"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ท่ามกลางการแข่งขันอย่างเข้มข้นของพรรคการเมือง แต่ปรากฏว่าพรรคการเมืองหลายพรรคกลับมอง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)” เป็นคู่แข่ง และมีประชาชนจำนวนมากสะท้อนความคิดเห็นในโลกออนไลน์ว่าต้องการถอดถอน กกต. ยิ่งกว่านั้นจำนวนไม่น้อยต้องการให้ กกต. ติดคุกเสียด้วยซ้ำ แน่นอนว่าความคิดและความเชื่อลักษณะนี้ย่อมมิได้ล่องลอยมาจากอากาศ หากแต่มีรากฐานเชิงประจักษ์รองรับชัดเจนในช่วงก่อนการเลือกตั้ง และปรากฏชัดยิ่งขึ้นในวันเลือกตั้งล่วงหน้า
สาเหตุระดับรากฐานคือที่มาของ กกต. ชุดนี้ กลุ่มคนที่เลือก กกต.คือ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงมิใช่การสรุปที่เกินจริงหากกล่าวว่า อดีตหัวหน้าและแกนนำ คสช. อันได้แก่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ มีอิทธิพลโดยตรงต่อการตัดสินใจของ ส.ว. และมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีอิทธิพลทางอ้อมต่อการทำหน้าที่ของ กกต. เหตุการณ์ที่ทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นจริงคือ ในการเลือกตั้งปี 2562 กกต.ใช้วิธีคำนวณ ส.ส.พึงมีที่ขัดแย้งกับวิธีการคำนวณที่นักวิชาการหลากหลายสาขาเห็นตรงกัน ซึ่งส่งผลให้พรรคการเมืองที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับพลเอกประยุทธ์ได้ที่นั่งน้อยกว่าที่ควรได้ และทำให้พรรคเล็กจำนวนมากได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรทั้งที่มีคะแนนเสียงเพียงไม่กี่หมื่นคะแนน
เมื่อพลเอกประยุทธ์ประกาศและเปิดตัวว่าจะลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2566 ในงานวันเปิดตัวมีการจัดตั้ง ขนประชาชนมาฟังเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการปราศรัยของแกนนำพรรคหลายคน หนึ่งในนั้นคือ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ซึ่งปราศรัยที่มีการกล่าวถ้อยคำหยาบคาย รุนแรง และพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทางที่ไม่เหมาะสม ต่อมานายสมชัย ศรีสุทธิยากรและนายวีระ สมความคิด ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต. ว่า พรรค รทสช. กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและระเบียบการหาเสียงของ กกต.หลายประเด็นรวมทั้งประเด็นที่นายไตรรงค์ ปราศรัยด้วย แต่ปรากฏว่า กกต. ปัดคำร้องตกไปทั้งหมด คำถามเกี่ยวกับความเป็นกลางในการทำหน้าที่ของ กกต.จึงเริ่มดังมากขึ้น
ล่าสุด เมื่อ น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติหาเสียงด้วยการใช้ไฟเลเซอร์ฉายบนสะพานพระราม 8 เมื่อคืนวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า วันถัดมา นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ชี้แจงว่า การยิงแสงเลเซอร์หาเสียงบริเวณเสาหลักกลางของสะพานพระราม 8 สามารถทำได้ แต่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานที่ดูแล การรีบออกมาแถลงในลักษณะนี้เป็นการยืนยันความสงสัยของประชาชนเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ กกต.มากขึ้น
ความสงสัยเกี่ยวกับความเป็นกลางและประสิทธิภาพในการทำงานของ กกต.ยังสะท้อนจากเรื่องการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตที่มีเฉพาะหมายเลขของผู้สมัคร โดยไม่มีทั้งชื่อผู้สมัครและชื่อหรือสัญลักษณ์ของพรรคในบัตรแต่อย่างใด บัตรเลือกตั้งแบบนี้สร้างความยากลำบากในการใช้สิทธิของประชาชนเพราะต้องจำหมายเลขผู้สมัครให้ได้ บางคนอาจคิดว่า การจำเลขผู้สมัครอาจเป็นเรื่องง่ายสำหรับประชาชนที่ติดตามข้อมูลข่าวสารทางการเมืองอย่างใกล้ชิด แต่ความจริงคือเป็นเรื่องยากสำหรับคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ค่อยมีเวลาติดตามข้อมูลข่าวสารทางการเมืองและจะยิ่งยากขึ้นไปอีกสำหรับผู้สูงอายุ
การที่บัตรเลือกตั้งมีเฉพาะหมายเลขยังทำให้โอกาสการทุจริตเกิดขึ้นได้ง่าย และหากเกิดความผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้นเกี่ยวกับการลงคะแนนก็ยากแก่การตรวจสอบ ดังในการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เขียนหมายเลขเขตเลือกตั้งที่ซองใส่บัตรเลือกตั้งผิด ซึ่งจะทำให้บัตรเลือกตั้งถูกส่งไปนับผิดเขตและทำให้คะแนนเสียงของประชาชนไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิ การที่บัตรเลือกตั้งไม่ได้ระบุเขต จังหวัด และชื่อผู้สมัครเอาไว้ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่าบัตรเลือกตั้งที่ตนเองกำลังนับคะแนนเป็นบัตรของเขตใด การเขียนเขตเลือกตั้งผิดเป็นได้ทั้งการทำผิดโดยไม่เจตนา หรือเขียนผิดแบบจงใจ หากเป็นแบบหลังย่อมเป็นการส่อแววทุจริตเลือกตั้งนั่นเอง
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งหลายหน่วยไม่ติดใบแนะนำรายชื่อและประวัติผู้สมัครบางคนในป้ายหน้าหน่วยเลือกตั้ง ผมไม่เคยได้ยินเรื่องลักษณะนี้ในการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ปรากฏว่าเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ผู้สมัครพรรคก้าวไกลประสบปัญหาไม่มีใบแนะนำรายชื่อและประวัติมากที่สุด ลองจินตนาการดูว่า เมื่อประชาชนไปใช้สิทธิและไปดูรายชื่อผู้สมัครในป้าย แต่ไม่เห็นชื่อผู้สมัครที่ตนเองจะเลือก พวกเขาย่อมเกิดความสับสน บางคนอาจคิดว่าผู้สมัครอาจถูกตัดสิทธิไปแล้ว หรือบางคนก็จำหมายเลขผู้สมัครที่ตนต้องการเลือกไม่ได้ และจะมาตรวจสอบที่หน่วยเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าในป้ายไม่มีชื่อและหมายเลขผู้สมัครที่ตนเองต้องการเลือก ทำให้ไม่สามารถกาหมายเลขได้ถูกต้อง เรื่องนี้หากเป็นความผิดพลาดโดยสุจริตย่อมสะท้อนให้เห็นว่าคณะกรรมการหน่วยเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดมีสมรรถนะในการปฏิบัติงานต่ำมาก แต่หากเป็นการจงใจ ย่อมสะท้อนถึงเจตนากลั่นแกล้ง เพื่อลดทอนคะแนนเสียงของผู้สมัครบางคน อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ขณะนี้ประชาชนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถ ประสิทธิภาพ ความเป็นกลาง และความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ทุกระดับทั้งองค์กร ไม่ว่าพูดคุยกับใครเมื่อกล่าวถึง กกต. ทุกคนก็ส่ายหน้าเอือมระอา บางคนถึงกับมีความรู้สึกขุ่นเคือง และไม่พอใจต่อการทำงานของ กกต. อย่างรุนแรง จนกล่าวได้ว่า กกต. ทั้งองค์กรตกอยู่ในภาวะวิกฤติความชอบธรรมอย่างไม่เคยมีมาก่อน และหาก กกต. ไม่ปรับตัว ยังปฏิบัติหน้าที่แบบเดิม อาจทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงตามมาได้ หากสถานการณ์พัฒนาไปถึงระดับนั้น กกต. ก็คงกลายเป็นคนบาปของสังคม
แม้ว่ามีความคาดหวังไม่มากนักว่า กกต.จะปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ แต่เนื่องจากทิศทางการทำหน้าที่ของ กกต. มีผลกระทบอย่างสูงต่อสังคมไทย จึงจำเป็นต้องเสนอแนวทางบางอย่างเอาไว้ เพื่อเตือนสติและหวังว่าจะทำให้เกิดการรื้อฟื้นสำนึกแห่งพันธกิจอันเป็นรากฐานของการจัดตั้ง กกต. ขึ้นมาอีกครั้ง อันได้แก่ การทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม ด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเลือกตั้งทุกขั้นตอน และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตย โดยจำไว้ว่า “ปราศจากประชาธิปไตย กกต.ก็ไร้ความหมาย” ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ที่ทำให้ กกต.มีความหมายและมีความสำคัญ ส่วนในระบอบเผด็จการทหาร กกต.เป็นสิ่งที่ไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง
สิ่งสำคัญคือ กกต.ต้องสลัดให้หลุดจากบ่วงที่ผูกไว้กับผู้ที่แต่งตั้งตนเอง ปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระจากพันธนาการของระบบบุญคุณที่ไร้ความชอบธรรม และยืนหยัดในหลักการที่ถูกต้องในการรักษาและสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ลองคิดดูว่า หาก กกต. จัดการเลือกตั้งที่ไร้ประสิทธิภาพ ขาดความเที่ยงธรรม ผลสืบเนื่องจากนั้นคือ ความวุ่นวายทางสังคม ท้ายที่สุดทหารบางกลุ่มก็อาจฉวยโอกาสทำรัฐประหาร เมื่อรัฐประหารเกิดขึ้น ระบอบเผด็จการก็ถูกนำมาใช้ การเลือกตั้งก็ถูกยกเลิก กกต.ก็ไม่มีหน้าที่อะไรอีกต่อไป และถูกยุบเลิกไปในที่สุด และ กกต.ก็จะกลายเป็นคนบาปหรือผู้สร้างรอยด่างแก่สังคม ที่จะต้องถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน และถูกประนามไปนานแสนนาน
แต่หาก กกต. ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรม ก็จะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อระบอบประชาธิปไตยมีความยั่งยืน กกต. ก็จะมีบทบาทและหน้าที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากประชาชน และได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ ที่สำคัญอีกอย่างคือ กกต.และเจ้าหน้าที่ทั้งมวลภายในองค์กรจะทำงานได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความภาคภูมิใจ
เปลี่ยนแปลงวิถีคิดและวิธีการทำงานเสียเถอะครับ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนเสียงแห่งการประณามด่าทอให้เป็นเสียงแห่งความชื่นชมให้ได้ บทพิสูจน์แรกที่จะเรียกศรัทธากลับคืนมา คือความสุจริตและเที่ยงธรรมอย่างแท้จริงในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม นี้เป็นต้นไปครับ