เมื่อวันจันทร์ที่ 17 เมษาฯ นี้ ประธานของธนาคารกลางยุโรป (ECB) คือ นางคริสติน ลาการ์ด ได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกที่สถาบันมันสมองของสหรัฐฯ CFR-Council on Foreign Relations (มีอายุ 102 ปี) ที่มหานครนิวยอร์ก ปรากฏว่า เธอได้ไปเปิด (เคาะ) สมองของเหล่าปัญญาชน, นักธุรกิจ ตลอดจนเหล่าขุนศึกของสหรัฐฯ ที่อาจกำลังหลงใหลในความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ ที่จะดำรงอยู่ตลอดกาล หรืออาจมีบางส่วนที่เริ่มเห็นจักรวรรดิอเมริกา (American Empire) ที่กำลังเผชิญกับการสูญเสียอิทธิพลในความน่าเชื่อถือ และความเกรียงไกร จึงพยายามโหนเหนี่ยวรั้งให้อเมริกายังยิ่งใหญ่เช่นในอดีต เพื่อชะลอการล้มลงของจักรวรรดิดังเช่นที่เกิดที่จักรวรรดิโรม หรือไม่กี่ร้อยปีที่จักรวรรดิฝรั่งเศส, จักรวรรดิอังกฤษได้ล้มครืนลงมา
เธอได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงคู่ค้าในช่วงสงครามกับโควิด ที่เกิดการล็อกดาวน์ในประเทศต้นทางที่ผลิต ทั้งแร่ธาตุตั้งต้น รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ก็ทำให้ประเทศผู้ประกอบสินค้าปลายทางได้รับผลกระทบอย่างมาก
แล้วก็เกิดสงครามยูเครนที่ทำให้เส้นทางขนถ่ายสินค้าถูกปิดกั้นอีกครั้ง ซ้ำเติมวิกฤตจากสงครามไวรัส
เธอได้อธิบายว่า การคว่ำบาตรด้านการเงิน (นอกเหนือจากคว่ำบาตรการค้าและการลงทุนต่อรัสเซีย) ทำให้รัสเซียดิ้นรนเพื่อสร้างพันธมิตรเพื่อฝ่าด่านการถูกปิดล้อมในตลาดเงิน
แล้วรัสเซียก็ไปเจอคู่หูที่เป็นประเทศที่เข้ากันได้ด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นจีน, อินเดีย ที่ทั้งคู่เป็นประเทศที่กระหายพลังงานมาป้อนโรงงานผลิตอุตสาหกรรมของเขา
เธอสรุปว่า รัสเซียพยายามฝ่าวงล้อมได้โดยพยายามโน้มน้าว และตั้งกลุ่มการค้าการลงทุนแนบแน่นกับจีน อินเดีย รวมทั้งบราซิล และประเทศในตะวันออกกลาง เพื่อให้ประเทศในกลุ่ม (Bloc) นี้ ทำธุรกรรมในการค้าการลงทุน, การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยการหันมาใช้สกุลเงินท้องถิ่น (แม้แต่อาเซียนเองก็เห็นชอบกับหลักการนี้)
Bloc ในกลุ่มนี้ จะมี BRICS++, SCO++, OPEC+ ซึ่งจะแตกต่างจาก Bloc ที่นำโดย G7, NATO และ EU
เธอสรุปว่า มีอยู่ 2 ขั้วใหญ่ที่นำโดยเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่ง และอันดับสองของโลก (หมายถึงสหรัฐฯ และจีน)
ทั้งสองต่างแข่งขันกันดุเดือดเลือดพล่าน และพยายามใฝ่หาพันธมิตรเข้ากลุ่ม เพื่อผลประโยชน์แก่ตัวเองและสมาชิกในกลุ่ม โดยตัดขาดด้านการค้าและการลงทุนจากประเทศคู่แข่ง โดยจะไม่คบค้าด้วย...จนทำให้การผลิตสินค้าและบริการที่เคยซื้อหาได้ในตลาดโลก (global supply) ถูกตัดทิ้งไป...แล้วหันไปซื้อหาแต่ในประเทศหรือในกลุ่มของตน
เธอขยายความด้วยว่า ทั้งสองขั้วต่างพยายามหาพันธมิตร ที่ต้องมีอุดมการณ์คล้ายคลึงกันมาอยู่ใน Bloc เดียวกัน
การตัดขาดจากกันมาสร้าง Bloc ทำให้เพิ่มต้นทุนการค้า และทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นทั่วโลก ทำให้เกิดสภาวะไร้เสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจโลก กระทบการเติบโตของเศรษฐกิจโลกด้วย
ทำให้เกิดการกระตุ้นให้มีการใช้สกุลเงินท้องถิ่น แทนใช้ดอลลาร์ในการทำธุรกรรมทุกชนิดในโลกนี้
ย่อมกระทบต่อดอลลาร์และเงินสกุลยูโรที่ดอลลาร์มีการใช้ในการตั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิดในโลก (มีใช้ถึง 60% ของเงินตราทุกสกุล-ตามมาด้วยยูโรที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกถึง 20%)
ขณะที่เธอกำลังบรรยายอยู่ที่นิวยอร์ก ก็เป็นเวลาเดียวกันกับที่ปธน.บราซิล ลูลา กำลังพบกับปธน.สีแห่งจีน หลังจากบราซิลเพิ่งลงนามข้อตกลงทำธุรกรรมทุกชนิด การค้า, การลงทุน การร่วมมือทางเทคโนโลยีด้วยสกุลเงินเรอัลของบราซิล และสกุลเงินหยวนของจีน
ปธน.ลูลา ยังได้เป็นผู้นำประเทศคนแรกที่ไปเยือนสำนักงานใหญ่ของธนาคาร New Development Bank (ที่มีชื่อไม่เป็นทางการว่า BRICS Bank ที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2015 อย่างเป็นทางการ โดยสมาชิกทั้ง 5 ของ BRICS) ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ พร้อมกับการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของนางดิลมา รูสเซฟฟ์ (Dilma Rousseff) อดีตปธน.ของบราซิลถึงสองสมัยในตำแหน่งประธานของ NDB
บทบาทของ BRICS Bank ก็จะมาแข่งกับธนาคารโลก (ในการปล่อยกู้แก่ประเทศยากจน) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ที่ปล่อยกู้เงินฉุกเฉิน เมื่อประเทศใดขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง แบบที่ไทยเคยเจอตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง)
แต่ที่ธนาคาร BRICS ต่างกับธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศก็คือ การปล่อยกู้ของธนาคาร BRICS จะไม่มีเงื่อนไขของประเทศผู้กู้ ที่ต้องสนับสนุนประชาธิปไตย (เช่น ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง, ต้องลดการละเมิดประชาธิปไตย, ต้องมีการสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, การลดคอร์รัปชัน เป็นต้น)
โดย BRICS Bank จะพิจารณาปล่อยกู้ให้ประเทศยากจนเป็นหลัก...ซึ่งทางสหรัฐฯ และตะวันตกจะค่อนแคะว่า ธนาคาร BRICS จะทำให้เกิดหายนะทางจริยธรรม (Moral Hazard) เพราะจะเป็นการปล่อยกู้แบบหละหลวม ทำให้ผู้กู้ได้เงินไปแล้วไม่ได้ทำให้สังคมของประเทศตนดีขึ้น แต่อาจมีการตบตาจากฝ่ายผู้กู้เพื่อสร้างความมั่งคั่งแก่ครอบครัวและพวกพ้องของตนเอง
แต่ที่ผ่านมา ประธานของ NDB ก็เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือเช่น นักเศรษฐศาสตร์จากอินเดียที่เป็นประธาน...ส่วนดิลมา รูสเซฟฟ์ ก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นรมต.ด้านเศรษฐกิจของบราซิล ในช่วงที่บราซิลได้ลดความยากจนลงมาก ในขณะที่เธอเป็นผู้นำ
หลังเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ปธน.ลูลา ได้เยือนตะวันออกกลาง และประกาศต้อนรับประเทศที่จะมาร่วมกันเป็นพลังที่จะนำสู่สันติภาพในยูเครน ซึ่งก็กำลังได้รับการขานรับจากประเทศในตะวันออกกลาง
การรณรงค์ของลูลา น่าจะไปสอดคล้องกับข้อเสนอของปธน.มาครง แห่งฝรั่งเศส ที่พยายามจัดตั้งขั้วที่สาม หรือจะเป็นขั้วที่ไม่กระหายหรือกระพือลมสงครามให้ลุกโชน แต่แน่ที่สุดคือ ไม่อยู่ใต้อาณัติของมหาอำนาจเดียวของโลก คือ...จักรวรรดิอเมริกา
หรือนี่จะเป็น non-aligned nations ภาค 2.0 ก็เป็นได้