ข้อเสนอ 3 ข้อที่ปธน.มาครง ได้พูดคุยกับปธน.สี จิ้นผิง ทำให้เกิดอาการทัวร์ลงยังมาครงชนิดรับแทบไม่หวาดไม่ไหว
ก่อนเดินทางไปปักกิ่ง ปธน.มาครงได้เปิดเผยว่า เขาจะไปหว่านล้อมให้ปธน.สี ช่วยเจรจาเพื่อหาทางทำให้ปูตินยอมสงบสงครามเพื่อประโยชน์แก่ทั้งโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามนี้อย่างที่ทุกคนกำลังประสบอยู่; เงินเฟ้อที่มาจากอาหารคน, อาหารสัตว์, อาหารพืช และอาหารสำหรับเครื่องบิน, รถยนต์ ซึ่งได้ปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามยูเครน
เพื่อทำให้บทบาทของเขามีน้ำหนักมากขึ้นว่า เขานำความต้องการของสมาชิกสหภาพยุโรปมาด้วย เขาจึงเชิญประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน (ซึ่งเปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีของสมาชิก 27 ประเทศในสหภาพยุโรป) ร่วมเดินทางไปกับเขาในการไปพบกับปธน.สี ด้วย
บางคนบอกว่า คู่นี้เป็น Odd Couple ซึ่งมีท่าทีและจุดยืนต่อจีนและรัสเซียที่ค่อนข้างแตกต่างกัน ขนาดสื่อบีบีซีของอังกฤษยังตั้งข้อสังเกตว่าเป็น Good Cop : Bad Cop ด้วยซ้ำ
คือนางเออร์ซูลา จะเล่นบทตำรวจเลวที่ดุดัน แข็งกร้าวต่อสี ขณะที่ปธน.มาครงจะเล่นบทตำรวจดีที่ผ่อนปรน และเข้าใจจีน
เมื่อพบปธน.สีที่ปักกิ่ง นางเออร์ซูลา ได้กดดันผู้นำจีน ไม่ให้จีนส่งอาวุธไปช่วยรัสเซีย ซึ่งดูท่าทีปธน.สีจะไม่ค่อยปลื้มนัก
แต่นางก็สะท้อนจุดยืนของสหภาพยุโรปที่ไม่ยอมอ่อนข้อพึ่งพาจีนด้านการค้า การลงทุน โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางทหาร-ขณะเดียวกัน ก็จะไม่ตัดขาดกับจีน (Decoupling) อย่างวิธีที่สหรัฐฯ กำลังปฏิบัติอยู่ ซึ่งตอนนี้หนักข้อขนาดขอร้องกึ่งบังคับกดดันให้ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ต้องทำตาม ไม่ว่าจะเรื่องการตัดขาดพึ่งพาแหล่งพลังงานจากรัสเซีย ขณะเดียวกันด้านเทคโนโลยี AI, 5G ก็ให้ตัดขาดจากจีนด้วย รวมทั้ง Tik Tok เป็นต้น
สำหรับปธน.มาครงนั้น เขาได้เปิดเผยกับสื่อ Politico บนเครื่องบิน ปธน.ฝรั่งเศส (เทียบได้กับ Airforce 1 ของปธน.สหรัฐฯ) ที่บินจากปักกิ่งไปเมืองกวางโจว และอีกที่คือจากกวางโจวกลับปารีสว่า มีอยู่ 3 ประเด็นที่เขาสรุปกับปธน.สี
เรื่องแรกคือ บทบาทของยุโรปจะต้องไม่เป็นบริวารของสหรัฐฯ แต่จะต้องเป็นอิสระด้านยุทธศาสตร์ (Strategic Autonomy) หมายถึงยืนอยู่บนนโยบายของตนเอง แทนที่จะทำตามการชี้นิ้วบงการของสหรัฐฯ... (โดยเฉพาะเรื่องปกป้องไต้หวัน) ...ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งปธน.สี และปธน.ปูติน พร่ำพูดในหลายโอกาส เตือนสหภาพยุโรปไม่ให้เลือกข้างไปอยู่กับสหรัฐฯ เต็มตัว เพราะยุโรปจะเสียประโยชน์มากมาย อย่างที่ชาวยุโรปกำลังเผชิญอยู่ด้วยการตัดการพึ่งพาพลังงานและแหล่งอาหาร (คน, สัตว์, พืช) จากรัสเซีย
ความจริงคำประกาศของไบเดน รวมทั้งกฎหมายผ่านสภา (แบบ Bipartisan) ของสหรัฐฯ ทั้ง 3 ฉบับ IRA-กฎหมายลดเงินเฟ้อ; Chips & Science Act-กฎหมายพึ่งพาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของตนเอง; รวมทั้ง Infrastructure Act-กฎหมายสร้างและซ่อมแซมสาธารณูปโภค ต่างมีเนื้อหาที่จะให้สหรัฐฯ ตัดขาดจากการพึ่งพาโลกในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นระบบโลกาภิวัตน์ ที่สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องผลิตเองหมดทุกอย่าง; แต่ขณะนี้สหรัฐฯ กำลังหันมาผลิตเองหมด ขณะที่กีดกันไม่ให้สินค้าไอทีที่มีสมรรถนะสูง ส่งไปให้กับจีน...แต่จะเปิดช่องให้เฉพาะพันธมิตรที่ยอมมีค่านิยมแบบสหรัฐฯ หรือยอมก้มหัวให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำโลกแต่เพียงประเทศเดียว...ก็ไม่ต่างอะไรกับสมัยที่อดีตปธน.บุช ผู้ลูกที่ได้ประกาศช่วงสงครามอิรักว่า ประเทศต่างๆ ต้องเลือกข้าง ว่าจะอยู่กับข้างสหรัฐฯ หรือจะอยู่ตรงข้ามกับสหรัฐฯ!
เรื่องที่สองคือ บทบาทของสหภาพยุโรปที่จะเป็น Super Power ที่ 3 ของโลก ขณะที่หมายเลข 1 และ 2 กำลังแข่งขันในทุกๆ ด้าน ซึ่งการเป็นอำนาจที่ 3 สามารถจะเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยระหว่างหมายเลข 1 และ 2 ได้ด้วยซ้ำ ซึ่งสิ่งที่มาครงกำลังทำอยู่โดยได้เดินทางไปหาปูติน (เป็นผู้นำคนแรกจากตะวันตกที่ไปติดต่อปูตินทันทีหลังรัสเซียบุกยูเครน เมื่อปลายกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว) และตอนนี้คือเดินทางมาพบปธน.สี เพื่อหาทางสงบศึกยูเครนนั่นเอง
ส่วนเรื่องที่สามคือ มาครงพยายามโน้มน้าวสหภาพยุโรปให้ลดการพึ่งพาดอลลาร์ให้น้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนและรัสเซียกำลังเป็นโต้โผใหญ่ที่ชักชวนพันธมิตรทั้งสองประเทศ ให้หันมาใช้เงินสกุลอื่นๆ ในการค้าขายและการลงทุน แทนการใช้แต่ดอลลาร์ของสหรัฐฯ ในทุกธุรกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าในการตกลงกันหลายคู่ ที่จะหันมาใช้สกุลเงินท้องถิ่น เพื่อซื้อขายในกลุ่ม BRICS หรือ SCO รวมทั้งในเอเชียกลางที่ซื้อขายกับรัสเซียและจีน…แม้แต่อินเดีย ที่อยู่ในพันธมิตร QUAD ก็เถอะ ได้ตกลงซื้อน้ำมันและแก๊ส รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ จากรัสเซีย โดยจ่ายเป็นรูเบิลหรือรูปีด้วยซ้ำ
ล่าสุดจากการประชุมของรมต.คลังอาเซียน ก็มีมติให้หันมาเพิ่มน้ำหนักการใช้สกุลเงินท้องถิ่น หรือสกุลเงินที่ไม่ใช่ดอลลาร์เพิ่มมากขึ้นด้วย
ปธน.สีคงพอใจกับแนวคิดของมาครงจนเชิญไปกินเลี้ยงน้ำชาชมสวนในจวนที่พัก (เก่า) ของท่านบิดาของสี (สมัยเป็นรองนายกฯ) ที่เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้งคือ ที่เมืองกวางโจวด้วยบรรยากาศสบายๆ เป็นกันเอง อบอุ่น โดยไม่มีเงาของนางเออร์ซูลา ปรากฏเลย
นักวิเคราะห์บางคนวิจารณ์มาครงว่า ใช้การเยือนจีนมากลบปัญหาการประท้วงจลาจลที่ฝรั่งเศส ต่อต้านการเพิ่มอายุเกษียณจาก 62 ปีเป็น 64 ปี...โดยมาครงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่มหาวิทยาลัยซุน ยัดเซ็น ช่างต่างกับการประท้วง 3 เดือนเต็มที่ฝรั่งเศส ขนาดร้านอาหารที่มาครงชอบไปรับประทานประจำ ก็ยังถูกจุดไฟเผาเกือบวอด ยังดีที่หน่วยดับเพลิงมาดับไฟได้ก่อน
มาครงยังประสบผลสำเร็จได้ขายเครื่องบินแอร์บัสถึง 160 ลำ (ขณะที่โบอิ้งต้องทำตาปริบๆ เพราะความสัมพันธ์สหรัฐฯ และจีนกำลังอยู่ในระดับต่ำสุดๆ ชนิดไม่มีผู้แทนระดับสูงได้พบเจรจากันมานานพอควรทีเดียว) และได้นำนักธุรกิจฝรั่งเศสไปถึง 50 คน เพื่อลงนามในข้อตกลงการค้าการลงทุนมากมาย
เขาขนเอาการจ้างงานในฝรั่งเศสกลับมาเต็มลำเรือบิน และความสัมพันธ์ที่ดียิ่งกับจีน แม้คะแนนนิยมของเขาที่ฝรั่งเศสจะลดลงต่ำกว่าของคู่แข่งนางมารีน เลอแปน
แต่มาครงคงคิดว่า เขากำลังหักคอคนฝรั่งเศส เพื่อฝากตำนานการปฏิรูปครั้งสำคัญด้านระบบสวัสดิการบำนาญแก่บ้านเกิดเขา เพราะจะได้ลดปัญหางบประมาณในอนาคต แม้มันจะเป็นยาขมแก่ชาวฝรั่งเศสในปัจจุบัน
รวมทั้งข้อเสนอกับปธน.สี ซึ่งอาจทำให้สองฟากฝั่งแอตแลนติกมองเขาเป็นแกะดำ ที่คิดต่างจากสหรัฐฯ และส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรป...จนทำให้เจอก้อนหินขว้างมาที่เขา จาก ส.ส., ส.ว. ทั้งที่สหรัฐฯ (นำโดย ส.ว.ฟลอริดา... นายมาร์โก รูบิโอ) และ ส.ส.เยอรมนีที่หาว่า มาครง “ทรยศ” ต่ออุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย โดยกลับไปค้อมยอมงอให้กับจีน
ประวัติศาสตร์จะตัดสินว่า มาครงเป็นแกะดำหรือเป็นรัฐบุรุษที่ไม่สนคะแนนเสียงทางการเมืองที่บ้าน เพื่อฝ่าฟันทำสิ่งที่นักการเมืองไม่กล้าทำเพราะกลัวเสียคะแนนเสียง
สำหรับมาครง เขาอยู่ในวาระสุดท้ายของการเป็นปธน. ซึ่งกำลังสร้างตำนานมากกว่าสร้างคะแนนนิยมในปัจจุบัน