xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เอลนีโญกระทบ “ข้าว” ทั่วโลก ขาดแคลนหนักสุดในรอบ 20 ปี 10 เขื่อนใหญ่เสี่ยงน้ำน้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อากาศร้อนแล้ง ค่าไฟฟ้าแพงร้องจ๊ากไปตามๆ กัน ไม่เพียงเท่านั้น ปีนี้และปีหน้าภาวะเอลนีโญมาเยือนแน่นอน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตพืชผลการเกษตร โดยเฉพาะข้าว อาหารหลักของคนเกือบครึ่งโลก ที่จะมีกำลังการผลิตลดลงถึงขั้นขาดแคลนหนักสุดและราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ 

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า เนื่องจากภาวะสงครามและปัญหาสภาพอากาศกำลังส่งผลให้กำลังการผลิตข้าวทั่วโลกลดลง และกำลังเข้าสู่สภาวะขาดแคลนหนักสุดในรอบ 20 ปี และอาจผลักดันราคาข้าวให้พุ่งสูงขึ้น โดยประเทศนำเข้าจะได้รับผลกระทบหนักสุด โดยปัจจุบันมีผู้คนกว่า 3.5 พันล้านคนทั่วโลกที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่บริโภคถึง 90% ของข้าวทั่วโลก

 ข้อมูลจากศูนย์วิจัย Fitch Solutions ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจระดับมหภาค ชี้ว่า ตลาดข้าวทั่วโลกคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะขาดแคลนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบสองทศวรรษและส่งผลให้ราคาข้าวพุ่งสูงในรอบ 10 ปี โดยราคาข้าวคาดว่าจะสูงไปจนถึงปี 2567 จากปัจจุบันราคาข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 17.30 ดอลลาร์ต่อตัน แต่จะลดลงเหลือ 14.50 ดอลลาร์ต่อตัน ในปี 2567 

“เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าอาหารหลักในหลายตลาดในเอเชีย ราคาจึงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของราคาอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับครัวเรือนที่ยากจน” Charles Hart นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ของ Fitch Solutions กล่าว

สำหรับปริมาณการขาดแคลนข้าวทั่วโลกในปี 2565/2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 8.7 ล้านตัน โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อปริมาณข้าวในตลาดก็คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กำลังดำเนินอยู่ รวมถึงสภาพอากาศเลวร้ายในประเทศที่ผลิตข้าวอย่างจีนและปากีสถาน โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 พื้นที่การเกษตรในจีนซึ่งถือเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้รับผลกระทบจากมรสุมฤดูร้อนและน้ำท่วมอย่างหนัก ขณะเดียวกัน ผลผลิตของปากีสถานซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 7.6% ของการค้าข้าวทั่วโลกก็ลดลง 31% เนื่องจากน้ำท่วมรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว

Oscar Tjakra นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Rabobank ธนาคารอาหารและการเกษตรระดับโลก กล่าวว่า ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวที่สุด คือ ประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศในแอฟริกา


 ขณะเดียวกัน Kelly Goughary ผู้วิจัยระดับสูงของ Gro Intelligence มองว่าประเทศที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อในราคาอาหารในประเทศสูงอยู่แล้ว เช่น ปากีสถาน ตุรกี ซีเรีย และบางประเทศในทวีปแอฟริกาและอีกปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวสูงคือการกีดกันการส่งออกข้าวของอินเดียที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2022 ที่เรียกเก็บภาษีส่งออกสูงถึง 20% เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอกับการบริโภคของชาวอินเดีย และควบคุมราคาในประเทศไม่ให้สูงเกินไป การกีดกันนี้ Hart ชี้ว่า “เป็นปัจจัยหลักทำให้ราคาข้าวคงตัวอยู่ในระดับสูง” 

อย่างไรก็ตาม Fitch Solutions คาดว่า ปัญหาการขาดแคลนจะกลับไปสู่ภาวะปกติในปีหน้า ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาข้าวในอนาคตตกลงต่ำกว่าระดับในปี 2565 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่มากกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนโควิด (2558-2562) โดยราคาข้าวอาจลดลงเกือบ 10% ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม การผลิตข้าวยังคงขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ

“เรามองว่าการผลิตข้าวทั่วโลกจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2023/24 โดยคาดว่าผลผลิตทั้งหมดจะเพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยอินเดียจะเป็นเครื่องยนต์หลักของผลผลิตข้าวทั่วโลก ในอีก 5 ปีข้างหน้า”

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการผลิตข้าวนั้นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียคาดว่าอากาศร้อนจัดที่กำลังจะมาถึงในไตรมาส 2 และ 3 จะยังคงเป็นภัยคุกคามหลักของการเก็บเกี่ยว เช่นเดียวกับจีน และบางประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ก็ยังต้องรับมือกับความท้าทายนี้เหมือนกัน

“จีนกำลังเผชิญกับสภาวะอากาศแห้งแล้งในพื้นที่การเก็บเกี่ยวข้าวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี และเหล่าประเทศในยุโรปก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน” Goughary กล่าว

สำหรับการตื่นตัวเพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการผลิตพืชผลทางการเกษตรของประเทศไทยนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา  นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่านายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด และเตรียมวางแผนบริหารจัดการน้ำต้นทุนในช่วงฤดูฝนและสำรองไว้ในในช่วงฤดูแล้งหน้าเนื่องจากไทยมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะเอลนีโญเดือนก.ค.นี้

สำหรับสถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศในปัจจุบัน จากข้อมูลของ กอนช. ระบุว่า มีปริมาณน้ำ 50,022 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 61% ในจำนวนนี้เป็นปริมาณน้ำใช้การ 25,865 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 45% โดย กอนช. คาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ณ วันที่ 1 พ.ค. 2566 จะมีปริมาณน้ำ 41,660 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 59% ซึ่งมากกว่าเมื่อปี 2565 อยู่ประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงต้นฤดูฝนปีนี้ จะมีอ่างฯ ขนาดใหญ่เสี่ยงปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% จำนวน 11 แห่ง อาทิ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น ขณะที่สถานการณ์การปลูกพืชฤดูแล้งพบว่าปัจจุบันยังไม่มีการเพาะปลูกเกินแผน และขณะนี้มีบางพื้นที่ดำเนินการเก็บเกี่ยวแล้ว

 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล 
 รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ณ วันที่ 18 เม.ย. 2566 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 45,874 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างรวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 13,968 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ

และจนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 23,489 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 85 ของแผน (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 8,472 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 94 ของแผน (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 10.33 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของแผน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 6.35 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผน ซึ่งขณะนี้บางพื้นที่มีการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรงดการทำนาปรังต่อเนื่อง (นาปรังรอบ 2) เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า สถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถรองรับสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญช่วงปลายปี 2566 คือเดือนธ.ค. ถึง ก.พ. 2567 หลังจากนั้นวิกฤตยาวไปจนถึงปี 2571 รวมระยะเวลาแล้วเกือบ 5 ปี หากไม่มีแผนบริหารจัดการน้ำ ประเทศไทยต้องเจอวิกฤตขาดแคลนน้ำรุนแรงแน่นอน รัฐบาลต้องหาหาวิธีเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด อาจต้องรีบสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กหรือทำฝายให้มากขึ้น เกษตรกรต้องสร้างแหล่งเก็บน้ำของตัวเองและเปลี่ยนไปปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยแทน

สำหรับข้อมูลพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศไทย มีทั้งหมด 149.25 ล้านไร่ จากพื้นที่ประเทศ 320.696 ล้านไร่ แบ่งเป็นภาคเหนือ 32.51 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 63.86 ล้านไร่ ภาคกลาง 31.14 ล้านไร่ และภาคใต้ 21.74 ล้านไร่  



จากการคาดการณ์ของ รศ.ดร. วิษณุ อรรถวานิช  อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร ระบุในทำนองเดียวกันว่า คาดว่า ปี 2566 สถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงมากขึ้น และอากาศจะร้อนขึ้นกว่า 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากเดือนมิ.ย.นี้ เป็นต้นไป อุณหภูมิจะเริ่มร้อนขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปกติและถือเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันที่โลกร้อนกว่าอุณหภูมิเฉลี่ย ดังนั้น ภาคเกษตรต้องบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอกับฤดูแล้ง เลือกพืชที่เหมาะสมทนแล้งทนร้อนได้มากขึ้น ต้องเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหรือสายพันธุ์พืชต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและแปรปรวนของโลก

ศูนย์พยากรณ์สภาพอากาศแห่งองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้ออกรายงานเตือนภัยเอลนีโญ “El Nino watch” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ที่สภาพอากาศได้เข้าสู่สภาวะ “เป็นกลาง ENSO” ซึ่งหมายความว่าไม่มีทั้งลานีญาและเอลนีโญ และมีโอกาส 62% ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ค. 2566 หลังจากลานีญาเกิดขึ้นต่อเนื่องเกือบสองปี

 สัญญาณเอลนีโญมาเต็ม เตรียมพร้อมรับมือร้อน แล้ง ผลผลิตการเกษตรกรลดต่ำ ราคาแพงขึ้นแบบยาวไปถึงปีหน้า



กำลังโหลดความคิดเห็น