xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผ่าปรากฏการณ์ “AI” ทำแทน “มนุษย์” งาน 26 ล้านตำแหน่งจะหายไปในอีก 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ก้าวล้ำขึ้น เขย่าขวัญตลาดแรงงานทั่วโลกระส่ำ โดยผลสำรวจล่าสุดของ World Economic Forum คาดการณ์อีก 5 ปีข้างหน้า การจ้างงาน 26 ล้านตำแหน่งจะหายไป ขณะที่ก่อนหน้านี้โกลด์แมน แซคส์ วานิชธนกิจยักษ์ใหญ่แห่งสหรัฐฯ ประเมินเอไอจะกระทบงานประจำทั่วโลกถึง 300 ล้านตำแหน่ง  

การหาเสียงด้วยนโยบายขึ้นค่าแรงของแต่ละพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้งเวลานี้ อย่างพรรคเพื่อไทย ที่จะอัปค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นถึงวันละ 600 บาท ปริญญาตรี เงินเดือนสตาร์ทเริ่มต้น 25,000 บาทนั้น ดูจะสวนทางกับความก้าวหน้าในการพัฒนาเอไอ ที่จะเข้ามาแทนแรงงานมนุษย์เพิ่มมากขึ้นในอัตราเร่ง ดูจากการเปิดตัวของแชตบอทอัจฉริยะ ChatGPT เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สร้างแรงสั่นสะเทือนไปหลายวงการ

ล่าสุด  World Economic Forum (WEF)  คาดว่าความฉลาดของเอไอจะทำให้การจ้างงานทั่วโลกหดหายไปมหาศาล โดย WEF ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากบริษัทชั้นนำกว่า 800 แห่งทั่วโลก พบว่า เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง และบริษัทต่างๆ ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ จะทำให้ตลาดงานทั่วโลกสั่นคลอนในอีก 5 ปีข้างหน้า

 โดยภายในปี 2570 บริษัทต่างๆ คาดว่าจะมีตำแหน่งงานลดลงจาก 83 ล้านตำแหน่ง เหลือ 69 ล้านตำแหน่ง หรือคิดเป็น 2% ของการจ้างงานในปัจจุบัน โดยจะมีปัจจัยหลายอย่างหนุนให้ตลาดแรงงานผันผวนในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน, การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลง และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะที่การมาของ AI ก็จะเป็นทั้งปัจจัยบวกและลบในเวลาเดียวกัน 

ในแง่บวก บริษัทต่างๆ จะต้องการพนักงานใหม่เพื่อช่วยพวกเขาใช้งานและจัดการเครื่องมือ AI ทำให้การจ้างงานของนักวิเคราะห์ข้อมูลและนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านแมชชีนเลิร์นนิง และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น 30% โดยเฉลี่ยภายในปี 2570

 ขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของปัญญาประดิษฐ์จะทำให้พนักงานหลายตำแหน่งตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ในบางกรณี โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับการเก็บบันทึกและงานธุรการจะลดลง 26 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2570 ซึ่งพนักงานป้อนข้อมูลและเลขานุการผู้บริหารคาดว่าจะเป็นตำแหน่งงานที่หายไปมากที่สุด 

ปัจจุบัน WEF คาดว่า 34% ของงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งหมดดำเนินการโดยโปรแกรมเอไอ โดยองค์กรต่างๆ กำลังทบทวนทักษะที่พนักงานควรจะมี ด้วยการเริ่มให้ความสำคัญกับ “ความสามารถในการใช้เครื่องมือ AI อย่างมีประสิทธิภาพ” มากกว่าการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และ 75% ของบริษัทที่ทําการสํารวจ ระบุว่า พวกเขาคาดว่าจะใช้เทคโนโลยี AI ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ก่อนหน้านี้ “โกลด์แมน แซคส์” วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ออกรายงานโดยประเมินว่า งานประจำทั่วโลกมากถึง 300 ล้านตำแหน่งอาจถูกเอไอเข้ามาแทนที่ และเกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะงานในสหรัฐฯ และยุโรป ที่อย่างน้อยราว 1 ใน 4 จะมีระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทน

ในสหรัฐฯ งานที่มีโอกาสถูกแทนที่มากที่สุดคือ งานสำนักงานและบริหารมีโอกาสถูกระบบอัตโนมัติแทนที่ 46% ตามมาด้วยงานกฎหมาย 44% และงานตกแต่งภายใน สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม 37%

ส่วนงานที่มีโอกาสถูกแทนที่น้อยที่สุด คืองานทำความสะอาดและบำรุงรักษาอาคาร อยู่ที่ 1% รองลงมาคืองานติดตั้งและซ่อมแซม จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเป็นอันดับสองที่ 4% และงานก่อสร้างเป็นอันดับสาม อยู่ที่ 6%

ฟากฝั่งยุโรปมีความคล้ายคลึงกัน งานเสมียนจะได้รับผลกระทบมากที่สุด 45% ส่วนที่จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดคืองานฝีมือและภาคการค้าที่เกี่ยวข้องจะอยู่ที่ 4 % เท่านั้น

 รายงานของโกลด์แมน แซคส์ ยังวิเคราะห์ว่า ฮ่องกง อิสราเอล ญี่ปุ่น สวีเดน และสหรัฐฯ จะเป็น 5 อันดับแรกของประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการที่เอไอเข้ามาทำงานแทนที่ ขณะที่พนักงานในจีนแผ่นดินใหญ่ ไนจีเรีย เวียดนาม เคนยา และอินเดีย มีแนวโน้มน้อยที่สุดที่งานของพวกเขาจะถูกแทนที่โดยเอไอ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การมาของเอไอสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทุกวงการ อย่างเช่น ในแวดวงศิลปะ ศิลปินต่างวิตกว่าเอไอที่สร้างผลงานศิลปะขึ้นมาจากข้อมูลที่มีอยู่อาจลดทอนโอกาสในอาชีพ เช่นเดียวกันกับการมาของแชทบอท แชทจีพีที (ChatGPT) ที่ทำให้สามารถผลิตคอนเท้นต์ได้ง่ายขึ้น แม้แต่แวดวงวิชาการ งานวิจัยก็เฉกเช่นเดียวกัน อาชีพสื่อมวลชน นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ล้วนถูกท้าทายจากความก้าวหน้าของเอไอทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่พนักงานในบริษัทยักษ์เทคอย่าง IBM

 ตามรายงานข่าวของ Bloomberg ระบุว่า Arvind Krishna ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ IBM ให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทเตรียมชะลอการจ้างงานในตำแหน่งที่ AI สามารถทดแทนได้ภายในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ คาดว่าตำแหน่งงานที่อาจได้รับผลกระทบในระยะใกล้นี้จะกระทบมากถึง 7,800 ตำแหน่ง 

CEO ของ IBM ยังเผยว่าภายใน 5 ปีหลังจากนี้ พนักงานมากถึง 30% โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นงานด้านทรัพยากรบุคคล ไปจนถึงงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับลูกค้านั้นอาจกระทบกับพนักงานสูงถึง 26,000 ตำแหน่ง โดยจะมีการย้ายพนักงานระหว่างแผนกเกิดขึ้น แต่งานในองค์กรบางอย่าง เช่น การประเมินองค์กรในเรื่องของกำลังคนรวมถึงประสิทธิภาพการทำงานของฝ่ายด้านทรัพยากรบุคคลนั้นอาจจะไม่ถูก AI แทนที่ในทศวรรษหน้า

ปัจจุบัน IBM มีพนักงานจำนวนมากถึง 260,000 ราย ซึ่งมีทั้งตำแหน่งนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไปจนถึงพนักงานด้านการขาย

 เทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้หลายอาชีพต่างเสี่ยงต่อการตกงานเพราะมีการนำหุ่นยนต์หรือเอไอเข้ามาแทนที่ โดยอาชีพที่ตกเป็นเป้าถูกเลิกจ้างมากที่สุด เช่น ฝ่ายบริการลูกค้า พนักงานบัญชีและกรอกข้อมูล พนักงานต้อนรับในโรงแรมหรือร้านอาหาร พนักงานพิสูจน์อักษร งานผลิตและเภสัชกรรม งานบริการขายปลีก งานบริการจัดส่ง และแม้แต่แพทย์ก็มีศัลยแพทย์หุ่นยนต์ หรือทหารซึ่งอนาคตอาจมีทหารหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ ซึ่งขณะนี้มีการใช้หุ่นยนต์ในการปฏิบัติการทางทหารสำหรับงานต่างๆ เช่น การสอดแนม ข่าวกรอง และอื่นๆ 

นอกจากนั้น อาชีพขับแท็กซี่และรถบัสก็มีโอกาสจะกลายเป็นแบบอัติโนมัติทั้งหมด ส่วนรถยนต์ไร้คนขับได้มาถึงแล้ว อีกไม่นานรถบรรทุกขนส่งสินค้าก็อาจเป็นเช่นเดียวกัน และยังมีอาชีพนักการตลาด รักษาความปลอดภัย แม้แต่ผู้ประกาศข่าวเอไอก็เกิดขึ้นแล้ว เรียกได้ว่าทุกสาขาอาชีพล้วนแต่มีโอกาสถูกทดแทนด้วยเอไอแทบทั้งสิ้น

การพัฒนาเอไอที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจึงนับเป็นเหรียญสองด้าน แม้เทคโนโลยีช่วยให้มนุษย์มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่ก็เป็น “อันตราย” ต่ออาชีพการงาน และยิ่งกว่านั้น “บิดาแห่งเอไอ” ซึ่งเพิ่งลาออกจากกูเกิล ได้ออกมาส่งเสียงเตือนถึงอันตรายของเอไอ

cointelegraph ระบุถึง  ดร.เจฟฟรีย์ ฮินตัน ผู้บุกเบิกปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่า เป็น “บิดาแห่ง AI” หรือ “เจ้าพ่อแห่ง AI”  ได้ประกาศลาออกจากบริษัท Google ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เหตุผลในการลาออกของเขานั้นเพื่อสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำในการส่งเสียงเตือนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยี AI

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ฮินตันชี้แจงผ่านในทวีตว่าเขาได้ลาออกจากตำแหน่งที่ Google โดยระบุเหตุผลว่า “เพื่อที่ผมจะได้พูดคุยเกี่ยวกับอันตรายของ AI”

ฮินตัน ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ระบุถึงความกังวลจากการใช้ AI ที่ทำให้อินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยรูปภาพ วิดีโอ และข้อความปลอม จนหลายคนไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรคือความจริงอีกต่อไป

 นอกจากนี้ เขายังกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ที่เข้ามาแทนที่งานในอนาคต และเชื่อว่า AI อาจเป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ เนื่องจากเรียนรู้พฤติกรรมที่ไม่คาดคิดจากข้อมูลจำนวนมหาศาลที่วิเคราะห์ อีกทั้งยังแสดงความกังวลต่อการแข่งขันด้านอาวุธของ AI ที่พยายามพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มเติมเพื่อใช้ในระบบอาวุธทำลายล้างอัตโนมัติ 

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ร่างกฎหมาย และผู้บริหารในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนา AI ด้วยเช่นกัน โดยในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ผู้บริหารและนักวิจัยด้านเทคโนโลยีกว่า 2,600 คน ได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้หยุดการพัฒนา AI ชั่วคราวโดยอ้างถึง “ความเสี่ยงอย่างลึกซึ้งต่อสังคมและเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ”

ขณะที่กลุ่มผู้ร่างกฎหมายของสหภาพยุโรป 12 คน ได้ลงนามในจดหมายที่คล้ายกันในเดือนเม.ย. และร่างกฎหมายล่าสุดของสหภาพยุโรปจัดประเภทเครื่องมือ AI ตามระดับความเสี่ยง ส่วนสหราชอาณาจักร กลับมองต่างออกไปด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินมากถึง 125 ล้านดอลลาร์ ในการสนับสนุนคณะทำงานเพื่อการพัฒนา  “AI ที่ปลอดภัย”  

นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่ามีการใช้เครื่องมือ AI สำหรับการบิดเบือนข้อมูล โดยตัวอย่างล่าสุดของสื่อต่างๆ ที่ถูกหลอกให้เผยแพร่ข่าวปลอม โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา  ฉางเผิงจ้าว หรือ “CZ” CEO ของ Binance  อ้างว่า AI ถูกนำมาใช้ในการสร้างข่าวลือด้านลบเพื่อโจมตี ซึ่ง Binance ที่ตกเป็นเป้า มาจาก ChatGPT พยายามสร้างหลักฐานเท็จในการใส่ร้ายว่า ฉางเผิงจ้าว เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และยังมีการเชื่อมโยงกับบทความของ Forbes และหน้า LinkedIn ที่อ้างว่าเป็นแหล่งข้อมูล ทั้งที่บทความนั้นไม่มีอยู่จริง และโปรไฟล์ LinkedIn ไม่ใช่ของ ฉางเผิงจ้าว

 AI จึงเป็นเทคโนโลยีที่มีคุณอนันต์ และมีโทษและอันตรายมหันต์รออยู่เบื้องหน้าเช่นกัน 



กำลังโหลดความคิดเห็น