xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส่องสมรภูมิ Digital Payment หลัง “Dolfin” แพ้เกม “E - Wallet”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  การชำระเงินดิจิทัล หรือ Digital payment ของไทยเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด กลายมาเป็นทางเลือกหลักในการชำระเงิน หนุนเศรษฐกิจดิจิทัลเคลื่อนเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) อย่างรวดเร็ว โดย Digital 2021 Global Overview Report ระบุว่าการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking ของคนไทยครองแชมป์อันดับ 1 ของโลก


นอกจากนี้ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือน ก.ย. 2565 เผยว่ามีการใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Payment เพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ 400 รายการต่อคนต่อปี จากปี 2564 ที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 312 รายการต่อคนต่อปี โดยช่องทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ Internet & Mobile Banking ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 133 ล้านบัญชี มีปริมาณธุรกรรม 2,139 ล้านรายการ เพิ่มขึ้น 48.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยธุรกรรมที่เติบโตสูงคือ บริการชำระเงินผ่าน  “กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet)”  ซึ่งเป็นการชำระเงินของคนรุ่นใหม่ มีไลฟ์สไตล์ชอบความสะดวก รวดเร็ว ทำธุรกรรมได้แบบเรียลไทม์บนมือถือ โดยมีจำนวนผู้ใช้งานถึง 122.6 ล้านบัญชี ปริมาณธุรกรรม 302 ล้านรายการต่อเดือน เพิ่มขึ้น 38.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ E-Wallet เป็นธุรกรรมที่อัตราเติบโต แต่การปิดตัวของแพลตฟอร์ม E-Wallet อย่าง  “ดอลฟิน วอลเล็ต (Dolfin Wallet)”  ของเครือเซ็นทรัลฯ ยิ่งทำให้น่าสนใจว่าผู้เล่นที่อยู่รอดในสนาม E-Wallet เมืองไทย เป็นใครบ้าง และมีจุดแข็งดึงดูดลูกค้าให้มาใช้แพลตฟอร์ม E-Wallet ได้อย่างไร ซึ่งต้องยอมรับว่าการชำระเงินดิจิทัลการโอนเงินโดยตรงจากแอปพลิเคชันธนาคารต่างๆ ใช้งานง่ายสะดวกสบายกว่า

สำหรับ  “ดอลฟิน วอลเล็ต (Dolfin Wallet)”  ได้ประกาศยุติการให้บริการ ในวันที่ 15 มิ.ย. 2566 ไล่หลัง  “เจดี เซ็นทรัล (JD CENTRAL)”  แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซร่วมทุนใหญ่ที่ปิดตัวไปแล้วก่อนหน้า ดำเนินการภายใต้กลุ่มบริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้การร่วมทุนระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล และ JD.com/JD Digits ผู้นำธุรกิจฟินเทคและอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดของประเทศจีน เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ใช้ได้ที่ร้านค้าในกลุ่มเซ็นทรัลและร้านค้าชั้นนำอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม แม้แพลตฟอร์ม Dolfin Wallet จะยุติให้บริการ แต่ทาง “กลุ่มเซ็นทรัล” ก็ได้หันไปร่วมมือกับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดบริการซูเปอร์วอลเล็ตใหม่ที่ชื่อว่า  “เป๋าตังเปย์ (Paotang Pay)”  

 สำรวจผู้เล่นในตลาด E-Wallet หรือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ TrueMoney Wallet ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ผู้ใช้งานมากถึง 24 ล้านรายในปี 2564 ที่ผ่านมา รองลงมาคือ Rabbit LINE Pay นั้นมีผู้ใช้งาน 9.5 ล้านราย และอื่นๆ E-Wallet เฉลี่ยกันไป 

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ positioningmag.com ระบุถึงแพลตฟอร์ม E-Wallet ที่ครองตลาดยื่นหนึ่งเมืองไทยในปัจจุบัน อาทิ  “TrueMoney Wallet”  สตาร์ทอัพ Fintech ระดับยูนิคอร์น หรือ Ascend Money ซึ่งก่อตั้งโดย  ศุภชัย เจียรวนนท์  ตั้งแต่ปี 2558 ที่เริ่มจากการเติมเกม ปัจจุบันมีบริการที่หลากหลาย โดยให้บริการครอบคลุม 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มีผู้ใช้มากกว่า 50 ล้านรายทั่วภูมิภาค และสำหรับประเทศไทยมีฐานลูกค้ามากกว่า 27 ล้านราย มีจุดแข็งของ คือจุดชำระโดยเฉพาะสินค้าและบริการในเครือซีพี อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่นก็มีกว่า 13,000 สาขาทั่วประเทศ ปัจจุบันจุดรับชำระของแพลตฟอร์มมีกว่า 7 ล้านจุด มากสุดในประเทศไทย สามารถใช้จ่ายบนร้านค้าออนไลน์กว่า 1.3 ล้านร้านค้าทั่วโลก

 “Rabbit LINE Pay”  แพลตฟอร์มที่เกิดจาก LINE Thailand ร่วมมือกับทาง Rabbit Card หลังจากนั้นก็มี mPay แพลตฟอร์มบริการทางการเงินของ AIS จุดเด่นของ Rabbit LINE Pay คือการใช้งานผ่านแพลตฟอร์ม LINE ได้เลยโดยไม่ต้องโหลดแอปฯ เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตั๋ว BTS, ซื้อสินค้าใน LINE เช่น สติกเกอร์ รวมไปถึงร้านค้าชั้นนำต่าง ๆ ทั้งนี้ ตัวเลข ณ ปี 2021 Rabbit LINE Pay มีจำนวนผู้ใช้กว่า 8 ล้านราย ขณะที่ผู้ใช้งานไลน์ในปัจจุบันอยู่ที่ 53 ล้านราย

 “ShopeePay”  หรือชื่อเดิม AirPay แพลตฟอร์ม E-Wallet จาก Sea Group จุดเริ่มต้นเพื่อใช้เติมเกมในเครือ Garena ก่อนที่จะมารุกตลาดอีคอมเมิร์ซด้วยแพลตฟอร์ม Shopee และจากที่จุดเริ่มต้นของ AirPay ปัจจุบันเป็นเพย์เมนต์สำคัญของ Shopee จนในปี 2566 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ShopeePay เต็มตัว จุดเด่นหากช้อปปิ้งใน Shopee ก็จะสิทธิประโยชน์มากกว่าการจ่ายผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น ส่งฟรี เครดิตเงินคืน Coins เป็นนต้น สำหรับ ShopeePay ไม่มีการเปิดเผยถึงจำนวนผู้ใช้ในไทย แต่มีรายงานว่าทั่วทั้งภูมิภาคมีผู้ใช้รวมกว่า 23.2 ล้านคนในปี2565

 Paotang  พัฒนาโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับความนิยมจากการเป็นแพลตฟอร์มช่องทางในการรับการเยียวยาจากภาครัฐผ่านโครงการคนละครึ่ง ปัจจุบันผู้ใช้งานแอปเป๋าตังอยู่ 40 ล้านคน และมีมูลค่าธุรกรรมในบริการพื้นฐานต่าง ๆ สูงกว่า 1 แสนล้านบาท จุดเด่นนอกจากการใช้สิทธิมาตรการรัฐ ยังมี ร้านถุงเงิน ที่รับชำระผ่านเป๋าตังกว่า 1.8 ล้านร้านค้า รวมถึงสามารถซื้อ สลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ภายในแพลตฟอร์ม ล่าสุด เปิดตัว Paotang Pay ซึ่งเป็นอีกบริการ E-Wallet ใหม่บนแอปฯ เป็นต้น

โดยมีข้อมูลเปิดเผยว่าผู้ใช้งาน E-Wallet เกือบ 100% เลือกใช้เพราะโปรโมชั่น สะสม ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าการเพิ่มยอดผู้ใช้และปริมาณธุรกรรม นับเป็นหัวใจหลักในการต่อยอดทำเงินให้กับธุรกิจบริการชำระเงินออนไลน์

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าแนวโน้มการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้บริโภคไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง คาดว่าปี 2566 ปริมาณธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง Internet Banking, Mobile Banking, และ e-Money น่าจะมีสัดส่วนแตะร้อยละ 95 ของปริมาณธุรกรรมทั้งหมด  

ปัจจุบันกลุ่มผู้เล่นในธุรกิจบริการชำระเงินออนไลน์อยู่ 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มธนาคารที่เป็นผู้ให้บริการ Internet Banking หรือ Mobile Banking ซึ่งมีบทบาทในธุรกิจให้บริการชำระเงินออนไลน์ค่อนข้างมาก และ 2. ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) ที่เป็นผู้ให้บริการ E-Wallet

อ้างอิงสถิติด้านปริมาณการชำระเงินผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่พบว่า ไทยมีปริมาณการชำระเงินผ่านช่องทาง Online Payment ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมีสัดส่วนสูงมากถึงร้อยละ 92.4 ของปริมาณการชำระเงินทั้งหมด (ม.ค. – ก.ย. 2565) ขณะที่มีปริมาณการถอนเงินสดลดลง โดยในปี 2564 มีปริมาณการถอนเงินอยู่ที่ 2,211.9 ล้านรายการ ลดลงราวร้อยละ 9.3 จากปี 2563

ทั้งนี้ แนวโน้มการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้บริโภคไทยขยายตัวต่อเนื่อง ภายใต้การสนับสนุน 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความคุ้นชินกับการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ โดยเฉพาะการสแกน QR Code ผ่านโมบายแอปพลิเคชั่นของผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น Mobile Banking และ e-Wallet ขณะที่กลุ่มผู้ใช้ก็ขยายวงกว้างมากขึ้น ครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุที่อาจยังไม่เคยใช้งานมาก่อน จากเดิมที่อาจกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน

2. การขยายขอบเขตการให้บริการชำระเงินในสินค้าและบริการที่หลากหลายและครอบคลุมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงการทำโปรโมชั่นของกลุ่มผู้ให้บริการ e-Wallet อย่างต่อเนื่อง โดยมีการขยายการให้บริการไปยังสินค้าและบริการที่หลากหลายขึ้น นอกเหนือจากสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภค และบิลค่าสาธารณูปโภค อาทิ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการลงทุน ล็อตเตอร์รี่ เป็นต้น

และ 3. การสนับสนุนของภาครัฐจากนโยบายการพัฒนาระบบชำระเงิน ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินของ ธปท. ที่น่าจะเข้ามาสร้างบรรยากาศการแข่งขันให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยจะมีการผลักดันให้ลดการใช้เงินสดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งลดการใช้เช็คกระดาษให้เหลือไม่ถึงครึ่งของปริมาณการใช้ในปัจจุบัน (ภายใน 5 ปี)

 อย่างไรก็ตาม นอกจากแพลตฟอร์ม Dolfin Wallet ที่ยุติการให้บริการไปแล้ว ก่อนหน้านี้ ก็มี E- Wallet ที่ยกธงขาวออกจากสนาม อย่าง Blue Pay ซึ่งปิดตัวลงอย่างเงียบๆ เมื่อช่วงปี 2564 หากพิจารณาดูแล้วจะเห็นชัดเจนว่าผู้เล่นที่เหลือรอดมักเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ มีจุดบริการรับชำระเงินที่เป็นจุดแข็ง รวมทั้ง โปรโมชันสิทธิประโยชน์ต่างๆ ดึงดูดใจลูกค้า 


กำลังโหลดความคิดเห็น