xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ตัวเต็ง”กะ “ตัวตึง” ฟอร์ม “นายกฯ นิด” ขี่ “นายกฯ อิ๊ง” ปม “ทักษิณ” กลับบ้านชี้เป็น-ตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เปิดหน้า เปิดตัวกันครบถ้วนแล้วสำหรับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่แต่ละค่ายการเมืองส่งเข้าประกวดในศึกเลือกตั้ง 2566
โดยมีเจ้าของเก้าอี้เดิมอย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ลงรักษาตำแหน่ง พร้อมพ่วงเอา “เสี่ยตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค มาอยู่ในบัญชีของพรรคด้วย

ที่เหลือก็เป็นบรรดา “ผู้ท้าชิง” อันประกอบไปด้วย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ, “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย, “เสี่ยอู๊ด” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากพรรคประชาธิปัตย์, “เสี่ยท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยพัฒนา, “บิ๊กตู่ใหญ่” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส จากพรรคเสรีรวมไทย, “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล

“เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ - “เสี่ยเชน” สุพันธุ์ มงคลสุธี - “ผู้พันปุ่น” น.ต.ศิธา ทิวารี จากพรรคไทยสร้างไทย, “วันนอร์” วันมูหะมัดนอร์ มะทา - “บิ๊กวี” พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จากพรรคประชาชาติ, สุวัจน์ ลิปตพัลลภ - กรณ์ จาติกวณิช - เทวัญ ลิปตพัลลภ จากพรรคชาติพัฒนากล้า, “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จากพรรคไทยภักดี, นพ.เรวัศ วิศรุตเวช - ร.อ.จารุพล เรืองสุวรรณ จากพรรคเพื่อชาติ

และที่ถูกจับตามองมากที่สุดไม่พ้น “ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย ที่ส่งครบ 3 รายชื่อตามที่กฎหมายกำหนด ประกอบด้วย “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร - “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน และชัยเกษม นิติสิริ

นอกจากนี้ยังมีพรรคอื่นๆ ที่ส่งชื่อแคนดิเดตนายกฯร่วมเป็นสีสันอีกนับสิบชีวิต ที่พอเป็นที่รู้จักก็มีอาทิ “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล จากพรรคไทยชนะ, “เฮียเต้” มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ จากพรรคไทยศรีวิไลย์, “มาร์ค พิทบูล” ณัชพล สุพัฒนะ จากพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย

ซึ่งว่ากันตามเนื้อผ้าต้องบอกในจำนวนนี้มีที่ได้ลุ้นเก้าอี้ผู้นำประเทศเพียงไม่กี่ราย เพราะมีเงื่อนไขแรกที่พรรคที่ส่งชื่อต้องได้จำนวน ส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 ที่นั่ง จึงมีสิทธิ์เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งในข่ายที่ว่านี้ คงมีเพียง พรรคเพื่อไทย, พรรคภูมิใจไทย, พรรคก้าวไกล, พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ เท่านั้นที่น่าจะมีศักยภาพพอจะปั้นจำนวน ส.ส.ให้ได้ถึงเกณฑ์ที่ว่า

ขนาด “ค่ายลุงตู่” พรรครวมไทยสร้างชาติ เองวันนี้ก็ยังถูกปรามาสเลยว่า จะได้ ส.ส.ถึง 25 เสียงหรือไม่

เงื่อนไขสำคัญถัดมา เมื่อได้รับการเสนอชื่อในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ก็ยังต้องได้รับเสียงสนับสนุนถึง 376 เสียงจาก 750 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 500 เสียง และ ส.ว. 250 เสียง

อันเป็นสาเหตุให้ “พรรคเพื่อไทย” ปรับเป้าหมายแลนด์สไลด์จากเดิมที่ต้องการกึ่งหนึ่งของสภาฯ หรือ 250 เสียง เพิ่มเป็น 310 เสียง นัยว่าจะเป็นฉันทามติให้พรรคอื่น หรือ ส.ว.เองต้องโหวตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย

และด้วยความที่ยังมี “พรรค ส.ว.” อยู่นี่เองที่ทำให้ ชื่อของ “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ที่เป็นผู้ทำคลอด ส.ว.มากับมือ ยังติดโผตัวเต็งที่จะได้เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง

ตามรูปการณ์ที่ว่าไป อาจพูดได้ว่าทมีเพียง 3 แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย และ “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ที่อยู่ในข่ายชิงชัยเก้าอี้ผู้นำประเทศกัน

และอาจจะมีเพียง “เสี่ยหนู-อนุทิน” เป็นตัวสอดแทรก หาก “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย สามารถโกยที่นั่ง ส.ส.มาเป็นกอบเป็นกำ 120 ที่นั่ง ตามที่ “ครูใหญ่เน” เนวิน ชิดชอบ ผู้สนับสนุนพรรคอย่างเป็นทางการ เคยประกาศไว้ หรืออย่างน้อยๆ ต้องเป็นที่ 1 ของฝ่ายอำนาจปัจจุบัน เพื่อส่ง “เสี่ยหนู” น้องเลิฟนอกไส้ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

เศรษฐา ทวีสิน แพทองธาร ชินวัตร ชัยเกษม นิติสิริ 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

ทักษิณ ชินวัตร ประกาศหยุดจ้อยาว
หากประเมิน “โมเมนตัม” ทางการเมืองขณะนี้ ก็ต้องยอมรับว่า ทิศทางลมยังไม่พัดมาทางฝ่ายอำนาจเก่า ทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ต้องบอกว่า “บิ๊กตู่” ยังออกแอกชันไม่มากพอ ทำให้ต้นทุนคะแนน “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” ที่มีอยู่ยังไม่กระเตื้องเท่าที่ควร หมุดหมายที่จะลงไปปักธงที่ภาคใต้ ก็เจอ “เจ้าถิ่น” พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศทุบหม้อข้าวสู้ตาย

ทำให้แนวโน้มจำนวน ส.ส.ที่พอคาดหวังได้ของ “ค่ายลุงตู่” ยังดูไม่พ้น 50 ที่นั่ง ซึ่งว่ากัน “ตามหลักการ” คงไม่เพียงพอที่จะส่ง “บิ๊กตู่” รักษาแชมป์อีกสมัย

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ที่พยายามวางโพซิชัน “บิ๊กป้อม” ในฐานะ “มิสเตอร์ก้าวความขัดแย้ง” ก็ต้องถือว่า ยังไม่เปรี้ยงเท่าแคมเปญ “เลือกสงบจบที่ลุงตู่” ที่เคยทำสำเร็จมาแล้วเมื่อการเลือกตั้งปี 2562

อีกทั้งบรรดา “บ้านใหญ่” ก็ร่อยหรอลงไปพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นขุนพลที่เฮโลไปอยู่กับ “น้องตู่” หรือประเภทข้ามสายพันธุ์กลับรังเก่า พรรคเพื่อไทย อย่างกลุ่มชลบุรี กลุ่มสามมิตร หรือกลุ่มบ้านริมน้ำ

ทำให้พื้นที่ที่ “ค่ายลุงป้อม” พอจะเล็งเห็นผลก็อยู่ที่ราวไม่เกิน 50 ที่นั่งเช่นกัน เป็นเหตุให้มีการเปิดขั้วการเมืองใหม่กับ “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย ที่คาดว่าจะได้ ส.ส.อยู่ที่ราว 70 ที่นั่งไว้ล่วงหน้า

หากพิเคราะห์ในซีกอำนาจเก่า ก็ต้องบอกว่า ขั้ว “พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย” ที่รวมกันน่าจะเกิน 100 ที่นั่ง ดูน่าฝากความหวังได้มากกว่า “ค่ายลุงตู่” ที่กระแสฟีเวอร์ยังไม่มา

ตามโมเมนตัมที่ว่าไปก็เลยต้องยกให้ “ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย น่าจะแบเบอร์คว้าที่ 1 ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง เพียงแต่ว่าต้องลุ้นหนักว่าเพียงพอที่จะได้จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่เท่านั้น ด้วยมีการประเมินว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 200 ที่นั่ง แต่การจะไปถึง 300 หรือ 310 ที่นั่งนั้นค่อนข้างเป็นไปได้ยาก

ไม่เพียงแต่มีขั้วตรงข้ามเป็นอุปสรรคเท่านั้น ที่มองว่าเป็นฝ่ายเดียวกันอย่าง “ค่ายสีส้ม” พรรคคก้าวไกล ก็เป็นอุปสรรคสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะการชิงธงนำ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่ต้องยอมรับว่า พรรคก้าวไกล มีความโดดเด่นกว่า ซึ่ง “บิ๊กก้าวไกล” ก็หมายที่จะเจาะคะแนนเสียงตรงนี้

เห็นได้จากการที่ “จารย์ป๊อก”ปิยบุตร เสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล รับน้อง “ชัยเกษม” ทันทีที่เปิดตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯคนที่ 3 ของพรรคเพื่อไทยทันทีว่า “เหม็นขี้ฟัน”

ด้วยรู้ว่า พรรคเพื่อไทย วางตัว “ชัยเกษม” เป็นแคนดิเดตนายกฯ แทนที่จะเป็น “หมอชลน่าน” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค หรือ “หมอมิ้ง” นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุรีย์เดช หัวหน้าทีมเศรษฐกิจและนโยบาย ก็เพราะต้องการ “สัญลักษณ์” การต่อสู้กับฝ่ายประชาธิปไตย





 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายอนุทิน ชาญวีรกูล อีก 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มีโอกาสเข้าป้าย
ย้อนไปครั้งที่ “พล.อ.ประยุทธ์” นำทัพคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ “รับบาลปู” เมื่อ 22 พ.ค.2557 ก็เป็น “ชัยเกษม” ที่ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลที่เข้าไปเจรจากับฝ่ายต่างๆ ที่เป็นผู้ปฏิเสธข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลลาออก เป็นเหตุให้ “บิ๊กตู่” ทุบโต๊ะก่อนประกาศยึดอำนาจทันที

การปราศรัยครั้งแรกของ “ชัยเกษม” ในฐานะแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย จึงเน้นไปที่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม บนหลักการนิติรัฐ-นิติธรรม พร้อมประกาศถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อให้เป็นประโยชน์ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชนป้องกันรัฐประหารให้เป็นความผิดฐานเป็นกบฏ ไม่มีกำหนดอายุความ

การชู “ชัยเกษม” ขึ้นมาในครั้ง ถือเป็นความพยายามในการชิงธง “ฝ่ายประชาธิปไตย” กลับคืนจากพรรคก้าวไกล เป็นเหตุให้ “ปิยบุตร” ต้องโร่ออกมาดิสเครดิตทันทีว่า ไม่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทย จะทำจริงนั่นเอง

อย่างไรก็ดีแม้จะชู “ชัยเกษม” ขึ้นมาเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ แต่ก็เชื่อได้เลยว่า ไม่ใช่ “ตัวจริง” ที่จะได้รับการโปรโมทขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งอย่างแน่นอน เพราะต้องถือว่า “แพทองธาร-เศรษฐา” มีแนวโน้มจะเป็นตัวจริงมากกว่า

ซึ่งเดิมทีมีการคาดหมายว่า “อุ๊งอิ๊ง”ที่เปิดตัวเป็นคนแรก เป็น “เต็งจ๋า” ในการสานต่อเก้าอี้นายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศ ในฐานะ “สายเลือดชินวัตร”
โดยบทบาทของ “ลูกอิ๊ง” ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่ใช้สายเลือด และความละม้ายคล้าย “ป๊าษิณ” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ อย่างกับแกะ ในการระดมพล “ติ่งทักษิณ-คนเสื้อแดง” ที่เอาใจออกห่าง “ค่ายดูไบ” กลับมาเป็นกองหนุนพรรค พร้อมกับมีกองหนุนชั้นดีอย่าง “เสี่ยเต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในฐานะผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย

ซึ่งระยะเวลาปีกว่าที่ผ่านมาของ “แพทองธาร” ก็ต้องบอกว่า “สอบผ่าน”

แต่ “เซียนการเมือง” อย่าง “ทักษิณ” รู้ดีว่า หากส่ง “ลูกอิ๊ง” ขึ้นเป็นนายกฯ ก็สามารถทำได้ จากคะแนนนิยมผ่านสำนักโพลต่างๆ ที่เริ่มให้การยอมรับ “ลูกทักษิณ” คนนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในทางกลับกันก็อาจเป็นการท้าทาย “ฝ่ายอำนาจ” มากเกินไป ด้วยวัยวุฒิ-คุณวุฒิ ที่ยังสร้างการยอมรับจาก “ทุกชนชั้น” ไม่ได้

เหมือนครั้งหนึ่งที่ส่ง “น้องปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้จะชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ก็ยังถูกค่อนขอดถึงความรู้ความสามารถมาจนถึงปัจจุบัน

จึงมีการมองกันว่า “ลูกอิ๊ง” เป็นเพียง “ตัวหลอก” ในการดึงแฟนคลับชินวัตร-คนเสื้อแดง กลับมา ซึ่งนับถึงขณะนี้ถือว่า บรรลุเป้าหมายพอสมควรแล้ว บวกกับส่วนตัว “มาดามอิ๊ง” ที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 ได้ 8 เดือน มีกำหนดคลอดช่วงปลายเดือน เม.ย.66 แม้จะประกาศจะมาร่วมเวทีหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 แต่ในฐานะคงไม่สะดวกหากจะมาทำหน้าที่นายกฯ หลังเลือกตั้ง

ซึ่งตัว “คุณแม่อิ๊ง” เอง ก็เปรยในหลายวาระว่า เลือกที่จะทำบทบาท “คุณแม่ฟูลไทม์” มากกว่า

และหากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ได้จัดตั้งรัฐบาล กลับมายึดอำนาจรัฐได้จริง ด้วยอายุของ “อุ๊งอิ๊ง” ที่ยังถือว่ามีเส้นทางการเมืองอีกยาวๆ หากจะขึ้นเป็นนายกฯหลังจากนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องยาก

อันเป็นเหตุให้ความโดดเด่นตกมาอยู่ที่ “เสี่ยนิด-เศรษฐา” ผู้ได้รับการยอมรับจากภาคธุรกิจ ในฐานะผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศ สังเกตได้จากการจัดคิวขึ้นปราศรัยบนเวทีของพรรคเพื่อไทย ในช่วงเดือนเศษหลังจากที่ “เศรษฐา” เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ที่สะท้อนถึงการจัดลำดับความสำคัญที่เปลี่ยนไป

ชัดๆ กับเวทีเปิดตัว 3 แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ที่ธันเดอร์โดม สเตเดียม เมืองทองธานี เมื่อ 5 เม.ย.66 ท่ามกลางบรรยากาศยิ่งใหญ่อลังการราวกับชนะเลือกตั้งแล้ว สปอตไลท์สาดส่องไปที่ “เศรษฐา” ที่ไม่เพียงแต่เป็นผู้ปราศรัยปิดเวที แต่ยังเป็นผู้ประกาศนโยบายเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ให้แก่ผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป

นัยไม่เพียงแต่ให้ “เศรษฐา” ประกาศ “นโยบายเรือธง” ที่จะใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้เท่านั้น แต่ยังใช้ชื่อ “เศรษฐา” ที่เคยป๊อปปูลาร์ในช่วง “ม็อบสามนิ้ว” ในการเรียกแต้มจาก “คนรุ่นใหม่” ด้วย

 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ก็พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีสิทธิลุ้น แต่โอกาสมีน้อยถึงน้อยมาก
เพราะเป็นนโยบายที่ไม่ใช่แค่ “ซูเปอร์ประชานิยม” ทั่วไป ยังเล็งเห็นผลในการเจาะ “กลุ่มเยาวรุ่น” อายุ 16 ปีขึ้นไป ที่แม้ช่วงอายุ 16-17 ปี จะยังไม่ถึงวัยมีสิทธิเลือกตั้ง แต่กินไปถึงเยาวชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ถือว่าเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคก้าวไกล ให้กลับมาเทคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทย พร้อมทั้งยังเป็นการปูทางเพื่ออนาคตตึงฐานเสียงว่าที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้สำหรับอนาคตข้างหน้าด้วย

แม้นโยบายเปย์แหลกแจกคนละหมื่น จะสุ่มเสี่ยงเข้าข่าย “สัญญาว่าจะให้” ผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่ก็เป็นการเสี่ยงเพื่อเป้าหมาย “แลนด์สไลด์” ของพรรคเพื่อไทย ในการคว้าชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ตามโมเมนตัมที่ไล่เรียงมา ต้องบอกว่า หากเปิดคูหาเลือกตั้งวันนี้พรุ่งนี้ พรรคเพื่อไทยคงคว้าชัยชนะได้ไม่ยาก และหากได้ตั้งรัฐบาล และตั้งนายกฯ ก็ต้องยกให้ “เสี่ยนิด-เศรษฐา” มีภาษีดีที่สุดในการเป็น “ตัวเต็ง” นายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย เหนือกว่า “คุณแม่อิ๊ง” ที่อาจต้องเฟดไปทำหน้าที่ดูแลลูกน้อย ก่อนกลับสู่สังเวียนการเมืองในโอกาสที่เหมาะสม

อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทยก็ยังมีปม “ตัวตึง” อย่าง “ทักษิณ” ค้างคาอยู่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ประกาศกับสื่อต่างชาติว่า พร้อมที่จะกลับมารับโทษจำคุกที่ประเทศไทย แต่ไม่ได้ระบุวัน ว. เวลา น.

หลังคำประกาศของ “ทักษิณ” ก็มีการวิเคราะห์ไปว่า ที่ต้องประกาศเช่นนั้น เพราะประเมินว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถทำแต้มแลนด์สไลด์ให้ชนะขาด จึงต้องยอม “กลืนเลือด” เอาตัวเองเข้าแลก เพื่อสร้างคะแนนเสียงเพิ่มเติมให้กับพรรค

เพราะเชื่อกันว่าหาก “ทักษิณ” เลือกกลับประเทศไทย และเข้าสู่กระบวนการนุติธรรมก่อนการเลือกตั้ง จะส่งให้คะแนนเทมาที่พรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน ซึ่ง “ทักษิณ” ก็รู้ดีว่า ความเคลื่อนไหวของตัวเองส่งผลทั้งบวกทั้งลบต่อคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทย จึงประกาศเว้นวรรคไม่จัดรายการคลับเฮ้าส์ หรือให้สัมภาษณ์อีกในช่วงนี้

ท่ามกลางกระแสข่าวมีการวางแผนตระเตรียมล่วงหน้า กรณี “สมศักดิ์ เทพสุทิน” สมัยเป็น รมว.ยุติธรรม แก้ไขกฎกระทรวงเพื่อรองรับการกลับประเทศของ “ทักษิณ” เพื่อให้ไม่ต้องติดคุกในเรือนจำ แต่อาจใช้สถานคุมขังอื่นตามกฎกระทรวง เช่น บ้านพัก หรือ โรงพยาบาล ได้ ก่อนที่ “สมศักดิ์” จะลาออกจาก รมว.ยุติธรรม และย้ายกลับมาอยู่กับพรรคเพื่อไทย

อีกทั้งยังมี “ชัยเกษม” อดีตอัยการสูงสุด และอดีต รมว.ยุติธรรรม ที่ถือเป็น “เต้ยด้านกฎหมาย” คนหนึ่งของประเทศ ช่วย “คัดท้าย” ให้อีกแรง

ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า “ทักษิณ” คิดจะกลับเมืองไทยจริง เพียงแต่จะกลับมาก่อนการเลือกตั้ง สร้างกระแสแลนด์สไลด์ถล่มทลาย หรือ “เพลย์เซฟ” หลังการเลือกตั้ง ที่พรรคเพื่อไทยถืออำนาจรัฐแล้ว

และจะเลือกกลับมาเข้าสู่กระบวนยุติธรรม หรือจะขอกลับแบบเท่ๆ เหมือนที่เคยพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมช่วง “รัฐบาลน้องปู” จนเป็นเหตุให้ถูกยึดอำนาจยาวนานมาเกือบ 10 ปี

ปมเงื่อนที่แกะไม่ออกอย่างกรณี “ทักษิณ” นี่เอง ที่เป็นเรื่องน่าคิดหนักกว่าการจะชนะหรือไม่ชนะเลือกตั้ง เพราะแม้จะชนะ และมีว่าที่นายกฯ ฟอร์มดีอย่าง “เศรษฐา” แต่หาก “นายใหญ่” ยังจมไม่ลง ขอกลับบ้านแบบเท่ๆ ท้าทายกระบวนการยุติธรรมอีก

กงล้อประชาธิปไตยไทยก็คงวนลูปไม่ต่างจากเดิม.




กำลังโหลดความคิดเห็น