xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พลิกปูม “แอม ไซยาไนด์” วางยาพิษ “ฆาตกรรมต่อเนื่อง” รัฐหละหลวม คุมสารพิษอันตราย?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เคยเห็นเคยได้ยินแต่ในการ์ตูนดัง “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” กับ  “คดีฆาตกรรมไซยาไนด์” ปริศนาฆาตกรรมเหยื่อโดนวางยาพิษไซยาไนด์ทำให้เสียชีวิต พอมากลายมาเป็นเหตุการณ์จริงถึงกับผงะ เพราะยิ่งสืบยิ่งพบเหยื่อเสียชีวิตมากกว่าสิบรายในลักษณะของการก่อเหตุที่เข้าข่าย  “ฆาตกรรมต่อเนื่อง”  ซึ่งพยานหลักฐานมัดตัว “นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์”  หรือ  “แอม”  มือวางยาพิษไซยาไนด์ที่ถูกจับกุมและตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้

อีกทั้งทุกเหตุการณ์ตายล้วนมี  “แอม ไซยาไนด์” ปรากฏอยู่ด้วยทั้งสิ้น และผู้เสียชีวิตมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกัน มีรายชื่อใน  “วงแชร์มรณะ” ที่  “แอม ไซยาไนด์” เป็น “ท้าวแชร์”  

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามการขยายผลการสืบสวนเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องกับคดีสะเทือนสังคมไทย  “แอม ไซยาไนด์”  เพราะยังมีคำถามที่ยังเป็นปริศนามากมาย ตลอดรวมถึงการควบคุมสารเคมีอันตรายอย่างไซยาไนด์ว่ามีช่องว่างช่องโหว่ที่ไหนหรือไม่ อย่างไร

-1.-
สำหรับคดีมาตกรรมต่อเนื่อง  “แอม ไซยาไนด์”  ขยายผลหลังจากพบพิรุธกรณีการเสียชีวิตของ  น.ส.ศิริพร ขันวงษ์  หรือ  “ก้อย”  อายุ 32 ปี ขณะเดินทางไปปล่อยปลาที่ท่าน้ำ บ้านโป่ง จ.ราชบุรี แล้วเป็นลมวูบแล้วเสียชีวิต เมื่อช่วงกลางเดือน เม.ย. 2566 โดยกล้องวงจรเปิดพบตัว  “นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์”  หรือ  “แอม”  วัย 36 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนของก้อย อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย แต่กลับไม่ให้การช่วยเหลือและออกจากพื้นที่ไปพร้อมทรัพย์สินของผู้ตาย

แม้เบื้องต้นผลชันสูตรระบุหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน แต่ทางครอบครัวผู้เสียชีวิตคาใจสาเหตุการตายว่าจะถูกวางยาหรือไม่ จึงมีการชันสูตรโดยละเอียดอีกครั้ง รวมทั้ง ได้เดินหน้าร้องขอความเป็นธรรมต่อกองปราบปราม

ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความเคลือบแคลงใจให้กับญาติมิตรผู้เสียชีวิตอีกหลายราย เริ่มออกมาให้ข้อมูลว่าและเริ่มสงสัยสาเหตุการตายของญาติตนเองก่อนหน้านี้ เพราะทุกเหตุการณ์ตายล้วนมี “แอม” ปรากฏอยู่ด้วยทั้งสิ้น

จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่กรณีการเสียชีวิตอย่างผิดปกติของ  น.ส.ศิริพร  หรือ ก้อย ขณะเดินทางไปปล่อยปลาที่ท่าน้ำ บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ทำให้พบว่าหลังเกิดเหตุดังกล่าว  นางสรารัตน์  หรือ  แอม  ผู้ต้องหา ได้นำถุงดำ ซึ่งภายในมีกระปุกใส่ Potassium Cyanide (โพแทสเซียมไซยาไนด์ สารพิษ) พร้อมกับสิ่งของอื่นๆ กรอบป้ายทะเบียน บัตรเอทีเอ็ม และเอกสารการเสียชีวิตของ  “นายสุทธิศักดิ์ พูนขวัญ”  หรือ “แด้”  สามีคนปัจจุบันของ แอม ผู้ต้องหา ซึ่งเสียชีวิต เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2566 โดยพบว่าผู้ต้อหานำถุงดำไปฝากไว้กับผู้อื่น เพื่อให้เอาไปซุกซ่อน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตรวจยึดไซยาไนด์ และสิ่งของอื่นๆ ได้ในเวลาต่อมา

 นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม
รวมทั้งผลตรวจพิสูจน์สารคัดหลั่งจากศพของ น.ส.ศิริพร หรือ ก้อย ผู้ตาย โดยกลุ่มงานพิษวิทยา สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ พบสารไซยาไนด์ในเลือด ปริมาณที่เป็นสาเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ จึงเชื่อว่า แอม ผู้ต้องหา เป็นผู้นำสารพิษไซยาไนด์ ใส่ในอาหารให้ผู้ตายบริโภคในช่วงเวลาที่ผู้ต้องหาอยู่กับผู้ตาย

กล่าวคือ พบหลักฐานเป็นสารไซยาไนด์อยู่ภายในบ้านของ แอม สอดคล้องกับผลการผ่าพิสูจน์ของก้อย ผู้ตายที่พบสารชนิดนี้อยู่ในร่างกาย

กระทั่ง วันที่ 24 เม.ย. 2566 พนักงานสอบสวนจึงรวบรวมพยานหลักฐานของอำนาจศาลอาญาอนุมัติมีการจับกุม  “นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์”  หรือ “แอม”  ตามหมายจับที่ 1285/2566 ลงวันที่ 25 เม.ย. 2566 ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 26 เม.ย. 2566 พนักงานสอบสวน กก.5 บก.ป. ได้ควบคุมตัว แอม ผู้ต้องหาคดีวางยาฆ่าผู้อื่น ยื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน โดยพนักงานสอบสวนระบุพฤติการณ์สรุปว่าผู้ต้องหาออกอุบายนัดหมายผู้ตายไปฆ่าแล้วฆ่าเอาทรัพย์สิน

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน ขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากผู้ต้องหามีอดีตสามีเป็นข้าราชการตำรวจ เกรงว่าจะไปข่มขู่พยาน และยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ประกอบกับมีบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องและใกล้ชิดกับผู้ต้องหาเสียชีวิตในลักษณะเดียวกันกับพฤติการณ์ในคดีนี้อีกจำนวน 9 ราย แต่ละคดีมีอัตราโทษสูง หากผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว อาจจะหลบหนี ยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง และอาจไปยุ่งเหยิงทำลายพยานหลักฐานในคดีนี้และคดีอื่น ที่อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ขณะที่  พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รองผู้บังคับการปราบปราม ให้สัมภาษณ์หลังการสอบปากคำ แอม ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีวางยาไซยาไนด์ ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เบื้องต้นเจ้าตัวให้การปฏิเสธ และยืนยันว่าจะให้การในชั้นศาลเพียงเท่านั้น ซึ่งการสอบปากคำ ตำรวจได้สอบไปตามรูปคดีและพยานหลักฐานที่ได้มา แต่ตัวผู้ต้องหา ไม่ยอมตอบใดๆ

พ.ต.อ.เอนก ให้สัมภาษณ์อย่างน่าสนใจระบุว่า ผู้ต้องหาจะให้การอย่างไรก็ได้ ไม่พบหลักฐานที่ตัวก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะตำรวจมีหลักฐานชัดเจนที่เป็นประจักษ์พยานสำคัญ ส่วนแผนประทุษกรรมผู้ต้องหาใช้ความใกล้ชิด ความไว้เนื้อเชื่อใจกับผู้เสียชีวิตก่อนที่จะลงมือ และเชื่อว่าผู้ต้องหาทำเพียงคนเดียว และหวังต่อทรัพย์เพียงเท่านั้น

สำหรับคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง  “แอม ไซยาไนด์”  เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสังคมไทย ซึ่งเบื้องต้นพบมีผู้เสียชีวิตและพบผู้เสียหายเข้ายื่นร้องทุกข์ในลักษณะเดียวกันอย่างน้อย 10 ครอบครัว

 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพารอง ผบ.ตร. เปิดเผยหลังร่วมประชุมและติดตามตรวจสอบคดี หลังตำรวจกองปราบปรามควบคุมตัว  “นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์”  หรือ  “แอม”  โดยสั่งการเรียกตำรวจภูธรภาค 7 ตำรวจกองปราบและตำรวจท้องที่ ตรวจสอบหลักฐานทั้งหมด หาความเชื่อมโยงทางคดีและหาหลักฐานการกระทำผิด ซึ่งพบว่ามีผู้เสียหายเข้าร้องเรียนว่าถูกผู้ต้องหาก่อเหตุฆาตกรรม 5 พื้นที่ กาญจนบุรี นครปฐม เพชรบุรี อุดรธานี และราชบุรี เหตุเกิดตั้งแต่ช่วงเมื่อปี 2563 - 2566

อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่มีความกังวลว่าช่วงเวลาเกิดเหตุบางคดีผ่านมา 1 - 2 ปี แล้วอาจทำให้พยานหลักฐานหายไป จึงต้องเร่งรวบรวมหลักฐานให้ครอบคลุม เป็นคดีจะไม่ซับซ้อน เชื่อว่าผู้ต้องหาก่อเหตุเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ และเลือกกลุ่มผู้เสียหายที่เป็นบุคคลใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบบุคคลอื่นมีส่วนร่วมกระทำความผิด

สำหรับสารพิษไซยาไนด์ อยู่ระหว่างการตรวจสอบแหล่งที่มา เพื่อประกอบสำนวนอย่างรัดกุมในทุกคดี ซึ่งในส่วนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงสืบสวนขยายผลเพื่อความประจักษ์ชัดเจน เป็นประเด็นที่ยังคงต้องติดตามต่อไป

-2.-
จากการพิสูจน์ทราบชัดถึงสาเหตุการเสียชีวิตปริศนาของผู้เคราะห์ร้ายรายล่าสุด โดนวางยาพิษ  “ไซยาไนด์”  ซึ่งแฟนการ์ตูน  “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน”  คุ้นเคยกันดี เพราะเกิดคดีฆาตกรรมไซยาไนด์ ผูกปมปริศนาการตายด้วยพิษไซยาไนด์ให้นักสืบจิ๋วต้องไขคดีอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งลักษณะเฉพาะของคนที่ถูกพิษไซยาไนด์ จะมีกลิ่นกลิ่นอัลมอนด์ หรือกลิ่นถั่วไหม้ แต่ไม่ได้เป็นลักษณะที่พบในผู้ป่วยจากพิษไซยาไนด์ทุกราย

สำหรับ  “ไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 มีพิษฉับพลันรุนแรง” 


 รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์  อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong เกี่ยวกับพิษสารไซยาไนด์ ระบุว่า ไซยาไนด์ (Cyanide salts) มีหลายชนิด ที่พบบ่อย เช่น โซเดียมไซยาไนด์ (Sodium cyanide) โพแทสเซียมไซยาไนด์ (Potassium cyanide) หรือพบในรูปเกลือชนิดอื่น ๆ เช่น แคลเซียมไซยาไนด์ (Calcium cyanide) ไอโอดีนไซยาไนด์ (Iodine cyanide) เป็นต้น

“ไซยาไน ด์สามารถฆ่าคนได้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้จากหลายเส้นทาง ทั้งการสูดก๊าซไซยาไนด์เข้าไป การกินไซยาไนด์ทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำ หรือแม้แต่การสัมผัสกับสารไซยาไนด์ หากกินไซยาไนด์เข้าไปขณะท้องว่างจะใช้เวลาออกฤทธิ์เป็นหน่วยนาที แต่ถ้ามีอาหารอยู่เต็มกระเพาะแล้ว จะหน่วงเวลาเสียชีวิตเป็นหน่วยชั่วโมงแทน เพราะในกระเพาะเรามีกรดที่ใช้ในการย่อยอาหารอยู่ การกินเกลือไซยาไนด์เข้าไปขณะท้องว่าง ไซยาไนด์จะทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะ เป็นก๊าซไซยาไนด์อยู่ในกระเพาะอาหารและออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าสูดไฮโดรเจนไซยาไนด์เข้าไปจะเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่วินาที

“ความเข้มข้นของไซยาไนด์ก็มีผลกับความเร็วมาก ถ้าจับคนล็อกไว้ในห้องก๊าซขนาด 1x1x1 เมตร แล้วปล่อยไฮโดรเจนไซยาไนด์เข้าไปประมาณ 300 มิลลิกรัม เขาจะเสียชีวิตในทันที แต่ถ้าปล่อยไฮโดรเจนไซยาไนด์ 150 มิลลิกรัมเข้าไป เขาจะมีเวลาอีกประมาณ 30 นาทีก่อนเสียชีวิต แต่ถ้าปล่อยก๊าซเข้าไปเพียง 20 มิลลิกรัม เขาจะยังไม่เสียชีวิต เพียงแต่จะมีอาการผิดปกติเล็กน้อยหลังจากนั้น

“ความเป็นพิษของไซยาไนด์ มันถูกดูดซึมโดยทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และทางผิวหนัง ได้ ไซยาไนด์จะจับกับเฟอริกไอออน (Fe(III)) ของ heme ของไซโตโครมออกซิเดส สิ่งนี้ขัดขวางการใช้ออกซิเจนในเซลล์และทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนในเซลล์ อาการในระยะเริ่มต้น ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน หน้ามืด สับสน กระสับกระส่าย หายใจเร็ว และวิตกกังวล หมดสติ ชัก ความดันเลือดต่ำ หยุดหายใจ และช็อกในที่สุด และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ความสามารถในการออกฤทธิ์นั้นอธิบายไว้เป็นเวลาหลายวินาทีถึง 1 หรือ 2 นาทีหลังจากการกลืนกินไซยาไนด์ทางปาก บางกรณียังรายงานระยะเวลา 5–10 นาทีหรือนานกว่านั้นอีกด้วย ปริมาณไฮโดรเจนไซยาไนด์ที่ทำให้ถึงตายคือประมาณ 1 มก./กก. น้ำหนักตัว”

ทั้งนี้ ไซยาไนด์ เป็นสารเคมีที่มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก สามารถปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และอาหาร และไซยาไนด์สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

โดยพบในพืชบางชนิด อย่างอัลมอนด์ แอปเปิล และยังเกิดได้จากกระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ไซยาไนด์ ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่พบในพืชและกระบวนการเผาผลาญนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต

  ศ.นพ.วินัย วนานุกูล  หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา และหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่าไซยาไนด์เป็นสารหรือของเหลวที่มีอันตรายสูง ออกฤทธิ์ค่อนข้างเร็ว ทำให้หมดสติ ไม่รู้สึกตัว และช็อกภายในเวลานับเป็นนาที และเสียชีวิตโดยที่ไม่รู้ตัวว่าได้รับเข้าสู่ร่างกายด้วยซ้ำ

ดังนั้น ต้องมีการควบคุมสารไซยาไนด์อย่างเข้มข้น ตั้งแต่จำนวนการครอบครอง การนำไปใช้ ใครนำไปใช้ จำนวนเท่าไรอย่างไร เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์พิษวิทยาฯ ได้พยายามเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง เพียงแต่รับทราบปัญหาเท่านั้น

การตายของผู้คนนับสิบชีวิตต่างมีความเชื่อมโยงกับ “แอม ไซยาไนด์” แม้ในทางกฎหมายหล่อนยังเป็น “ผู้ต้องหา” แต่สังคมจับตาในฐานะ “ฆาตกร” ผู้ลงมือก่อเหตุฆาตกรรมต่อเนื่อง เพราะข้อเท็จจริงที่เผยออกมาจากญาติมิตรเหยื่อเผยพิรุธ ทั้งความเชื่อมโยงปมทรัพย์สิน พฤติการณ์ประหลาดของแอม ทั้งหมดชี้ชัดอย่างเสียมิได้

อ้างอิงงานวิจัย เรื่อง “ความแตกต่างทางเพศของฆาตกรต่อเนื่อง” ตีพิมพ์ปี 2562 โดย ผศ. ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระบุถึงทฤษฎีนักล่า และผู้เก็บเกี่ยวในการเปรียบเทียบฆาตกรต่อเนื่องหญิงและชาย และพบความแตกต่างกันมากในแง่ของแรงจูงใจในการฆ่า

ฆาตกรต่อเนื่องเพศชาย ส่วนใหญ่มองตัวเองเป็นนักล่า พฤติการณ์ก่อเหตุ มีการกระทำทางเพศเพื่อแสวงสุข และแสดงอำนาจโดยการใช้กำลังที่เหนือกว่าสังหารด้วยความรุนแรง เหยื่อที่มุ่งเป้ามักไม่ใช่คนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว โดยฆาตรกรชาย 85% มักฆ่าคนแปลกหน้า

ฆาตรกรหญิง อธิบายด้วยฐานะผู้เก็บเกี่ยว โดยเฉพาะทรัพย์สิน โดยมากจะพบว่า เหยื่อมักเป็นคนใกล้ตัว คนใกล้ชิด หรือกระทั่งคนรักที่รู้จักกันดี และมักจะฆ่าคนที่สู้ไม่ได้มากกว่าฆาตรกรชาย เช่น ผู้ป่วย หรือเด็ก แต่จะไม่ใช้ความรุนแรงในการฆ่า และเลือกใช้การวางยาพิษมากกว่า โดยแรงจูงใจจากผลประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะ มรดก เงินประกัน ทรัพย์สิน เป็นต้น ฆาตรกรหญิง 58% มักฆ่าญาติหรือมีความสัมพันธ์ในครอบครัว

สำหรับ  “แอม ไซยาไนด์” ไม่ถึงขั้นที่จะเรียก  “ฆาตกรต่อเนื่อง”  แต่เป็น  “ฆาตกรก่อเหตุทั่วไป”  โดย นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์  ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่าด้วยพฤติกรรมการก่อเหตุมีความชัดเจนแล้วว่ามีความประสงค์ต่อทรัพย์ และเป็นการก่อเหตุซ้ำ โดยผู้ก่อเหตุมีลักษณะพฤติกรรมการต่อต้านทางสังคม จึงไม่ใช่ฆาตกรต่อเนื่อง ลักษณะของฆาตกรต่อเนื่อง มักจะกระทำไม่ได้ประสงค์ต่อทรัพย์ แต่อาจมีปมในใจ จากปัญหาทางจิต เช่น เกลียดผู้หญิงลักษณะนี้ เป็นต้น

เป็นประเด็นใหญ่ในสังคมไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หากพิสูจน์พบกระทำความความผิดจริง กระบวนการทางกฎหมายจะพิจารณาดำเนินคดีสูงสุดอย่างไร กฎหมายจะให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียชีวิต และญาติมิตรผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักได้เพียงใด

อีกทั้ง การควบคุมสารพิษไซยาไนด์ในเมืองไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนอกจากรับทราบถึงปัญหาช่องโหว่ต่างๆ คำถามสำคัญจะมีการดำเนินกำกับควบคุมสารเคมีอันตรายอย่างรัดกุมอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น