ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ท่ามกลางสถานการณ์ค่าไฟที่แพงขึ้นลิบลิ่ว ประชาชนต้องรับภาระจ่ายค่าไฟที่ขยับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ในโซเซียลมีเดียมีการแชร์รีวิวหลังติดตั้ง “ระบบโซลาร์เซลล์” สามารถประหยัดเงินได้หลายพันบาทต่อเดือน เรียกได้ว่าปลุกกระแสสนใจของสังคมไม่น้อย
ตั้งแต่เรื่องราวของหนุ่มรายหนึ่งที่ออกมาแชร์ประสบการณ์ หลังติดโซลาร์เซลล์กลางวันเปิดแอร์ 12000BTU 4 ตัว กลางคืน 3 ตัวจ่ายไฟบ้าน 3 หลัง เดือนนี้จ่ายค่าไฟเพียง 71 บาท จากก่อนหน้าจ่ายเดือนละ 4,000 - 5,000 บาท
โดยเจ้าตัวได้ระบุว่า ลงมือทำแผงโซลาร์เซลล์ด้วยตัวเอง เริ่มทำจากระบบเล็กๆ ก่อน ต่อมาได้ขยายไปเป็นระบบที่ใหญ่ขึ้นซึ่งทำมาแล้วประมาณ 2 ปี โดยเสียค่าอุปกรณ์การทำไป 300,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อนำมาหักลบกับต้นทุนที่ติดตั้งไป จะสามารถใช้เวลาคืนทุนได้ในระยะเวลาประมาณ 4 ปี
หรือกรณีอินฟลูเอนเซอร์รายหนึ่งที่ออกมารีวิวการใช้ระบบโซลาร์เซลล์ มานานเกือบ 3 ปี คำนวนแล้วประหยัดค่าไฟไป 110,000 บาท
ทั้งหมดนี้นำไปสู่คำถามว่า การติดตั้ง “โซลาร์เซลล์” คือการลงทุนพลังงานที่ยั่งยืนของคนไทยใช่หรือไม่?
-1-
สำหรับภาพรวมปี 2566 การติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป กระแสตอบรับดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากปัจจัยค่าไฟฟ้าแพง ประชาชนและภาคธุรกิจหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกันมากขึ้น
นายพลกฤต กล่ำเครือ นายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดราก้อนเอ็นเนอร์จี เทคโนโลยี แอนด์ ออแกไนท์เซอร์ จำกัด เปิดเผยว่าเทคโนโลยีโซลาร์รูฟท็อป ได้รับความนิยมทั่วโลก ทำให้กลไกตลาดทำหน้าที่ส่งผลให้แผงโซลาร์ และอุปกรณ์ต่างๆ ต่ำลงมากโดยในรอบ 10 ปีได้ต่ำลงถึง 60% และมีความคุ้มทุนเร็วขึ้น เช่น การติดตั้งขนาด 10 Kwh ติดตั้งกับบ้านรวมอดีตต้องจ่าย 8 แสนบาทคุ้มทุนใน 10 ปี ขณะนี้เหลือแค่ 3 แสนบาทคุ้มทุนใน 4 ปี
นอกจากนี้ ผลการศึกษาของศูนย์วิจัย Krungthai Compass คาดการณ์ว่าตั้งแต่ปี 2556 ราคาแผงโซลาร์ในไทยลดลง 66% ประกอบกับราคารับซื้อไฟของภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 บาท/หน่วย จากเดิม 1.68 บาท/หน่วย ทำให้ระยะเวลาคืนทุนโซลาร์รูฟท็อปเร็วขึ้นจาก 17 - 30.3 ปี ในปี 2556 ร่นเหลือ 6.1 - 13.9 ปีในปี 2564 และแนวโน้มอาจเหลือเพียง 5.3 - 12 ปีในอนาคตอันใกล้า เพราะจากราคาแผงโซลาร์ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับสถาบันการเงินต่างๆ เริ่มออกแคมเปญเสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจูงใจติดตั้งมากขึ้น รวมไปถึงเทคโนโลยีแบตเตอรีเริ่มมีราคาต่ำลง เอื้อให้บริโภคชาวไทยจับต้องถึงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในราคาที่เหมาะสม
“ไทยเรามีแสงอาทิตย์ที่เข้มข้นทำให้เหมาะต่อการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ ทั้งโซลาร์รูฟท็อป โซลาร์ฟาร์ม ซึ่งค่าไฟที่แพงขึ้นประชาชนประหยัดอย่างเดียวไม่ไหวทำให้ต้องหันมาผลิตไฟใช้เองพึ่งพาตนเองมากขึ้นเพื่อประหยัดรายจ่ายที่สูง” นายพลกฤต กล่ำเครือ นายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์ ระบุ
และประเด็นที่น่าสนใจ มาตรการ Net Metering หรือระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติ ระหว่างไฟฟ้าที่ผลิตจากระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาในครัวเรือนกับไฟฟ้าที่ใช้จากการไฟฟ้า (Grid) โดยผู้ใช้ไฟฟ้าจะเสียค่าไฟตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบกันแล้ว ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยได้ทำหนังสือถึง 3 การไฟฟ้าให้เร่งพิจารณาดำเนินการ ซึ่งหากทำได้เป็นรูปธรรมจะตอบโจทย์ไฟฟ้าภาคครัวเรือนให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
อีกทั้ง ร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2022) ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเพิ่มโดยเฉพาะโซลาร์ฯ โดย Net Metering ตอบโจทย์ให้กับภาคครัวเรือนมากสุดในการสร้างรายได้และการพึ่งพาตนเอง ซึ่งตลาดบ้านที่อยู่อาศัยโครงการใหม่ๆ จะติดตั้งให้มาเลยเป็นโปรโมชัน
ในประเด็นนี้ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ระบุไว้ว่าประชาชนต้องการนโยบายที่สนับสนุนประชาชนให้ติดตั้งโซล่ารูฟทอปเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้ได้เองหรือที่เรียกว่า Solar Prosumer โดยใช้ระบบหักลบกลบหน่วย (net metering) ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนอย่างเป็นจริง
“โซล่ารูฟท็อปจะเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวข้ามยุคพลังงานฟอสซิล และเป็นก้าวสำคัญที่จะเปลี่ยนการผูกขาดทางเศรษฐกิจของฟอสซิล เป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วยประชาธิปไตยทางพลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งพรรคการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตยทางการเมือง ต้องสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเป็นฐานรองรับประชาธิปไตยทางการเมืองด้วย ยิ่งประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเป็นฐานปิรามิดที่ขยายกว้างเท่าไหร่ ประชาธิปไตยทางการเมืองอันเป็นโครงสร้างส่วนบนก็ยิ่งมีความมั่นคงขึ้นเท่านั้น”
อีกทั้งพลังงานแสงอาทิตย์สามารถตอบโจทย์วิกฤตการณ์ทั้ง 3 ข้อ แก้โจทย์โลกร้อน แก้โจทย์การผูกขาด ลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กระทบสุขภาพประชาชน ยิ่งกว่านั้นการส่งเสริมการติดตั้งโซล่ารูฟทอป จะเพิ่มการจ้างงานได้อีกด้วย
ประการสำคัญรัฐต้องดูแลไม่ให้มีการออกแบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนใหญ่ที่ผูกขาดพลังงานแสงอาทิตย์แบบการผลิตพลังงานจากฟอสซิล
ด้าน นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า “ Net Metering “ ยังถูกขวางจากรัฐบาล เพราะกลัวการรับซื้อไฟฟ้าคืน ทำให้ตอนนี้ ประชาชนถูกมัดมือชกให้อยู่ภายใต้ระบบที่ต้องจ่ายค่าไฟหน่วยละ 5 บาท 6 บาท เพื่อไปจ่ายค่าก๊าซ และ น้ำมัน ซึ่งเป็น “พลังงานฟอสซิล” ทางเทคนิค เรียกว่า การหน่วงเวลา หรือ ถ่วงเวลาโดยเทคนิค
“หากเทียบให้เห็นภาพ จากตัวอย่าง หากบ้านไหน ไม่ได้ติดตั้งโซล่าเซลล์ เช่น เดือนเมษายน ใช้ไฟฟ้าจำนวน 548 หน่วย คำนวณจากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4 บาท ต้องจ่ายบิลประมาณ 2,192 บาท เมื่อบ้านดังกล่าวติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้านได้ 355 หน่วย (หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4 บาท คิดเป็นเงิน 1,420บาท) แต่หากบ้านไหน ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ระบบ Net Metering จะคำนวณ “หักลบกลบหน่วยอัตโนมัติ” โดยคำนวณจากจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่บ้านเราใช้ นำมาหักลบกับจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่บ้านเราผลิตได้ เช่น เมื่อติดตั้งแผงโซลาเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้านได้ 355 หน่วย หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4 บาท คิดเป็นเงิน 1,420 บาท ดังนั้น หากนำไฟฟ้าที่ใช้จำนวน 548 หน่วย ลบออกจากไฟฟ้าที่บ้านเราผลิตได้เอง 355 หน่วย ดังนั้น บ้านหลังนี้จึงจ่ายค่าไฟฟ้าเดือนดังกล่าวเพียง 193 หน่วย หรือ 772 บาท ( ทั้งนี้ จะต้องจ่ายกี่บาทขึ้นอยู่กับราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วย ณ ช่วงเวลาดังกล่าว )”
นายอิฐบูรณ์บอกว่า นี่จึงเป็นเหตุสำคัญที่การติดตั้งโซล่าเซลล์ทำให้ประชาชนสามารถลดค่าใช้จ่ายภาระค่าไฟฟ้าลงได้ และยังสามารถสร้างรายได้จากขายไฟฟ้าที่เหลืออีกด้วย ที่สำคัญยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่เคยอยู่ในฐานะ “ผู้ซื้อไฟฟ้า” เปลี่ยนสู่ “ผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายให้การไฟฟ้าในส่วนที่เหลือ” กลายเป็น “ระบบกระจายศูนย์พลังงาน Decentralisation” จากเดิมที่เป็น “ระบบรวมศูนย์พลังงาน Centralisation” ที่เราทุกคนยังคงต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าฟอสซิลขนาดใหญ่
-2-
รัฐบาลไทยสนับสนุนภาคครัวเรือนติดตั้งโซลาร์รูฟทอป เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยรัฐบาลเองมีแนวทางที่จะให้ทุกครัวเรือนสามารถติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์เพื่อใช้งานเองได้ในครัวเรือน และหากพลังงานเหลือใช้ในเวลากลางวันสามารถส่งกลับไฟฟ้าเข้าไปในระบบเพื่อจะนำหน่วยไฟฟ้าไปหักกลบกับหน่วยไฟฟ้าที่ครัวเรือนใช้หรือต้องซื้อจากการไฟฟ้าในเวลากลางคืน
โดยให้การไฟฟ้าทำการหักลบกลบหน่วยในเดือนถัดไป เป็นนโยบายเพื่อสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีการติดตั้งระบบไฟฟ้าขึ้นมาใช้เองในครัวเรือนซึ่งจะแบ่งเบาภาระค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน ทั้งในงานติดตั้งและงานให้บริการ รวมถึงเป็นการลดสภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกร้อน ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศที่มีราคาผันผวน อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงสั่งการให้ กฟภ. กฟน. และกระทรวงมหาดไทย รับไปพิจารณาดำเนินการ และให้กระทรวงพลังงานสนับสนุนต่อไป
เป็นการการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่สอดคล้องแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 สาขาพลังงาน รวมถึงแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022) ฉบับใหม่ ของกระทรวงพลังงาน ที่มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยอมรับว่าค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นในปัจจุบันทำให้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะจากภาคโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องหาวิธีการลดต้นทุนการผลิต ประกอบกับความจำเป็นที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการตอบโจทย์เป้าหมายขององค์กรและประเทศในการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)
“สถานประกอบการโรงงาน ธุรกิจต่างๆ ได้แจ้งขอติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปพีกสุด 500 คำขอต่อเดือน ส่วนโซลาร์ภาคประชาชนปี 2565 กลุ่มบ้านอยู่อาศัยที่มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน 2.20 บาทต่อหน่วย โดยรับซื้อ 10 เมกะวัตต์ผ่านการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายซึ่งพบว่ามีการยื่นเกินเป้าหมาย กกพ.กำลังพิจารณาที่จะนำเอาส่วนที่เหลือของปีอื่นๆ ที่ไม่ครบมาให้ยื่นเพิ่มในปี 2566 ซึ่งก่อนหน้านี้ กกพ.เองได้มีการปรับปรุงขั้นตอน ที่ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายโดยให้ตรวจสอบการเชื่อมต่อไฟและใช้งานอุปกรณ์ภายใน 30 วันจากที่แจ้งจากเดิม 90-135 วัน และเป้าหมายต่อไปเราจะลดขั้นตอนต่างๆ ลงอีก” นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ โฆษกคณะกรรมการ กกพ. กล่าว
ทั้งนี้ ปี 2566 กกพ. เตรียมกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff : UGT) เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานสะอาดให้กับบริษัทที่ดำเนินกิจการการค้ากับต่างประเทศและต้องการยกเว้นภาษี จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามมาตรการที่ไม่ใช่การกีดกันทางการค้า และยังช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายลดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero ในปี ค.ศ. 2065)
เบื้องต้น อัตรา UGT แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมในระบบไฟฟ้า (ไม่เจาะจงที่มา) ซึ่งเป็นการนำใบรับรอง REC ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ โดยมีอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามปกติที่ครอบคลุมต้นทุนค่า REC รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ กกพ.จะกำหนดต่อไป ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบนี้มีข้อจำกัดว่าเป็นไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบอยู่แล้ว จึงอาจไม่ช่วยเรื่องของไฟฟ้าสีเขียวได้มากนัก
และ 2. อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเดิมในระบบไฟฟ้าทั้งของรัฐและเอกชน (เจาะจงที่มา) ซึ่งเป็นการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ซึ่งมาจากแหล่งเดียวกัน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า (Portfolio) ในการรับบริการ และอัตราค่าบริการกำหนดจากต้นทุนการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ของแต่ละ Portfolio รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ กกพ.จะกำหนดต่อไป
ทั้งนี้ อัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ 5,203 เมกะวัตต์ ที่ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าฯ และเป็นที่สนใจของหลายบริษัทที่ต้องการซื้อไฟฟ้าสีเขียว โดยไฟฟ้าในส่วนนี้จะถูกแบ่งกลุ่มตามความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น โซลาร์ล้วน, โซลาร์ผสมแบตเตอรี่ หรือลม เป็นต้น โดยต้นทุนจะมาจากพลังงานนั้นๆ บวกกับใบรับรองฯ และค่าบริการของระบบรวมถึงคืนกำไรให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป จะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันของประเทศ เพราะเท่าที่ประเมินจากอัตราการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ ถือว่าเป็นอัตราที่ไม่แพง คาดว่า UGT จะแล้วเสร็จภายในครึ่งแรกของปี 2566
-3-
แม้ประเทศไทยมีแสงอาทิตย์ที่เข้มข้นเหมาะต่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกหลังคาเรือนเหมาะกับการลงทุนติดตามตั้งโซลาร์เซลล์ ตามข้อมูลระบุว่าโซลาร์เซลล์เหมาะกับบ้านที่ใช้ไฟฟ้ามากในช่วงกลางวัน มีการเปิดเครื่องปรับอากาศเป็นประจำ ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟมากหลายอย่าง เช่น บ้านที่มีผู้อยู่อาศัยตลอดทั้งวัน บ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียง โฮมออฟฟิศ ออฟฟิศ ร้านค้า
หรือบ้านที่มีค่าไฟ 2,000 – 3,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นอัตราการใช้ไฟที่พอจะคุ้มค่ากับกำลังการผลิตไฟฟ้าขั้นต่ำของโซลาร์เซลล์ เช่น เริ่มต้นที่ 1.8-3 กิโลวัตต์ (ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของแต่ละบริษัท) โดยโซลาร์เซลล์ 1.8 กิโลวัตต์ จะประหยัดค่าไฟสูงสุดได้ประมาณ 900-1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งบริษัทผู้ติดตั้งจะประเมินความคุ้มค่าของแต่ละบ้านเป็นกรณีไป รวมทั้งเป็นบ้านที่มีพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพียงพอและเหมาะสม เป็นต้น
ในส่วนของงบประมาณในการติดตั้ง ยกตัวอย่าง กำลังผลิต 2 - 3 กิโลวัตต์ สำหรับไฟ 1 เฟส จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 200 - 400 หน่วยต่อเดือน ลักษณะเป็นบ้านที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศประมาณ 2 เครื่อง มีราคาติดตั้งประมาณ 170,000 – 200,000 บาท ขึ้นอยู่กับสเปคอุปกรณ์และการบริการที่ต้องนำมาเปรียบเทียบกัน
หรือบ้านอยู่อาศัยแบบครอบครัว 4 - 6 คน เสียค่าไฟประมาณ 3,000 - 7,000 บาทต่อเดือน ติดตั้ง 5 กิโลวัตต์ ก็จะลดค่าไฟได้ประมาณ 2,000 – 3,000 บาทต่อเดือน ราคาติดตั้งประมาณ 200,000 – 300,000 บาท ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของแต่ละบริษัทเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติม เช่น ค่าธรรมเนียมการขออนุญาติ เป็นต้น
ในส่วนการคืนทุนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของกำลังการผลิต การใช้ไฟของแต่ละบ้าน สภาพอากาศ แต่โดยทั่วไปจะมีคืนทุนเฉลี่ยที่ 6 - 10 ปี และหลังจากคืนทุนแล้ว หมายความว่าผู้ที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์จะได้ใช้ไฟฟรีไปอีกยาวๆ อย่างน้อยๆ ก็อายุรับประกัน 25 ปี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อาทิ ค่าเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เสื่อมตามอายุการใช้ ค่าบริการตรวจระบบและล้างแผง เป็นต้น
สำหรับรูปแบบพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าแล้ว จะใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าได้หลากหลาย ระบบการทำงานของโซลาร์เซลล์ แผงโซลาร์เซลล์ที่หลังคาจะต่อไปยังตัวควบคุมส่วนกลางและแปลงเป็นไฟฟ้า เพื่อจ่ายไฟไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปิดใช้งานอยู่ในขณะนั้น และหากไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไม่พอ ก็จะสลับมาใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ เช่น ใช้พลังงานไฟฟ้า 5 กิโลวัตต์ โซลาร์เซลล์ผลิตมาได้ 3 กิโลวัตต์ ระบบก็จะดึงไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ มาอีก 2 กิโลวัตต์ เป็นต้น โดยการผลิตไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์ในแต่ละวันอาจไม่เท่ากัน เรียกว่าขึ้นอยู่กับสภาพแสงแดด
ถามว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เป็นทางเลือกการลงทุนด้านพลังงานที่คุ้มค่าของประชาชนหรือไม่? ต้องกลับมาทบทวนพฤติกรรมการมใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนตามที่กล่าวในข้างต้น เมื่อตัดสินใจถึงความคุ้มทุนแล้วก็เลือกระบบติดตั้งให้เหมาะสมกับบ้าน
เช่น ระบบโซล่าเซลล์แบบออนกริด (On grid) ระบบที่แผงโซล่าเซลล์นำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าใช้ภายในบ้าน โดยใช้งานควบคู่ไปกับไฟฟ้าของการไฟฟ้า ซึ่งกระบวนการทำงานของโซล่าเซลล์แบบออนกริดนั้น จะผลิตไฟฟ้าใช้ในตอนกลางวันที่ยังมีแสงอาทิตย์ ส่วนในตอนกลางคืนก็จะใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้า
เนื่องจากระบบนี้ไม่มีแบตเตอรีที่ใช้กักเก็บพลังงาน จึงเหมาะกับการใช้งานภายในบ้านเรือน ร้านค้า โรงเรียน หรือสถานที่ที่ใช้ไฟมากในตอนกลางวัน ซึ่งราคาของแบบออนกริดก็ไม่แพงมาก เริ่มตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสน สนนราคาที่ต่างกันขึ้นอยู่กับขนาดไฟฟ้า
หรือ ระบบโซล่าเซลล์แบบออฟกริด (Off grid) ซึ่งเหมาะสำหรับพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ซึ่งกระบวนการทำงานนั้นคล้ายๆ กับแบบออนกริด แต่แบบออฟกริดจะมีแบตเตอรีเพิ่มเข้ามาสำหรับใช้กักเก็บพลังงาน จึงสามารถใช้ไฟฟ้าที่โซล่าเซลล์แบบออนกริดผลิตได้แม้แสงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว แต่มีราคาเพราะใช้แบตเตอรี deep cycle ที่เก็บไฟได้นานกว่า เป็นต้น
สุดท้าย พอจะสรุปได้ว่าระบบโซลาร์เซลล์เป็นทางเลือกพลังงานของประชาชน โดยเป็นหน้าที่ของรัฐต้องสร้างกลไกสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อความยั่งยืน เพราะในเวลานี้ การติดตั้งระบบโซลาซลล์มีความยุ่งยากของกฎหมาย ที่กำหนดให้ต้องขออนุญาตจากหน่วยงาน ของภาครัฐ ถึง 3 หน่วยงาน ได้แก่
-คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) กระทรวงพลังงาน
-การไฟฟ้านครหลวง ( กฟน . ) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
-รวมถึงหน่วยงาน สำนักงานเขต/อำเภอ/ หน่วยงานท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.
เมื่อประชาชนต้องแจ้งถึง 3 หน่วยงานภาครัฐ เพื่อขอติดตั้งโซลาร์เซลล์ ทำให้ไม่มีใครอยากดำเนินการ ที่สำคัญ ยังมีกฎกระทรวงมหาดไทย ที่ทำให้วุ่นวายเข้าไปอีก เพราะกำหนดให้การติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านเรือน จะต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง ที่จัดทำและรับรองโดยวิศวกรโยธา จากนั้นให้แจ้งต่อเทศบาลท้องถิ่น ให้ทราบก่อนดำเนินการ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ออกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ลงนามโดย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 65 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยปัญหาที่ตามมา นั่นคือ ประชาชน ต้องจ่ายเงินเป็นค่าวิศวกร รับรองแบบ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการจดแจ้ง ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ( พ.ศ. 2566 ) เงื่อนไขที่สร้างภาระให้กับประชาชนยังคงอยู่ โดยไม่มีมาตรการใดๆ จากรัฐบาลมาอุดหนุน หรือเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนที่ต้องการ ติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า
แปลไทยเป็นไทยคือมีแต่คนมีฐานะเท่านั้นถึงจะพอทำได้ ไหนจะปัญหาอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากชาวบ้านต่ำกว่า ราคาที่การไฟฟ้าขายให้ชาวบ้าน “ ครึ่งต่อครึ่ง” ปัญหาแผงโซล่าเซลล์ มีอายุการใช้งานไฟฟ้า 20 ปี แต่กลับรับซื้อไฟฟ้าแค่ 10 ปี และม่มีแรงจูงใจในการให้ชาวบ้านเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน เพื่อติดตั้งโซล่าเซลล์