xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“นายกฯโพล” VS “นายกฯ จริง” พท.ถึง-ไม่ถึงแลนด์สไลด์ แต่นายกฯไม่ใช่“พิธา”แน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับถึงวันนี้ ศึกเลือกตั้ง 2566 เดินทางมา ทุกพรรคการเมืองโรมรันห้ำหั่นปล่อยของกันเต็มที่ เพื่อช่วงชิง “อำนาจ” ที่สุดแสนจะหอมหวาน

บรรยากาศการเมืองชั่งโมงจึงสุดแสนจะคึกคัก ยึดพื้นที่สื่อทีวี สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ แทบจะเบ็ดเสร็จ แต่ละวันมีบรรดาแกนนำ-ผู้สมัครหน้าสลอน ตั้งการลงพื้นที่หาเสียง เปิดเวทีปราศรัย ตลอดไปจนถึงเวทีดีเบต ที่มักมีขบวนการปั่น “ไวรัล” ชิงแต้มกันอย่างเต็มที่

สำรวจตรวจสอบสถานการณ์ของพรรคการเมืองต่างๆ จะเห็นว่ามีทั้งบรรดาหัวแถว “ลุ้นแชมป์” จนไปถึง “หนีตาย” เอาตัวรอด

เปิดหัวพรรคแรกจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกเหนือจาก “เต็งหาม” ในสนามเลือกตั้งอย่าง “ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย ที่คะแนนนิยมยังคงนำโด่งอยู่ในทุกการทำรวจของทุกสำนักโพล แม้ว่าเรตติ้งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แบรนด์ชินวัตรอย่าง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ที่มาเป็นอันดับ 1 จะแรงสู้พรรคไม่ได้ก็ตาม ส่วน “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน ที่เพิ่งเปิดตัว ก็เริ่มเข้าแถวติดอันดับทอปในหลายสำนัก

ต่างจากภาพความเป็นจริงที่นาทีนี้ “เสี่ยนิด” ดูโดดเด่นกว่า “ลูกนายใหญ่” จากการตระเวนกรีฑาทัพลงพื้นที่หาเสียงอย่างต่อเนื่อง แตะมือกับ “มาดามอิ๊ง” ที่อุ้มท้องแก่พักอยู่ในที่ตั้ง คอยโฟนอินไปแจมตามเวทีต่างๆ พร้อมประกาศว่า หากคลอดลูกช่วงปลายเดือนเมษายน 2566 เสร็จ จะไปร่วมกาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายอย่างแน่นอน

จากภาพความโดดเด่นของ “เศรษฐา” ในนาทีนี้ ก็ทำให้เชื่อกันไปว่า หาก พรรคเพื่อไทย ชนะได้ตามเป้า “แลนด์สไลด์” และได้เสนอชื่อนายกฯจริง ผู้ที่จะถูกส่งขึ้นเก้าอี้ผู้นำประเทศคนใหม่ น่าจะเป็น “อานิด” มากกว่า “หลานอิ๊ง”

ส่วน ชัยเกษม นิติสิริ ที่ติดสอยมาเป็นแคนดิเดตนายกฯด้วยนั้น ก็พ่ายสังขารมีอาการป่วยกะทันหันไปตั้งแต่โค้งแรกหลังเปิดตัว จนแทบไม่ถูกเอ่ยถึง และเชื่อยากว่า “นายใหญ่” จะวางให้เป็นนายกฯตัวจริง

ทว่าในความร้อนแรงของ พรรคเพื่อไทย นั้นก็ดูจะมีขวากหนามสำคัญ อย่าง “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไกล ภายใต้การนำของ “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ที่แม้งวดนี้จะไม่มีกระแสปังปรู๊ดปร๊าดเหมือนครั้ง พรรคอนาคตใหม่ เมื่อการเลือกตั้ง 2562 แต่ก็ยังยึดความเป็น “เต้ย” ในการสู้รบกับ “ฝ่ายอำนาจ” จนทำให้ พรรคเพื่อไทย หมองไปไม่น้อยในแนวรบด้านประชาธิปไตย

ด้วยจุดยืนของ พรรคก้าวไกล ที่ประกาศกร้าวไม่ขอร่วมงานกับ “มรดกเผด็จการ” อย่างเด็ดขาด ที่ไม่ได้หมายรวมแค่ “ค่ายลุงตู่” พรรครวมไทยสร้างชาติ หรือ “ค่ายลุงป้อม” พรรคพลังประชารัฐ เท่านั้น แต่ในหลายวาระ หลายเวที “ขุนพลสีส้ม” ก็ท้าตีท้าต่อยกับพรรคอื่นไปทั่ว โดย้เฉพาะ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ หรือ “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญของ “เรือแป๊ะลุงตู่”

ต่างจาก พรรคเพื่อไทย ที่แม้จะพยายามออกมาปฏิเสธว่าไม่มี “ดีลลับ” ใดๆ กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงา์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และจะไม่ยอมประเคนเก้าอี้นายกฯให้ใคร หากชนะเลือกตั้ง แต่เมื่อถูกจี้จุดถึงโอกาสความร่วมมือกับ “ค่ายลุงป้อม” ก็ดู “อึกอัก” โยนกลองไปว่า ต้องดูผลการเลือกตั้งก่อน

เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ค่ายสีส้ม” ไล่ดึงคะแนนจาก “ค่ายสีแดง” มาได้พอสมควร จากความไม่ชัดเจน ในการจับหรือไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐของ “บิ๊กป้อม” ซึ่งที่ตอบออกมาก็เพียงแค่ จะไม่ยกเก้าอี้นายกฯให้ใคร หากชนะเลือกตั้ง เท่านั้น

อันเป็นคำตอบที่มาช้า ทั้งที่คำว่า “จับ” หรือ “ไม่จับ” มันตอบง่ายเสียยิ่งกว่าอะไร จนถูกมองว่า “แทงกั๊ก” ไปเสียแล้ว

เพราะพฤติกรรมส่อไปในทางชวนให้เชื่อว่า พรรคเพื่อไทย ยังสามารถจับมือกับ พรรคพลังประชารัฐ ของ “บิ๊กป้อม” ได้ อีกทั้งยังปรากฎชื่อ “ภรรยาคนสนิทของบิ๊กป้อม” มาอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ระกับ “เซฟโซน” ของพรรคเพื่อไทยด้วย

ตรงนี้จึงทำให้ พรรคก้าวไกล โดดเด่นขึ้นมาในขั้วประชาธิปไตย ที่ชัดเจนแบบชัดถ้อยชัดคำว่า จะไม่จับมือกับพรรครวมไทยสร้างชาติของ “บิ๊กตู่” และพรรคพลังประชารัฐของ “บิ๊กป้อม” ตลอดจนการเล่นประเด็น “แหลมคม” อย่างไม่สนใจว่า ใครจะตราหน้าว่า “ชังชาติ” การประกาศแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเรื่องการเกณฑ์ทหาร ที่ถูกใจวัยรุ่น กลุ่มสามนิ้ว รวมไปถึงชนชั้นรากหญ้าที่ได้รับผลกระทบจากการเกณฑ์ทหาร ลูกหลานต้องพรากพ่อพรากแม่ อยากได้กลับมาเป็นแบบสมัครใจ

พรรคก้าวไกล เองก็รู้ดีว่า ถ้าจะตุนแต้มเพิ่มได้ก็จำเป็นต้อง “ฉวย” เอาจาก พรรคเพื่อไทย ซึ่งถือเป็นแบรนด์ที่อยู่ใน “ปีกซ้าย” เช่นเดียวกัน จนสังเกตได้ว่า หลังๆ ขุนพลก้าวไกล ไม่เพียงทำให้ตัวเอง “ยืนหนึ่ง” ในปีกประชาธิปไตย และประกาศไม่เอาเผด็จการเท่านั้น ยังเป็น “หอกข้างแคร่” ทิ่มแทงในทุกๆ ประเด็นของพรรคเพื่อไทยด้วย

ตามรูปการณ์ “ค่ายดูไบ” ที่ไม่ใช่ “เบบี๊การเมือง” ก็อ่านออก รู้ดีว่าถ้าปล่อยให้ พรรคก้าวไกล หั่นคะแนนไป เรื่องแลนด์สไลด์จะกลายเป็น “ฝันกลางวัน” ไปเรื่อยๆ ด้วยเอาเข้าจริง “ต้นทุน” ที่นั่ง ส.ส.ที่คาดหวังได้ของ พรรคเพื่อไทย นั้น สวิงอยู่ที่ระดับ 200-220 ที่นั่งเท่านั้น แต่กลับกยายามปีนไปให้ถึงเป้า 310 ที่นั่ง

เป็นเหตุให้ต้องมีโหมแคมเปญแลนด์สไลด์ ดันยุทธศาสตร์เลือกใมห้ขาด เพื่อจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว อันหมายถึงการที่ต้องกินฐานของ พรรคก้าวไกล ไปทั้งพรรคนั่นเอง

นอกจากมีหอกข้างแคร่อย่าง พรรคก้าวไกล ที่คอยตัดแต้มแล้ว “ค่ายดูไบ” ในฐานะตัวเต็ง ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายจ้องจะรุมขย้ำ นโยบายประชานิยมที่เป็นเหมือน “ทีเด็ด” ของพรรคเพื่อไทยมาทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ถูกกีดกันทางการค้าตั้งแต่โฆษณาว่า จะมาตั้งวางแผงขาย

นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ที่เปิดเฟลอร์ให้ “เสี่ยนิด” เป็นคนประกาศหวังจะเป็น “ทีเด็ด” นำไปสู่ชัยชนะ ก็กำลังเจอคุมกำเนิดจากพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่เว้นแม้แต่ฝ่ายค้านด้วยกันเอง ว่าเป็นการแจกเงินแบบสุรุ่ยสุร่าย เสี่ยงจะทำให้ประเทศเสียวินัยการเงินการคลัง

นอกจากนี้ ยังปวดกบาลกับแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรียกให้ไปแจง ที่ก็ตอบแบบ “กำปั้นทุบดิน” ไปว่า ใช้แค่งบประมาณแผ่นดิน โดยไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้บอกว่า จะเอาเงินมาจากตรงไหน
แถมยังมีข้อกฎหมายที่จะทำให้พรรคเพื่อไทย “ตายน้ำตื้น” เพราะเริ่มมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์แล้วว่าการออก “เหรียญดิจิทัล” อาจเข้าข่าย การออกเงินตรา ซึ่งผู้ที่มีอำนาจทำได้มีเพียงแห่งเดียวคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย สุ่มเสี่ยงจะผิด พ.ร.บ.เงินตรา และ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย

และในขณะที่ “หุ้นเพื่อไทย” ไม่ค่อยวิ่ง ฟากพรรคก้าวไกลก็เลยถือโอกาสไว่กวด จนตอนนี้คะแนนเรตติ้งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไล่บี้ “อุ๊งอิ๊ง” แบบหายใจรดต้นคอ ทำเอาคะแนนความนิยมของพรรคเพื่อไทยสั่นคลอนไปด้วย

ยุทธศาสตร์หาเสียงของพรรคก้าวไกลยังใช้โมเดลเดียวกับสมัยพรรคอนาคตใหม่คือ การอาศัย “เวทีดีเบต” เป็นเครื่องขยายเสียงให้แก่พรรค โดยเฉพาะการทำลายวัฒนธรรมทางการเมืองเดิมๆ ของนักการเมืองรุ่นเก่า จนกลายเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ที่เบื่อการเมืองน้ำเน่าที่เอาแต่ฮั้วกัน ขณะที่ “ตัวตึง” ที่ถูกส่งไปประชันในเวทีต่างๆ ชนะเลิศแทบจะทุกสังเวียน

หันมาดูที่ฟาก “ปีกขวา” สายอนุรักษ์นิยม หรือกลุ่มอำนาจปัจจุบัน ที่ต้องมองว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ของ “บิ๊กตู่” มีต้นทุนเป็น “กลุ่มขวาจัด” แต่ก็เหมือนจะชนเพดาน ขยับขยายฐานเสียงไม่ได้ พักหลังออกอาการ “ซึมเซา” หนักไปทาง “ซึมเศร้า” เสียด้วยซ้ำ เพราะคะแนนนิยมตามโพลต่างๆแทบจะหยุดนิ่ง ห่างไกลที่จะไล่ตาม “อุ๊งอิ๊ง-เพื่อไทย” ได้

ขณะที่นโยบาย ถึงวันนี้ยังไม่มีอะไรหวือหวาจนประชาชนต้องอ้าปากหวอ หนักไปทางเป็นของเดิม แต่รีเมดใหม่ อย่างเช่น บัตรประชารัฐพลัส ที่ยังแย่งกับ “ค่ายลุงป้อม” ว่า ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

และ “จุดอ่อน” ของพรรครวมไทยสร้างชาติวันนี้คือ เรื่องนโยบาย ที่ต่อให้นำเสนออลังการเพียงใด แต่ “ตายน้ำตื้น” ทุกทีเวลาถูกถามว่า แล้วทำไมตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาถึงไม่ได้ทำ ต้นทุนเรื่องนี้จึงค่อนข้างเสียเปรียบคนอื่น
ขนาด “บิ๊กตู่” ยังรู้เลยว่า เรตติ้งพรรคมันนิ่งไหลไปทางลด พักหลังเลยต้องขยันทำพื้นที่หนัก อย่างเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นบุญหูบูญตาที่ได้เห็นภาพผู้นำประเทศที่ 8 ปี ตัวไม่เคยเปียกน้ำ ลงจาก “หอคอยงาช้าง” ออกมาคว้าปีนฉีดน้ำเดินไปไล่ฉีดกับนักท่องเที่ยวที่ถนนข้าวสาร เพื่อสื่อสารให้เห็นอีกมุมน่ารักๆ เข้าถึงได้ ไม่ใช่ “เผด็จการ” ที่เอื้อมไม่ถึง

นอกจากนี้ ยังเห็นการเดิน “สายมู” ถี่ยิบ ไม่ว่าจะเป็นช่วงสงกรานต์ที่แวะไปทำบุญที่ 2 วัดดัง ซึ่งในวงการรู้ดีว่ามี “พุทธคุณ” อย่างไร หรือเมื่อวันก่อนก็ดอดไปวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร กทม. เพื่อร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์นพเคราะห์ เนื่องด้วยดาวพระพฤหัสบดีย้ายราศี ของ “สมเด็จธงชัย” สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี

หรือย้อนไปไม่นาน ก็เพิ่งไปทำพิธีตอนกลางวันแสกๆ กับ “สมเด็จธงชัย” ที่วัดศาลาปูน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเจ้าตัวเคยสร้างพระนาคปรก พระประจำวันเกิดถวายที่วัดแห่งนี้มาแล้ว

ยังไม่รวมถึงกระแสข่าวที่ว่า ส่ง “ทีมงานคนสนิท” ออกเดินสายตระเวน “สายมู” ไปมั่วสารทิศอีก

เข้าทำนอง “ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็ต้องเอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ ก็ต้องพึ่งคาถา”

ต่างจากพรรคพี่สุดที่เลิฟอย่าง พรรคพลังประชารัฐ ที่มาเรื่อยๆ มาเรียงๆ แรงกดดันน้อยกว่าพรรคน้องอย่าง พรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะไม่ได้มีช้อยส์แค่ว่า ต้องเป็น “ผู้นำ” เท่านั้น แต่สามารถเป็น “ผู้ตาม” ในบริบท “ตัวแปร” ที่ทุกพรรคขาดไม่ได้

ขณะที่เวทีดีเดตที่เคยเป็นจุดอ่อน ก็พอจะเริ่มเรียกแต้มให้กระเตื้องขึ้นมาเหมือนกัน โดยเฉพาะบทเฮี้ยวๆ ของตัวตึงประจำพรรค “เสี่ยโอ๋” ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ที่ถูกส่งไปเป็น “หน่วยกล้าตาย” แทบทุกเวที

แม้ขั้วประชาธิปไตยจะหมายหัว ไม่ชอบขี้หน้า เพราะพูดตรงไปตรงมา ออกแนวขวาจัด แต่กลับมีเสียงชื่นชมว่า เป็นคนมีไหวพริบดี มีหลักในการถกเถียง เป็นมวยลูกทุ่งที่มีทรง ไม่เหมือน “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่หนักไปทางมาดนักเลง

ด้วยความตึงของ “เสี่ยโอ๋” ดูจะถูกใจ “แม่ยกฝ่ายขวา” ทำให้เกิดความลังเลแล้วว่า จากที่จะเทคะแนนให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจต้องคิดใหม่ เพราะ “ชัยวุฒิ” ก็สู้กับฝ่ายหัวก้าวหน้าได้ดีไม่แพ้จาก พรรครวมไทยสร้างชาติ เผลอๆ ดีกว่าด้วย

พร้อมๆกับขบวนการปลุกปั้น “ลุงป้อม” ให้เป็น “มิสเตอร์ก้าวข้ามความขัดแย้ง” มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆกับการชี้ให้เห็นปัญหาของการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ที่ “ทีมงาน” เพิ่งโพสต์เฟซบุ๊กให้เมื่อไม่กี่วันก่อน

เป็นจดหมายเปิดผนึกฉบับล่าสุดที่ผู้เขียนในนาม “บิ๊กป้อม” ที่ระบุถึงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลทำนองว่า จะไม่รีบผูกมัดตัวเอง แต่ต้องดูเงื่อนไขเฉพาะหน้า

หลังหลายครั้งที่ผ่านมามีหลายคนต้องกลืนน้ำลายตัวเองทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับตอนหาเสียงไว้

เหมือนประกาศเป็นนัยๆว่า ถ้าไม่มี “ลุงป้อม” การจัดตั้งรัฐบาลคงเป็นไปได้ยาก

สอดรับกับ “สวนดุสิตโพล” ที่ทำการสำรวจความโดดเด่นของบรรดาแคนดิเดตนายกฯ ตามหัวข้อต่าง ซึ่ง “ลุงป้อม” ก็ “ยืนหนึ่ง” ใน 2 เรื่อง ทั้งการเป็นผู้นำด้านการแก้ไขความขัดแย้ง ที่ร้อยละ 19.42 และการช่วยประสานงานจัดตั้งรัฐบาลได้ราบรื่น ที่ร้อยละ 19.24

ยิ่งยามนี้ พรรคเพื่อไทย ที่ต่างก็เชื่อว่าไม่ได้ตามเป้า 310 เสียงอย่างแน่นอน แล้วยังมาเจอ พรรคก้าวไกล ไล่ตัดคะแนน คนตรงข้ามอย่าง “ลุงป้อม” แทบยิ้มแก้มตุ่ย เพราะยิ่งทำให้สถานะของ พรรคพลังประชารัฐ กลายเป็น “หนองน้ำ” ที่ใครอยากเป็นรัฐบาลต้องพึ่งพิง

ไม่ต้องดูอะไรไกล หลังๆ เสียงพรรคเพื่อไทยเริ่มแผ่ว จากก่อนหน้านี้ให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ออกมาประกาศว่า จะไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อแก้เกม อุดคะแนนไม่ให้ไหลไปพรรคก้าวไกล แต่ตอนหลังเริ่มชักแม่น้ำทั้งห้า พูดกันโทนเดียวว่า ไม่สนับสนุนรัฐประหาร ไม่ชอบรัฐประหาร แต่กลับไม่กล้าตอบชัดๆ ว่า ตกลงเอาอย่างไร จะจับมือกับ “บิ๊กป้อม” ได้หรือไม่

สะท้อนเลยว่า พรรคเพื่อไทยเริ่มไม่มั่นใจว่าตัวเองจะแลนด์สไลด์ เลยไม่พยายามพูดมัดตัวเองว่า จะไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ กลัวจบหลังเลือกตั้งแล้วจะกลายเป็น “พวกตระบัดสัตย์”

ขณะที่อีก 2 พรรคตัวแปรสำคัญอย่าง พรรคภูมิใจไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ ดูจะนิ่งผิดปกติ ไม่หวือหวา ไม่เหมือนค่ายหลัก แต่ไม่มีปัญหาสำหรับ 2 พรรคนี้อยู่แล้ว เพราะเป้าหมายคือ การกวาด ส.ส.แบบแบ่งเขตเป็นหลัก มีบ้านใหญ่อยู่กับตัวแบบนับหัวรอได้ ฉะนั้น ไม่ต้องไปรบราฆ่าฟันเพื่อหากระแสให้กับพรรค

พูดมากไปอาจเป็นดาบสองคม ยิ่งค่ายเซราะกราว ยี่ห้อ “เสี่ยโอ้ง” เนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่ภูมิใจไทย ชอบให้อยู่กันแบบเงียบๆ เพราะยิ่งพูดอาจจะยิ่งเจ็บตัว ได้ไม่คุ้มเสีย พอๆ กับพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้นทุนพรรควันนี้ยังติดลบ มุ่งไปที่การลงพื้นที่ภาคใต้ รักษาฐานที่มั่นสำคัญ ไม่ให้พรรคต่ำเตี้ยไปกว่านี้ เพราะตัวดึงดูดวันนี้ยังสู้เขาไม่ได้

ประเมินตามหน้าเสื่อแล้ว ก็จะเห็นว่า แคนดิเดตนายกฯที่สทัครเข้าไปหลายสิบชีวิตนั้น จะมีพวกที่มีโอกาสได้เภลิงเก้าอี้ผู้นำประเทศ เพียงไม่กี่ราย ไล่เรียงไปก็มีของพรรคเพื่อไทย 3 ราย โดยที่ “เศรษฐา” ดูมีภาษีเหนือกว่า “แพทองธาร” โดยที่ตัด “ชัยเกษม” ออกไม่ได้เช่นกัน หากมี “ความจำเป็น” ที่ต้องใช้แบล็กกราวน์ “อดีตอัยการสูงสุด” ค้ำยันอำนาจ

ซีกขั้วอำนาจเดิม ก็จับจ้องกันไปที่ 2 ศรีพี่น้อง “ลุงตู่-ลุงป้อม” เป็นแคนดิเดตสำคัญ โดยมี “เสี่ยหนู” ที่เชื่อกันถึงศักยภาพของพรรคภูมิใจไทย ที่ “สัญญาใจ” กันภายในพรรคร่วมรัฐบาลว่า หากรอบหน้าใครได้ ส.ส.มากกว่าก็ได้เป็นนายกฯ

ทว่าในการช่วงชิงกันอยู่นั้น ก็คงตัดชื่อ “พิธา” แคนดิเดตนายกฯหนึ่งเดียวของพรรคก้าวไกลไปไม่ได้ แม้ในความเป็นจริง หากต้องการดัน “พิธา” ขึ้นเป็นนายกฯได้ ก็มีทางเดียวที่คือ “ค่ายสีส้ม” ต้องชนระเลือกตั้งแบบถล่มทลาย มากกว่าแลนด์สไลด์ 310 เสียงของพรรคเพื่อไทยเสียอีก

ในความเป็นไปไม่ได้ ก็พบว่า คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกล และ “หัวหน้าทิม” ก็ทะยานขึ้นต่อเนื่อง จนหลายๆโพล “เสี่ยทิม” ไล่หลัง “อุ๊งอิ๊ง” ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 แทนที่ “ลุงตู่” ที่สาละวันเตี้ยลงๆ

อย่างผลสำรวจของ “นิด้าโพล” เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้อันดับที่ 1 จะตกเป็นของ “อุ๊งอิ๊ง” ที่ร้อยละ 35.70 แต่อันดับ 2 อย่าง “พิธา” ได้ไปถึงร้อยละ 20.25 กราฟของ “พิธา” นั้น มีแต่พุ่งขึ้นแบบมีนัยสำคัญ

ที่สำคัญ ความนิยมในตัวของ “พิธา” ที่นอกจากเหนือกว่า “บิ๊กตู่” ที่ได้ร้อยละ 13.60 แต่ยังเหนือกว่า “เสี่ยนิด” ที่กำลังไต่อันดับอีกด้วย

น่าสนใจไม่น้อยกับผลโพล “มติชนxเดลินิวส์ เลือกตั้ง ’66” ของ 2 สื่อยักษ์ใหญ่ ที่เผิดเผยผลสำรวจรอบแรก ซึ่งมี 2 คำถาม พบว่า ในกลุ่มผู้ร่วมโหวตโพลผ่านช่องทางออนไลน์สื่อเครือมติชน มีจำนวนรวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 84,076 ราย และเป็นการโหวตแบบไม่ซ้ำไอพีแอดเดรส (IP Address) เลือก “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 29.42

โดยมี “แพทองธาร” อยู่อันดับ 2 ร้อยละ 23.23, อันดับ 3 “เศรษฐา” ร้อยละ 16.69, อันดับ 4 “พล.อ.ประยุทธ์” ร้อยละ 13.72 และอันดับ 5 ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร ร้อยละ 2.97 ฯลฯ

การที่ “พี่ทิม” มีเรตติ้ง “น้องอิ๊ง” ที่พิชิตโพลมาแล้วทุกสำนัก ก็คงทำให้ “ติ่งค่ายสีส้ม” มโนไปไกลถึงโอกาสการขึ้นเป็นนายกฯของ “เสี่ยทิม” หากแต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดโพล ก็พบว่าตำนวนโหวตเตอร์กว่า 9 หมื่นคนนั้นเป็นเพียงการสำรวจแบบออนไลน์ ไม่ได้ลงไปเดินเคาะประตูบ้าน หรือสุ่มโทรศัพท์สอบถามเหมือนโพลอื่นๆ

แต่เป็น “คอการเมือง” ที่สนใจความเคลื่อนไหวทางการเมือง และการเลือกตั้งอยู่แล้ว ก็ทำให้เชื่อได้ว่า ผลโพลที่ออกมาคงคงไม่สามารถอ้างอิง “ความเป็นจริง” ได้เท่าที่ควร

เพราะหากมองในแง่ “ความเป็นจริง” ยังมี “ปัจจัย” อีกหลายๆอย่าง ที่ทำให้เชื่อว่า ยังไม่ถึงวันที่ “ค่ายก้าวไกล” จะบินสูงถถึงขั้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือมีนายกฯชื่อ “พิธา” ก็คงเป็นดั่งที่ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เคยตั้งเป้าหมายในการเข้ามาทำงานทางการเมืองว่า ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 การเลือกตั้งถึงจะไปถึงจุดนั้น

ดังนั้นการเลือกตั้ง 2566 ที่เป็นครั้งที่ 2 ของ “ค่ายสีส้ม” และยังเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีกระแส “ฟ้ารักพ่อ” หรือ “บัตรใบเดียว” มาเอื้อ พรรคก้าวไกล ก็คงยากที่จะสอดแทรกชู “ถ้วยแชมป์” หรือแค่ได้ขึ้นไปยืนบนโพเดี้ยม ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ก็แทบเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะได้ ส.ส.มากแค่ไหนก็ตาม

ที่สุดหลังเลือกตั้ง “เสี่ยทิม” ก็คงไม่ต่างจาก “เสี่ยเอก” ที่ฟีเวอร์แค่ไหน ก็เป็นได้แค่ “นายกฯโพล” มาแล้วเมื่อ 4 ปีก่อนเท่านั้น.




กำลังโหลดความคิดเห็น