"ปัญญาพลวัตร"
ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีและการจัดลำดับตัวบุคคลลงใน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเป็นภาพสะท้อนเกี่ยวกับวิธีคิดและการให้คุณค่าทางการเมืองของพรรคการเมืองหนึ่ง ๆ บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของพรรคการเมืองนั้น และทำให้เราสามารถประเมินได้อย่างสังเขปว่าแนวโน้มการตัดสินใจและการแสดงจุดยืนของพรรคการเมืองนั้นจะมีทิศทางอย่างไรในอนาคต และอีกประการหนึ่งคือสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างอำนาจและพลังอำนาจของกลุ่มฝักฝ่ายในพรรคการเมืองนั้นด้วย
พรรคการเมืองเกือบทั้งหมด ยกเว้นพรรคเพื่อไทยและพรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอชื่อหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามบรรทัดฐานของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา กล่าวคือหากพรรคใดได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หัวหน้าพรรคนั้นย่อมได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนบุคคลที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง มีโอกาสน้อยมากที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะวิถีประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเป็นเช่นนั้น และถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานของประเทศที่ใช้รูปแบบการเมืองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
ในประเทศไทย พรรคการเมืองที่ไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานนี้เป็นพรรคแรกคือ พรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งเลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แทนที่จะเป็นนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคในขณะนั้น หลังจากนั้นพรรคเพื่อไทยยึดวิธีการนี้เป็นแนวปฏิบัติของพรรคอย่างต่อเนื่อง ดังในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ไม่ได้เสนอชื่อ พลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคขณะนั้น ลงในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค กลับเสนอชื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัยเกษม นิติสิริ และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แทน เช่นเดียวกันในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้เสนอชื่อนายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ลงในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี แต่กลับเสนอ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายเศรษฐา ทวีสิน และนายชัยเกษม นิติสิริ แทน
นอกเหนือจากพรรคเพื่อไทยแล้ว มีพรรคการเมืองใหญ่อีกพรรคหนึ่งที่ถือปฏิบัติแนวทางนี้ นั่นคือพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แทนที่จะเสนอนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคพลังประชารัฐได้หันกลับมาใช้บรรทัดฐานของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยเสนอชื่อพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค
ในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคการเมืองส่วนใหญ่มักเสนอชื่อหัวหน้าพรรคคนเดียวลงในรายชื่อผู้เป็นนายกรัฐมนตรี เช่น พรรคก้าวไกลเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคประชาธิปัตย์เสนอชื่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคเสรีรวมไทยเสนอชื่อพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส แต่ก็มีพรรคบางพรรคที่เสนอชื่อบุคคลอื่นพร้อมกับหัวหน้าพรรคด้วย เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นสมาชิกของพรรค กับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรี
พรรคใดที่เสนอชื่อหัวหน้าพรรคเพียงคนเดียวเป็นนายกรัฐมนตรีถือได้ว่าพรรคนั้นมีความเป็นเอกภาพภายในระดับหนึ่ง และถือปฏิบัติตามโครงสร้างอำนาจที่เป็นทางการ นั่นคือ หัวหน้าพรรคเป็นบุคคลสำคัญที่สุดของพรรค ซึ่งเป็นไปตามวิถีปฏิบัติขององค์กรทั่วไปที่มีความโปร่งใสในการบริหารงาน และไม่มีพลังอำนาจซ่อนเร้นภายในที่สร้างการเบี่ยงเบนบรรทัดฐานที่พึงจะเป็นเช่นนี้
ส่วนกรณีที่พรรคใดมีการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีหลายคน และหนึ่งในนั้นมีหัวหน้าพรรครวมอยู่ด้วย สามารถตีความได้หลายแบบ อย่างแรกคือ ภายในพรรคมีขั้วอำนาจหลายขั้ว และมีการเจรจาต่อรองกัน ผลลัพธ์จึงออกมาในเชิงการประนีประนอมด้วยการเสนอชื่อของตัวแทนขั้วอำนาจภายในพรรคเป็นบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี อย่างที่สอง พรรคมีขั้วอำนาจเดียวและมีบุคคลที่ทรงอำนาจอำนาจสูงสุดภายในพรรค แต่บุคคลนั้นไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค บุคคลดังกล่าวจะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี แต่อาจมีเงื่อนไขพิเศษบางประการที่เป็นข้อจำกัดของบุคคลนั้น จึงทำให้พรรคต้องส่งรายชื่อหัวหน้าพรรคเป็นหนึ่งในตัวเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจมากที่สุด แม้ไม่เป็นหัวหน้าพรรค แต่ในช่วงแรกมีข่าวเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าเป็นบุคคลเดียวที่จะได้รับการเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรค ต่อมากลับมีชื่อของนายพีระพันธุ์ เพิ่มขึ้นมา ทั้งนี้ คงไม่ใช่ว่าพรรคจะตระหนักถึงหลักการและบรรทัดฐานของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่เป็นไปได้สูงที่มาจากเหตุผลเรื่องข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ที่หากได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ก็สามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงแค่สองปีเท่านั้น ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญปี 2560
ส่วนพรรคการเมืองใดที่ไม่มีหัวหน้าพรรคเป็นผู้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี สะท้อนว่าพรรคการเมืองนั้นย่อมมีอำนาจซ่อนเร้นแอบแฝงดำรงอยู่ภายในพรรค หรืออาจอยู่ภายนอกพรรคก็ได้ ส่วนหัวหน้าพรรคเป็นเสมือนสัญลักษณ์หรือหุ่นเชิดของบุคคลหรือกลุ่มคนที่ชักใยบงการอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจแท้จริงภายในพรรค
ด้านการจัดลำดับผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต่าง ๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่บ่งบอกตัวตนและทิศทางการเมืองของพรรค ระบบบัญชีรายชื่อพรรคถูกสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมการเป็นตัวแทนแบบสัดส่วนในการเลือกตั้ง ซึ่งช่วยให้ประชาชนจากหลากหลายกลุ่มมีโอกาสไปเป็นตัวแทนในรัฐสภามากขึ้น
ในระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ผู้สมัครแต่ละคนจะแข่งขันกันในเขตที่มีจำนวนที่นั่งจำกัด และผู้ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดจะได้รับเลือกตั้ง ซึ่งมักจะส่งผลให้เกิดสถานการณ์แบบผู้ชนะรับทั้งหมด ซึ่งผู้สมัครจากพรรคหรือกลุ่มที่มีอำนาจเหนือกว่ากลุ่มหนึ่งอาจชนะที่นั่งทั้งหมดในเขต โดยไม่เหลือตัวแทนสำหรับพรรคอื่นที่ได้คะแนนน้อยกว่า
ด้วยระบบบัญชีรายชื่อพรรค ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองแทนที่จะเป็นผู้สมัครรายบุคคล และแต่ละพรรคจะได้รับที่นั่งตามสัดส่วนของจำนวนเสียงที่ได้รับ สิ่งนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าแม้แต่พรรคเล็ก ๆ หรือพรรคกลุ่มชนกลุ่มน้อยก็มีโอกาสที่จะได้เป็นตัวแทนในรัฐบาล ทำให้สะท้อนความคิดเห็นและมุมมองที่หลากหลายในสังคมได้แม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ระบบบัญชีรายชื่อพรรคยังมีประโยชน์ในการเพิ่มการมีส่วนร่วมของกลุ่มที่มีอำนาจและบทบาทน้อยกว่าในทางการเมือง เช่น ผู้หญิง ผู้ด้อยโอกาส หรือชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ พรรคการเมืองสามารถรวมกลุ่มเหล่านี้ไว้ในรายชื่อพรรค เพื่อให้มั่นใจว่าเสียงของพวกเขาจะได้ยินและเป็นตัวแทนในรัฐสภา หลักการฐานคิดของระบบบัญชีรายชื่อจึงทำหน้าที่เป็นวิธีการส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง โดยจัดให้มีระบบที่ยุติธรรมและเป็นตัวแทนสำหรับทุกกลุ่ม
ทว่าการจัดรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองในประเทศไทยมีหน้าที่หลายประการด้วยกัน ทั้งที่เหมือนกับหน้าที่ตามหลักการที่แท้จริงของระบบ กับหน้าที่ที่เบี่ยงเบนจากหลักการ หน้าที่ของระบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองมี 7 ประการดังนี้
1.เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มที่หลากหลายในสังคมได้มีตัวแทนในรัฐสภา ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่แท้จริงของระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองหลักของไทยที่ปฏิบัติได้ใกล้เคียงกับหลักการนี้มากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ พรรคก้าวไกล ดังเห็นได้จากการมีรายชื่อของตัวแทนกลุ่มอาชีพ เช่น ผู้ใช้แรงงาน ตัวแทนกลุ่ม LGBTQ ตัวแทนกลุ่มสิทธิมนุษยชน กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ในสัดส่วนที่มากกว่าพรรคการเมืองหลักอื่น ๆ
2. เป็นแหล่งพักพิงของนักการเมืองอาวุโสในพรรคที่ไม่ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ดังเห็นได้ชัดเจนจากพรรคใหญ่ ๆ เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์
3.เป็นแหล่งที่บ่งบอกถึงความสำคัญและบทบาทของนักการเมืองภายในพรรค บุคคลที่มีรายชื่อเป็นลำดับแรก ๆ ย่อมมีความสำคัญและบทบาทต่อพรรคมากกว่าบุคคลที่มีรายชื่อเป็นลำดับหลัง โดยเฉพาะลำดับที่คาดว่าจะได้รับเลือกตั้ง บุคคลที่มีความสำคัญต่อพรรคมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสามปัจจัยหลัก การบริจาคเงินเข้าพรรค ชื่อเสียงและการยอมรับจากสังคม และตำแหน่งภายในพรรค ดังนั้น บุคคลที่อยู่ลำดับต้น ๆ มักจะเป็นแกนนำพรรค นายทุนของพรรค และนักการเมืองประเภทบ้านใหญ่ที่มี ส.ส.แบบแบ่งเขตสังกัดอยู่ในกลุ่มตนเอง อย่างไรก็ตาม การจัดลำดับรายชื่อผู้สมัครบางพรรค มีแนวทางที่พิเศษเพิ่มขึ้นอีก อย่างเช่น พรรคเพื่อไทย จัดลำดับบุคลสำคัญของพรรคไว้ในลำท้ายสุดของบัญชีรายชื่อ อันเป็นการแสดงนัยว่าบุคคลนั้นจะเข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายบริหารอย่างแน่นอนหากพรรคได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
4.เป็นโอกาสของกลุ่มทุนที่จะเข้าสู่สนามการเมืองแบบสะดวกสบาย โดยไม่ต้องลงสนามแข่งขันเลือกตั้งในระดับเขต เพียงบริจาคเงินให้แก่พรรคหรือแกนนำพรรคมากพอ ก็มีโอกาสได้รับลำดับดี ๆ มาครอง
5.เป็นแหล่งหาเงินเข้าพรรคหรืออาจจะเข้าผู้มีอำนาจภายในพรรคด้วย โดยการทำให้ลำดับรายชื่อกลายเป็นสินค้าทางการเมืองอย่างหนึ่ง ที่ถูกนำไปเร่ขายแก่บุคคล ที่อาจมีความปรารถนาดำรงตำแหน่งทางการเมือง
6.เป็นทรัพยากรของพรรคการเมืองที่นำไปใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค โดยเฉพาะกรณีการแย่งชิงกันลงสมัครในเขตเลือกตั้งเดียวกันของสมาชิกพรรค พรรคก็จะปลอบใจโดยมอบลำดับในบัญชีรายชื่อแก่ผู้ที่ไม่ได้รับการเสนอชื่อให้ลงแข่งขันแบบแบ่งเขต
7.เป็นแหล่งให้ผู้มีตำแหน่งและอำนาจภายในพรรคแสดงอิทธิพลโดยอาจส่งบุตรหลาน หรือพวกพ้องของตนลงในบัญชีรายชื่อของพรรค ทั้งที่บุคคลที่ได้รับเสนอชื่ออาจไม่มีความโดดเด่นหรือไม่มีทักษะความสามารถใด ๆ เลย
จากข้อมูลเชิงประจักษ์ของการเสนอบัญชีรายชื่อผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีและการจัดลำดับผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคการเมือง บ่งบอกว่าพรรคการเมืองไทยยังมีตัวตนที่ห่างไกลจากตัวแบบในอุดมคติของพรรคการเมืองที่พึงจะเป็นในระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา พรรคการเมืองที่มีอัตลักษณ์ใกล้เคียงกับตัวแบบในอุดมคติของระบอบประชาธิปไตยมากที่สุดคือพรรคก้าวไกล เพราะเป็นพรรคที่ให้ความสำคัญและมีสมรรถนะในการเลือกผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อที่มาจากประชาชนหลากหลายกลุ่มในสัดส่วนที่เหมาะสมมากที่สุด ส่วนพรรคอื่น ๆ ยังคงต้องพัฒนากันต่อไป