ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มีสัญญาณเตือนหลังธุรกิจท่องเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะตลาดจีนเที่ยวไทยกับการกลับมาของปัญหาเรื้อรังอย่าง “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” และสถานการณ์ใหม่ที่น่าจับตา “ทัวร์อั้งยี่” การผูกขาดของกลุ่มทุนจีน กระทบต่อรายได้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เกิดการรั่วไหลของเม็ดเงินทำให้ไทยอาจสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวมูลค่ามหาศาล
กล่าวสำหรับ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” เป็นปัญหารุนแรงเรื้อรังในภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยมาตั้งแต่ปี 2559 ก่อนหายไปในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 ซึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวชะงักทั่วโลกรูปแบบของ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” เป็นกรุ๊ปทัวร์ราคาต่ำกว่าต้นทุน ซื้อทัวร์จากบริษัททัวร์ในประเทศตัวเอง จากนั้นนำส่งนักท่องเที่ยวมาให้บริษัททัวร์ในไทย โดยไม่จ่ายค่าธรรมเนียมการนำเที่ยว รวมทั้งมีลักษณะกึ่งบังคับนักท่องเที่ยวไปร้านค้าที่กำหนดในธุรกิจเครือข่ายของนักลงทุนของชาวจีน
ล่าสุด ผู้ประกอบการบริษัททัวร์เริ่มพบสัญญาณ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” มีการตั้งราคาขายแพ็กเกจทัวร์ในราคาต่ำ แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน เนื่องจากบริษัททัวร์หลายแห่งในประเทศจีนยังไม่กลับมาเปิดกิจการ หรือในส่วนที่กลับมาเปิดแล้วยังยังก็ไม่สามารถจัดหาตั๋วเครื่องบินเพื่อจัดทำแพ็กเกจทัวร์ได้ เนื่องจากบริษัททัวร์รายใหญ่ของจีนได้เหมาตั๋วเครื่องบินไปหมดแล้ว
นอกจาก “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ที่ขายทัวร์ราคาต่ำกว่าต้นทุน ที่ต้องจับตาคือ “ทัวร์อั้งยี่” ที่กินรวบเบ็ดเสร็จผูกขาดโดยกลุ่มทุนจีน กระทบโดยตรงส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยรั่วไหล ซึ่งรูปแบบของ “ทัวร์อั้งยี่” เป็นการทำทัวร์เที่ยวไทยโดยกลุ่มทุนชาวจีนสีเทา กินรวบเบ็ดเสร็จตั้งแต่ที่พัก ร้านอาหาร รถบัสนำเที่ยว ไกด์นำเที่ยว ร้านขายของฝาก ฯลฯ ให้ผลกระโยชน์กับคนดูแล โดยไม่มีบริษัททัวร์ของคนไทยมาข้องเกี่ยว
นายสุรวัช อัครวรมาศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า “ทัวร์อั้งยี่” ส่งผลกระทบรุนแรงกว่า “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ที่เป็นการขายทัวร์ต่ำกว่าทุน เพราะชาวจีนทำธุรกิจเองทั้งหมด รวมทั้งมีการนำมัคคุเทศก์ต่างชาติเข้ามาครั้งละ 60 - 80 คน จัดหาที่พักและหางานมัคคุเทศก์ให้ ซึ่งตามกฎหมายเป็นอาชีพที่สงวนไว้ให้แค่คนไทยเท่านั้น เกิดปัญหาไกด์เถื่อนตามมา
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ในเรื่องการว่าจ้างมัคคุเทศก์ (ไกด์) ท้องถิ่น ระบุว่า บริษัททัวร์ที่จะพานักท่องเที่ยวเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่นต่างๆ จะต้องว่าจ้างคนในท้องถิ่นเป็นไกด์นำเที่ยวด้วยทุกครั้ง ควบคู่กับไกด์หลักที่ดูแลในกรุ๊ป เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้เข้าสู่ท้องถิ่น
ประเมินความเสียหายเทียบกับส่วนรั่วไหลของการท่องเที่ยว ตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2564) ประเมินไว้ ในช่วงก่อนโควิด-19 พบว่ารายได้ท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18% ของจีดีพีไทย มีอัตราการรั่วไหล 28.37% หรือกว่า 7 แสนล้านบาท เป็นการสูญเสีย จากการนำเข้าวัตถุดิบเนื้อสัตว์ สุรา เข้ามา เพื่อบริการนักท่องเที่ยว รวมต้นทุนจากสถาบันการเงินในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว
ส่วนมูลค่าความเสียหายที่เกิดจาก “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ในขณะนั้น ปี 2562 คำนวณจากตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนมาไทย 11 ล้านคน มีการใช้จ่ายต่อคนต่อทริปราว 50,000 บาท คาดว่าจะสูญเสียเป็นหลักแสนล้าน แน่นอนว่า สถานการณ์ “ทัวร์อั้งยี่” จะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายมากกว่า
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยเกี่ยวกับประเด็นธุรกิจท่องเที่ยววงจรปิด ซึ่งเป็นวงจรที่เกี่ยวข้องกับคนชาติๆ นั้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเพียงจีนเท่านั้น หมายรวมถึงชาติอื่นๆ ด้วย เช่นการพานักท่องเที่ยวไปทานอาหารในร้านของนักลงทุนชาตินั้นๆ ต่อด้วยการพาไปซื้อของจากร้านนักลงทุนชาติเดียวกัน เป็นต้น ซึ่งในประเด็นนี้ หากมีการดำเนินธุรกิจตามกฎหมายไม่ใช่เรื่องน่ากังวล
“ธุรกิจวงจรปิด เม็ดเงินอาจจะไม่ได้กระเด็นออกนอกประเทศไทยไปเสียทั้งหมด ยังมีเม็ดเงินบางส่วนอยู่ในไทยบ้าง แต่อาจจะได้น้อย ถือเป็นจุดที่ต้องบริหารจัดการให้ดี เพื่อให้คนไทยหรือคนในท้องถิ่นนั้นๆ ได้ประโยชน์ แต่ตราบใดที่ธุรกิจยังแข่งขันไปตามกฎหมาย เราคงไปห้ามอะไรไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการการแก้ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญล่าสุดนั้น กรมการท่องเที่ยวจะใช้กลไกของสถานทูตเข้ามาบริหารจัดการ ทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทั้งเปิดให้บริษัทนำเที่ยวตลาดจีนขึ้นทะเบียนคู่ค้าไทย-จีน (List of Tour Operator Companies) และจัดส่งบัญชีคู่ค้าดังกล่าวให้กับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแจ้งไปยังสถานทูตไทยในจีนทุกแห่งเพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติออกวีซ่าให้นักท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวจีนเลือกซื้อทัวร์กับบริษัทนำเที่ยวตามบัญชีรายชื่อ
ทั้งนี้ กรมฯ ได้เปิดลงทะเบียนบริษัทนำเที่ยวที่ทำธุรกิจคู่ค้ากับจีนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2566 มีบริษัทนำเที่ยวลงทะเบียนเพียง 100 บริษัท จาก 10,000 บริษัท โดยมีการประสานความร่วมมือกับกงสุลไทยในจีนคัดกรองอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ แผนระยะยาว เตรียมทำข้อตกลง (MOU) ในระดับรัฐบาลกับรัฐบาล โดยลงนามร่วมกับทางกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นวางแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งทัวร์ศูนย์เหรียญ ไกด์เถื่อน และธุรกิจนอมินี รวมถึงเรื่องความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และการคุ้มครองสิทธิของนักท่องเที่ยวจีน
“จากการหารือกับสถานทูตจีนในประเทศไทยบอกว่า ถ้าบริษัทจีนทำความเสียหายกับไทย เช่น ทิ้งทัวร์ ใช้ไกด์นอมินี ใช้ไกด์จีน ให้ส่งผู้กระทำผิดให้จีนด้วย รัฐบาลจีนจะใช้กฎหมายลงโทษด้วย ซึ่งน่าจะมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้กลัวกฎหมายไทย แต่กลัวกฎหมายจีน ดังนั้นหากไทยจับได้ว่ามากระทำความผิดในไทยก็ส่งให้ทางการจีนลงโทษ เพราะกฎหมายจีนมีโทษหนักกว่าไทย”นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าว
ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่าภาครัฐมีความร่วมมือกันระหว่างกรมตำรวจท่องเที่ยว กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กระทรวงพาณิชย์ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทั้งป้องปรามและการปราบปรากลุ่มทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่ลักลอบเข้ามาทำธุรกิจทัวร์นำเที่ยวแบบผิดกฎหมายในประเทศไทยต่อเนื่อง
ขณะที่ พล.ต.ต.อภิชาติ สุริบุญญา รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เปิดเผยถึงภาพรวมการท่องเที่ยวไทย หลังจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัว ทำให้มีกลุ่มนักธุรกิจและทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย ทัวร์ศูนย์เหรียญ ทั้งทัวร์อั้งยี่ นอมินี ไกด์เถื่อน และการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งมีทั้งจีน แต่รวมถึงยุโรปตะวันออก อเมริกาใต้ ที่แฝงมากับนักท่องเที่ยว โดยพบว่าเครือข่ายเหล่านี้กระจายอยู่ในพื้นที่เมืองหลัก อาทิ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต กรุงเทพฯ
ยอมรับว่าประเด็นเหล่านี้นี้ตำรวจท่องเที่ยวมีความกังวลอย่างมาก แต่ไม่เกินความคาดหมายว่าเครือข่ายเหล่านี้จะเข้ามาเมื่อการท่องเที่ยวฟื้นขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานเครือข่ายดังกล่าว เมื่อข้อมูลครบก็พร้อมทำการจับกุมทันที หากไม่ดำเนินการตามกฎหมาย เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทย เนื่องจากมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศไทยด้วย
โดยเฉพาะ “ทัวร์อั้งยี่” นับเป็นองค์กรอาชญากรรมที่มีการแบ่งสรรปันส่วน มีการวางแผน มีการแบ่งงานกันอย่างชัดเจน ถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
“การจับกุมกลุ่มคนเหล่านี้ จะต้องมีหลักฐานพร้อม เพราะอาชญากรข้ามชาติสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน มีการตั้งหลักก่อน มีเงิน มีทนายความ มีทางหนีทีไล่ รู้ช่องว่างทางกฎหมาย เป็นอาชญากรแบบมืออาชีพ (Professional Criminal) และไม่ได้มีแค่ในประเทศ แต่เป็นเครือข่ายทั่วโลก เพราะไม่มีประเทศใดที่ไม่มีทัวร์ศูนย์เหรียญ ไม่มีการฟอกเงิน ไม่มีไกด์เถื่อน แต่ทั้งหมดนี้ต้องรอบคอบ รีบร้อนไป ตำรวจอาจถูกฟ้องได้” พล.ต.ต.อภิชาติ สุริบุญญา รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับความเสียหายจากทัวร์อั่งยี่ 3 ด้าน คือ 1. กระบวนการยุติธรรมของไทยถูกท้าทาย เพราะทุกประเทศไม่ควรมีต่างชาติเข้ามาก่อคดีความในประเทศนั้นๆ เพราะมีความเสียหายในด้านความเชื่อมั่น 2. การมีทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย ทำให้เราไม่สามารถเก็บภาษีได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย คนไทยถูกแย่งอาชีพที่กำหนดไว้ให้เฉพาะคนไทยเท่านั้น และ 3. การท่องเที่ยวมีทั้งฝั่งซัพพลายและดีมานด์ ฝั่งซัพพลายอย่างผู้ประกอบการธุรกิจหากไม่มีใครมาแย่งอาชีพ สินค้าที่ผลิตโดยคนไทยก็สามารถขายได้ดี แต่หากมีคนต่างชาติเข้ามาแย่งผลิตและขายออก ก็ส่งผลกระทบให้การค้าขายไม่ดีเท่าเดิม
อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินตลาดนักท่องเที่ยวจีนเป็นพระเอกของภาคท่องเที่ยวไทยในปี 2566 คาดมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยมากเป็นอันดับ 1 จำนวนไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน และมีแนวโน้มปิดที่ 7 - 8 ล้านคน ขึ้นอยู่กับปริมาณเที่ยวบินในช่วงตารางบินฤดูหนาว 2566/2567 ซึ่งนักท่องเที่ยวจีน ดันยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวในเมืองไทยเพิ่มขึ้นแตะ 30 ล้านคนในปีนี้ สร้างรายได้รวม 2.38 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 80% ของภาวะปกติในปี 2562
โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยในไตรมาสแรกปี 2566 มีจำนวนกว่า 5 แสนคน จากภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยกว่า 6 ล้านคน ทำให้มั่นใจได้ว่าในไตรมาส 2 จะมีนักท่องเที่ยวจีนถึง 1 ล้านคน จากปัจจัยบวกการเพิ่มเที่ยวบินประจำและเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) โดยส่วนใหญ่กว่า 60% เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT)
แต่หากไม่สามารถจัดการกับปัญหาธุรกิจท่องเที่ยวแบบวงจรปิดที่กล่าวมา รายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอาจไม่เป็นไปตามเป้า