ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เปลวเพลิงลุกท่วมเขาแหลม นครนายก สะท้อนว่าการควบคุมไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นพิษ PM.2.5 ยังย่ำอยู่กับที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การรับมือกับปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังอยู่ในกรอบความคิดเก่าที่เน้นการตั้งรับและแก้ผ้าเอาหน้ารอดเป็นปีๆ ไป รอปัญหาคลี่คลายจากการมาโปรดของเทวดาฟ้าฝน
2566 ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ล่วงเลยมาจนถึงปลายเดือนมี.ค.ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะเชียงใหม่และเชียงรายที่หมอกควันคลุมท้องฟ้าออกสีส้มเหลือง ขณะเดียวกัน เพจ “ที่นี่ นครนายก” ได้เผยภาพและโพสต์คลิปวีดีโอไฟป่าลุกโชนแผดเผาเขาแหลม จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมาแบบสุดสะพรึง
“เขาแหลม Rip หมูป่า เก้ง กระรอก และสัตว์ป่าทั้งหลาย ต้นเพลิงคุตั้งแต่เย็นวาน ที่เขาชะพลูโดยทั้งวัน จนท.พยายามสกัดแนวไฟป่า จนปะทุอีกครั้งช่วงเย็นวันนี้จนลุกลามไปเขาแหลม ซึ่งเข้าถึงยากและมีความชันอย่างมาก ทำให้การสกัดกั้นเพลิงเป็นไปได้ยาก ขอบคุณ จนท.ทุกท่าน คุณคือฮีโร่และทำดีที่สุดแล้ว”
คำสั่งการให้ดับป่าที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กำชับให้กระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ส่งทีมชุดดับไฟป่าเข้าปฏิบัติการ และขอให้กองทัพสนับสนุน ก็เป็นคำสั่งที่เรียกได้ว่าไม่มีอะไรเป็นกรณีพิเศษ เช่นเดียวกับพื้นที่เชียงใหม่ เชียงรายที่กำลังสำลักหมอกควัน ฝุ่นพิษ อยู่ในเวลานี้ ที่ยังแก้ปัญหากันไปแบบงานรูทีน ถ้าหากไฟป่าลุกไหม้ในพื้นที่ภูเขาสูง ลาดชัน ชุดดับไฟป่าเข้าไม่ถึง กองทัพก็บินขนน้ำขึ้นไปโปรยปรายเพื่อทุเลาปัญหาเหมือนเช่นทุกปี และเป็นเรื่องที่ดูเหมือนรัฐบาลยอมจำนนจนปัญญาหาทางแก้ไข
“นายกรัฐมนตรี ติดตามสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนครนายก เชียงใหม่ เชียงราย และทุกพื้นที่ของประเทศอย่างใกล้ชิด …. ปัญหาการลักลอบจุดไฟเพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรและหาของป่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนถ้าประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ ....” นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถ่ายทอดข้อห่วงกังวลของนายกฯ ที่บ่งบอกความพ่ายแพ้ราบคาบในศึกแก้ปัญหาฝุ่นพิษตลอดสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์
ขณะที่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเรียกประชุมด่วนติดตามและแก้ไขปัญหากรณีไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กกับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวม 62 จังหวัด กลับโอ่ว่าที่ผ่านมาทุกจังหวัดได้ปฏิบัติการให้ปัญหาเรื่องหมอกควันไฟป่าอยู่ในวงที่สามารถดูแลได้ และกำชับให้ผู้ว่าฯในฐานะผู้นำเผชิญเหตุตื่นตัวแก้ปัญหา ทำให้สังคมเห็นว่าเราทำเต็มที่ ซึ่งต้องพูดคุยกับประชาชนกับสื่อมวลชนให้ชัดเจนถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นทุ่มเท
คำอวดโอ่ของปลัดกระทรวงมหาดไทย แลดูสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนที่อยู่ท่ามกลางฝุ่นพิษโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายที่ภาพอากาศเลวร้ายสุด กระทั่ง “หมอหม่อง” นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่หมอนักอนุรักษ์ ที่โพสต์ข้อความเขียนด้วยลายมือประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากสถานการณ์หมอกควัน ความว่า “เนื่องด้วย สถานการณ์คุณภาพอากาศอันเลวร้าย กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างหนัก ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว อาศัยอำนาจประชาชน ผู้มีสิทธิพื้นฐานในการหายใจ ขอประกาศให้พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง เป็นพื้นที่ประสบภัย เนื่องด้วยเราไม่อาจพึ่งพากลไกรัฐในการบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้ ขอให้ทุกท่านป้องกันตนเอง และคนที่รักอย่างดีที่สุดตามกำลัง ให้รอดพ้นจากพิษภัยมลพิษทางอากาศ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ประกาศไว้ ณ วันที่ 29 มีนาคม 66 ประชาชนเต็มขั้นเสียภาษีครบถ้วน”
สถานการณ์ปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า และคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง โดยสภาพตัวเมืองถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควันหนาและรู้สึกได้ถึงกลิ่นไหม้โชยในอากาศ ซึ่งนอกจากปัจจัยเรื่องฝุ่นควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านแล้ว พบว่าจุดความร้อนจากการเผาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้นตลอดช่วงหลายวันที่ผ่านมาด้วย
เว็บไซต์ Iqair.com ซึ่งรายงานคุณภาพอากาศจากทั่วโลก แจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มลพิษทั่วโลก เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 มี.ค. 66 พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มีดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 246 US AQI และค่า PM 2.5 วัดค่าได้ 196.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อทุกคนอย่างรุนแรง โดยผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศดังกล่าวสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ของเมืองหลักที่มีมลพิษอากาศสูงสุดของโลกต่อเนื่องตลอดช่วงหลายวันที่ผ่านมา ซึ่งนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก จังหวัดเชียงใหม่ (ศชฝ.ชม.) เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จัดหาและแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้ประชาชนทุกกลุ่มตามข้อเรียกร้อง
ส่วนจังหวัดเชียงราย หลายพื้นที่ยังเผชิญกับไฟป่าที่ลุกลามต่อเนื่องมาหลายวันแล้วโดยเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถคุมเพลิงให้สงบลงได้ โดยเฉพาะบนดอยปุย อุทยานแห่งชาติแม่ปืม พื้นที่ติดต่อระหว่าง ต.ห้วยสัก ต.ท่าสาย และ ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย ไฟป่ายังคงโหมลุกไหม้อย่างหนักนับถึงวันที่ 29 มี.ค. ย่างเข้าสู่วันที่ห้าแล้ว เนื่องจากสภาพอากาศแห้งและภูมิประเทศสูงชัน ทำให้การควบคุมไฟป่าเป็นไปด้วยความยากลำบาก เจ้าหน้าที่-อาสาดับไฟป่าต้องจัดกำลังผลัดเปลี่ยนกันเข้าดับไฟตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งกลางวันและกลางคืน ต้องอาศัยและอยู่กินกันใกล้กองไฟ
กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์หมอกควัน ไฟป่า พื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยังคงมีฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 สูงกว่าค่ามาตรฐานหลายเท่าตัว และอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่า 44 วันแล้ว ทำให้ประชาชนทั่วไปที่สัญจรไปมาตามท้องถนนต้องเปิดไฟแม้เวลากลางวันเพราะสภาพอากาศขมุกขมัว
ด้านเครือข่ายภาคเอกชนและประชาชน อ.แม่สาย ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อนายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย ให้แก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันข้ามแดน ระยะเร่งด่วนคือให้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน เพื่อให้การช่วยเหลือแก่ประชาชน เช่น สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น PM 2.5 หน้ากากอนามัย ยา เวชภัณฑ์ เครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดผลกระทบจากการทำการเกษตรในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว จนทำให้มีฝุ่นละอองปลิวเข้ามาสู่ฝั่งไทย ส่วนระยะยาวขอให้เชิญผู้ประกอบการผลิตและนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาหารือ และขอให้ยกระดับปัญหานี้เป็นมาตรการร่วมในระดับภูมิภาคและอาเซียนด้วย
ข้อเรียกร้องของชาวเชียงรายข้างต้นนั้น นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย จะนำเสนอไปยังรัฐบาลเพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนข้อเสนอให้จังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติจากฝุ่นละอองต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจตามมาหลายด้าน ขณะที่ปัญหามาจากนอกประเทศซึ่งเราควบคุมไม่ได้ด้วย ดังนั้นจึงจะแก้ไขปัญหาภายในให้ได้ดีที่สุดก่อน
ไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นพิษ กลายเป็นปัญหาค่อนข้างซับซ้อน อย่างที่ บัณรส บัวคลี่ ประธานยุทธศาสตร์สภาลมหายใจภาคเหนือ คลี่ปมว่า ไฟและฝุ่นควันภาคเหนือมาจากเผาในที่โล่งและเผาในเขตป่าทั้งป่าอนุรักษ์และป่าสงวน จากเมื่อก่อนที่คิดว่าเผาเพื่อปลูกข้าวโพดคือเบอร์หนึ่งแต่พอศึกษาค่อยหล่นมาอยู่เบอร์สี่เบอร์ห้า ข้าวโพดเผาเยอะล้านไร่แต่น้อยกว่าไฟ 7-8 ล้านไร่ในป่า การเผาในป่าที่เป็นป่าจริงๆ ของชาวบ้านช่วงเดือนมี.ค.แบบที่เป็นอยู่ ไม่มีอะไรซับซ้อน /ของป่า /ล่าสัตว์ /ขัดแย้ง/เกเรลองของ ส่วนใหญ่วนไปมาสี่ห้าประการในแต่ละเขตป่า
บัณรส มองว่า การเผาหาของป่า เศรษฐกิจชุมชน ถ้าจัดการได้คือไม่ลาม วางแนวร่วมกัน ทุกฝ่ายวิน-วินทั้งฝ่ายดูแลนิเวศป่าและชุมชน แต่การเผาแบบจะเอาแต่ฝ่ายเดียว ค่ำมาวางเพลิงลามไปร้อยพันไร่ อันนี้แย่ วิถีชาวบ้านยุคนี้แยกไม่ออกกับวิถีพ่อค้าคนกลางแม่ค้าขายส่ง เผาทีเดียวยอดผักหวานออกพร้อมกัน เก็บง่าย ได้เยอะ ส่งคุ้ม เห็ด ผักหวานตามออเดอร์ขายส่งในวิถีชาวบ้านยุคมือยาวสาวเอาก็ไม่ต่างจากข้าวโพดบนดอยกับนายทุนส่งออกอาหารสัตว์
หลังจากคลุกคลีกับปัญหานี้มาหลายปี บัณรส ยอมรับว่า ไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นพิษ มีความซับซ้อน แต่ละป่าแต่ละพื้นที่มีเหตุต่างกัน หรือแม้กระทั่งเขตป่าเดียวกันยังมีสาเหตุต่างกัน ปัญหาไฟและฝุ่นควันถล่มเหนือมาเกินสิบปี ไม่จบ อีกเหตุก็เป็นเพราะสังคมไม่เข้าใจปัญหาว่าเหตุมันเกิดจากอะไรกันแน่ บางคนเชื่อจริงจังว่าเหตุของมลพิษฝุ่นเหนือมาจากข้าวโพด บางคนเชื่อว่ารัฐเผาเองเอางบ บางคนชาวบ้านบนดอยนั่นแหละ ฯลฯ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีแผนเฉพาะตามบริบทของเขตป่านั้นๆ เพื่อแก้ที่ต้นตอ
ปีนี้เป็นปีแรกที่ภาครัฐเอ่ยถึงเรื่องการทำแผนตามบริบทป่า เมื่อ 15 มีนาคม...แต่ช้าไปแล้ว