ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ส่องปรากฎการณ์อุตสาหกรรม K-Pop กลับมาบูม หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไอดอลเกาหลียกทัพเยือนเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาบัตรคอนเสิร์ตเกาหลีแพงขึ้นกว่า 30% จับตาดรามา “ผู้จัดคอนเสิร์ต” เอาเปรียบ “แฟนคลับ” และร้องเรียนไปยังรัฐเปิดช่องกฎหมายคุ้มครองบริโภค
บัตรคอนฯ เกาหลีราคาแพงขึ้นอย่างน่าจับตา The MATTER เผยแพร่บทความนำเสนอถึง “ราคาเฉลี่ย” ในแต่ละคอนเสิร์ตของศิลปินเกาหลีในประเทศไทย ปี 2023 ประมาณ 5,270 บาท, ปี 2022 อยู่ที่ 4,848 บาท, ปี 2021 โควิด - 19 ระบาดไม่มีอนเสิร์ต, ปี 2020 อยู่ที่ 4,262 บาท, ปี 2019 อยู่ที่ 4,470 บาท, ปี 2018 อยู่ที่ 4,336 บาท, ปี 2017 อยู่ที่ 4,034 บาท, ปี 2016 อยู่ที่ 3,884 บาท, ปี 2015 อยู่ที่ 3,823 บาท, ปี 2014 อยู่ที่ 3,736 บาท และปี 2013 อยู่ที่ 3,302 บาท
เมื่อก่อนราคาบัตรคอนเสิร์ตเกาหลี ราคาแพงสุดอยู่ที่ 6,000 บาท ราคาถูกสุดอยู่ที่ 1,500 บาท แต่ปัจจุบันราคาบัตรแพงขึ้นจนมีเสียงบ่นอุบ ทำนองว่าราคาบัตรคอนเสิร์ตนั้นสูงเกินไปหากเทียบกับรายได้ขั้นต่ำ และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับน้อยนิดเมื่อเทียบกับเงินที่จ่ายไป
อีกทั้ง ช่วงต้นปี 2566 กลุ่มแฟนคลับร้องเรียนเรื่องราคาบัตรคอนเสิร์ต STRAY KIDS 2 ND WORLD TOUR MANIAC ของ “บ.ไลฟ์ เนชั่น เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด” โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ส่งหนังสือมายังกรมการค้าภายใน เพราะมองว่าประเด็นขายแพงเกินสมควรอยู่ภายใต้การกำกับของกรมการค้าภายใน
ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นการร้องเรียนบริการ ประเภทรับจัดคอนเสิร์ตโดยมีการเรียกเก็บค่าเข้าชมในราคาสูงเกินจริง เบื้องต้นกรมฯ จะประสานไปยังผู้ถูกร้อง คือ บ. ไลฟ์ เนชั่น เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด ให้ชี้แจงรายละเอียดกรณีดังกล่าว
อย่างไรก็ตามหากตรวจพบว่ามีผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าและบริการมีการฉวยโอกาสกำหนดราคาสินค้าและบริการแพงเกินควร จะถือว่าเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้าน นายอุฬาร จิ๋วเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. ระบุว่าไทยไม่มีกฎหมายควบคุมราคาตั๋วคอนเสิร์ต ซึ่งการกำหนดราคาขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย ระหว่างผู้จัดจำหน่ายและบริโภคที่จะตกลงราคากัน
และต้องยอมรับว่าราคาบัตรคอนเสิร์ตพุ่งสูงลิบตามความต้องการของผู้บริโภค ล่าสุด BLACKPINK WORLD TOUR [BORN PINK] BANGKOK ENCORE ที่จะจัดแสดงขึ้นในที่ 27-28 พ.ค. 2566 ณ ราชมังคลากีฬาสถานาคา บัตร VIP พร้อมสิทธิประโยชน์ต่าง แพงสุดที่ 14,800 บาทเลยทีเดียว
แถมประเด็นนี้ยังคนในแวดวงการเข้ามาแสดงความคิดเห็น นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ทวิตข้อความว่า “เห็นราคาบัตรคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีแล้วตกใจ คิดภาพว่าเด็กๆ ที่เค้ามีใจรักแต่ยังไม่มีรายได้ และต้องมาเจอราคาตั๋วที่สูงขนาดนี้แล้วก็น่าเห็นใจนะครับ รัฐควรเข้ามาดูแลและกำกับราคาได้แล้ว”
พร้อมกับโชว์วิสัยทัศน์เล็กๆ นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาราคาบัตรแพง ความว่า “ให้ supply/demand เป็นเครื่องกำหนดราคา ปัจจุบัน supply มีน้อย demand จากพวกเรามีเยอะ เพิ่ม supply/ incentive ให้ เขามาจัดเยอะขึ้น ราคาก็น่าจะลงมาได้ครับ”
และต้องยอมรับอีกว่าในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อ้างอิงหลักเรื่องเสรีภาพในการทำสัญญา (Freedom of Contract) เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันในทางกฎหมาย ที่รับรองว่าปัจเจก (หรือเอกชน) สามารถใช้เสรีภาพของตนที่จะเข้าทำสัญญาใดๆ ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อสิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ เท่ากับว่าหากอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย เมื่อสัญญาเกิดขึ้นแล้วโดยความตกลงของเอกชนทั้งสองฝ่าย รัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซงเพื่อให้สิ่งที่คู่สัญญาได้ตกลงกันเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น
ซึ่งเป็นฐานคิดที่ถูกวิพากษ์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับคู่สัญญาที่มีอำนาจมากกว่าจนเกินไป แม้ว่าเสรีภาพในการทำสัญญาจะได้รับความคุ้มครอง แต่ก็มักเกิดการเอาเปรียบระหว่างคู่สัญญา ดังนั้น กฎหมายต้องเข้ามาอุดช่องโหว่ โดยส่งเสริมให้การทำข้อตกลงใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างกลไกเพื่อให้คู่สัญญาฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่า เช่น แรงงาน หรือผู้บริโภค เป็นต้น
อย่างไรก็ดี คนในวงการอีเวนท์คอนเสิร์ตเปิดเผยสาเหตุที่ทำให้คอนเสิร์ตของศิลปินเกาหลีราคาแพงขึ้นแตกต่างจากหลายปีก่อน ยกตัวอย่าง 10 ปีที่แล้ว คอนเสิร์ตมีสปอนเซอร์เข้าไปช่วยถึง 70% เมื่อมีคนช่วยจ่าย ผู้จัดจึงไม่จำเป็นต้องคิดราคาสูงมาก แต่ในช่วง 7 - 8 ปีที่ผ่านมา ผู้จัดคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีจะได้เงินจากสปอนเซอร์เฉลี่ยไม่เกิน 30% ของต้นทุนทั้งหมดที่ต้องจ่าย เพราะทางฝั่งสปอนเซอร์มองว่าเอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่าที่จะมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายตรงนี้ สปอนเซอร์ช่วยจ่ายน้อยลง บัตรคอนเสิร์ตจึงมีราคาแพงขึ้น
ผศ. ดร.ตรีทิพ บุญแย้ม อาจารย์จากสาขาธุรกิจดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์ถึงแฟนคลับศิลปินเกาหลีชาวไทย ระบุว่าประชากรแฟนคลับศิลปินเกาหลีไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาน แต่อายุพวกเขายังอยู่ในช่วง 15-50 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่กว้างมาก และจากความผูกพันธ์ระหว่างแฟนคลับและศิลปินแล้ว จึงทำให้แฟนคลับศิลปินเกาหลีมีกำลังซื้อที่มากกว่า เพราะการซื้อบัตรคอนเสิร์ตของพวกเขาคือการแสดงความรักต่อศิลปิน ในขณะที่แฟนคลับศิลปินไทยหรือตะวันตกมักเป็นกลุ่มที่ซื้อเพื่อผ่อนคลายหรือไปตามเพื่อนเท่านั้น
บัตรคอนเสิร์ตแพงเป็นปรากฎการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า “ผู้บริโภค” หรือ “แฟนคลับ” ไม่สามารถต่อรองกับ “ผู้ประกอบการ” หรือ “ผู้จัดฯ” ได้เลย ทำได้เพียงตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ซึ่งต้องยอมรับว่าแฟนคลับส่วนใหญ่เรียกว่าแทบทั้งหมดก็น่าจะได้ ยอมเสียเงินซื้อบัตรฯ แม้จะมีราคาแพงขึ้น แลกกับความสุขการพบเจอศิลปินที่พวกเขารัก
นอกจากปัญหาเรื่องราคาบัตรแพง ยังเกิดปัญหายิบย่อยมากมาย ยกตัวอย่างดรามาร้อนๆ ต่อเนื่อง ของ “SM True” หรือ “บ.เอสเอ็ม ทรู จำกัด” ซึ่งร่วมทุนระหว่าง SM Entertainment ประเทศ เกาหลีใต้ และ กลุ่ม True ประเทศไทย ดำเนินการจัดคอนเสิร์ต โปรโมต และจำหน่ายเพลงและผลิตภัณฑ์ของศิลปินค่าย SM ในประเทศไทย
เกิดกรณีตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากการกดบัตรคอนเสิร์ตวง NCT Dream เข้าร้องเรียนและยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เรียกร้องความเป็นธรรมกรณีปัญหาการกดบัตรคอนเสิร์ต NCT DREAM THE DREAM SHOW2 in BKK รอบสมาชิก SM True MEMBERSHIP ซึ่งจ่ายเงินจำนวน ไป 1,300 บาท แต่ไม่สามารถรับสิทธิกดบัตรคอนเสิร์ตได้ เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2566 โดยมี พ.ต.อ.ประทีป ตันเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นผู้รับหนังสือ
ต่อด้วยปัญหาคอนเสิร์ต Red Velvet 4th Concert : R to V in BANGKOK ที่จะจัด 2 รอบการแสดง ในวันที่ 13 - 14 พ.ค. 2566 ณ ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี แม้รอบสมาชิก SM True MEMBERSHIP ผ่านไปได้โดยไม่มีปัญหา แต่ผู้จัดฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์สเกลคอนเสิร์ตเล็กเกินไป บัตรไม่เพียงพอต่อความต้องการของแฟนคลับจำนวนมาก รวมถึง มีการตั้งคำถามถึงจำนวนคนที่อัดแน่นในโซนบัตรหลุมหรือบัตรยืน เป็นต้น
เชื่อเหลือเกินว่า เสียงสะท้อนของ “แฟนคลับ” ดังไปถึง “ผู้จัดฯ” อยู่แล้ว โดยเฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์ เพียงแต่บรรดาผู้จัดฯ จะรับฟังและปรับปรุงมากน้อยเพียงใด
สุดท้ายในส่วนการควบคุมราคาบัตรคอนเสิร์ต หากมองผ่านแว่นตาเศรษฐศาสตร์ คอนเสิร์ตไม่ใช่สินค้าที่รัฐจะเข้ามาควบคุมราคาได้ ไม่มีข้อกำหนดหรือมีกฎหมายกำหนด อีกทั้ง คอนเสิร์ตไม่ได้จัดอยู่ในหมวดสินค้าจำเป็น ดังนั้น เอกชนจะตั้งขายเท่าไรก็ได้ภายใต้กลไกตลาด ความต้องการยังสูง ราคาย่อมแพงเป็นไปตามกลไก