ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถึงนาทีนี้ ไม่ต้องเป็นหมอดูก็รู้ว่า “พรรคเพื่อไทย” คงจะนอนมาที่จะได้รับการชูมือเป็นผู้ชนะคว้าจำนวนที่นั่ง ส.ส.มากที่สุดในสนามเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ด้วยฟอร์มที่เรียกได้ว่า “นำแบบม้วนเดียวจบ” ตั้งแต่ปี่กลองการเลือกตั้งยังไม่บรรเลง จนมาถึงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเข้าคูหาอีกราวสัปดาห์ข้างหน้า
แต่ก็ต้องยอมรับว่า การเลือกตั้งเที่ยวนี้ กระแสความนิยมของพรรคเพื่อไทยถึงจุด “พีก” ไปนานแล้ว และยิ่งงวดเข้าสู่วันดีเดย์เท่าไร ดูเหมือนจะไม่มี “ปัจจัยบวก” ส่งให้ไปถึงจุดพีกได้อีก
ด้วยมีการมองว่า พรรคเพื่อไทยปล่อย “ไพ่เด็ด” ออกมาหมดมือแล้ว ทั้งการส่ง “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร มานำทัพในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย รวมทั้งการลงสมัครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมไปถึง “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน ที่หอบโปรไฟล์หรูมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคอีกราย
แม้จะมีหลายๆ ปัจจัยที่ทำให้มองกันว่า พรรคเพื่อไทย “ดรอป” ลงไปบ้าง แต่เซียนทุกสำนักก็ยังเชื่อยังว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะในสนามเลือกตั้งอยู่ดี
ส่วนจะได้ ส.ส.เกินครึ่งหรือ 250 ที่นั่ง หรือได้ตามเป้าแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน 310 เสียงอย่างที่คาดหวังหรือไม่ ยังคงต้องลุ้นหนัก
และหากว่าตาม “หลักการ” ที่ควรให้พรรคที่ได้เสียงมากที่สุดฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลก่อน โดย “ละ” ในส่วนของ “พรรค ส.ว.” 250 เสียงที่รอโหวตนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา “ไว้ในฐานที่เข้าใจ” ก่อน
ว่ากันตามนี้ก็ต้องอนุมานว่า พรรคเพื่อไทยจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รวมไปถึงเสนอชื่อผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแน่นอนว่าเป็นอื่นไม่ได้นอกเหนือจาก 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเอง อันประกอบด้วย “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร, “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน และ ชัยเกษม นิติสิริ
ว่ากันตามเนื้อผ้าจาก 3 รายชื่อข้างต้น คงต้องบอกว่า “ชัยเกษม” มีโอกาสน้อยที่สุด จากบทบาทที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังเปิดตัวเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ก็เกิด “เสียฤกษ์” เล็กน้อย เมื่อเกิดป่วยในระหว่างลงพื้นที่หาเสียงต่างจังหวัดร่วมกับทัพใหญ่ครั้งแรก จนต้องส่งตัวกลับมารักษาที่ กทมงเป็นการด่วน และแม้อาการดีขึ้นแล้วก็ยังไม่เห็น “ชัยเกษม” ร่วมลงพื้นที่อีกเลย
แต่ก็มีการพูดกัน “ภายใน” ถึงเหตุที่ใส่ชื่อ “ชัยเกษม” ในตะกร้าแคนดิเดตฯ ก็เพื่อเป็นตัวเลือกใน “สถานการณ์พิเศษ” เท่านั้น
หันกลับมาที่ 2 แคนดิเดตฯ ที่เหลือ คือ “แพทองธาร-เศรษฐา” ที่ถือว่าเป็น “ดรีมทีม” ได้เหมือนกัน ในช่วงที่ “มาดามอิ๊งค์” ยังไม่ลาคลอด และร่วมลงพื้นที่ปราศรัยหาเสียง ก็สอดประสานกับ “อานิด” ได้เป็นอย่างดี มีการวางคิวขายความโดดเด่นของทั้งคู่อย่างไม่ขาดไม่เกิน จนเดาไม่ออกว่าใครเป็นตัวจริง
โดย “แพทองธาร” ที่นั่งแท่นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ก็โชว์ความเป็น “หน่อเนื้อ” ของ “ทักษิณ” เพื่อดึงกองกำลังสนับสนุน โดยเฉพาะ “คนเสื้อแดง” ที่ปันใจไปให้กับพรรคอื่นกลับมาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย
ขณะที่ “เศรษฐา” ที่พกโปรไฟล์ผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ และได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ในคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ขายความเป็น “มือเศรษฐกิจ” ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจรุมเร้า
โดยต้องยอมรับว่า ช่วงที่ “เศรษฐา” เข้ามาเสริมทัพอย่างเป็นทางการ กระแสความนิยมของพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงตัว “อุ๊งอิ๊งค์” พุ่งสูงถึงจุดพีก ก่อนจะมีการส่งไม้ให้ “เสี่ยนิด” รับบท “แม่ทัพใหญ่” ผู้นำทัพลงพื้นที่หาเสียงต่อ โดยที่ “คุณแม่อิ๊งค์” โผล่ไปแจมด้วยการวิดีโอคอลตามเวทีต่างๆ ในช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา
มองได้ว่า พรรคเพื่อไทยที่ออกตัวไม่ได้จัดลำดับแคนดิเดตฯ ให้น้ำหนัก “แพทองธาร-เศรษฐา” ในระดับพอๆ กัน จนพูดได้ว่า หากได้รับชัยชนะเลือกตั้งจริง โอกาสที่จะเสนอชื่อคนใดคนหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีแทบไม่ต่างกัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้กระแสความนิยมในตัว “แพทองธาร” ที่เปิดตัวมาก่อนร่วมปียังเหนือกว่า “เศรษฐา” ที่เปิดตัวเป็นทางการได้ไม่นานอยู่พอสมควร แต่ระยะหลังดูเหมือน พรรคเพื่อไทยจะเปิดฟลอร์-วางคิวให้ “เศรษฐา” มีความโดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ
โดย “เสี่ยนิด” มักเป็นผู้ปราศรัยปิดเวที รวมไปถึงการเป็นผู้เปิดนโยบายสำคัญๆในระยะหลัง อย่างนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล ก็เป็น “เศรษฐา” ที่กล่าวเปิดนโยบายตั้งแต่ต้น รวมทั้งยังเป็นคนประกาศยอดเงิน 1 หมื่นบาทด้วยตัวเองบนเวทีเปิดตัว 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่สนามเอสซีจีเมืองทอง เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ด้วย
หากนั่งอยู่ในใจ “คนแดนไกล” ที่ว่ากันว่าเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย ก็เชื่อว่า คงยังไม่อยากให้ “ลูกอิ๊งค์” เข้ามาอยู่ในจุดสุ่มเสี่ยง ซ้ำรอยชะตากรรมที่ “น้องปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ น้องสาว เคยประสบมาก่อน จนวันนี้พูดกันว่า “พี่ษิณ” ยังเยียวยาไม่จบไม่สิ้น
และถึงขณะนี้ก็นับว่า “ลูกอิ๊งค์” หมดภารกิจในการเรียกแฟนนานุแฟนคนเสื้อแดงกลับมาสนับสนุนพรรคแล้ว และต้องกลับไปปฏิบัติภารกิจ “คุณแม่ฟูลไทม์” ให้เวลากับ “น้องธาษิณ” รวมไปถึง “น้องธิธาร” ลูกสาวคนโตด้วย
ด้วยอายุของ “คุณแม่อิ๊งค์” ที่ยังไม่แตะหลักสี่ ก็เชื่อได้ว่าหาก “พ่อษิณ” ต้องการให้ลูกเดินต่อในถนนสายการเมือง ยังเหลืออายุงานอีกเพียบ โดยเฉพาะในการเลือกตั้งสมัยหน้าหาก “รัฐบาลเพื่อไทย” ประคับประคองไปได้ตลอดรอดฝั่ง
และด้วยสถานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ติดตัวอยู่ หากต้องการสับเปลี่ยนให้เข้ามาเสียบ “กลางเทอม” ในสมัยนี้ก็ยังได้
ดังนั้น “เศรษฐา” จึงน่าเป็นตัวเลือกที่ “เพลย์เซฟ” สำหรับ “ทักษิณ” รวมไปถึงครอบครัวชินวัตรที่อาจจะยังขยาดกับผลกระทบทางการเมืองที่เผชิญมาตลอด
และหากว่ากันด้วยเรื่องของ “วัยวุฒิ-คุณวุฒิ” รวมไปถึง “ประสบการณ์ธุรกิจ” ก็ต้องยอมรับว่า “เศรษฐา” ค่อนข้างเหนือกว่า “แพทองธาร” ซึ่งถือเป็นรุ่นหลานอยู่พอสมควร
อาจเห็นอีกปัจจัยที่ “นายใหญ่” ไม่คิดฝืนดัน “ลูกสาวตัวเอง” ให้เกิดข้อครหาการสืบทอดอำนาจของ “ตระกูลชินวัตร” ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อภาพลักษณ์ของพรรคและคดีความต่างๆ รวมถึง “อุบัติเหตุทางการเมือง” แบบไม่คาดฝัน ซึ่งไม่มีใครรับประกันได้ว่า จะไม่เกิดขึ้น
รวมทั้งโปรไฟล์ความสำเร็จในทางธุรกิจ รวมไปถึงหลักคิดมิติต่างๆ ก็น่าจะเป็นที่ยอมรับในหมู่ “นักธุรกิจ-ชนชั้นกลาง-ชนชั้นนำ” มากกว่า “อุ๊งอิ๊ง” ที่วัยวุฒิยังอาจจะไม่ถึงขั้นจะขึ้นเป็นผู้นำประเทศในรอบนี้
เมื่อเทียบแบบปอนด์ต่อปอนด์กับ “เศรษฐา” ซึ่งมีภาพลักษณ์ของ “ซีอีโอ” เป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผู้มั่งคั่งที่ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจน่าจะสร้างความเชื่อมั่นได้มากกว่า “ลูกอิ๊งค์” ที่ก็มีเหตุผลเพียงพอในการเฟดออกไปอยู่นอกวงการเมือง โดยการให้ความสำคัญกับลูกน้อยก่อน
โดย “เสี่ยนิด-เศรษฐา” เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับประเทศ ด้วย “โปรไฟล์หรู” ในฐานะเจ้าพ่อแห่งวงการอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าของเมืองไทย เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2506 ปัจจุบันอายุ 60 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโท (บริหารธุรกิจ-การเงิน) Claremont Graduate School ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มทำงานในปี 2529 เป็นผู้ช่วยผู้จัดการผลิตภัณฑ์บริษัท P&G ประเทศไทย (จำกัด) ก่อนหันมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และรับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท แสนสิริ (มหาชน) จนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง เริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 โดยปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 20,343,625,722.40 บาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเกือบ 1.8 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญผลประกอบการในช่วงที่ว่ากันว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจก็อยู่ในแดนบวนมีกำไรมาทุกปี
นอกเหนือจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องอสังหาริมทรัพย์แล้ว “เศรษฐา” ยังมีธุรกิจด้านอื่นๆ อาทิ การเงิน การลงทุน, ประกันภัย, ผลิต-จำหน่ายกล่องกระดาษ และธุรกิจโรงแรม-รีสอร์ท ที่ยังคงดำเนินการอยู่กว่า 40 แห่ง
นอกเหนือจากภาพลักษณ์นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาชื่อของ “เศรษฐา” ยังเป็นที่พูดถึงในเวทีการเมือง ทั้งการเคยวิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ในสมัย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” บ่อยครั้ง และเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศเรียกไปรายงานตัว
หรือช่วงหลังการเลือกตั้งปี 2562 เป็นต้นมา “เศรษฐา” ตั้งป้อมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ “รัฐบาลประยุทธ์” มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2560 และระบุว่า เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับแรก เพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ที่สปอตไลท์สาดส่อง “เศรษฐา” เป็นพิเศษ คงเป็นช่วงการชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่เจ้าตัววิพากษ์วิจารณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนของรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน ควบคู่กับการเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายหาหนทางแก้ไขด้วยสันติวิธี
โดยหลายวาระ “เศรษฐา” มักแสดงความคิดอ่านของตัวเองเกี่ยวกับประเด็นสังคม การเมือง และการแก้ไขปัญหาของประเทศผ่านการสื่อสารในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะ “ทวิตเตอร์” ที่หลายทวีตของ “อดีตบอสใหญ่แสนสิริ” ถูกนำไปแชร์ต่อจนเป็นประเด็นหลายต่อหลายครั้ง
ถึงขั้นถูกยกให้เป็นหนึ่งใน “ผู้นำทางความคิด” ยุคปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน “เศรษฐา” ยังได้รับการยอมรับใน “ด้านวิสัยทัศน์” ผ่านการช่วยเหลือสังคม เพื่อแก้ “ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” ทั้งการพยายามเสนอให้รัฐบาลยกเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยเฉพาะช่วงผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ที่ “เครือแสนสิริ” โชว์ศักยภาพในเชิง “สอนมวย” รัฐบาลหลายครั้ง จากการดูแลช่วยเหลือพนักงาน 4 พันคน และครอบครัว ตลอดจนแจกสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นแก้ และซื้อวัคซีนแจกคนทั่วไปหลายหมื่นโดส
นอกจากนี้ยังมีการทำโครงการ CSR โดยระบุวัตถุประสงค์ว่า เพื่อลดช่องว่างทางสังคม ส่งเสริมความเท่าเทียม และสร้างความอย่างยั่งยืน ในกระแส “ความเหลื่อมล้ำ” ที่เชี่ยวกราก อาทิ ด้านการศึกษาเพื่อช่วยเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา โดยออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุน 100 ล้านบาท เดินหน้าโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” นำร่อง จ.ราชบุรี และมีแผนจะขยายต่อไปในปี 2566-67 ตั้งเป้าหมายช่วยเหลือทั้งเด็กปฐมวัยและเด็กนอกระบบกว่า 1.12 หมื่นคน ที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาที่ จ.ราชบุรี
หรือการช่วยเหลือเกษตรกร มีการซื้อแตงโมกว่า 14 ตัน จากเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ และลำไย 12 ตัน จาก จ.ลำพูน เพื่อแจกจ่ายให้ลูกบ้านแสนสิริกว่าพันครัวเรือน และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด รวมถึงมะม่วงกว่า 6 ตัน ที่ส่งไปช่วยเลี้ยงช้างที่ จ.เชียงใหม่ หรือการซื้อขิง 8 หมื่นกิโลกรัม จากเกษตรกรทางภาคเหนือ หลังประสบปัญหาราคาตกต่ำเดือดร้อนหนัก และนำมาขายที่ “Sansiri Backyard” ในกิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งรายได้จากการขายยังสมทบทุนให้อีก 4 เท่า เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือซื้อผลผลิตของเกษตรกรที่เผชิญปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เป็นต้น
และให้หลังจากการเปิดตัวเข้าสู่ถนนสายการเมืองอย่างเป็นทางการ “เศรษฐา” ก็ได้แสดงให้เห็นถึง “ความมั่นใจในตัวเอง” ที่สูงปรี๊ด โดยการประกาศความพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี และที่สำคัญจะรับเพียงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่สนใจรับตำแหน่งอื่น
อีกเรื่องหนึ่งที่ถือว่าได้รับความชื่นชมตลอดระยะเวลาหลังเปิดตัว และลงพื้นที่ปราศรัยหาเสียง คือการที่ “เสี่ยนิด” วางตัวออกห่างจากวิวาทะทางการเมือง และยืนยันในจุดยืนว่า “ไม่ต้องการตอบโต้ใคร และไม่ต้องการแข่งกับพรรคอื่นเลย คู่ต่อสู้ของผมคือ ความยากจน ความไม่เสมอภาค ความเหลื่อมล้ำ”
และแม้จะให้น้ำหนักกับการแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง เรื่องรายจ่ายเพิ่ม รายได้ลด จากประสบการณ์การบริหารด้านเศรษฐกิจ แต่ “เศรษฐา” ก็เน้นย้ำว่า เรื่องสำคัญมากกว่าคือความเท่าเทียม และการอยู่ร่วมกันโดยมีอิสระเสรีภาพภายใต้ขอบเขตของกฎหมายสากล ซึ่งไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจอย่างเดียว
นอกจากนี้ “เศรษฐา” ยังแสดงวิสัยทัศน์ในหลายๆ เรื่องที่น่าสนใจ อาทิ การให้ความสำคัญกับการค้าขายกับต่างประเทศ โดยกลไกของกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขยายตลาดให้แก่เกษตรกรไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ทำ หรือการบริหารเงินภาษีบาป ที่มองว่า สสส.ไม่ควรรณรงค์แค่อย่าดื่มสุรา อย่าสูบบุหรี่ และหันไปรณรงค์กิจกรรมอื่นที่มีประโยชน์ เช่นการดื่มนม เพื่อเปิดตลาดให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนม เป็นต้น
ในส่วนนโยบายสำคัญ “กระเป๋าเงินดิจิทัล” ของพรรคเพื่อไทย ที่ถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวาง ซึ่ง “เศรษฐา” ดูเหมือนจะเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ก็ได้อธิบายไว้ว่า ปัจจุบันจีดีพีประเทศไทยโต 2.6% ขณะที่ประเทศอื่นเคยเป็นรองเราโตขึ้น 5% ทำให้ประเทศไทยเหมือนคนป่วยอยู่ห้องไอซียู หลายนโยบายของพรรคเพื่อไทยจึงต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อให้กลับมาทำมาหากินมีรายได้เหมาะสม
“เงิน 1 หมื่นบาทที่จะเติมในกระเป๋าเงินดิจิทัลสำหรับคนอายุ 16 ปีขึ้นไป มีประมาณ 50 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 5 แสนล้านต่อปี จะทำครั้งเดียว ไม่ได้ทำทุกปี ให้ใช้หมดภายใน 6 เดือน เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เงินหมุนเวียนในท้องถิ่น รัฐได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคล เพิ่มมากขึ้น เป็นแสนล้านบาท และยืนยันว่า งบประมาณ 5 แสนล้านบาทนั้นสามารถบริหารจัดการได้”
ถือเป็นคำการันตีที่ออกจากปาก “อดีตซีอีโอหมื่นล้าน” จนทำให้คนเชื่อว่าโครงการที่ถูกแซะว่าเป็นนโยบายขายฝันนั้นสามารถทำได้จริง
ไม่เพียงแต่มุมมองด้านเศรษฐกิจ-สังคม เท่านั้น แนวคิดทางการเมืองของ “เศรษฐา” ที่ว่ามีจุดยืนชัดเจน ก็อยู่ในระดับที่ “ไม่แหลมคม” จนเกินไปถึงขั้นทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือกระทบ “ประเด็นอ่อนไหว” ให้เกิดความไม่สบายใจในสังคม
ยิ่งความร้อนแรงของ “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไกล ที่จู่ๆ เรตติ้งก็พุ่งพรวดขึ้นมาจากการสำรวจของหลายสำนักโพล ถึงขั้นที่ว่า “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้า และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล มีคะแนนนิยมแซงหน้า “อุ๊งอิ๊งค์” ในช่วงโค้งสุดท้าย ก็ยิ่งส่งผลทำให้สมการการเมืองมีความสลับซับซ้อนขึ้น และทำให้ชื่อของ “เสี่ยนิด-เศรษฐา” กลับมาโดดเด่นอีกครั้งในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยร่วมกับ “อุ๊งอิ๊งค์” เพราะถ้าไม่ต้องการร่วมสังฆกรรมกับพรรคก้าวไกลที่อาจเป็นอุปสรรคต่ออายุขัยของรัฐบาล การดึงดันส่งไม้ต่อให้กับทายาททางการเมืองของ “ทักษิณ ชินวัตร” อาจส่งผลการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคอื่น
หรือกล่าวได้ว่า ยิ่ง “เสี่ยทิม-พิธา” มาแรง โอกาสของ “เศรษฐา” ที่จะก้าวขึ้นไปเป็นแคนดิเดตนายกรัฐนตรีคนที่หนึ่งของพรรคเพื่อไทย ก็ย่อมมีสูงขึ้นตามไปด้วย
ถือเป็นหลายปัจจัยที่ทำให้ชื่อของ “เศรษฐา ทวีสิน” น่าจะได้รับการเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี หากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้