"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
การเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรมของธรรมชาติที่ไม่มีใครต้านทานได้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม สังคมก็เช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา สิ่งเก่าค่อยเลือนหายไปในสายธารของเวลา สิ่งใหม่เกิดขึ้นมาทดแทน อาจช้าบ้าง เร็วบ้าง น้อยบ้าง มากบ้าง ตามเหตุปัจจัย เป็นความจริงว่าทุกการเปลี่ยนแปลงจะมีพลังเก่าที่พยายามเหนี่ยวรั้งเอาไว้ไม่น้อย แต่ถึงที่สุดแล้วก็ไม่อาจต้านทานพลังที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้
สังคมการเมืองไทยในช่วงเวลานี้มีสัญญาณที่บ่งบอกถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากขึ้น และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังและมีขอบเขตกว้างขวางที่จะสร้างคุณภาพใหม่แก่สังคมไทย เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การเมืองแบบเก่าและโครงสร้างอำนาจแบบเก่าที่ตั้งอยู่บนฐานของระบบอุปถัมภ์และการผูกขาดต้องสั่นคลอนอย่างไม่เคยมีมาก่อน
สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงค่อย ๆ ก่อตัวและปรากฏเป็นรูปธรรมในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง อันเกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการด้วยกัน
ประการแรก พรรคการเมืองหลายพรรคได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศขึ้นมา บางพรรคมีวิสัยทัศน์เชิงอนุรักษ์นิยม เน้นปกป้องรักษาจารีตประเพณีและสถาบันดั้งเดิม บางพรรคเน้นวิสัยทัศน์เรื่องการเติบโตและความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และบางพรรคเน้นเรื่องการสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรมและเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม การนำเสนอวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศสะท้อนถึงอุดมการณ์และจุดยืนของพรรคการเมือง ซึ่งทำให้มิติทางอุดมการณ์ทางการเมืองมีพื้นที่มากขึ้นในสนามการเลือกตั้ง สิ่งนี้นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งในสังคมไทย
ประการที่สอง นอกเหนือจากกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศ บรรดาพรรคการเมืองได้สรรสร้างนโยบายขึ้นมาหลายลักษณะ และมีความหลากหลายครอบคลุมหลายมิติของการแก้ปัญหาและการพัฒนาการเมือง สังคม เศรษฐกิจ มีทั้งนโยบายเพื่อสร้างคะแนนนิยมระยะสั้นหรือที่เรียกว่านโยบายประชานิยม และนโยบายที่มีการสรรสร้างอย่างเป็นระบบโดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหารากฐานของสังคม มีทั้งนโยบายที่ตอบสนองความต้องการเทียมที่อิงอยู่กับลัทธิบริโภคนิยมและนโยบายที่ตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิตที่แท้จริงของประชาชน มีทั้งนโยบายที่มุ่งเน้นการรักษาสถานภาพ อำนาจ และวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมของสังคม และนโยบายที่มุ่งปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ สร้างความเท่าเทียม และสร้างนวัตกรรมทางสังคม มีทั้งนโยบายที่ตอบสนองความต้องการประชาชนเฉพาะกลุ่ม และนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนทั้งมวล มีทั้งนโยบายที่ปรับปรุงระบบเศรษฐกิจบางส่วน ซึ่งไม่แตะต้องอำนาจการผูกขาดของกลุ่มทุน กับนโยบายที่มุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทลายอำนาจผูกขาดของกลุ่มทุน
ประการที่สาม การสื่อสารวิสัยทัศน์และนโยบายในการเลือกตั้งครั้งนี้มีการสื่อสารหลากหลายวิธี ผ่านช่องทางและเทคโนโลยีหลายรูปแบบ การสื่อสารที่มีความโดดเด่นอย่างหนึ่งคือ การวิวาทะหรือดีเบตระหว่างผู้สมัครของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่จัดโดยสื่อมวลชนและสถาบันทางวิชาการ และมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์และสื่อสังคมออนไลน์หลายชนิด ทำให้สาระของวิสัยทัศน์ จุดยืนทางการเมือง และนโยบายของพรรคการเมืองสามารถเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กและผู้สูงอายุ กล่าวได้ว่าการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างกว้างขวางและทั่วถึงมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ มากทีเดียว
หากพรรคการเมืองใดแสดงวิสัยทัศน์และจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน กอรปกับมีนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน สามารถทำให้ประชาชนเชื่อว่าจะรักษาสัญญาเมื่อได้เป็นรัฐบาล และมีสมรรถนะและความสามารถเพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้ ประชาชนก็มีแนวโน้มจะสนับสนุนพรรคการเมืองนั้น ในทางกลับกัน หากพรรคการเมืองใด แม้อาจมีวิสัยทัศน์ชัดเจน แต่จุดยืนทางการเมืองกลับคลุมเครือ ประชาชนยังมีความคลางแคลงใจว่าสิ่งที่พูดกับสิ่งที่จะทำหลังการเลือกตั้งว่าเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ และเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะรักษาคำสัญญาประชาคมไว้อยู่หรือไม่ ประชาชนก็จะไม่สนับสนุนหรือบางคนที่เคยสนับสนุนมาก่อน ก็อาจเลิกการสนับสนุนก็ได้
เมื่อการวิวาทะจบลงไปแล้ว ข้อมูลข่าวสารจากการวิวาทะก็ยังคงดำรงอยู่ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะใน “TikTok” ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เป็นสื่อที่เข้าถึงผู้คนทุกเพศ ทุกวัย และสามารถส่งต่อและดูซ้ำได้ทุกเวลา ด้วยลักษณะของ TikTok ที่เป็นคลิปสั้น ๆ เน้นสาระสำคัญ ผู้คนเข้าถึงได้ง่าย ทำให้คนบางกลุ่มที่ไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อนก็มีโอกาสเข้าถึงและรับฟังข้อมูลข่าวสารทางการเมืองมากขึ้น
นอกเหนือจากการวิวาทะแล้ว การปราศรัยซึ่งเป็นวิธีการหาเสียงแบบดั้งเดิมก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้สมัครกับผู้เลือกตั้งมาพบปะกัน และผู้สมัครสามารถสื่อสารโดยตรงกับผู้เลือกตั้งได้ อย่างไรก็ตาม การจัดปราศรัยจำเป็นต้องมีผู้รับฟังเป็นจำนวนมาก มิฉะนั้นแล้วก็จะขาดพลังและบั่นทอนกำลังใจผู้จัด การที่จะมีคนเข้าร่วมฟังปราศรัยเป็นจำนวนมากเกิดขึ้นในสองลักษณะ
อย่างแรก คือการจัดตั้งและระดมผู้คนเข้ามาฟัง เราจะสังเกตการจัดปราศรัยในลักษณะนี้ด้วยการดูว่า ผู้ฟังปราศรัยมีการใส่เสื้อสีเดียวกันทั้งหมดหรือไม่ และเข้าไปสังเกตว่าบริเวณใกล้เคียงเวทีปราศรัยมีรถบัส รถตู้ หรือรถที่ใช้ในการขนคนจอดอยู่เป็นจำนวนมากหรือไม่ ผู้ที่เข้าร่วมการปราศรัยแบบจัดตั้งมักจะได้รับค่าตอบแทนจากผู้ที่จัดปราศรัย ไม่ได้ไปเข้าร่วมด้วยความคิดและความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง การปราศรัยแบบนี้เป็นเพียงการสร้างภาพที่ขาดพลังและมีผลกระทบที่จะขยายเป็นกระแสนิยมน้อย
อย่างที่สอง การปราศรัยที่ผู้คนเข้าร่วมด้วยความสมัครใจของตนเอง อันเกิดจากความรู้สึกร่วมทางการเมืองกับผู้ที่จัดปราศรัย ข้อสังเกตของการจัดปราศรัยแบบนี้คือ ผู้เข้าร่วมมักสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์หลากหลาย ไม่มีรถโดยสารขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กที่ขนคนเข้าร่วม มีรถยนต์และจักรยานยนต์ส่วนตัวจำนวนมากจอดให้เห็นบริเวณใกล้เคียง หรือ หากเป็นในกรุงเทพฯ ก็อาจไม่เห็นรถประเภทใดจอดอยู่ หากบริเวณการปราศรัยอยู่ใกล้เคียงกับระบบขนส่งสาธารณะ
หากการปราศรัยตามธรรมชาติ มีผู้คนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก หรือในปัจจุบันมีศัพท์ทางการเมืองใหม่ขึ้นมาที่เรียกว่า “แตก” เช่น สัตหีบแตก บางแสนแตก จะทำให้การปราศรัยนั้นมีพลังและส่งผลกระทบเชิงบวกต่อพรรคการเมืองผู้จัดการปราศรัย ก่อให้เกิดเป็นกระแสความนิยมที่กระจายตัวและมีอิทธิพลทางความคิดความรู้สึกต่อผู้เลือกตั้งในเขตอื่น ๆ ด้วย และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและความฮึกเหิมในการแข่งขันแก่นักการเมืองของพรรคนั้น ๆ ในทางกลับกันหากมีประชาชนเข้าร่วมฟังการปราศรัยน้อย นอกจากไม่สามารถสร้างผลกระทบทางบวกต่อคะแนนนิยมแล้ว ก็ยังบั่นทอนกำลังใจของผู้จัดปราศรัยอีกด้วย
อันที่จริงการสื่อสารนโยบายยังมีอีกหลายรูปแบบ แต่จะขอละเอาไว้ไม่กล่าวถึงทั้งหมด แต่จะขอหยิบยกรูปแบบการสื่อสารใหม่อีกสองแบบที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ อย่างแรกคือ การหาเสียงแบบส่งคนไปทำงานและรับคนกลับบ้าน ด้วยการยืนปราศรัยย่อยบริเวณสี่แยกในเขตเมืองที่มีการจราจรแน่นหนา อย่างที่สองคือ การสื่อสารด้วยการผลิตเนื้อหาโดยหัวคะแนนธรรมชาติของพรรคการเมืองบางพรรค และเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้มีให้เห็นอย่างหนาตา
หลังจากที่ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีต้นกำเนิดจากความเบื่อหน่ายระบบการเมืองเก่าที่ถูกควบคุมบงการด้วยกลุ่มอำนาจเก่า ก็เริ่มเห็นทางเลือกที่เป็นความหวังใหม่อันเป็นการเมืองแบบใหม่ ที่นักการเมืองมีความตรงไปตรงมาไม่ปิดบังอำพรางจุดยืนทางการเมืองของตนเอง มีการแสดงเจตจำนงอย่างกล้าหาญในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจ มีการแสดงภูมิปัญญาและความสามารถที่บ่งบอกว่ามีรากฐานจากการศึกษาข้อมูลอย่างเข้มข้นและจริงจัง และมีความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้มีความก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงก็สะสมพลังอย่างต่อเนื่อง กำลังพัฒนาขยายตัวเป็นพายุขนาดใหญ่ที่จะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมไทยในอนาคตอันใกล้
มีความเป็นไปได้ว่าพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงจะกวาดล้าง “การเมืองแบบบ้านใหญ่” ให้กลายเป็น “การเมืองแบบบ้านแตก” ซึ่งทำให้นักการเมืองที่อาศัยอิทธิพล เครือข่ายหัวคะแนนแบบเดิม และการซื้อขายเสียงจะต้องประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง อาจทำให้ “การเมืองแบบดีแต่พูด” ไม่รักษาสัญญาประชาคมต้องจมหายไปในกระแสธารของประวัติศาสตร์ พรรคการเมืองเก่าแก่บางพรรคต้องหันมาทบทวนตนเองอย่างจริงจัง ก่อนที่จะถูกพัดพาให้หายไปจากสังคมไทย อาจทำให้ “การเมืองแบบสืบทอดอำนาจรัฐประหาร” ไม่หลงเหลือร่องรอยให้เห็นในเวทีการเมือง และอาจทำให้ “การเมืองแบบสืบทอดทายาท” ของพรรคการเมืองที่มีเจ้าของเป็นนายทุนต้องได้รับบทเรียนอย่างเจ็บปวด
และมีความเป็นไปได้สูงว่า พายุแห่งการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิด “การเมืองแบบพลเมือง” อย่างแท้จริง ประชาชนจะมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการพัฒนาพรรคการเมืองให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงเป็นบทพิสูจน์ว่า สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงจะสามารถพัฒนาเป็นพายุที่ทรงพลังได้หรือไม่ หากทำได้ การเมืองไทยก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ประเทศไทยก็จะมีการเมืองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง