ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในขณะที่สังคมกำลังจับจ้องการปะทะกันระหว่าง “เสี่ยอ่าง-ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” กับ “ทนายตั้ม-ษิทรา เบี้ยบังเกิด” เกี่ยวกับเรื่องถุงเงิน และลุกลามบานปลายออกไปในหลายมิติ ทั้งความขัดแย้งในแวดวงทนายความ ความฉาวโฉ่ของ “บิ๊กข้าราชการระดับสูง” ทั้ง “ตำรวจ-ปปง.” พัวพันกับ “ขบวนการสีเทา” นั้น เรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ก็คือ ที่ดินย่านถนนสุขุมวิท หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สวนชูวิทย์” ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่มูลค่านับหมื่นล้านในชื่อ “เทนธ์ อเวนิว”
เพราะถ้าใครติดตาม “เสี่ยอ่าง” มาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่า เขามีความพยายามอธิบายและยืนยันว่า ที่ดินผืนนี้เป็นสมบัติของเขา เป็นสมบัติของตระกูลกมลวิศิษฏ์ ไม่ใช่ที่ดินที่ครั้งหนึ่งเขาเคยประกาศทำเป็นสวนสาธารณะเมื่อครั้งที่ต้อง “คดีรื้อบาร์เบียร์” เพื่อขอความเมตตาจากศาลในการบรรเทาโทษ
ชนิดที่ใช้คำว่า “สวนข้าใครอย่าแตะ” ก็คงไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก
เหตุที่ “เสี่ยอ่าง” ต้องสู้สุดชีวิตก็เพราะที่ดินผืนนี้มิใช่แค่เป็น “จุดสลบ” เท่านั้น หากแต่สามารถไปสู่ “จุดล้มละลาย” ของ “ชูวิทย์และครอบครัว” ได้เลยทีเดียว
คำถามก็คือทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
คำตอบก็คือ เนื่องเพราะพื้นที่ “สวนชูวิทย์” กำลังถูกพลิกโฉมเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ที่ความสูง 51 ชั้น ไม่รวมชั้นใต้ดิน ภายใต้ชื่อ “เทนธ์ อเวนิว” มีการประเมินว่า จะสร้างมูลค่าให้กับที่ดินผืนนี้ไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท ซึ่งพัฒนาและบริหารการขายในนาม “DAVIS CORPORATION” และบริษัท เอเทนธ์ อเวนิว จำกัด ของตระกูลกมลวิศิษฎ์ เจ้าของที่ดิน
ผลประโยชน์ก้อนมหึมาก้อนนี้จะเป็นหลักประกันชีวิตให้กับ “ลูกๆ” ของ “ชูวิทย์” ในภายภาคหน้าได้เป็นอย่างดี
ทว่า คำถามสำคัญก็คือ “เสี่ยอ่าง” สามารถนำที่ดินพื้นนี้ไปกระทำตามใจชอบหรือไม่ เพราะในความเป็นจริงนั้น “สวนชูวิทย์” ได้กลายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นที่เรียบร้อยแล้วนับตั้งแต่วันที่เปิดสวนอย่างเป็นทางการคือ วันที่ 24 ธันวาคม 2548 โดยมีประจักษ์พยานทั้งคำประกาศของนายชูวิทย์เอง คำสารภาพของนายชูวิทย์ที่ยื่นต่อศาล คำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าว รวมถึงคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีลักษณะเดียวกัน
หากยังจำกันได้ การตัดสินใจนำที่ดินผืนดังกล่าวมาทำเป็นสวนสาธารณะของ “เสี่ยอ่าง” ก็เป็นเพราะตอนนั้นตกอยู่ในวิบากกรรมคดีบาร์เบียร์ ซึ่ง “ชูวิทย์” เป็นหนึ่งในผู้ต้องขังคดีรื้อบาร์เบียร์ บริเวณสุขุมวิทซอย 10 เมื่อปี 2546 ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องผู้ต้องหาเกือบทั้งหมด ทว่า ศาลอุทธรณ์ตัดสินโทษจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญาต่อ “ชูวิทย์” และในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาในเดือนมกราคม 2559 ตัดสินลงโทษจำคุก “ชูวิทย์” และพวก 2 ปี
ศาลฎีกาพิพากษาแก้โดยเห็นว่าหลังเกิดเหตุ “ชูวิทย์กับพวก” ได้ร่วมกับจำเลยอื่นชดใช้ค่าเสียหาย รวมทั้งยังมีการนำที่ดินพิพาทไปทำประโยชน์เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปใช้ได้ โดยไม่ได้นำที่ดินไปทำธุรกิจแสวงหาผลกำไรอีก บ่งบอกว่าจำเลยรู้สึกสำนึกผิด นับว่ามีเหตุปราณี เห็นสมควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสม พิพากษาแก้ว่าจากจำคุก 5 ปี ให้เหลือแค่ 2 ปี ไม่รอลงอาญา
นี่คือเหตุผลประการแรกว่า ทำไมที่ดินผืนนี้จึงต้องตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปพิจารณากรณีการอุทิศที่ดินเป็นสวนสาธารณะ หรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็พบว่ามีคำพิพากษาศาลฎีกามากกว่า 10 ฉบับเกี่ยวกับคดีในทำนองนี้ ยกตัวอย่างเช่น
- การอุทิศที่ดินสาธารณะ สามารถอุทิศที่ดินเพียงแค่เอ่ยด้วยวาจาให้เป็นที่รับรู้ หรือโดยลายลักษณ์อักษร ก็ได้
- แม้กระทั่งที่ดินของเอกชนสามารถกลายเป็นที่ดินสาธารณะ “โดยปริยาย” ก็ได้เพียงเพราะเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้สอย
- เมื่อเป็นการอุทิศที่ดินสาธารณะไปแล้ว “จะมีผลทันที” และเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้
- ขอย้ำว่าการที่เป็นที่ดินสาธารณะ “จะมีผลทันที” โดยไม่ต้องรอการโอนเสร็จสิ้นเสียก่อน หรือต้องรอให้เจ้าหน้าที่รัฐแสดงเจตนามารับที่ดินเหล่านั้นเสียก่อน
- และเมื่ออุทิศที่ดินไปแล้ว จะไม่มีกำหนดเวลาด้วย เจ้าของที่ดินจะเปลี่ยนใจย้อนกลับเอาคืนก็ไม่ได้ และหากเจ้าของที่ดินเดิมฝ่าฝืนมาเอาคืนเพื่อก่อสร้างเป็นอย่างอื่น ก็ไม่สามารถทำให้ความเป็นที่ดินสาธารณะสูญสิ้นไปเช่นกัน
ดังนั้น หากอ้างอิงจากเนื้อหาคำพิพากษาศาลฎีกาหลายฉบับข้างต้น ก็มิอาจตีความไปเป็นอื่นได้เพราะเห็นได้ชัดเจนว่า ที่ดินของ “ชูวิทย์” นั้นได้กลายเป็น “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” ไปแล้ว แม้เจ้าตัวจะยังคงอ้างว่า “ชื่อในโฉนดยังเป็นของผม, ผมซื้อมาด้วยเงิน 500 ล้านบาท, ผมยังจ่ายภาษีที่ดินให้กรุงเทพมหานครทุกปี” ก็ตามที เพราะข้ออ้างเหล่านี้ จะไม่สามารถหักล้างกับข้อเท็จจริงที่ “ชูวิทย์” เคยยื่นเป็น “คำให้การ” ต่อศาลฎีกาในคดีรื้อบาร์เบียร์ เมื่อปี 2558 เพื่อให้ศาลฎีกาปราณีลดโทษให้แก่ตัวเองได้เลย
ที่น่าสนใจก็คือ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2548 “ชูวิทย์” จัดแถลงข่าวครั้งแรกเพื่อแสดงความตั้งใจว่าไม่ต้องการใช้ประโยชน์จากที่ดินผืนดังกล่าวและจะนำที่ดินคืนสาธารณะให้สังคม พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า “สวนนี้ชื่อว่าสวนชูวิทย์ แต่ความจริงแล้วอยากเรียกว่าสวนสะใจมากกว่า ผมเป็นคนพูดแล้วทำจริงไม่ใช่พวกปากพล่อย วันๆ เอาแต่ออกมาแถลงข่าวเรื่องหอยเรื่องปู ผมอยากเชิญชวนให้คนรวยเจ้าของที่ดินใน กทม. ได้นำมาใช้ประโยชน์ ไม่ได้ปล่อยทิ้งร้างเอาไว้”
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคมในปีเดียวกัน “ชูวิทย์” แถลงข่าวเปิดตัวสวนชูวิทย์พร้อมกล่าววาทกรรมสวยหรูมากมาย
“...ผมเคยบอกว่าจะสร้างสวนสาธารณะให้เป็นปอดของ กทม. และต้องการให้เป็นตัวอย่างกับคนที่มีเงินเป็นแสนๆ ล้านบาทว่าตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ เหรียญบาทเงินปากผี สัปเหร่อยังเอาไปเลย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยวางแผนไว้ว่าจะใช้พื้นที่นี้สร้างโรงแรมระดับ 4 ดาว และได้จ่ายค่าออกแบบไปแล้ว 30 ล้านบาท แต่ก็ยกเลิกโครงการดังกล่าวไป และสวนชูวิทย์จะให้บริการกิจกรรมเชิงบวก งานศิลปะ งานเปิดตัวหนังสือก็สามารถมาใช้ได้โดยไม่คิดสตางค์ เพียงขอค่าบำรุง ค่าน้ำ ค่าไฟเท่านั้น”
นอกจากนั้น ชูวิทย์ยังกล่าวและยืนยันว่าที่ดินตรงนี้เป็นของตนและตระกูลกมลวิศิษฏ์ แต่ขอ “เสียสละ” ให้เป็นสวนของ กทม. แม้มีคนด่าว่าตนหากินกับผู้หญิง อบายมุข แต่ตนก็ทำตามที่เคยประกาศไว้
แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้มีอยู่ 2 คำด้วยกันคือคำว่า “เสียสละ” และ “สวนสาธารณะ”
คำแรก คือคำว่า “เสียสละ” สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้อธิบายว่า คำว่าเสียสละเป็นคำประสม ประกอบไปด้วยคำว่า “เสีย” กับคำว่า “สละ”
คำว่า “เสีย” หมายถึง “ทำให้สูญไป”
คำว่า “สละ” หมายถึง “บริจาคให้”
คำตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 จึงได้ระบุว่า “เสียสละ” เป็นคำกิริยา แปลว่า “ให้โดยยินยอมหรือให้ด้วยความเต็มใจ”
และเมื่อตรวจย้อนหลังแล้วปรากฏว่า “ชูวิทย์” ใช้คำว่า “เสียสละ” ที่ดินของตัวเองให้เป็นสวนสาธารณะในต่างกรรมต่างวาระ ไม่ใช่แค่ในวันที่ 24 ธันวาคม 2548 เท่านั้น ซึ่งคำว่าเสียสละที่ดินมีความหมายเท่ากับ “อุทิศ” ที่แปลว่า ให้ หรือ ยกให้เช่นกัน
ส่วนอีกคำหนึ่งคือคำว่า “สวนสาธารณะ” ซึ่งเป็นคำประสมคำว่า “สวน” และ คำว่า“สาธารณะ”
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า “สาธารณะ” แปลว่า“เพื่อประชาชนทั่วไป” ดังนั้น “สวนสาธารณะ” จึงแปลว่า “สวนเพื่อประชาชนทั่วไป”
ดังนั้นคำว่า “เสียสละที่ดินเพื่อเป็นใช้เป็นสวนสาธารณะ” นั้้น จึงแปลตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า “การยินยอม “ให้” ที่ดินเพื่อ “ใช้ประโยชน์” เป็นสวนเพื่อประชาชนทั่วไป”
ต่อมาพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304 (2) บัญญัติเอาไว้เกี่ยวกับสาธารณสมบัติของแผ่นดินว่า
“มาตรา 1304 สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น
(2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวงทะเลสาบ”
จะเห็นได้ว่าสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พิจารณาทรัพย์สินชนิดนั้นจาก “การใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์” และ “พลเมืองใช้ร่วมกัน” หรือไม่
แน่นอนว่า “สวนสาธารณะ” ย่อมต้องเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ไม่ต่างจากชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ดังนั้นทรัพย์สินใดถ้ามีการใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ร่วมกัน หรือพลเมืองใช้ร่วมกันเมื่อไหร่ ย่อมต้องเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอย่างแน่นอน และเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้
โดยเฉพาะถ้ามีการ “เสียสละ” ที่ดินของเอกชนเพื่อให้พลเมือง “ใช้ประโยชน์” ร่วมกัน ทั้งด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือยินยอมให้พลเมืองได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินแห่งนั้นย่อมเปลี่ยนเป็น “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(2) ทันที
และนี่คือเหตุผลว่าทำไมคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่ดิน ไม่ว่าจะด้วยวาจาที่ให้ประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือ โดยยินยอมโดยพฤติการณ์ให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินแห่งนั้นไม่ว่าเดิมจะเป็นกรรมสิทธิ์ของใครก็ตามย่อมเป็น “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” ทันที ไม่ต้องรอการโอน หรือรอการจดทะเบียนโอนเลย และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงย้อนกลับไปได้อีก
การเสียสละที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะแม้จะด้วยวาจาแต่ก็จะมีผลทันที เหตุการณ์นี้เทียบเคียงได้กับ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 264/2555 ที่กำหนดว่า การอุทิศด้วยวาจามีผลตามกฎหมายสมบูรณ์ และการอุทิศที่ดินมีผลทันทีโดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อีกตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4377/2559
ส่วนถามว่า สวนชูวิทย์กลายเป็นสวนสาธารณะเมื่อไหร่ ก็ต้องฟันธงเปรี้ยงลงไปว่า นับตั้งแต่ วันที่ 24 ธันวาคม 2548 หรือเมื่อ 18 ปี มาแล้ว! หรือนับตั้งแต่วันที่เขาเปิดสวนแห่งนี้
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีก 4 เหตุการณ์ที่ทำให้เห็นว่า นายชูวิทย์ได้ประกาศยกที่ดินผืนดังกล่าวให้เป็น “สวนสาธารณะ”
เหตุการณ์ที่ 1 คือคำให้การต่อศาลฎีกาของนายชูวิทย์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 โดยเปลี่ยนคำให้การมารับสารภาพ แล้วอ้างเรื่อง “ที่ดิน” ซึ่งเป็น “ที่ดินพิพาท” ได้ดำเนินการให้เป็นสวนสาธารณะทั่วไป ยกเลิกโครงการก่อสร้างอาคารสูง และจะทำต่อไป เพื่อแสดงความสำนึกผิด (ซึ่งแปลว่าไม่ได้กำหนดระยะเวลา) ดังที่เกริ่นนำมาแล้วในช่วงต้น
การยื่นเอกสารครั้งนั้นทำให้ศาลฎีกาเลื่อนการอ่านคำพิพากษาในวันเดียวกันนั้นไปอีก 3 เดือนเศษ คือ วันที่ 28 มกราคม 2559
เอกสารฉบับนี้คือ “คำให้การรรับสารภาพของคุณชูวิทย์” ที่ยื่นต่อศาลฎีกาและถูกเก็บไว้เป็นความลับมาก เพราะเป็นเอกสารประกอบสำนวนคำพิพากษาที่มีเป็นร้อย ๆ กล่อง
ใจความสำคัญระบุว่า
“ภายหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 129 (คือ คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์) ก็ได้สำนึกผิดอย่างมากจึงได้ล้มเลิกโครงการสุขุมวิท 10 ตามเจตนาเดิมซึ่งโครงการดังกล่าวนั้นหาก สามารถทำได้สำเร็จก็จะทำให้จำเลยที่ 129 ได้รับรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
“แต่จำเลยที่ 129 รู้สำนึกอย่างแท้จริงทั้งที่บาร์เบียร์ตามแผนเดิมทั้งหลายถูกหรือถอนเป็นพื้นที่ว่างเปล่าแล้ว และสามารถก่อสร้างโครงการสุขุมวิท 10 ได้โดยทันที
“แต่จำเลยที่ 129 ก็ไม่ทำโครงการต่อ โดยยอมทิ้งผลประโยชน์มูลค่ากว่า 1,000 ล้าน และยังได้นำเงินส่วนตัวมาลงทุนก่อสร้างสวนสาธารณะชื่อสวนชูวิทย์ด้วยเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาทโดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ดังเช่นสวนสาธารณะทั่วไปและเป็นปอดใจกลางกรุงเทพมหานคร
“ซึ่งประชาชนก็ได้ใช้ประโยชน์เรื่อยมาตั้งแต่สร้างเสร็จจนถึงปัจจุบันแล้วการดูแลรักษาสวนชูวิทย์ดังกล่าวแต่ละเดือนโดยรวมประมาณปีละ 828,000 บาทตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบันปี 2558 รวมระยะเวลา 10 ปีเป็นเงินประมาณ 8,280,000 บาทโดยไม่มีรายได้แม้แต่น้อยเป็นการชดเชยและแสดงถึงความสำนึกในการกระทำความผิดบนที่ดินแปลงดังกล่าวอย่างแท้จริง
“ซึ่งปัจจุบันจำเลยที่ 129 ก็ยังให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์สาธารณะจากสวนชูวิทย์ และจะทำต่อไปเพื่อแสดงความสำนึกผิดในการกระทำของตนเองที่กระทำต่อผู้อื่นและละเมิดกฎหมายของรัฐ ... ”
คำให้การนี้นายชูวิทย์เขียนเองซึ่งแสดงว่าเป็นการเสียสละไม่ทำโครงการต่อยอมทิ้งผลประโยชน์ แบบไม่กำหนดระยะเวลา และยังก่อสร้างสวนชูวิทย์เป็น “สวนสาธารณะทั่วไป” และเป็น “ปอดใจกลางกรุงเทพมหานคร”
คำ 2 คำนี้ แสดงให้เห็นการให้ใช้ประโยชน์สาธารณะชัดเจน จึงเป็นการยกที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเรียบร้อยและมีผลตามกฎหมายโดยสมบูรณ์
คำให้การนี้ยังยืนยันด้วยจะทำ “ต่อไป” จึงเท่ากับไม่ได้กำหนดระยะเวลาด้วยเช่นกัน และไม่ได้เป็นอย่างที่นายชูวิทย์อ้างว่ายื่นต่อศาลว่าจะให้เป็นสวนสาธารณะแค่ 12 ปี เพราะในข้อเท็จจริงก็คือ นายชูวิทย์ถูกตัดสินจำคุก แต่ให้ลดโทษจากจำคุก 5 ปี เหลือ 2 ปี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 ก็ติดคุกจริงไม่ถึงปี โดย “นายชูวิทย์” ออกจากเรือนจำมาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559
ที่น่าสนใจคือ เมื่อได้รับอิสรภาพเพียงแค่ปีเดียว ปีถัดมาคือวันที่ 30 ธันวาคม 2560 ก็ดำเนินการ “ปิดสวนชูวิทย์” เป็นที่เรียบร้อยเพื่อสร้างโครงการ “เทนธ์ อเวนิว”
เหตุการณ์ที่ 2 อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19662-19664/2557 ระบุ วันที่ 29 ธันวาคม 2558 ภายหลังจากนายชูวิทย์ได้ยื่นคำให้การใหม่ต่อศาล เป็น
1. รับสารภาพ
2. ได้เยียวยาผู้เสียหายแล้ว
และ 3. ได้นำที่ดินเป็นสวนสาธารณะโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลา
โดยศาลได้บันทึกในคำพิพากษาเหตุในการลดโทษจาก 5 ปี เหลือ 2 ปี ไม่ใช่เพราะเป็นคำให้การใหม่มารับสารภาพในชั้นศาลฎีกา แต่มาจากการได้เยียวยาผู้เสียหายไปจำนวนหนึ่งแล้ว กับเหตุผลเพราะมีการนำที่ดินมาเป็นสวนสาธารณะ โดยศาลฎีกาได้พิพากษาในการลดโทษอันมีเหตุมาจากที่ดินที่ยื่นคำให้การมาความตอนนี้ว่า
“นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยที่ 129 นำที่ดินพิพาทมาก่อสร้างเป็น สวนสาธารณะ ให้ประชาชนใช้พักผ่อน ไม่ได้นำที่ดินพิพาทไปก่อสร้างศูนย์การค้าย้อนยุคเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ตามที่ตั้งใจไว้ ทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายและรายได้จำนวนมาก บ่งบอกว่าจำเลยที่ 129 และฝ่ายจำเลยรู้สำนึกผิดที่ได้กระทำไป
“ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ร่วมกันกระทำผิดโดยจำคุกคนละ 5 ปีนั้น จึงหนักเกินไป เห็นควรกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี”
หลังจากยื่นคำให้การไปแล้ว วันที่ 28 ตุลาคม 2558 นายชูวิทย์ยังได้ยื่นเอกสารท้ายคำแถลงเพิ่มเติม เต็มไปด้วยแผนที่ภาพถ่ายของสวนสาธารณะ
เพราะฉะนั้น การที่ศาลฎีกาลดโทษจากศาลอุทธรณ์ส่วนหนึ่งจึงมาจากการนำที่ดินซึ่งพิพาทมาก่อสร้างเป็น “สวนสาธารณะ” ในคำพิพากษาศาลฎีกา โดยระบุว่าในคำให้การของนายชูวิทย์ว่าเป็น “สวนสาธารณะทั่วไป” ย่อมมีสถานภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และเนื่องจากคำให้การในการยื่นเรื่องที่ดินให้เป็นสวนสาธารณะนี้ไม่ได้กำหนดระยะเวลา จึงย่อมเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินไปแล้ว ไม่สามารถนำกลับมาคืนได้
เหตุการณ์ที่ 3 - เป็นบทความเผยแพร่สาธารณะ เขียนโดยนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์เอง โดยภายหลังจากที่นายชูวิทย์ ติดคุกตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2559 ก็ได้เลื่อนชั้นนักโทษ ได้รับการลดโทษและพระราชทานอภัยโทษตามลำดับ จนได้รับการปล่อยตัวเมื่อ วันที่ 17 ธันวาคม 2559 พ้นโทษมาไม่ถึง 1 เดือนก็มาเขียนบทความใน มติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 25 มกราคม 2560 ในหัวข้อเรื่อง บทความพิเศษ : เรียนรู้คุก(1)
โดยระบุว่าเหตุที่ได้ลดโทษเพราะการนำที่ดินมาเป็นสวนสาธารณะว่า
“แม้ว่าศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาตัดสินจำคุก 5 ปี คำรับสารภาพของผมแม้ว่าศาลฎีกาจะไม่รับพิจารณา แต่ก็ได้ลดโทษจาก 5 ปี เหลือ 2 ปี เหตุเพราะผมสำนึกผิด
“และได้พยายามเยียวยาโดยนำเอาที่ดินมูลค่ามหาศาลทำเป็นสวนสาธารณะปลูกต้นไม้ให้เป็นประโยชน์กับประชาชนสามารถเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจท่ามกลางตึกสูงระฟ้า ทั้งโรงแรม สำนักงานล้อมรอบแทนที่จะนำที่ดินมาทำประโยชน์หาผลตอบแทนทางธุรกิจ”
แต่พอพ้นโทษมาแล้วนายชูวิทย์ก็ได้เขียนบทความอ้างเองว่าที่ผ่านมาให้ชั่วคราวและจะเอาที่ดินคืนความตอนหนึ่งว่า
“ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ซื้อที่ดินแปลงนี้มาเมื่อมีปัญหาเป็นคดีความผมจึงนำที่ดินมาเป็นปอดให้กับคนกรุงเทพฯ
“แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาชั่วคราวเพราะในอนาคตนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะนำไปทำประโยชน์อันใด ถือเป็นเรื่องอนาคต เพราะเป็นที่ดินของผม”
ตรงนี้ สิ่งที่นายชูวิทย์ต้องรับรู้ก็คือการให้ที่ดินเพื่อเป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้พลเมืองได้ใช้ประโยชน์ เป็นสาธารณสมบัติทันทีไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกลับมาด้วยความเข้าใจไปเองได้
เหตุการณ์ที่ 4 คือการที่นายชูวิทย์ให้ประชาชนได้ใช้เป็นสวนสาธารณะเป็นเวลา 12 ปี จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยปริยาย
ทั้งนี้ “สวนชูวิทย์” ได้เปิดให้ประชาชนใช้เป็นสวนสาธารณะของพลเมืองร่วมกันตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2548 และได้ใช้ต่อเนื่องมาจนถึง วันที่ 30 ธันวาคม 2560 ดังปรากฏอ้างอิงได้ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 6067/2552 และ เลขที่ 2526/2540 ซึ่งระบุว่า การอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อาจกระทำโดยปริยาย ก็ได้ เช่น ยินยอมให้ประชาชนใช้สอยโดยไม่หวงห้าม
ดังนั้น ที่ดินผืนดังกล่าวจึงเป็นสวนสาธารณะและไม่อาจย้อนกลับมาเป็นสมบัติส่วนตัวของนายชูวิทย์ได้อีกต่อไป
และแม้ว่า นายชูวิทย์จะปิดสวนสาธารณะไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2560 แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหายไป เพราะเมื่อพิจารณาจาก คำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 2004/2544 นั้นชี้ชัดว่า การอุทิศที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่อาจสูญสิ้นไปเพราะการไม่ได้ใช้ แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะมิได้ใช้ทางพิพาทตามวัตถุประสงค์ก็ตาม
และข้อสำคัญกว่านั้น คำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 11089/2556 ชี้ชัดว่า ผู้อุทิศที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปแล้วจะขอยกเลิกการอุทิศที่ดิน ไม่ได้
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงมาถึงท่าทีของ “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ที่ดินดังกล่าวยังคงมีการเสียภาษีและสิ่งปลูกสร้างทุกปี โดยมิได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงและข้อผูกพันของข้อกฎหมายทั้งปวง โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการเทนธ์ อเวนิว โดยมิได้ถึงความเป็นสาธารณะสมบัติของที่ดินผืนดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่า จะเกิดปัญหาในอนาคต เนื่องจากเมื่อย้อนดูตัวบทกฎหมาย คำให้การของนายชูวิทย์ต่อศาลฎีกาและคำพิพากษาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะพบความจริงว่า ทำไม “สวนชูวิทย์” ถึงกลายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน !!!