xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

Fast Fit โตไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ รถหมดประกันศูนย์ – รถปีเก่า หนุนแฟรนไชน์ชิงเค้ก 3 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  เรียกว่าเป็นธุรกิจที่ยังมีโอกาสเติบโตอย่างเนื่อง สำหรับ “ศูนย์บริการรถยนต์ฟาสต์ฟิต (FAST FIT)” ทั้งแบรนด์เป็นที่เป็นที่รู้จักกันดีทั้ง Cockpit, B-quik, Tyreplus หรือ FIT Auto ของกลุ่ม ปตท. ต่างกำลังรุกขยายสาขาทั่วประเทศต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีผู้เล่นที่น่าจับตาไม่ว่าจะเป็น Quick Lane, ACDelco ฯลฯ ที่โดดลงสนามชิงเค้กในตลาดฟาสต์ฟิต มูลค่า 30,000 ล้านบาทกันอย่างต่อเนื่อง 

ยิ่งหากพิจารณาจากยอดจำหน่ายและจำนวนรถยนต์สะสมที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในประเทศไทย ประกอบกับพฤติกรรมการใช้รถของคนไทยที่ใช้รถเกินกว่าระยะเวลาที่ได้รับประกันจากค่ายรถอีกหลายปี ทำให้พอจะอนุมานได้ว่าศูนย์บริการรถยนต์ทั่วไปประเภทเร่งด่วน หรือ ฟาสต์ฟิต เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องในประเทศไทย

ปี 2565 กรมการขนส่งทางบกบันทึกสถิติของปริมาณรถยนต์สะสมในประเทศ โดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ และรถอเนกประสงค์มีรวมกันมากกว่า 18 ล้านคัน ตัวเลขแสดงให้เห็นจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลสะสมเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และหากเทียบกับปริมาณศูนย์บริการมาตรฐานแล้วยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการของผู้ใช้รถ

นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากโปรโมชั่นของค่ายรถยนต์ที่มักมอบประกันหรือรับประกันคุณภาพรถยนต์เพียง 1 - 3 ปี หรือ 5 ปีเป็นส่วนใหญ่ หลังจากประกันของค่ายรถหมดลง ลูกค้าก็มักหันหลังให้ศูนย์บริการของรถยนต์แบรนด์ต่างๆ แล้วหันมาใช้ศูนย์บริการรถยนต์ฟาสต์ฟิตแทน เพราะมีราคาค่าบริการที่ต่ำกว่าอย่างน้อย 15 - 20% เมื่อเทียบกับศูนย์แบรนด์รถยนต์

ประกอบกับความไม่มั่นใจที่จะใช้บริการอู่ซ่อมรถหรือผู้ให้บริการรายย่อยซึ่งยังไม่มีการรับรองมาตรฐาน ดังนั้น ฟาสต์ฟิตจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้รถ ทั้งในด้านความสะดวก รวดเร็ว และความมั่นใจในการเข้ารับบริการ พร้อมด้วยอุปกรณ์เครื่องมืออันทันสมัย บนมาตรฐานระดับเดียวกับศูนย์บริการของค่าย ทำให้มีผู้เข้าใช้บริการศูนย์บริการรถยนต์แบบฟาสต์ฟิตเพิ่มมากขึ้น

อีกทั้งพฤติกรรมการใช้รถยนต์ของคนไทยจำนวนมาก ไม่นิยมเปลี่ยนรถยนต์บ่อย ใช้คันนึงนานติดต่อกันหลายปี แม้กระทั่งนิยมใช้รถยนต์ปีเก่า จึงมีความจำเป็นต้องใช้บริการในส่วนของการซ่อมบำรุง ซึ่งอายุการใช้งานของรถยนต์หนึ่งคันไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและแนวทางการใช้รถของเจ้าของรถ บางคนอาจจะต้องการเปลี่ยนรถใหม่ทุก 5 - 7 ปี บางคนอาจใช้รถเป็น 10 - 20 ปีขึ้นไป ก็เป็นเรื่องการตัดสินใจส่วนบุคคคล ซึ่งล้วนส่งสัญญาณบวกต่อธุรกิจซ่อมบำรุงรถยนต์ หนุนให้ธุรกิจฟาสต์ฟิตเติบโตอย่างต่อเนื่อง

เรียกว่าเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองสำหรับผู้สนใจลงทุนทำธุรกิจ เนื่องจากมีโอกาสเติบโตสูงด้วยปัจจัยหลากหลายด้าน รวมถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์

 นายสันติ จิตพิชิตชัย ผู้อำนวยการ ควิกเลน ประเทศไทย ศูนย์บริการรถยนต์ฟาสต์ฟิต เปิดเผยว่าธุรกิจฟาสต์ฟิตมีอัตราการเติบโตสูงขึ้น เนื่องจากผู้ใช้รถหันมาบำรุงรักษารถยนต์ของตัวเองมากขึ้น เห็นได้จากความต้องการของตลาดบำรุงรักษารถยนต์ที่มีอยู่ราว 140,000 - 160,000 ล้านบาทต่อปี นับรวมศูนย์บริการรถยนต์ทุกยี่ห้อ รวมทั้ง ตัวเลขของปริมาณรถยนต์ที่วิ่งอยู่ 18 ล้านคันในปัจจุบัน ทำให้ฟาสต์ฟิตเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตได้อีกค่อนข้างมาก

ถอดบทเรียนธุรกิจธุรกิจฟาสต์ฟิตผ่านควิกเลน (Quick Lane) แฟรนไชส์ฟาสต์ฟิตเป็นธุรกิจที่นักลงทุนให้ความสนใจต่อเนื่อง เช่นเดียวกันควิกเลนให้บริการผ่านระบบแฟรนไชส์ โดยมีการสนับสนุนผู้ลงทุนอย่างครบวงจร ตั้งแต่ระบบการจัดการตั้งแต่เริ่มต้น การฝึกอบรมช่างระดับมืออาชีพ เครื่องมืออุปกรณ์ รวมถึงความเชี่ยวชาญจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำระดับโลกอย่างฟอร์ด

จุดเด่นคือควิกเลนมีแบรนด์อะไหล่เป็นของตัวเอง ได้เปรียบในเรื่องของคุณภาพและราคา รองรับความต้องการของรถยนต์หลากหลายรุ่นหลากยี่ห้อ รวมทั้ง บริการอื่นๆ ครอบคลุมกว่า 14 กลุ่ม เช่น เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรอง เปลี่ยนยางรถยนต์ ตรวจซ่อมระบบเบรก โช้กอัพและระบบช่วงล่าง ฯลฯ

รูปแบบการลงทุนของศูนย์ควิกเลน เลือกได้ 3 รูปแบบโดยไม่รวมมูลค่าพื้นที่ คือ ขนาด 4 ช่องซ่อม ลงทุน 7-8 ล้านบาท, ขนาด 6 ช่องซ่อม ลงทุน 10-11 ล้านบาท และขนาด 8 ช่องซ่อม ลงทุน 14-15 ล้านบาท

สำหรับการแข่งขันในธุรกิจฟาสต์ฟิตยังคงรุนแรง ในช่วงที่ผ่านมาได้เห็นความเคลื่อนไหวของผู้นำตลาดอย่างเบอร์รองมีเริ่มมีการปรับตัว รวมกิจการ ขยายสาขา นั่นเพราะผู้ประกอบการทุกคนเชื่อว่าตลาดยังมีโอกาสอยู่ค่อนข้างมาก

ปัจจุบันควิกเลนมี 16 สาขา ล่าสุดกำลังเร่งขยายสาขาในสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ให้ได้มากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2569 ตั้งเป้าก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับ 2 ในตลาด ภายใต้นโยบายสำคัญคือ ควิกเลนจะไม่ลงไปเล่นสงครามราคา

นอกจากนี้ ยังมีผู้เล่นที่น่าจับตา เอซีเดลโก้ (ACDelco) ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลกสัญชาติอเมริกัน ที่กำลังรุกธุรกิจศูนย์บริการรถยนต์ฟาสต์ฟิต ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วของการซ่อมบำรุงรถยนต์ทุกยี่ห้อแบบครบวงจรในที่เดียว วางกลยุทธ์รุกพื้นที่หัวเมืองเปิดศูนย์บริการครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งเป้าขยาย 100 สาขาภายใน 3 ปี ด้วยระบบแฟรนไชส์ โดยเน้นจุดแข็งทางด้านอะไหล่ที่ครอบคลุมตอบโจทย์ทั้งทางด้านคุณภาพและความคุ้มค่า บวกกับทีมช่างมืออาชีพมาจูงใจกลุ่มลูกค้าผู้ใช้รถยนต์ทั่วประเทศ
 นายบัณฑิต อนรรฆมณี ผู้จัดการอาวุโสแผนกธุรกิจและการตลาดบริการหลังการขาย เปิดเผยว่า ACDelco ทำธุรกิจในประเทศไทยมากกว่า 20 ปีทำให้มีความเชี่ยวชาญในด้านการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงรถยนต์ได้ครอบคลุมในทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกา และจีน อีกทั้งการได้ร่วมดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดจนรับรู้ถึง Pain Point และความต้องการของลูกค้าอย่างชัดเจนในทุกมิติว่าลูกค้าต้องการอะไร จึงทำให้มองเห็นถึงโอกาสในการเติบโต และต่อยอดธุรกิจใหม่เปิดศูนย์บริการฟาสต์ฟิตในไทย ที่มีมาตรฐานอะไหล่และการบริการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล สร้างความแตกต่างในตลาดพาสต์ฟิตภายใต้ชื่อ ACDelco Service Center

ทั้งนี้ มีการวางมาตรฐานของศูนย์บริการไว้อย่างชัดเจน ทั้งทางด้านงานบริการ และคุณภาพของงานอะไหล่ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถมั่นใจได้ว่าในทุกสาขาของศูนย์บริการฯ จะสามารถคงคุณภาพได้อย่าง100 %

แฟรนไชส์ของศูนย์บริการฟาสต์ฟิต ACDelco อยู่ที่ราวๆ 5 ล้านบาท ผู้ลงทุนสามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 2 - 3 ปี ซึ่งทางบริษัทจะมีนโยบายสนับสนุนผู้ลงทุนพร้อมแผนการบริหารงานอย่างชัดเจนเพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบศูนย์บริการและเครื่องมือ, การฝึกอบรมพนักงานและทีมช่างผู้เชี่ยวชาญ, ระบบบริหารศูนย์บริการ การให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจและเทคนิคต่างๆ ไปจนถึงด้านลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) การตลาดและประชาสัมพันธ์ทั้งในรูปแบบ Offline และ Online

อย่างไรก็ดี การแข่งขันเดือนในธุรกิจฟาสต์ฟิต แบรนด์ต่างๆ อัดสงครามโปรโมชั่น เพื่อดึงดูดลูกค้า นับเป็นโอกาสดีของผู้บริโภคที่จะเลือกรับบริการที่คุ้มค่าคุ้มราคา.


กำลังโหลดความคิดเห็น