ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - พืชสมุนไพรเป็นภูมิปัญญาในการดูแลรักษาและป้องโรคต่างๆ มาตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันมีการต่อยอดทั้งรูปแบบของยาและผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ปี 2565 มูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย สูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท สะท้อนความต้องการของตลาดเพิ่มตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ยาจากสมุนไพรอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติจำนวนกว่า 94 รายการ แต่ในระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทย ทั้งระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการข้าราชการ และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) พบว่าสัดส่วนการใช้ยาจากบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร เพียง 1% ทว่า ยาสมุนไพรเถื่อนกลับขายดีเกลื่อนตลาด มีประชาชาชนจำนวนมากควักเงินซื้อ หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อสมุนไพรไร้คุณภาพ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง
-1.-
จากรายงานของ Euromonitor International เผยมูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดโลก (Retail Value RSP) มูลค่ารวมมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท โดยประเทศไทยมีมูลค่าค้าปลีกสินค้าสมุนไพรสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก รองจากจีน, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เยอรมนี, อิตาลี และไต้หวัน)
อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย ปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 52,104.3 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจาก ปี 2564 มูลค่าราว 48,108. ล้านบาท, ปี 2563 มูลค่าราว 45,997.9 ล้านบาท, ปี 2562 มูลค่าราว 53,396.2 ล้านบาท, ปี 2561 มูลค่าราว 49,071.9 ล้านบาท, ปี 2560 มูลค่าราว 44,176.3 ล้านบาท และ ปี 2559 มูลค่าราว 39,831.8 ล้านบาท
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ว่า เกี่ยวกับการนำเสนอผลการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพรไทย ภายใต้แผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2565 ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 12,211 ล้านบาท
สำหรับกระแสนิยมดูแลรักษาสุขภาพโดยวิถีธรรมชาติและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีของผู้บริโภค ส่งผลให้สมุนไพรเข้ามาเป็นหนึ่งในวัตถุดิบจากธรรมชาติที่แวดวงธุรกิจ Health and Wellness ทั่วโลกกำลังต้องการ
ศูนย์วิจัยกสิกรคาดการณ์ว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Health and Wellness ที่นำสมุนไพรไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต อาทิ เครื่องสำอาง ยาและอาหารเสริม ในปี 2563 มีมูลค่าตลาดรวมราวๆ 91 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะขยับไปสู่ระดับ 166 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573 เฉลี่ยเติบโตร้อยละ 6.5 ต่อปี
ขณะที่ประเทศไทยเล็งเห็นโอกาสทางการตลาดจากเทรนด์บริโภคดังกล่าว รวมทั้ง มีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบมีสมุนไพรกว่า 1,800 ชนิดที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรมได้ จึงนำไปสู่นโยบายสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจสมุนไพรของไทย และประการสำคัญการสร้างความยั่งยืนให้กับตลาดสมุนไพรของไทย เป็นต้นว่าการยกระดับการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความแตกต่างให้มากขึ้นครอบคลุมทั้งระบบ
โดยภาครัฐทำคลอดนโยบายสนับสนุนส่งเสริมสมุนไพรไทยมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเร่งเครื่อง แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่2 พ.ศ. 2566 – 257 ภายใต้การกำกับขอณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ขับเคลื่อนตามแผนจะก่อให้เกิดการผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ส่งเสริมความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพร รวมทั้ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ นำมาซึ่งความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศ
ระดับต้นน้ำ ยกตัวอย่างเช่น เพิ่มพื้นที่ปลูกสมุนไพรได้มาตรฐานเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่ในปี 2570
ระดับกลางน้ำ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการสมุนไพรโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในปี 2570
ระดับปลายน้ำ ยกตัวอย่างเข่น การส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปในอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี จำนวนการสั่งใช้ยาจากสมุนไพรในระบบสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ในปี 2570 และจำนวนยาจากสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร/บัญชีนวัตกรรม อย่างน้อย 50 รายการภายในปี 2570 เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ประกาศ “สมุนไพร Herbal Champions 15 รายการ” ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2566-2570 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่า วางเป้าหมายออกสู่ตลาดโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 สมุนไพรที่มีความพร้อมเพื่อการพัฒนาต่อยอด 3 รายการ ได้แก่ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ และกลุ่มที่ 2 สมุนไพรที่มีศักยภาพและต้องการความต่อเนื่องในการพัฒนา 12 รายการ ได้แก่ บัวบก มะขามป้อม ไพล ขิง กระชาย ว่านหางจระเข้ กวาวเครือขาว มะระขี้นก เพชรสังฆาต กระท่อม กัญชง และกัญชา
นพ. ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เผยว่าสมุนไพร Herbal Champions ทั้ง 15 รายการ จะช่วยขยายตลาดสมุนไพรไทยในเวทีโลกได้ อย่างไรก็ดี สมุนไพรหลายรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 รายการแรก ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และกระชายดำ มีความต้องการในตลาดโลกอยู่แล้ว
“ขมิ้นชัน” เป็นสมุนไพรที่นิยมแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ มีสรรพคุณทางยาโดดเด่นด้านระบบทางเดินอาหาร มีศักยภาพเติบโตสูง มูลค่าตลาดหลักหมื่นล้านบาท
อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ตลาดโลกมีมูลค่าการส่งออกขมิ้นชันถึง 366.78 ล้านเหรียญสหรัฐ อินเดียส่งออกสูงสุด 225.54 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 61.5% การนำเข้ามีมูลค่า 382.96 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสหรัฐอเมริกานำเข้าสูงสุด 62.74 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 16.4% ส่วนตลาดประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกขมิ้นชัน 2.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 1.19 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกขมิ้นชันลำดับที่ 14 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.8% ของตลาดส่งออกทั้งหมด แม้ว่าปัจจุบัน ไทยจะมีราคาส่งออกขมิ้นชันต่อหน่วย 2,244 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงกว่าราคาต่อหน่วยของโลก (1,612 เหรียญสหรัฐต่อตัน) แต่ไทยยังมีศักยภาพที่จะพัฒนา และเพิ่มมูลค่าขมิ้นชันได้ เช่น การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการเกษตร และการแปรรูปขมิ้นชัน เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสของขมิ้นชันในตลาดโลกยังมีอีกมาก
“ฟ้าทะลายโจร เป็นยาสมุนไพรสรรพคุณโดดเด่นด้านการรักษาอาการหวัด อาการเจ็บคอ และอาการไอ โดยระยะที่ผ่านมา เป็นสมุนไพรที่มีความต้องการในตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ตลาดของยาฟ้าทะลายโจรในประเทศไทยปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท
รายงานของ The Global Industry Research เผยปี 2565 สารสกัดฟ้าทะลายโจรในตลาดโลก มีมูลค่า 164.18 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นเป็น 331.01 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2028 โดยเชื่อว่าฟ้าทะลายโจร จะยังคงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค รวมถึงเป็นทางเลือกของผู้ที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการผลักดันฟ้าทะลายโจรให้เป็นสมุนไพรที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ
“กระชายดำ” หรือ “โสมไทย (Thai Ginseng) พืชเฉพาะถิ่นของประเทศไทย แม้จะยังเป็นที่รู้จักในประเทศไทยไม่มากนัก แต่กลับเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ปัจจุบันตลาดในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกระชายดำอยู่หลากหลาย อาทิ กลุ่มเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟผสมกระชายดำ อาหารเสริม ยาแผนโบราณ เป็นต้น
สรรพคุณของกระชายดำ เพิ่มสมรรถนะทางกาย ทำให้สดชื่น และสามารถออกกำลังได้นานขึ้น จึงมีแนวโน้มถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับนักกีฬาและสำหรับผู้สูงอายุ จากข้อมูลสถิติการนำเข้า-ส่งออก ของกรมศุลกากรระหว่างปี 2559-2564 พบว่าประเทศไทยมีการส่งออกวัตถุดิบกระชายดำ 172 ล้านบาท และสารสกัดกระชายดำ 44.5 ล้านบาท
นอกจากนี้ Future Market Insights (FMI) ยังมีมีการประเมินความต้องการตลาดของสารกลุ่มฟลาโวน (flavones) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่พบมากในกระชายดำ มีมูลค่าสูงถึง 12.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2574 ซึ่งถือเป็นโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนากระชายดำอย่างจริงจัง เพื่อสร้างชื่อเสียงและเศรษฐกิจให้แก่ประเทศต่อไป
ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โดยสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ เดินหน้าขยายตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย รองรับความต้องการทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ยกระดับเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ BCG Model คาดการณ์ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมีมูลค่าสูงถึง 59,500 ล้านบาท ภายในปี 2569
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตลาดสมุนไพรมีแนวโน้มขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ เห็นได้จากข้อมูลการคาดการณ์มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของ Euromonitor ว่า ในปี 2569 ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทยจะมีมูลค่าถึง 59,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30.37 จากปี 2564 ที่มีมูลค่า 45,640 ล้านบาท
ขณะที่การค้าปลีกผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกในปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 1.92 ล้านล้านบาท โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่าสูงสุด รองลงมา คือ ภูมิภาคอเมริกาเหนือ และภูมิภาคยุโรปตะวันตก ตามลำดับ
-2.-
ขณะที่นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในปี 2566 ขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดคนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจไทยมั่งคั่ง (Health for Wealth) นำสุขภาพมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นปัจจัยขับเคลื่อน ซึ่งจะมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และปกป้องคุ้มครองภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทย สมุนไพรไทยที่เป็นวัฒนธรรมชาติ
รวมทั้ง มีการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาสมุนไพรในระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการข้าราชการ และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยปัจจุบันมีรายการยาจากสมุนไพรอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว 94 รายการ อาทิ ตำรับยาแผนไทย 3 รายการ ได้แก่ ยาแก้ลม แก้เส้น ยาศุขไสยาศน์ ยาทำลายพระสุเมรุ ยาจากกัญชา 8 รายการ ยาน้ำมันกัญชา 5 รายการ รวมถึงฟ้าทะลายโจร
ทั้งนี้ อยู่ในกำกับของคณะกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ในการพิจารณาคัดเลือกยาจากสมุนไพรที่มีสรรพคุณ หรือข้อบ่งใช้ที่ชัดเจน ได้รับการรับรอง มีส่วนประกอบเป็นสมุนไพรที่สามารถผลิตหรือปลูกได้ในประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงยาจากสมุนไพรได้เพิ่มมากขึ้น พร้อมขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ยาจากสมุนไพรในระบบบริการสาธารณสุข
แต่ภาพรวมของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้ง 3 ระบบ พบว่าสัดส่วนการใช้ยาจากบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร คิดเป็นเพียง 1% เมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบันในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจว่าในขณะที่ตลาดสมุนไพรไทยเติบโต เหตุใดสัดส่วนการใช้ยาสมุนไพรในระบบหลักประกันสุขภาพจึงย่ำอยู่ที่เดิม
รศ.ดร.ชาลี ทองเรือง ประธานวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพร ภายใต้สภาเภสัชกรรม อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และเครือข่ายวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) อธิบายว่าปัจจัยสำคัญที่กำหนดว่าระบบบริการจะมีการใช้ยาสมุนไพรมากน้อยเพียงใด คือ บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งไม่ค่อยมีความมั่นใจในคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของยาสมุนไพร
ประเด็นนี้กลายเป็นคอขวดที่ทำให้ยาสมุนไพรไม่ถูกได้ในระบบประกันสุขภาพอย่างเต็มกำลัง กล่าวคือแม้จะมีช่องทางและสิทธิที่เอื้อต่อการสั่งจ่ายยาสมุนไพร แต่บุคลากรไม่เลือกที่จะสั่งจ่าย ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่น สิ่งที่ควรดำเนินการคือการนำหลักฐานการศึกษาวิจัยยาสมุนไพรในบัญชียาหลักฯ มาสื่อสาร เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพให้กับผู้ให้บริการทางการแพทย์ในการเลือกใช้ยาสมุนไพร คู่ขนานไปกับการสร้างเงื่อนไข และนโยบายที่ชัดเจนในการจูงใจให้แพทย์ และเภสัชกรสั่งจ่ายยาสมุนไพรมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการยืนยันถึงประสิทธิภาพไปด้วยในตัว
ภญ.พัทธรา ลีฬหวรงค์หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เปิดเผยว่ายาแผนไทยนั้นเกิดมาจากการสั่งสมองค์ความรู้ของบรรพบุรุษในการใช้ตำรับยาแผนโบราณในการรักษาโรคต่างๆ สืบทอดต่อกันมายาวนาน ขณะที่ยาแผนปัจจุบันเป็นยาที่เกิดจากการทดลองทางห้องปฏิบัติการ ทั้งในหลอดทดลองและทดลองกับสัตว์เพียงไม่กี่ปี เมื่อมาใช้กับคนจึงต้องมีการประเมินทั้งความปลอดภัยและประสิทธิผล รวมไปถึงความคุ้มค่าโดยเฉพาะยาใหม่ที่มีราคาแพง
ยาแผนโบราณเกิดจากองค์ความรู้ของบรรพบุรุษในการใช้ฟ้าทะลายโจรลดไข้และแก้เจ็บคอ ซึ่งที่จริงอาจจะดีกว่าสิ่งที่ยาแผนปัจจุบันพยายามทำเสียอีก เพราะยาแผนปัจจุบันทดลองเพียงไม่กี่ปี เช่น 3 ปีก็ขายได้แล้ว ขณะที่ยาสมุนไพรมันพิสูจน์มาแล้วเป็นร้อยปี
ทั้งนี้ การมียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นไปเพื่อการส่งเสริม สนับสนุน การใช้และการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพและการแพทย์แผนไทย เพราะยังใช้กันในวงจำกัดและมีต้นทุนการผลิตและราคาที่สูงกว่ายาแผนปัจจุบัน ทำให้การประเมินความคุ้มค่าอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมสำหรับยาแผนไทย
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ที่ปรึกษาคณะกรรมการกำกับทิศแผนงานวิจัยพัฒนาระบบยา (สวรส.) อธิบายว่ารายการยาที่บรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ-บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร เป็นยาที่ผ่านการกลั่นกรองอย่างเข้มงวด โดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนปัจจุบัน และเภสัชกรรม ทำหน้าที่ประเมินอย่างรอบด้าน เพื่อให้ได้รายการยาที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ตลอดจนความปลอดภัย จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุป ทางคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักฯ ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ต้องพิจารณาเห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป ประชาชนและบุคลากรสุขภาพจึงเชื่อมั่นและมั่นใจได้อย่างแน่นอน
โดยเสนอว่า หาก สปสช. (สิทธิบัตรทอง มีผู้ใช้สิทธิกว่า 48 ล้านคน) สามารถผลักดันให้เกิดการใช้ยาสมุนไพรใน “โครงการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ รับยาฟรีที่ร้านยา” ซึ่งมีกว่า 500 แห่งทั่วประเทศได้ ก็จะเป็นการสนับสนุนการใช้สมุนไพรในระบบหลักประกันฯ ให้มากขึ้น โดยอาจจัดคู่มือการใช้ยาไว้ให้กับเภสัชกร เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการจ่ายยามากขึ้น รวมถึงยังส่งผลดีต่อการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิด้วย
นอกจากนั้น ใน 16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยยาสมุนไพรในบัญชียาหลักฯ ซึ่งก็เป็นยาที่ร้านยาจำหน่ายอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ยังมียาที่ควรสนับสนุนให้จ่ายในโครงการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ได้แก่ ยาที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน หรือยาอื่นๆ ที่มีส่วนประกอบของสารสกัดสมุนไพร
ที่น่าสังเกตุ ยาสมุนไพรเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวไทย และจำนวนไม่น้อยต้องการรับการรักษาด้วยสมุนไพรทางเลือก ซึ่งผลิตภัณฑ์สมุนไพรจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจ เพราะเป็นทางเลือกสุขภาพที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทั้งผลิตภัณฑ์สมุนไพรเถื่อน อวดอ้างสรพพคุณเกินจริง ฯลฯ
ยกตัวอย่าง เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. 2566 คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงปฏิบัติการตรวจค้นสถานที่ลักลอบผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรเถื่อน พื้นที่ จ.กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำหน่ายผ่านเฟซบุ๊ก “หมอเถียรแพทย์แผนจีน” อวดอ้างยาขนานเดียวสามารถรักษาอาการต่างๆ ได้ครอบจักรวาล เช่น สามารถปรับสมดุลร่างกาย รักษาเรื่องการนอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไมเกรน กรดไหลย้อน ขับถ่ายไม่ดี ชาปลายมือปลายเท้า ออฟฟิศซินโดรม บำรุงตับ ฯลฯ
โดยตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ชนิดแคปซูล จำนวน 1,000 กระปุก (60,000 แคปซูล), ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจีนชนิดน้ำบรรจุถุง รอการจำหน่าย กว่า 700 ถุง และเครื่องจักรสำหรับผลิตสมุนไพรจีน มูลค่ากว่า 800,000 บาท ทั้งนี้ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ฐาน "ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต" ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
หรือกรณีการบุกแหล่งผลิตน้ำสมุนไพรผสมสารสเตียรอยด์ ในปี 2565 “ผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรยากษัยเส้นปู่แดง” ซึ่งโฆษณาอวดอ้างบำรุงร่างกาย ช่วยเจริญอาหาร ต้านการอักเสบของข้อ หลังและเอว ลดอาการปวดทุกชนิด ทว่า มีผู้เสียหายจำนวนมากดื่มกินแล้วเกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย นำสู่การร้องเรียนไปยัง อย. ประสานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นสถานที่ผลิตและเก็บผลิตภัณฑ์สมุนไพรในพื้นที่ จ.ขอนแก่น พบของกลางน้ำสมุนไพรกว่า 20,000 ขวด, ยาเม็ดในกลุ่มสเตียรอยด์ 2,092,000 เม็ด, ยาเม็ดแก้ปวดไม่มีทะเบียน 2,224,000 เม็ด ยาเม็ดแก้แพ้ 5,000 เม็ด รวมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท
โดยมีความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร 2522 ว่าด้วยการผลิตและจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ เป็นอาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วย มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพ.ร.บ ยา 2510 ว่าด้วยการขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และแม้รัฐประสานความร่วมมือจับกุมผลิตภัณฑ์สมุนไพรเถื่อนอย่างต่อเนื่อง แต่ก็อาจเล็ดลอดสายตาไปบ้าง ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นด้วยตัวเองผ่าน www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค
สุดท้ายยังคงต้องจับตาตลาดสมุนไพรไทย กับบทบาทของรัฐในการสร้างเสริมความยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำให้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ส่วนการใช้ยาสมุนไพรไทยในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ไม่ได้รับความนิยมสั่งจ่ายเพื่อใช้รักษาใน 3 ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เข้าใจว่าเป็นการแพทย์ทางเลือก ซึ่งการแพทย์แผนไทยยังอยู่ในวงจำกัด