xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บูม EVหนีน้ำมันแพง เจอค่าไฟมหาโหด รุกไล่รื้อใหม่ “โครงสร้างราคาพลังงาน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ทางเลือกของคนใช้ยวดยานพาหนะที่หันมาหายานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle - EV) เพื่อตอบโจทย์ลดภาระค่าน้ำมันที่ขึ้นเอาๆ ขณะที่บีโอไอก็ส่งเสริมการลงทุนส่งเสริม EV กว่าแสนล้านรองรับความต้องการที่พุ่งทะยาน ทว่าการหันมาพึ่งพลังงานไฟฟ้าก็เหมือน “หนีเสือปะจระเข้” เพราะค่าไฟฟ้าของไทยแพงระยับระดับยืนแถวหน้าในอาเซียน ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของภาคเอกชน สภาองค์กรของผู้บริโภคที่กดดันให้ปรับรื้อกันใหม่ทั้งระบบ 

ดัชนีชี้วัดเทรนด์ความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจากยอดจองในงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 ที่เพิ่งปิดฉากไป อยู่ที่ 9,234 คัน คิดเป็น 21.53% จากยอดจองรถยนต์ทั้งหมดภายในงาน 42,885 คัน เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มียอดจองรถ EV 10% ของยอดรวม สะท้อนการเติบโตอย่างรวดเร็วของยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐทำให้รถ EV มีราคาลดลง และเริ่มมีความเชื่อมั่นในมาตรฐานมากขึ้น บวกกับค่ายรถยนต์ต่างเปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ พร้อมอัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายที่น่าสนใจ

 ภายใต้นโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก กำหนดเป้าหมายที่ท้าทาย 30@30 ว่า ภายในปี ค.ศ.2030 หรือปี พ.ศ.2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ หรือประมาณ 725,000 คัน จากทั้งหมดประมาณ 2.5 ล้านคัน ทางกระทรวงการคลัง ให้เงินอุดหนุน ลดอากรนำเข้าและลดภาษีสรรพสามิตเพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 

 ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน EV ครบวงจร ครอบคลุมทั้งมาตรการส่งเสริมผู้ลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และมาตรการสร้างตลาดในประเทศ ซึ่งตัวเลขที่นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า ได้ส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ และสถานีชาร์จ คิดเป็นมูลค่ารวมแล้วกว่า 114,000 ล้านบาท 

การส่งเสริมกิจการยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ ถือเป็นอุตสาหกรรมมุ่งเป้าตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ของไทย โดยบีโอไอให้สิทธิประโยชน์กับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้า และเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนและอุปกรณ์ สถานีอัดประจุไฟฟ้าและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ซึ่งโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมแล้ว แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 กลุ่มแรก การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า มีโครงการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) รวมทั้งหมด 26 โครงการ จาก 17 บริษัท รวมมูลค่าเงินลงทุน 86,800 ล้านบาท เป็นการลงทุนของค่ายรถยนต์จากจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และยุโรป ในจำนวนนี้เป็นการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ หรือที่เรียกว่า BEV (Battery EV) จำนวน 15 โครงการ จาก 14 บริษัท กำลังการผลิตรวม 270,000 คัน ขณะนี้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทออกสู่ตลาดแล้ว 11 บริษัท

 กลุ่มที่สอง การผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า แบ่งเป็นการผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV 20 โครงการ จาก 13 บริษัท เงินลงทุน 9,400 ล้านบาท การผลิตแบตเตอรี่ความจุสูง สำหรับ EV และ Energy Storage 8 โครงการ จาก 8 บริษัท เงินลงทุน 9,300 ล้านบาท และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถไฟฟ้า เช่น Traction Motor ระบบริหารจัดการแบตเตอรี (BMS) ระบบควบคุมการขับเคลื่อน (DCU) ระบบและอุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้า 16 โครงการ จาก 14 บริษัท เงินลงทุน 5,120 ล้านบาท

 และกลุ่มที่สาม  กิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า มี 7 โครงการ จาก 7 บริษัท เงินลงทุน 4,200 ล้านบาท โดยมีหัวจ่ายไฟฟ้ารวม 11,300 หัวจ่าย ซึ่งเป็นแบบ Quick Charge กว่า 5,400 หัวจ่าย

นอกจากนี้ บีโอไอยังได้ให้การส่งเสริมโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับ EV อีกหลายโครงการ เช่น ซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงานของระบบในรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งติดตั้งใน Vehicle Control Unit (VCU) แพลตฟอร์มควบคุมและบริหารจัดการการเดินรถ (Fleet Management) แอปพลิเคชันสำหรับค้นหา จอง ชำระค่าบริการและบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น

เลขาฯ บีโอไอ ประเมินว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเดินหน้าอย่างรวดเร็วจากมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะรถยนต์ BEV เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยอดจดทะเบียนรถยนต์ BEV ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 สูงถึงกว่า 11,000 คัน เพิ่มขึ้น 8 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ๆ จากต่างชาติได้ทยอยเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย ทั้งผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก เช่น MG, Great Wall Motor, BYD, NETA, Foxconn ล่าสุดคือ GAC AION จากจีนที่ได้หารือกับบีโอไอและกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศไทย โดย GAC AION ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ EV ในไทยให้ได้ 100,000 คันต่อปี และยังวางแผนขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการผลิตแบตเตอรี่

 ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์  คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงทิศทางของการใช้รถ EV โดยเฉพาะที่เป็น BEV ในประเทศไทยว่า ปัจจุบันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เรียกว่า BEV ในประเทศไทย ถือเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มประเทศอาเซียน หากมีรถ BEV วิ่งอยู่ 100 คัน บนถนนทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน จะมีถึง 60 คัน ที่วิ่งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีรถ BEV ใหม่ประมาณ 10,000 คัน แต่คาดว่าปี 2566 นี้จะไม่ต่ำกว่า 40,000 คัน

เหตุผลความนิยมของรถ BEV ในประเทศไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นมาก และนโยบายการส่งเสริมของรัฐบาลทำให้คนไทยมีโอกาสเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น แต่ทว่าพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการใช้งานนั้นยังจำกัด เนื่องจากสถานีชาร์จมีจำกัด โดยช่วงต้นปี 2566 นี้มีประมาณ 1,000 กว่าแห่งเท่านั้น และราวๆ 40% ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล

ทั้งนี้ ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง EV ของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด จาก 570 คัน ในปี 2562 เป็น 9,678 คัน ในปี 2565 โดย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า ยอดขายรถยนต์นั่ง EV ในปี 2566 จะอยู่ที่ 40,812 คัน หรือ ขยายตัว 321.7% YoY ตามการนำเข้ารถยนต์ EV แบรนด์ยอดนิยมจากจีนผ่านสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) เป็นหลัก อีกทั้งบางส่วนยังได้ส่วนลดเพิ่มเติมหลังค่ายผู้ผลิตเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งมีเงื่อนไขผูกพันที่จะต้องลงทุนผลิตรถยนต์ EV ในประเทศให้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

สำหรับปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพง เป็นเรื่องใหญ่ที่ภาคเอกชนเรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนมาโดยตลอด ล่าสุด นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เผยหลังการประชุม กกร.ประจำเดือน เม.ย. เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า เรื่องที่ภาคเอกชนกังวลคือระดับราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้นหลังโอเปคพลัสปรับลดกำลังการผลิต และค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 66 ที่เฉลี่ย 4.77 บาทต่อหน่วย ซึ่งกกร.ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 7 เม.ย. ขอให้ทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปรใหม่เพื่อลดภาระภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

เหตุผลที่ภาครัฐควรทบทวนค่าเอฟทีใหม่ กกร. มองว่าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่มีราคาต่ำจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น และราคาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ควรอ้างอิงแผนนำเข้าช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. แทนช่วงเดือน ม.ค.และแผนการชำระหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากเดิมที่มีแผนคืนให้ในระยะเวลา 3 ปี (ตามงวด 1/2566) ซึ่งเปลี่ยนมาเป็น 2 ปี (ตามงวด 2/2566) อาจเร็วไป กกร.จึงเสนอให้คงระยะเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ. เป็นระยะ 3 ปี ตามงวด 1/2566

นอกจากนี้ ขอให้ภาครัฐเร่งจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานต่างๆ เพื่อให้สามารถบรรเทาผลกระทบต่อทุกภาคส่วนตามที่เคยหารือกับรัฐบาลเพื่อให้การพิจารณาต้นทุนค่าพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟได้มีการตกผลึกก่อนที่จะประกาศออกมาแล้วเกิดการไม่ยอมรับ

 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี ชี้ว่า ค่าไฟฟ้าของไทยที่แพงกระทบความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งระยะสั้น กลางและยาว ค่าไฟฟ้าควรลดลงมาอยู่ในระดับ 2.5-3.5 บาทต่อหน่วยกิโลวัตต์ชั่วโมงในระยะยาว ส่วนระยะสั้นต้องกดไม่ควรเกิน 3.50- 4 บาทต่อหน่วยกิโลวัตต์ชั่วโมง เพราะค่าไฟฟ้าแพงจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเข้มข้น ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน ไทยมีค่าไฟฟ้าไฟฟ้าที่แพงกว่ามาก โดยราคาค่าไฟฟ้าในอินโดนีเซียอยู่ที่ 3.22 บาทต่อหน่วยกิโลวัตต์ชั่วโมง เวียดนามอยู่ที่ 2.74 บาทต่อหน่วย มาเลเซียอยู่ที่ 1.78 บาทต่อหน่วย ส่วนลาวอยู่ที่ 1.19 บาทต่อหน่วย เมียนมาอยู่ที่ 1 บาทต่อหน่วยกิโลวัตต์ชั่วโมง

รศ.ดร.อนุสรณ์ เสนอว่าที่รัฐบาลควรทำ คือทบทวนสัญญาสัมปทานการผลิตและการรับซื้อไฟฟ้าทั้งระบบโดยเฉพาะจากเอกชนรายใหญ่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาในทันทีและอยู่ในระดับที่ไม่แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนมากเกินไป

 ต้องติดตามดูว่ากระแสเรียกร้องให้แก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงโดยลงลึกถึงการปรับโครงสร้างกิจการพลังงานทั้งระบบ รวมถึงการปลดล็อก “ภาระสัญญาทาส” ที่ผูกมัดล่วงหน้านั้น จะได้รับการแก้ไขหรือไม่ในรัฐบาลชุดหน้า .... เลือกตั้ง 14 พ.ค.นี้คือวันชี้ชะตา 


กำลังโหลดความคิดเห็น