xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ค่าไฟฟ้าแพง พรรคการเมืองแข่งขายฝัน ดูทรงคงแค่ “ราคาคุย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ร้องระงมกันทั้งถ้วนหน้าจากบิลค่าไฟฟ้ารอบล่าสุดที่คาบเกี่ยวเดือนมี.ค.-เม.ย. แพงขึ้นหูดับ แต่ช้าก่อนนี่เป็นเพียง “เผาหลอก” เพราะค่าไฟแพงที่ “เผาจริง” จะเป็นรอบถัดไป ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อนุมัติให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนจาก 4.72 บาท เป็น 4.77 บาท และที่ชวนตื่นตะลึงอย่างยิ่งก็คือค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่า Ft ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ปี 65 อยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ขณะที่ค่า Ft ม.ค.-เม.ย. ปี 66 อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ผ่านมาแค่ปีเดียวค่า Ft ต่างกันถึงเกือบ 100 เท่า!!

เสียงร้องของประชาชนที่ดังไปถึงทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่าการปรับลดราคาค่าไฟฟ้าตามต้นทุนราคาพลังงาน ต้องดูสาเหตุของปัญหาว่าทำไมถึงแพง และต้องดูต้นทุนการผลิตและการบริหาร มันมีอะไรที่ซับซ้อนอยู่ในนั้นหลายอย่าง หากมองว่าค่าไฟมันแพง ค่าแก๊สมันแพงแล้ว ให้ลดลงเท่านู้นเท่านี้ ต้องดูด้วยว่ามันทำได้หรือไม่ ยืนยันอะไรที่ทำได้ ไม่ต้องห่วง ทำให้หมด การบริหารมันมีหลายคณะทำงาน แล้วมันเป็นเรื่องของการประกอบการทางธุรกิจ มีสัญญาข้อผูกมัดหลายอย่างที่ต้องเป็นไปตามนั้น

เป็นคำตอบคล้ายปัดสวะ ประชาชนต้องทนรับภาระกันต่อไป และค่าไฟฟ้าที่เห็นว่าแพงขึ้นในรอบบิลนี้ยังเป็นเพียงเผาหลอก เพราะรอบบิลต่อไปจะแพงกว่านี้ ตามที่นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เผยว่ารัฐบาลประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยปรับขึ้นค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนจาก 4.72 บาท เป็น 4.77 บาท แต่ลดให้ภาคอุตสาหกรรมจาก 5.33 ลงมาเท่ากับภาคครัวเรือนคือ 4.77 บาท ดังนั้น เดือนพ.ค. จึงเป็นวันเผาจริงของประชาชน

กระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องค่าไฟฟ้าแพงที่ดังไม่หยุด ทางรัฐบาลโดยนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมารับปากว่ารัฐบาลยืนยันว่าค่าไฟฟ้าจะทยอยปรับลดลงตามราคาเชื้อเพลิงที่ลดลงในอนาคต และแนวทางที่รัฐบาลได้ส่งเสริมการพัฒนาและสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนจะส่งผลให้การพึ่งพาเชื้อเพลิงแบบเดิมลดน้อยลง และส่งผลถึงการคำนวณค่าไฟฟ้าที่จะทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลงได้อย่างแน่นอน รัฐบาลพร้อมที่จะประเมินสถานการณ์และดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. แจงสาเหตุค่าไฟฟ้าแพงเกิดจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำที่เคยใช้ผลิตไฟฟ้าลดลงค่อนข้างมากจาก 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และต้องนำเข้า LNG มาทดแทนปริมาณก๊าซต้นทุนต่ำจากอ่าวไทยที่ขาดหายไปในราคานำเข้าที่แพงซึ่งเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และตรงกับช่วงที่มีความต้องการ LNG มากในฤดูหนาวของทางยุโรป และข้อจำกัดของระบบเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาก๊าซเป็นหลักไม่สามารถใช้น้ำมันทดแทนได้

“....ยืนยันว่าเชื้อเพลิงเป็นสาเหตุหลักของค่าไฟฟ้าแพง ส่วนต้นทุนอื่นที่วิจารณ์กัน โดยสัดส่วนไม่มีผลมากนัก อย่างเช่นถ่านหินราคาปรับเพิ่มไม่มากนัก ค่าความพร้อมจ่ายที่พูดกันไม่ได้เพิ่มมากนักยังอยู่ระดับเดิม” เลขาธิการ กกพ. แจกแจง

เลขาธิการ กกพ. อธิบายเพิ่มเติมถึงโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.77 บาทต่อหน่วยใน งวด พ.ค.-ส.ค. 2566 โดยลำดับจากต้นทุนแพงที่สุดไปต้นทุนถูกที่สุด ได้แก่ ค่าเชื้อเพลิงทุกประเภทเฉลี่ย 2.74 บาทต่อหน่วย, ค่าโรงไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบ 76 สตางค์ต่อหน่วย, ค่าต้นทุนระบบจำหน่าย 51 สตางค์ต่อหน่วย, ค่าภาระหนี้เชื้อเพลิงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 35 สตางค์ต่อหน่วย, ค่าต้นทุนระบบส่ง 24 สตางค์ต่อหน่วย และค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ เช่น Adder ค่าไฟฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย ประมาณ 16 สตางค์ต่อหน่วย

ส่วนประเด็นค่าไฟฟ้าภาคประชาชนที่แพงกว่าค่าไฟฟ้าอุตสาหกรรมนั้น เป็นผลจากปลายปี 2565 ที่ต้นทุนราคาก๊าซ LNG นำเข้าสูงมากและต้องนำเข้าทดแทนปริมาณก๊าซจากอ่าวไทย ทำให้ค่าไฟฟ้าที่แท้จริงในงวดเดือนม.ค.- เม.ย. 2566 หากเป็นอัตราเดียวจะเท่ากับ 5.24 บาทต่อหน่วย แต่รัฐบาลต้องการบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนจึงสั่งให้ กกพ. คำนวณค่าไฟจากการจัดสรรก๊าซในอ่าวไทยที่มีราคาถูกให้ประชาชนก่อน ทำให้ค่าไฟภาคครัวเรือนอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าในงวด พ.ค.- ส.ค. 2566 จะเหลืออัตราเดียวเฉลี่ยที่ 4.77 บาทต่อหน่วย

อีกสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นทั้งที่ใช้ไฟเท่าเดิมนั้น มีคำอธิบายนายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ในฐานะโฆษก MEA ว่า MEA ยืนยันว่า ยังใช้หลักเกณฑ์วิธีการคิดค่าไฟฟ้าจากหน่วยการใช้ไฟฟ้าในอัตราตามที่นโยบายของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนด

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ ‘หน่วยการใช้ไฟฟ้า’ เพิ่มมากขึ้นนั้น เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนจัด ในบางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำความเย็นต้องทำงานมากขึ้นและใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น โดยเห็นได้จากค่าพลังความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Maximum Demand) ในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ล่าสุดมีค่าเท่ากับ 8,904.66 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นในวันที่ 18 เม.ย. 66 ซึ่งค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด มักจะพบว่าอยู่ในช่วงฤดูร้อนทั้งสิ้น


สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน คือเครื่องปรับอากาศ ยกตัวอย่างในสภาวะอากาศปกติ เช่น อุณหภูมิภายนอกอยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส หากเราปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส ตัวเครื่องปรับอากาศจะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ 4 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด เช่น อุณหภูมิภายนอก 40 องศาเซลเซียส หากตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในห้องเท่าเดิมไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส ตัวเครื่องปรับอากาศจะต้องทำงานเพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ถึง 14 องศาเซลเซียสเครื่องปรับอากาศจึงทำงานหนักมากขึ้น และกินไฟมากกว่าเดิม อีกทั้งยังต้องรักษาอุณหภูมิในสภาวะที่มีความร้อนจัดจากภายนอกรบกวน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

จากการทดสอบพบว่า อุณหภูมิภายนอกที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส แอร์จะกินไฟเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% ถึงแม้จะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในระยะเวลาเท่ากัน หรือปรับตั้งค่าอุณหภูมิเท่าเดิมก็ตาม ประกอบกับในช่วงอากาศร้อนพฤติกรรมการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นๆ เช่น การเปิดปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง การประกอบอาหารด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงการใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้นทำให้ปั๊มน้ำทำงานมากขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

MEA มีข้อแนะนำ การประหยัดไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ดี โดยยึดหลัก “ปิด – ปรับ – ปลด – เปลี่ยน” โดยปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26-27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลมควบคู่ ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน เปลี่ยนไปใช้เครื่องปรับอากาศที่มีค่าประสิทธิภาพสูง และหมั่นล้างเครื่องปรับอากาศ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน เปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่เปิด-ปิดตู้เย็นบ่อยๆ ไม่ควรกักตุนอาหารไว้ในตู้เย็นเกินความจำเป็น ตรวจขอบยางประตูตู้เย็นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า(เบอร์ 5) ควรปิดสวิตช์และดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้งเมื่อไม่ได้ใช้งาน

ปมค่าไฟฟ้าแพง ยังเป็นประเด็นวิวาทะในโลกโซเซียล ไม่เพียงแต่นายกรัฐมนตรี ที่โบ้ยให้กลับไปดูสาเหตุของปัญหาว่าทำไมถึงแพงและดูต้นทุนการผลิตและการบริหารรวมทั้งสัญญากับเอกชนที่มีมาก่อนหน้านั้น ทาง “เสธ.หิ” - หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือ รทสช. ก็ออกมาขย่มต่อ

“เสธ.หิ” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “รู้มั้ยครับ ก่อนผมจะเข้ามาเนี่ย มีการอนุมัติในเรื่องของด้านพลังงาน 5,000 เมกะวัตต์? .... ผมเข้ามา ผมก็หนักใจว่าจะทำยังไงไอ้ 5,000 เมกะวัตต์เนี่ย ก็ได้หาวิธีการเจรจา ทำยังไงมันจะไม่เกิดปัญหา มีการปรึกษาฝ่ายกฎหมาย เค้าก็บอก มันทำอะไรไม่ได้เลย เพราะมันเป็นสัญญาที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นทำไว้ .... ผมยกเลิกไม่ได้นะครับ” ในโพสต์อธิบายต่อว่าภายหลังจากการที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ อนุมัติทิ้งทวนไว้ทำให้ กฟผ. ลงนามสัญญาซื้อก๊าซไฟฟ้าธรรมชาติจากบริษัทเอกชน สูงถึง 5,000 เมกะวัตต์ไปแล้ว

พร้อมกับเรียกร้องว่า พรรคเพื่อไทย ควรออกมาชี้แจงว่า ทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึงทำล็อคผูกพันค่าไฟแพงไว้? ทำไมถึงอนุมัติให้ กฟผ. ต้องซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชนถึง 5,000 เมกะวัตต์ เป็นเวลาถึง 10 ปี? ส่งผลทำให้การสำรองไฟฟ้าล้นเกินความจำเป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ต้องจ่ายเงินให้เอกชนทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่แพงมหาโหดนี้

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาชี้แจงเหตุผลที่ต้องสำรองไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ ว่าเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของประเทศที่คาดการณ์จะเติบโตปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ ตอนนั้นไฟฟ้าแทบไม่พอใช้ พอเกิดการรัฐประหาร หลังจากนั้น 8 ปี เศรษฐกิจโตเฉลี่ยเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่การบริหารประเทศที่เศรษฐกิจตกต่ำไม่โตตามเป้าหมาย พลเอก ประยุทธ์ ยังไม่ชะลอการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งยังให้ใบอนุญาตผลิตเพิ่มอีก 5,000 เมกะวัตต์

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ โพสต์ถึงกระแสการปล่อยข่าวว่าค่าไฟแพงเพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า ถ้าไม่นับความชัดของข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลทหารอยู่มาจะ 9 ปีแล้วยังแก้ปัญหาไม่ได้ ก็อยากเตือนความจำทุกคนว่าเหตุการณ์ต่อไปนี้เกิดขึ้นใน “สมัยประยุทธ์” ทั้งนั้น โดยลำดับประเด็นว่า รัฐบาลทหารออกคำสั่ง คสช. ปลดเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และแต่งตั้งกรรมการ กกพ. ใหม่ทั้งชุด จากนั้นไม่มีการเปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) อีกเลยตั้งแต่รัฐประหาร 2557 จนถึงปัจจุบัน แต่ระหว่างทางมีการอนุมัติให้ RATCH สร้างโรงไฟฟ้าใหม่มา “ทดแทน” ของเก่า แต่สร้างใหญ่กว่าเดิม หลังจากนั้นขายหุ้นครึ่งหนึ่งของโรงนี้ให้เอกชนในราคาพาร์ได้เงินไม่ถึงสองล้านบาท


นอกจากนั้น ช่วงวิกฤติโควิด-19 โรงไฟฟ้ามากถึง 7-8 โรงจาก 12 โรงไม่ต้องเดินเครื่องเลย ไปดูว่าของใครบ้างที่ไม่เดินเครื่องแต่ได้เงิน และรัฐบาลทหารไม่เคยคิดที่จะปรับโครงสร้างพลังงานหรือเจรจาแก้สัญญาใดๆ กับเอกชน ให้ยุติธรรมกับประชาชนมากขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และผลการเปิดประมูลพลังงานหมุนเวียนรอบล่าสุดที่เพิ่งประกาศผลก่อนสงกรานต์ มีเอกชนหน้าเดิมกวาดโควตาไปมากมายท่ามกลางความกังขาของทั้งวงการ

ประเด็นเดือดอย่างเรื่องค่าไฟฟ้า ค่าพลังงานแพง เป็นเรื่องที่ทุกพรรคการเมืองชูเป็นนโยบายหาเสียงเรียกคะแนนนิยม แต่ละพรรคต่างมีคำมั่นสัญญาว่าจะช่วยลดภาระประชาชนกันทั้งสิ้น

เริ่มจากพรรคพลังประชารัฐ โดยนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายพรรคพลังประชารัฐ เสนอลดค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือน เหลือ 2.50 บาทต่อหน่วย และภาคอุตสาหกรรม 2.70 บาทต่อหน่วย และปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ โดยระหว่างการปรับโครงสร้างพลังงานไฟฟ้า จะใช้วิธีพักชำระหนี้ กฟผ.ประมาณ 150,000 ล้านบาท เป็นเวลา 1 ปี จะทำให้ราคาไฟฟ้าลดลง 0.9827 บาท/หน่วย ถ้าลดค่าไฟฟ้าได้เช่นที่กล่าว จะทำให้คนไทยใช้ราคาถูกเป็นอันดับ 6 ของอาเซียนทันที

นอกจากนั้น ยังมีโครงการโซลาร์ประชารัฐ ส่งเสริมให้ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เอง ส่วนที่เหลือขายการไฟฟ้า โครงการ 1 อบต. 1 โรงไฟฟ้า โครงการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน

พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เบอร์ 2 เสนอแนวคิดว่านำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปแบบเสรี จะทำให้ราคาน้ำมันในประเทศถูกลง หากพรรครวมไทยสร้างชาติได้เป็นรัฐบาล ค่าไฟฟ้าจะมีการกำหนดราคาให้กับผู้มีรายได้น้อยหรือเกษตรกร ยูนิตละ 3.90 บาท

ส่วนพรรคก้าวไกล นางศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เปิดแผน 5 ขั้น เปลี่ยนนโยบายจัดสรรก๊าซฯ เห็นผลในบิลค่าไฟลดทันที 70 สตางค์ต่อหน่วยในปีแรก, เปลี่ยนแดดเป็นเงินปลดล็อกระบบขายไฟมิเตอร์หมุนกลับจากหลังคาบ้านเรือน (Net Metering) หนุนการติดโซลาร์เซลล์บนหลังบ้านเรือนประชาชนเพื่อลดค่าไฟ, เปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า ให้ประชาชนเลือกซื้อซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าได้เองค่าไฟจะถูกลงจากการแข่งขัน, เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสัมปทานกับกลุ่มทุนพลังงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจาก “ค่าความพร้อมจ่าย” ของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง และสุดท้าย เดินหน้าแผน PDP Net Zero ไม่เพิ่มโรงไฟฟ้าฟอสซิล ตั้งเป้าปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดภายใน 2580 เพื่อให้เป็นพลังงานสะอาดให้มากที่สุด

พรรคเพื่อไทย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุจะปรับลดราคาค่าไฟฟ้าตามต้นทุนราคาพลังงานที่แท้จริง เร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตสอดคล้องกับปริมาณไฟฟ้าสำรองที่สั่งซื้อจากเอกชน เร่งจรจาเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อที่จะนำก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ประโยชน์ ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ระดับครัวเรือนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก และมีนโยบายให้ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะทำให้ราคาค่าไฟลดลง

ทางด้านพรรคไทยสร้างไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หัวหน้าพรรค ระบุจะเดินหน้าปรับโครงสร้างราคาค่าไฟภายใน 1 ปีให้ลดค่าไฟลงมาเหลือ 3.50 บาททันที เมื่อได้เป็นรัฐบาล ซึ่งเป็นค่าพร้อมจ่ายประมาณ 0.70 บาทต่อหน่วย ปลดระวางโรงไฟฟ้าที่ใกล้จะหมดสัญญาให้เร็วขึ้น ชะลอการขึ้นโรงไฟฟ้าใหม่ที่กำลังจะเริ่มสัญญาเพื่อลดการจ่ายค่าความพร้อมจ่าย สนับสนุนการใช้ Solar ในภาคครัวเรือนเพื่อลดค่าใช้จ่าย และสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ ทีมเศรษฐกิจประชาธิปัตย์ ระบุพรรคมีนโยบายยกเลิกค่า Ft เพราะปัจจุบันการคิดคำนวณค่า Ft เป็นสมมุติฐานซึ่งเป็นช่องโหว่ของการกำหนดค่าไฟฟ้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับบางกลุ่ม และจะทำให้ค่าไฟฟ้าตรงกับต้นทุนจริง กำหนดระดับกำลังการผลิตสำรองที่เหมาะสมตามมาตรฐานที่ 15% จากปัจจุบันที่ล้นเกินสูงกว่า 50% และทบทวนเรื่องสัญญาสัมปทาน รวมถึงกำหนดสัดส่วนการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งราคาและรูปแบบสัญญา (PPA) และปรับราคาก๊าซป้อนโรงไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม

พรรคภูมิใจไทย โครงการฟรีหลังคาโซลาร์เซลล์ ลดค่าไฟฟ้าหลังคาเรือนละ 450 บาท สำหรับพรรคเสรีรวมไทยจะรื้อระบบสัญญาที่ไม่เป็นธรรมระหว่างโรงไฟฟ้าเอกชนกับ กฟผ. และปราบการทุจริตเชิงนโยบาย ส่วนชาติพัฒนากล้า จะปรับรื้อโครงสร้างพลังงาน ทั้งธุรกิจน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า และเลิกผูกขาดกิจการสายส่งไฟฟ้า

คำมั่นสัญญาของบรรดาพรรคการเมืองที่ว่าจะทำให้ค่าไฟฟ้า ค่าพลังงานถูกลงเพื่อช่วยเหลือประชาชน หลังศึกเลือกตั้ง 14 พ.ค. นี้จบลงและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่คงได้เห็นกันว่าจะเป็นจริงหรือแค่คุยโม้ เพราะที่ผ่านๆ มาก็เห็นกันว่าวนลูปอยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ซ้ำหนักข้อขึ้นอีกต่างหาก ไม่เชื่อก็ย้อนกลับไปดูว่า “รัฐบาลทหาร” เคยสัญญาไว้ว่าอย่างไร



กำลังโหลดความคิดเห็น