคัดค้าน
ไม่เพียงเท่านั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าไม่สะอาด หลังจากเกิดข้อผิดพลาดในการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา
จะถูกโจมตีอย่างหนักว่า เป็นรัฐบาลที่มาจากวิธีสกปรก ชนะแบบค้านสายตาประชาชน
และแน่นอนว่า ติ่งส้มทั้งหลายที่กำลังอินกับกระแสพรรคก้าวไกล จะลุกฮือออกมาบนท้องถนนอีกครั้ง เหมือนกับช่วงต้นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่เจ้าหน้าที่ต้องยกตู้คอนเทรนเนอร์ รถฉีดน้ำ มาควบคุมการชุมนุมรายวัน
แต่ครั้งนี้น่าจะรุนแรงกว่า เพราะผิดหวังกับการเลือกตั้งอีกเป็นหนที่ 2 ย่อมต้องเดินเกมหนักกว่าเดิม เพื่อไม่ให้รัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้
ต่อให้ “บิ๊กตู่” เหลืออายุใช้งานอีก 2 ปี แต่หากออกมาในฉากทัศน์แบบนี้ ดูแล้วไม่กี่เดือน อาจจะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหา
เมื่อประเมินตามหน้าเสื่อแล้ว ก็เชื่อว่า โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ยังดูเหนือกว่าการที่จั้วรัฐบาลจะมีเสียงมากพอในการจัดตั้งรัฐบาล
ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษคาคม 66 นี้ จึงเสมือนเป็น “เข็มทิศ” ที่จะชี้ว่า ประเทศไทยจะเดินต่อไปทางไหนและอย่างไร โดยมีชัยชนะของพรรคเพื่อไทย เป็นแกนของเส้นทาง
เป็นชัยชนะที่นำไปสู่การตัดสินใจรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลว่าจะมีส่วนประกอบอย่างไร อันเป็นตัวชี้วัดถึงอนาคตของประเทศ ซึ่งดูแล้วแทบไม่มีสูตรไหนที่ลงตัวแบบไร้ที่ติ ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ยังเต็มไปด้วยความเห็นต่าง และหวาดระแวงซึ่งกันและกัน
จนมองไม่ออกว่า จะเป็นชัยชนะที่นำไปสู่รัฐบาลสมานฉันท์ หรือเป็นจุดเริ่มต้นของสงคราวกลางเมืองอีกครั้ง
โดยยังมีปัจจัยสำคัญคือการประกาศกลับบ้านของ “นายห้างดูไบ” ทักษิณ ชินวัตร ที่เพิ่งทวีตข้อความว่า จะขอกลับประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งยังเป็นช่วงที่ “รัฐบาลประยุทธ์” รักษาการในตำแหน่งอยู่
เชื่อกันว่า เป็นการประกาศที่อยู่บนพื้นฐานความมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ โดยเลือกที่จะกลับประเทศในช่วงรัฐบาลรักษาการเพื่อไม่ให้กระทบต่อความเป็นไปของ “รัฐบาลเพื่อไทย” รวมทั้งเป็นการส่งสัญญาณประนีประนอมในระดับหนึ่ง ดังที่เขาใช้คำว่า “ขออนุญาตเจ้านาย”
เป็นหลากฉากทัศน์หลังชัยชนะของพรรคเพื่อไทยที่ว่า ทำให้มองกันไม่ว่ารัฐบาลใหม่ออกมาสูตรไหน ทำนายได้ล่วงหน้าว่า อายุของรัฐบาลหน้าสั้นแน่นอน
แต่จะเป็นอายุสั้นแบบสงบไปว่ากันใหม่ในสนามเลือกตั้ง หรืออายุสั้นแบบมีเหตุการณ์ความวุ่นวายเข้ามาแทรก
ทั้งหลายทั้งปวงก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ “ผู้ชนะ”.