xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

‘บิ๊กป้อม’ วางกลยุทธ์ สวมบท ‘ผู้จัดการ รบ.’ชี้ชะตา‘จันทร์โอชา-จันทร์ส่องหล้า’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - แพทองธาร ชินวัตร
สมการการเมือง

เรียกว่าไม่แผ่วสำหรับ ‘จดหมายเปิดใจ’ ของ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่มาถึงฉบับที่ 9 แล้ว แม้จะสวนทาง ‘บุคลิก’ ของพล.อ.ประวิตร ก็ตาม เพราะเป็นคนที่พูดสั้นๆ ไม่มีศัพท์ทางการมากนัก แต่จดหมายทั้ง 9 ฉบับ กลับมีความยาว แถมมีศัพท์วิชาการจำนวนมาก แม้จะสวนทางกับตัวตน ‘บิ๊กป้อม’ แต่ทุกฉบับก็ผ่านสายตา ‘บิ๊กป้อม’มาทั้งหมด

สำหรับฉบับที่ 9 ว่าด้วยเรื่องการ ‘จัดตั้งรัฐบาล’ เรียกว่าล้อไปกับผลโพลของ ‘สวนดุสิตโพล’ ที่ชื่อของ ‘บิ๊กป้อม’ มาลำดับ 1 ในเรื่องการช่วยแก้ไขความขัดแย้ง และช่วยประสานงานจัดตั้งรัฐบาลได้ราบรื่น หรือที่นิยามกันว่าเป็น ‘ผู้จัดการรัฐบาล’

แม้ว่าผลโพลสำนักอื่นๆที่สำรวจว่าจะเลือกใครเป็นนายกฯ ชื่อของ ‘บิ๊กป้อม’ จะหลุดหัวตาราง ชนิดที่รั้งท้ายก็ตาม แต่ทีมป่ารอยต่อก็ยังสู้ หวังดันให้ ‘บิ๊กป้อม’ เป็น ‘ผู้กำหนดเกม’ บนกระดานอำนาจครั้งใหม่นี้ ซึ่งหนีบทบาท ‘ผู้จัดการรัฐบาลอีกสมัย’ ไปไม่ได้

แต่คราวนี้ ‘บ้านป่ารอยต่อ’ ทอดไมตรี-ไม่ปิดประตู ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ท่าที่ของทั้ง ‘เพื่อไทย-พลังประชารัฐ’ กลับเต็มไปด้วย ‘ลีลาพลิ้ว’ เมื่อถูกถามถึงการ ‘ตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว’ ท่าทีของทั้ง 2 พรรค กลับมีลักษณะ ‘แทงกั๊ก-ไม่เคลียร์ชัด’ แบบพรรคก้าวไกลที่ชัดเจนตรงไปตรงมา ไม่เอา ‘ระบอบ 3ป.’ ซัดตระกูล ‘พรรคทหารจำแลง’

ในฝั่งพปชร. ก็เหมือนเดิน ‘เกมสองหน้า’ หลัง ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ รองหัวหน้า พปชร. ออกมาประกาศจุดยืน พปชร. ว่าไม่จับมือกับ ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ เพราะมีแนวนโยบาย ม.112 ต่างกัน เพราะ พปชร.จัดเจนไม่แก้ไข-ไม่แตะต้อง ส่วนฝั่งพรรคก้าวไกลนั้นตรงข้าม ที่ชัดเจนว่าต้องมีการแก้ไข สำหรับท่าทีพรรคเพื่อไทยกลับไม่ชัดเจนจะ ‘แก้ไข’ หรือไม่ แต่กลับทิ้งท้ายว่า ‘มีรายละเอียด’ ที่ต้องชี้แจง ซึ่งฝั่ง ‘ไพบูลย์’ มองว่าความไม่ชัดเจนตรงนี้คือปัญหา

ในอีกทางหนึ่งมีการมองว่า พปชร. ต้องการดึงคะแนน ‘ฝ่ายขวา-อนุรักษ์นิยม’ มาหรือไม่ หลังพยายามขยับตัวเองไปใน ‘ฝั่งเสรีนิยม’ มากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า ‘ความไม่ชัดเจนในจุดยืน’ ทำให้ชื่อ ‘บิ๊กป้อม’ ยิ่งหลุดหัวตารางยิ่งขึ้น

กลับมาที่เรื่องจดหมายฉบับที่ 9 ของ ‘บิ๊กป้อม’ พยายามจะสื่อสารว่า พรรคที่ได้ ส.ส. มากสุด มีความชอบธรรม จัดตั้งรัฐบาล เพื่อสกัดกลไกที่ซ่อนอยู่ใน รธน. พร้อมจี้ใจ ‘หัวหน้าพรรคอื่น’ ย้อนอดีตคำพูดของ ‘หัวหน้าพรรคอื่น’ แต่ละคน ตอนนี้ กับหลังเลือกตั้งอาจถูกเปลี่ยน ยกเหตุการณ์ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเปิดทางปชป. ร่วมรัฐบาลกับ ‘บิ๊กตู่’

รวมถึงกรณี ‘เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล’ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่เคยบอก ไม่รับอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ อยู่คนละขั้วกับ ‘ทหาร-พปชร.’ แต่ภายหลังกลับระบุว่า ที่จับมือ พปชร. ตั้งรัฐบาลเพราะไม่อยากอยู่กับระบบ คสช. ซึ่งจดหมายของ ‘บิ๊กป้อม’ ชี้ถึงพฤติกรรมเหล่านี้ว่า ไม่ใช่เรื่องผิด หรือแปลกประหลาดอะไร

เพราะนี่คือความปกติของการเมืองไทย แต่สำหรับ พปชร. การจัดตั้งหรือร่วมรัฐบาลกับใคร ทุกขั้นตอนต้องอาศัย ‘การเจรจา’ ใน ‘เงื่อนไขเฉพาะหน้า’ ที่เป็นปัจจุบันที่สุด และเป็นไปตามมติพรรค


หากจับคีย์เวิร์ดข้างต้นจะพบว่าเป็นการเขียนเพื่อ ‘เปิดช่อง’ ให้ตัวเอง ไม่ผูกมัดตัวเอง ให้สถานการณ์ในขณะนั้นเป็นตัวกำหนด อาจเท่ากับว่า พปชร. พร้อมไปกับทั้ง 2 ขั้ว ระหว่างฝั่ง ‘เพื่อไทย’ กับ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ มีบทบาทนำในการ ‘ปรับดุลอำนาจใหม่’ ผ่านการ ‘เจรจา’ ภายหลังการเลือกตั้ง สอดรับกับ ‘สวนดุสิตโพล’ ที่ชื่อ ‘บิ๊กป้อม’ ถูกชูขึ้นมาในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล-แก้ไขความขัดแย้งนั่นเอง

ล่าสุด ‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร’ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ กล่าวถึงจุดยืนทางการเมืองในลักษณะว่าไม่จับมือกับ ‘คนทำรัฐประหาร’ แต่กลับพูดกำกวมให้ต้องนำมา ‘ตีความ’ ว่ามี ‘เงื่อนไข’ ใดซ่อนหรือไม่

“เรื่องจับมืออยากให้ ทุกคนดูหน้าดิฉันไว้ว่า คงไม่ได้ชอบ การรัฐประหารที่เกิดขึ้นสองครั้ง ล่าสุดที่ทุกคนจำกันได้ ดิฉันก็คงไม่ได้ชอบ เพราะฉะนั้นการที่ดิฉันไม่ได้ตอบออกมาตรงๆหลายครั้งถึงการจับมือ เพราะดิฉันให้เกียรติประชาชน ให้เกียรติประเทศ เพราะการเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้น แต่ถามว่า คนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย คนที่ทำรัฐประหารมา ดิฉันอยากจับมือด้วยไหม อันนี้ควรเป็นคำตอบ ที่ประชาชนน่าจะทราบดีอยู่แล้ว และแน่นอนกระทบที่ได้รับผลกระทบที่ได้รับนั้นตนต้องแยกเรื่อง ดังนั้น การตอบออกไป อย่างใช้อารมณ์ อาจจะไม่ใช่แนว ที่จะสื่อให้มีเหตุผลออกไปได้ แต่ถามว่าดิฉันอยากจับไหม กับคนที่ทำรัฐประหารมาสองครั้ง เพราะฉะนั้นคำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้ว” แพทองธาร กล่าว

ซึ่งจุดนี้ไปรับกับที่ ‘บิ๊กป้อม’ พยายามนำตัวเอง ‘ตีออกห่าง’ จากเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 ตั้งแต่เริ่มเขียนจดหมายฉบับที่ 1 และการให้สัมภาษณ์สื่อว่า ตนไม่รู้เรื่อง-ไม่เกี่ยวข้องเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 แต่ ‘บิ๊กตู่’ เป็นคนเชิญตนมาร่วมงานในรัฐบาล หลังเหตุการณ์รัฐประหารเท่านั้น

มีการมองว่า เป็นกระบวนการ ‘ฟอกขาว’ หรือไม่ด้วย เพราะ ‘บิ๊กป้อม’ มีชื่อเป็น ปธ.ที่ปรึกษา คสช. มาตั้งแต่ต้น

ทั้งนี้ ‘บิ๊กป้อม’ ยังคงยืนยันคำตอบเดิมหลังถูกถามถึงกรณี ‘อุ๊งอิ๊ง’ พูดเชิงว่าไม่จับมือกับคนทำรัฐประหารว่า “ก็แล้วแต่ ก็ผมไม่ได้ทำหนิ ผมไม่เป็นไรหรอก ผมไม่ได้ทำ ผมมาช่วยท่านนายกฯเท่านั้นเอง”

ทั้งหมดนี้ต้องจับตาคืนวันที่ 14พ.ค.นี้ หลังการเลือกตั้ง ที่จะมีปรากฏการณ์ ‘แชร์อำนาจครั้งใหม่’ เขย่า ‘ระบอบ 3ป.’ อีกครั้ง ซึ่งหนีไม่พ้นมือ ‘บิ๊กบราเธอร์’ ที่ชื่อว่า ‘ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ เข้ามาจัดการอีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ที่แตกต่างจาก 4 ปีก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น