xs
xsm
sm
md
lg

ประชานิยมเชิงเงินตราและเชิงอารมณ์โวหาร: ความท้าทายของสังคมไทย / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ประชานิยมไม่ใช่เป็นเพียงนโยบายที่เสนอผลประโยชน์ในรูปวัตถุและเงินตราแก่ประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนนิยมเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการใช้โวหารวาทศิลป์ เล่าเรื่องที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ และมีเนื้อหาสาระที่สร้างความแตกแยก โดยการวางกรอบทางการเมืองแบบแบ่งขั้วเป็น “พวกเรา” กับ “พวกเขา” และการกีดกันประชาชนบางกลุ่มออกจากสังคมอีกด้วย ประชานิยมทั้งสองแนวทางสร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างรุนแรงด้วยกันทั้งสิ้น “ประชานิยมเชิงเงินตรา” จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ขณะที่ “ประชานิยมเชิงอารมณ์โวหาร” จะสร้างผลกระทบทางสังคมและการเมืองมากกว่า

สำนวนโวหารเชิงอารมณ์ในลักษณะสร้างความแตกแยกมีการใช้กันมากในการเมืองร่วมสมัย ดังเห็นได้จากผู้นำประชานิยมในประเทศตะวันตกหลายประเทศใช้กัน บุคคลที่เป็นสัญลักษณ์ของการใช้ “ประชานิยมเชิงอารมณ์โวหาร” จนทำให้ได้รับเลือกตั้งและสร้างความแตกแยกทางสังคมของสหรัฐอเมริกามากที่สุดเห็นจะเป็น อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ที่ใช้ภาษาสร้างเสื่อมเสียและด้อยค่าต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและชนกลุ่มน้อย เช่น เรียกผู้อพยพชาวเม็กซิกันว่า “ผู้ข่มขืน” และ “อาชญากร” และเรียกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองว่า “คนคดโกง” และ “นักโกหก” อีกคนอยู่ในประเทศบราซิลคือ ประธานาธิบดีบราซิล จาอีร์ โบลโซนาโร (Jair Bolsonaro) ซึ่งใช้วาทศิลป์ที่สร้างความแตกแยกในทำนองเดียวกัน เช่น เรียกร้องให้จำคุกฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และส่งเสริมนโยบายต่อต้าน LGBTQ ส่วนในประเทศยุโรปก็มี มารีน เลอ เปน ในฝรั่งเศส และมัตเตโอ ซัลวินี ในอิตาลี ซึ่งใช้โวหารที่สร้างความแตกแยกอย่างเข้มข้น เช่น การต่อต้านผู้อพยพ และเรียกร้องให้กีดกันคนบางกลุ่มออกจากสังคม

สำหรับประเทศไทย ในการหาเสียงของนักการเมืองช่วงที่ผ่านมา มีหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดบางคน ก็ใช้โวหารแบบประชานิยมที่สร้างความแตกแยกเช่นกัน ดังคำปราศรัยของเขาตอนหนึ่งว่า “แผ่นดินไทยประเทศไทยมีไว้เพื่อคนรักชาติ แผ่นดินประเทศไทยเป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลักชัยของประเทศ ถ้าคุณไม่ชอบ คุณไม่มีสิทธิ์เปลี่ยน เพราะคนไทยทั้งชาติเขาเอา ถ้าคุณไม่ชอบเชิญไปอยู่ที่อื่น ไม่ห้าม ไปได้เลย ท่านชอบประเทศไหนไปเลย แต่ประเทศไทยต้องเป็นแบบนี้ตลอดไป ภายใต้รวมไทยสร้างชาติเราจะไม่เปลี่ยนแปลง ถ้ารวมไทยสร้างชาติเป็นแกนนำรัฐบาล เราจะจัดการกับพวกชังชาติ พวกล้มสถาบันโดยเด็ดขาด”

หัวหน้าพรรคการเมืองคนดังกล่าวสร้างวาทกรรมแห่งความเกลียดชังด้วยโวหารที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ กำหนดกรอบความคิดแบ่งแยกคนในสังคมเป็น “พวกเรา” อันได้แก่ ผู้รักชาติ ผู้รักสถาบัน กับ “พวกเขา” อันได้แก่ ผู้ที่ไม่รักชาติ หรือที่หัวหน้าพรรคนี้ใช้โวหารเรียกว่าเป็น “พวกชังชาติ” นอกจากโวหารเชิงอารมณ์ของการชังชาติแล้ว เขาก็ยังสร้างโวหารเชิงอารมณ์อีกคำหนึ่งคือ “การล้มสถาบัน” โดยเชื่อมโยงและตีตราคำนี้ไปให้กลุ่มคนที่เขาคิดไม่ชอบสถาบัน และใช้โวหารเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็น “พวกล้มสถาบัน” นักการเมืองผู้นี้ยังได้ปราศรัยขับไล่บุคคลที่เขาไม่ชอบให้ไปอยู่ในประเทศอื่น ซึ่งสะท้อนให้ว่า เขามองประเทศไทยมีไว้สำหรับคนกลุ่มหนึ่งที่คิดเหมือนตนเองเท่านั้น หากบุคคลใดคิดต่างก็ต้องขับไล่ไสส่งออกไป

แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ คำกล่าวที่ว่า “หากพรรคการเมืองของเขาได้เป็นแกนนำรัฐบาลจะจัดการกับพวกชังชาติ พวกล้มสถาบันโดยเด็ดขาด” ซึ่งเป็นประโยคที่เปี่ยมด้วยอารมณ์แห่งความเกลียดชังอย่างรุนแรง และแสดงความตั้งใจในการดำเนินการต่อผู้ที่เขาเกลียดชังอย่างเด็ดขาด หากเขามีอำนาจรัฐ

หากนักการเมืองผู้นี้เป็นผู้นำมวลชนหัวรุนแรงที่เคลื่อนไหวปลุกระดม ปลูกฝังความเชื่อ และโน้มน้าวใจมวลชนที่เป็นสาวกของเขาให้ลุกฮือขึ้นมาจัดการกับคนคิดต่าง ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ประหลาดแต่อย่างใด เพราะการใช้โวหารเช่นนั้นมักเกิดขึ้นอยู่เสมอในเวทีเคลื่อนไหวมวลชน แต่ออกจะดูเป็นเรื่องแปลกไม่น้อยสำหรับบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง และอาจมีโอกาสได้เป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศในอนาคตที่ใช้โวหารปลุกระดมสร้างความเกลียดชังในการหาเสียงเลือกตั้ง อาจเป็นไปได้ว่าเขาเกิดความสับสนในบทบาทตนเอง และแยกไม่ออกระหว่างการเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองกับการเป็นผู้นำมวลชนหัวรุนแรง แต่นั่นแหละ เมื่อมองเข้าไปในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็อาจเป็นไปได้ว่า เขาไม่ได้สับสนในบทบาทแต่อย่างใด และรู้ตัวอย่างกระจ่างชัดว่า เขาไม่ได้เป็นผู้นำพรรคตัวจริงในพรรคที่เขาสังกัด จึงอยากสร้างบทบาทและตัวตนของการเป็นผู้นำอีกแบบขึ้นมาทดแทน

สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างคือวิธีคิดในการมองสังคมของนักการเมืองผู้นี้ ซึ่งอาจถือว่าเป็นตัวแทนความคิดของพรรคการเมืองที่เขาสังกัดได้ระดับหนึ่งคือ วิธีคิดที่มองสังคมแบบหยุดนิ่ง และต้องการแช่แข็งสภาพสังคมแบบเดิมที่เขาปรารถนาเอาไว้ แต่ที่ดูน่าขบขันคือ การอ้างว่าคนไทยทั้งหมดมีวิธีคิดแบบเดียวกับเขา เห็นชัดว่าวิธีคิดแบบนี้ขัดแย้งกับหลักไตรลักษณ์ อันเป็นแก่นความคิดประการสำคัญของศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาที่สังคมไทยยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ยิ่งกว่านั้น วิธีคิดแบบสรรพสิ่งเป็นเช่นไรแล้วต้องเป็นเช่นนั้นนิรันดร ก็ขัดแย้งกับกฎของธรรมชาติ ซึ่งสรรพสิ่งมีความเป็นพลวัตและเปลี่ยนแปลงตามเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

การนำวาทกรรมชังชาติและล้มสถาบันใช้ในการหาเสียง เป็นการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในสังคมตามมาได้ง่ายเพราะประชาชนจะถูกแบ่งแยกเป็นกลุ่มที่มีความเป็นปรปักษ์กัน กลุ่มหนึ่งจะถูกครอบงำและถูกทำให้เปี่ยมล้นไปด้วยอารมณ์แห่งความเกลียดชังต่อกลุ่มที่ถูกกำหนดเป้าหมายว่าเป็นศัตรู สิ่งที่ตามมาคือกลุ่มที่ถูกทำให้เชื่อตัวเองว่าเป็นผู้รักชาติและรักสถาบันมีแนวโน้มที่จะใช้กำลังทำร้ายหรือใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นพวกชังชาติ อันที่จริง ในช่วงที่ผ่านมาเหตุการณ์เหล่านี้ก็เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว และมีความเป็นไปได้ว่าจะขยายตัวออกไป เพราะการปราศรัยแบบปลุกเร้าอารมณ์มวลชนของนักการเมืองประชานิยมที่มุ่งจะให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา

ยิ่งกว่านั้นการกล่าวว่าจะจัดการโดยเด็ดขาดกับกลุ่มคนที่ถูกตีตราว่าเป็นพวกชังชาติและล้มสถาบัน ก็เป็นการแสดงเจตจำนงที่มีนัยว่าถึง ความปรารถนาในการใช้ความรุนแรงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอย่างชัดเจน จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า หากพรรคการเมืองนี้ได้เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล สังคมไทยอาจจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นที่เกิดขึ้นโดยนโยบายและการปฏิบัติของรัฐบาล ผู้คนในสังคมคงจะอยู่ด้วยความหวาดระแวง เสรีภาพในการคิด การพูด และการกระทำใดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองคงเป็นไปอย่างจำกัด บรรยากาศแห่งความหวาดกลัวคงแผ่กระจายครอบคลุมทั่วทั้งสังคม สภาพสังคมเช่นนั้นคงไม่ใช่สังคมที่ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้


นักการเมืองและพรรคการเมืองที่ใช้วาทกรรมประชานิยมที่เน้นความเกลียดชังเป็นแนวทางในการณรงค์หาเสียงเป็นพฤติกรรมร้ายแรงยิ่งกว่าการใช้นโยบายประชานิยมที่เน้นการแจกจ่ายผลประโยชน์ทางวัตถุแก่ประชาชน เพราะการแจกจ่ายเงินตราและผลประโยชน์แก่ประชาชน แม้อาจทำให้ประชาชนขาดวินัยในการใช้จ่ายเงิน รวมทั้งอาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไม่น้อย แต่ไม่ถึงกับทำให้ประชาชนต้องกลายมาเป็นศัตรู ทำร้าย และเข่นฆ่ากันเองด้วยความเชื่อที่ต่างกันดังนโยบายประชานิยมที่อยู่บนพื้นฐานของวาทกรรมแห่งความเกลียดชัง

แม้เป็นความจริงว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคต่างหวังชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาอ้างเพื่อนำวิธีการหาเสียงที่เห็นได้ชัดเจนว่าจะสร้างปัญหาร้ายแรงตามมา อย่างน้อยควรจะมีสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมหลงเหลืออยู่บ้าง และควรหาเสียงด้วยแนวทางสร้างสรรค์ให้มากขึ้น

ความแตกต่างหลากหลายเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง การยอมรับความแตกต่างหลากหลายและรับฟังซึ่งกันและกันเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ความขัดแย้งทางความคิดเกิดขึ้นได้และเกิดขึ้นเสมอ สังคมประชาธิปไตยยอมรับการดำรงอยู่ของความขัดแย้ง และมีวิธีการที่ดีกว่าระบอบการปกครองแบบอื่น ๆ ในการจัดการความขัดแย้ง ระบอบประชาธิปไตยแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการพูดคุย เจรจา และการลงมติด้วยเสียงข้างมากที่มีความชอบธรรม ต่างจากระบอบเผด็จการที่ต้องการให้ประชาชนคิดและทำตามคำสั่งของผู้นำและจัดการความแตกต่างด้วยความรุนแรง แต่หากนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดที่ลงแข่งขันในนามของระบอบประชาธิปไตยมีนโยบายการจัดการกับประชาชนที่คิดต่างด้วยความเด็ดขาด ก็ย่อมบ่งชี้ว่าพวกเขามิได้เชื่อในหลักของประชาธิปไตยแต่อย่างใด เพียงอาศัยวิถีประชาธิปไตยเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเท่านั้น และเมื่อได้อำนาจมาก็มีแนวโน้มทำลายหลักการประชาธิปไตย

เป็นที่ประจักษ์ว่านักการเมืองแนวประชานิยมจำนวนมากในหลายประเทศ เมื่อได้อำนาจรัฐมาด้วยนโยบายประชานิยม ก็มีพฤติกรรมไม่ต่างจากนักการเมืองที่มาจากการรัฐประหาร นั่นคือใช้อำนาจรัฐบั่นทอนและสร้างความเสื่อมถอยแก่วิถีประชาธิปไตย ดังนั้น ผู้เลือกตั้งจึงต้องใช้ข้อมูลข่าวสารรอบด้าน ผสานกับสติปัญญาและวิจารณญาณไตร่ตรองด้วยความรอบคอบในการเลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ยืนหยัดจรรโลงวิถีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะมีแต่ประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้ประชาชนมีสิทธิ มีเสียง และมีส่วนร่วมในทางการเมืองและการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

สำหรับในการเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามา คนไทยกำลังเผชิญกับนโยบายประชานิยมอย่างท่วมท้นทั้งประชานิยมแบบแจกจ่ายเงินตราผลประโยชน์ และประชานิยมแบบอารมณ์โวหารที่อยู่บนฐานของวาทกรรมแห่งความแบ่งแยกและเกลียดชัง นักการเมืองและพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายประชานิยมเหล่านั้นต่างก็เคยครอบครองอำนาจรัฐ และมีส่วนในการบั่นทอนและทำลายประชาธิปไตยมาแล้วแทบทั้งสิ้น บางส่วนก็เป็นตัวแทนและรับใช้กลุ่มทุนผูกขาดหรือไม่ก็กลุ่มทุนสีเทา บางส่วนก็เป็นตัวแทนและรับใช้เผด็จการทหาร หากกลุ่มบุคคลเหล่านั้นกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง สังคมไทยก็ไร้หนทางที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น หากต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงสังคมที่แตกต่างไปจากเดิม การมองหาทางเลือกใหม่ด้วยกรอบคิดใหม่จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญยิ่งของประชาชน



กำลังโหลดความคิดเห็น