ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเคลื่อนไหวของนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ ที่ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา เพจ Greenpeace Thailand รายงานว่า การฟ้องร้องครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีความเข้มข้นสูงตั้งแต่เดือนม.ค. 2566 เป็นต้นมา โดยมีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศสะสมแล้วกว่า 2 ล้านคน โดยเฉพาะในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทย เช่น เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ต้องรับฝุ่นพิษในระดับที่เป็นอันตรายสูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไปต่อเนื่องนานนับสัปดาห์
ประเด็นสำคัญทางคดีคือนายกรัฐมนตรีและหลายหน่วยงานของรัฐ ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน นโยบายและแผนที่มีอยู่อย่างมากมายเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤตฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแถลงการณ์จากผู้ร่วมฟ้องตั้งคำถามต่อนายกรัฐมนตรีว่า “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำอะไร? ทำไมปอดถึงพัง?
นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สะท้อนว่า การจัดการฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือปีนี้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงและสมควรยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 7 เม.ย. 2566 ไทยพบจุดความร้อน 3,208 จุด โดยมีเพื่อนบ้านอย่างพม่านำอยู่ที่ 6,792 จุด , สปป.ลาว 4,125 จุด , เวียดนาม 414 จุด, กัมพูชา 176 และมาเลเซีย 26 จุด คำถามคือเมื่อประเทศไทยมีจุดความร้อนมากขนาดนี้จะไปเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร
นอกจากนี้ การเผาป่าและการเผาในที่โล่งจำนวนมากแสดงว่าการปฏิบัติตามแผนของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566 โดยปรับปรุงและยกระดับความเข้มงวดของมาตรการต่างๆ ภายใต้กรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แสดงว่าการจัดการในพื้นที่ไม่ได้ผล รวมทั้งหน่วยงานปฏิบัติไม่ได้ดำเนินการตามแผนที่กำหนดอย่างเคร่งครัดจนทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันสูงมากกว่าทุกปี โดยฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือสูงจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพมีค่ามากกว่า 300 มคก.ต่อลบ.ม ติดต่อกันมากกว่าครึ่งเดือนแล้ว
ขณะที่ปริมาณฝุ่นมีค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการเผา จังหวัดทำได้เพียงประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวช่วยจัดการ ซึ่งก็ทำได้ตามงบประมาณที่มีเท่านั้น การเจรจากับเพื่อนบ้านเรื่องการเผาก็ทำได้แค่ในระดับชายแดนไม่ใช่ระหว่างรัฐกับรัฐซึ่งเพิ่งจะมาตื่นตัวในช่วงนี้ กระทั่งเมื่อฝุ่นสูงถึงขั้นระดับวิกฤต ประชาชนขอให้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยเพื่อนำงบประมาณออกมาช่วยเหลือประชาชนที่ต้องผจญกับฝุ่นอยู่ทุกวัน ก็อ้างว่าไม่มีตัวเลขของระดับฝุ่น PM 2.5 ที่ชัดเจนว่าแค่ไหนจึงจะถือว่าเป็นสาธารณภัย รวมทั้งไม่มีขอบเขตของผู้ประสบภัยที่ชัดเจนและเกรงจะกระทบการท่องเที่ยวด้วย ขณะที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก็ไม่ได้ประชุมกำหนดความเข้มข้นฝุ่นว่าเท่าไหร่ถึงจะเข้าขั้นวิกฤติ สุดท้ายการช่วยเหลือประชาชนทำได้แค่งบประมาณที่มี ส่วนที่เหลือประชาชนต้องช่วยตัวเองและรอฟ้าฝน
แน่นอนผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนาคตมีมหาศาล นายสนธิ ชี้ว่าภาคเหนือมีค่าฝุ่น PM2.5 สูงกว่าข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO มากกว่า 10 เท่าเป็นเวลานานมากกว่า 20 วันแล้ว ผู้ที่สัมผัสมากๆ ในระยะยาวมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีน EGFR(Epidermal Growth Factor Receptor)ในปอดซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยสร้างเนื้อเยื่อทดแทนเซลล์ที่เสื่อมไป
ปัญหาฝุ่นพิษที่สร้างความทุกข์ยากต่อประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย รายงานว่า ส่วนหนึ่งมาจากฝุ่นพิษข้ามพรมแดน โดยอ้างถึงข้อมูลของกรีนพีซว่าจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของกรีนพีซที่ทำร่วมกับศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าในช่วงปี 2558-2563 พื้นที่ป่า 10.6 ล้านไร่ในประเทศที่อยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงถูกทำลายและกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด ในจำนวนนี้ราว 5.1 ล้านไร่ อยู่ในประเทศลาวตอนบน รองลงมาคือรัฐฉานของเมียนมา 2.9 ล้านไร่ และภาคเหนือตอนบนของไทย 2.5 ล้านไร่ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวอย่างไร่ข้าวโพด ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนที่ทำให้เกิดการกระจายตัวและเพิ่มความเข้มข้นของมลพิษ PM2.5 อย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่า ราว 2 ใน 3 ของจุดความร้อนที่พบในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอยู่ในพื้นที่ป่าและ ราว 1 ใน 3 ของจุดความร้อน พบในพื้นที่ปลูกข้าวโพด
จากการติดตามข้อมูลการนำเข้าจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ของไบโอไทย พบว่า ในปี 2564 ประเทศไทยนำเข้าข้าวโพดเพื่อเป็นอาหารสัตว์รวม 1.83 ล้านตัน มูลค่า 407.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแหล่งนำเข้ามากที่สุดคือ พม่า มีปริมาณนำเข้า 1.79 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 97.8% ของปริมาณการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทย โดยที่เหลือเป็นการนำเข้าจากลาวประมาณ 0.6% และกัมพูชา 0.3% โดยข้อมูลจาก World Grain ระบุว่า พม่ามีกำลังการผลิตข้าวโพดประมาณ 2.57 ล้านตัน นั่นหมายความว่าผลผลิตส่วนใหญ่ในการส่งออกของพม่า 69.65% เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมานั้น เป็นการส่งออกมายังประเทศไทย
การนำเข้าข้าวโพดจากพม่าเป็นการนำเข้าข้าวโพดที่มีอัตราภาษี 0% ตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) รัฐบาลอนุญาตให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) นำเข้าได้ตลอดทั้งปี และผู้นำเข้าทั่วไปนำเข้าได้ระหว่าง 1 ก.พ. - 31 ส.ค. ของทุกปี
ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวโพดส่วนใหญ่ของพม่า 56% อยู่ในรัฐฉาน ซึ่งเป็นบริเวณติดกับพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยที่กำลังเผชิญฝุ่นพิษจนหลายจังหวัดติดอันดับพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในโลกไปแล้วในปัจจุบัน
ไบโอไทย รายงานว่าผู้ผลิตข้าวโพดและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดรายใหญ่ในพม่าคือ บริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเกษตรของไทย
อย่างไรก็ดี หากสืบสาวเรื่องราวฝุ่นควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านในภาคเหนือนั้น นายสนธิ คชวัฒน์ ให้ข้อมูลว่า เป็นผลมาจากครม.ของไทยที่มีมติเมื่อกลางปี 2549 ให้มีการดำเนินงานเกษตรพันธะสัญญา หรือ Contract Farming บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีมาตรการเก็บภาษีเป็นศูนย์กับสินค้าพืชด้านเศรษฐกิจ 8 ชนิด ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่งลิสง ละหุ่ง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันฝรั่ง มะม่วงหิมพานต์ และยูคาลิปตัส ที่ปลูกใน 3 ประเทศนำร่อง คือ พม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอิระวดี - เจ้าพระยา-แม่โขงหรือ ACMECS
ข้อตกลงดังกล่าว ทำให้มีการปลูกพืชดังกล่าวบริเวณชายแดนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะพม่าปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยส่งเข้ามายังประเทศไทยไม่อั้น ทำให้อาหารสัตว์ในประเทศไทยราคาถูกลงซึ่งมีผลให้เนื้อสัตว์ในประเทศมีราคาถูกลงตามไปด้วย ปัญหาคือเมื่อปลูกแล้วเก็บเกี่ยวแล้วกลับใช้วิธีเผาตอซังและซากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทำให้หมอกควันพัดเข้าภาคเหนือจองประเทศไทยทุกวันนี้
ขณะที่ข้อตกลงร่วมกันของชาติอาเซียนที่ประชุมร่วมกันที่จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 2-6 เม.ย. 2562 เห็นชอบกับแผนความร่วมมือป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน หรือ Roadmap โดยกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันไว้ว่าอาเซียนจะต้องปลอดหมอกควันภายในปี 2563 หรือ “Transboundary Haze-Free ASEAN by 2020” โดยครอบคลุมมลพิษจากการจัดการไฟป่าหรือการเผาพื้นที่ทำกิน แต่ข้อตกลงของชาติในอาเซียนคือต้องไม่แทรกแซงซึ่งกันและกัน..
“...ถึงแม้ประเทศไทยจะแจ้งพบจุดความร้อนจำนวนมากในประเทศเพื่อนบ้านไปยังเลขาธิการอาเซียน เพื่อให้เลขาอาเซียนแจ้งเตือนให้แก้ไขและให้ลดจุดความร้อนลง แต่หากประเทศเพื่อนบ้านไม่เชื่อยังเผาอยู่ ประเทศไทยก็ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้...พรรคการเมืองที่กำลังลงเลือกตั้งจะมีนโยบายจัดการฝุ่น PM 2.5 ข้ามแดนที่เกิดขึ้นทุกปีได้อย่างไร...” นายสนธิ ทิ้งคำถามที่เป็นการบ้านข้อใหญ่
นอกจากตั้งหน้าตั้งตารอฟ้าฝนมาช่วยลดฝุ่นพิษ ประชาชนคงได้แต่ฝากความหวังไว้กับพรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลสมัยหน้าให้เร่งมือแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ทำให้คนไทยโดยเฉพาะในเขตภาคเหนือต้องตายผ่อนส่งกันทุกวัน