ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ภาระค่าพลังงานแพงทั้งน้ำมัน ก๊าซฯ ไฟฟ้า เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลลุงบริหารจัดการปัญหาแบบลูบๆ คลำๆ มาตลอด จนทำให้ภาคเอกชนชักทนไม่ไหว ไล่บี้รื้อโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ และเป็นโจทย์ใหญ่ที่ขอให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ไขภายใน 90 วัน นั่นหมายความว่าถ้าพรรคไหนมีฝีมือแก้ปัญหาได้จริงทั้งภาคธุรกิจและประชาชนคนไทยก็พร้อมเทคะแนนเสียงให้
ต้นทุนเรื่องพลังงานเป็นปัญหาใหญ่ขนาดไหน ดูได้จากที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผลสำรวจความเห็น FTI Poll จากสมาชิก 427 ราย เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 66 ในหัวข้อ “สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการใน 90 วันแรก” เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ผลปรากฎว่าอันดับหนึ่งที่นำโด่งสูงสุดคือการแก้ปัญหาพลังงานและค่าไฟฟ้าแพง
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 77.8% เห็นว่าควรปรับปรุงโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ เช่น ค่าไฟ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งลดสัดส่วนเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าให้สมดุล รองลงมาคือขอให้ลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวด ก.ย.- ธ.ค.2566 เพื่อลดภาระผู้ประกอบการ 70.0% และขอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กรอ.พลังงาน) เพื่อให้เอกชนร่วมแก้ปัญหาพลังงาน 50.6%
นอกจากนั้น ยังขอให้เอกชนขายไฟฟ้าส่วนที่เกินจากการใช้งานผ่านระบบส่งหรือจำหน่ายของการไฟฟ้าฯ และมีระบบหักลบหน่วยใช้ไฟฟ้าที่ขายคืนการไฟฟ้าฯ เข้าระบบ (Net Metering) 49.6% และขอให้ปลดล็อกเงื่อนไขผลิตไฟฟ้าให้สามารถมีกำลังการผลิตไฟฟ้าได้เกิน 1 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) 43.8%
หากภาครัฐยังดูเบาปัญหาพลังงานแพง ไม่ยอมแก้ไขในระดับโครงสร้าง และมักให้ความช่วยเหลือแบบประชานิยม จะส่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้าล้าหลังประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนในที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท. เตือนอีกครั้งว่า ผู้ประกอบการในประเทศยังเผชิญกับภาวะต้นทุนแพง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า วัตถุดิบแรงงาน และต้นทุนการเงินในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในประเทศลดลง ท่ามกลางการแข่งขันในประเทศอาเซียนเข้มข้นขึ้น ทั้งจากการเติบโตของเวียดนามและฟิลิปปินส์ที่กำลังมาแรง รวมทั้งประเทศที่เติบโตอยู่แล้วอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจโลกที่เปราะบางและคาดเดาได้ยาก หลังปัญหาโควิด-19 มาสู่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และภาวะเงินเฟ้อ โดยในปี 2566 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจโลกเติบโตเพียง 1.7% ทำให้ประเทศไทยซึ่งพึ่งพาภาคการส่งออกกว่า 60% เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้รับความกดดันจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวลง
ประเด็นเรื่องค่าพลังงานแพงนั้น นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. ซึ่งเกาะติดเรื่องนี้มาโดยตลอด ตั้งคำถามต่อการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รอบล่าสุดวันที่ 22 มี.ค. 2566 ที่มีมติเก็บค่า Ft 98.27 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.77 บาทต่อหน่วย ทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจว่าเป็นการปรับขึ้นค่าไฟที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
นายอิศเรศ อธิบายว่า ค่า Ft ที่ กกพ.คิดนั้นเมื่อดูจากค่าไฟงวดเดือนม.ค.- เม.ย. 2566 กกพ.ใช้สมมติฐานช่วงพีคทั้งต้นทุนพลังงานโลกและค่าเงินบาท ทำให้การคิดอัตราค่าไฟฟ้าของภาคธุรกิจสูงขึ้น 13% จาก 4.72 เป็น 5.33 บาท/หน่วย แต่ต้นเดือนม.ค.2566 ก็พบว่าสมมติฐานที่วางไว้สูงเกินไป
พอมาถึงการพิจารณาค่าไฟฟ้างวดเดือนพ.ค.- ส.ค.2566 ถือว่าเป็นช่วงต้นทุนพลังงานของโลกต่ำลง และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ภาครัฐยังเลือกใช้สมมติฐานข้อมูลเดือนม.ค.2566 ที่ไม่สอดคล้องกับภาวะราคาพลังงานโลกขาลง ซึ่งมติ กกพ. กำหนดให้ค่าไฟฟ้าเป็นอัตราเดียวกันทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ส่งผลให้ภาคประชาชนต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นเป็นหน่วยละ 4.77 บาท จากเดิม 4.72 บาท ขณะที่อัตราค่าไฟของภาคธุรกิจลดลงจากเดิมหน่วยละ 5.33 บาท คำถามคือทำเพื่ออะไรและใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง
นอกจากนี้ ภาครัฐยังเร่งรัดรับซื้อไฟฟ้าในช่วงปลายรัฐบาล เช่น การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก 3,668 เมกะวัตต์ ทั้งที่ยังมีเอกชนหลายรายยื่นฟ้องขอคุ้มครองจากศาลปกครอง รวมถึงโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ไทยมีซับพลายไฟฟ้ามากกว่าดีมานด์ถึง 50% จึงไม่ควรเร่งรีบรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเพราะมีผลต่อการคำนวณค่าไฟฟ้ารวมทั้งยังมีประเด็นการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศที่ไม่เหมาะสมเป็นธรรมระหว่างภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและไฟฟ้าอีกด้วย
ส.อ.ท. ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าทำไมต้องเร่งคืนหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากเดิม 3 ปีในงวดแรก เหลือ 2 ปีในค่าไฟงวด 2 ทั้งที่ภาวะราคาพลังงานทั่วโลกเริ่มเป็นขาลง และถามหาความชัดเจนในการลดสัดส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อลดต้นทุน เพราะภาครัฐเคยแจ้งว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากอ่าวไทยจะเข้าสู่ระบบมากขึ้นตั้งแต่กลางปี 2566 เป็นต้นไป
อีกทั้งยังมีข้อกังขาต่อความชัดเจนและโปร่งใสของตัวเลขต้นทุน LNG และการใช้ราคา LNG นำเข้า ซึ่งควรจะใช้ราคาล่าสุดตามแผนการนำเข้าในช่วง พ.ค.-ส.ค. 66 ไม่ควรใช้ราคาเฉลี่ยตามกลไกเดิมที่ 20 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู โดยปัจจุบันราคา LNG อยู่ที่ 13 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ส.อ.ท.จึงมีข้อเสนอให้มีการทบทวนค่าเอฟทีงวด 2/2566 (พ.ค.-ส.ค.) เสียใหม่เพราะยังมีเวลา เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนที่ควรได้จ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรม
รองประธาน ส.อ.ท. ยังชี้บทสรุปผลประโยชน์เรื่องค่าไฟฟ้า มองง่ายๆ ตามหลัก “Zero Sum Game” ว่า ประชาชนคนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพง ขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนหลายรายต่างก็มีผลประกอบการที่มีกำไรและเติบโตกันถ้วนหน้า ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( EGAT) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจหลักในการดูแลไฟฟ้าของประเทศ เหลือสัดส่วนเพียง 30% และ แบกภาระหนี้ ร่วม 1 แสนล้านบาท จากนโยบายการอุ้มประชาชนกลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ
“ผมขออนุญาตฝากการบ้านถึงทีมบริหารเศรษฐกิจที่เก่งๆ ของแต่ละพรรคการเมืองให้ช่วยหาทางออก และคำตอบที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน คนไทยด้วย .... ภาครัฐและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีความกล้าหาญ จริงใจ เน้นรักษาผลประโยชน์ของประชาชนคนไทยทุกคนมากกว่าการเกรงใจโรงไฟฟ้าเอกชน หรือไม่ อย่างไรครับ?” นายอิศเรศ ตั้งคำถาม และเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งสวมหมวกอีกใบในฐานะประธานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อขอให้ทบทวนมติของ กกพ. เสียใหม่
อย่างไรก็ดี มีเสียงปฏิเสธทันควันจาก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชัดเจนว่า การทบทวนขึ้นค่าไฟฟ้า รัฐบาลคงทำอะไรไม่ได้มากเนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ ส่วนกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ได้ของบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินปี 2566 ไว้ช่วยเหลือประชาชนในเดือนเม.ย. 2566 เแล้ว
ไม่เพียงแต่ ส.อ.ท. ที่เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการปรับขึ้นค่าเอฟทีเสียใหม่ พรรคการเมืองก็เคลื่อนไหวเช่นกัน โดย นายกรณ์ จาติกวนิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ขอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. ทบทวนมติ กกพ. ที่ขึ้นค่าเอฟทีไม่เป็นธรรมและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง ทำให้ค่าไฟเดือน พ.ค.-ส.ค. ของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากหน่วยละ 4.72 บาท เป็นหน่วยละ 4.77 บาท แต่กลับลดค่าไฟภาคอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 11 จากเดิมหน่วยละ 5.33 บาท เหลือหน่วยละ 4.77 บาท เท่ากันกับค่าไฟครัวเรือน ทั้งที่ต้นทุนเนื้อก๊าซในตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยนล้วนปรับลดลง ค่าไฟควรปรับลดมากกว่านี้
“กกพ. กำหนดค่าไฟเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน ละเลยความเดือดร้อนประชาชนเพราะปรับขึ้นค่าไฟภาคครัวเรือนในช่วงที่มีการใช้ไฟสูงสุด อีกทั้งยังอ้างความเห็นประชาชนสนับสนุนการขึ้นค่าไฟมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งดูขัดแย้งความเป็นจริง” หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ท้วงติง
ขณะที่การขึ้นค่าไฟทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ แต่มีกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลดี โดยบล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า มีมุมมอง Slightly Positive ต่อกลุ่มท่องเที่ยวหลังมีการปรับลดค่าไฟฟ้างวดเดือนพ.ค.- ส.ค. 2566 เนื่องจากค่าไฟเป็นอีกหนึ่งในต้นทุนสำคัญของกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมที่ฝ่ายวิจัยศึกษา คิดเป็นสัดส่วนราว 6-8.5% ของรายได้ปี 2566 เบื้องต้นจากค่าไฟที่ลดลงจะส่งผลทำให้กำไรของกลุ่มโรงแรมปี 2566 มีอัพไซด์เพิ่มขึ้น 2.2-6.5%
เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีก ค่าไฟถือเป็นต้นทุนสำคัญ ซึ่งหากอิงจากปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนราว 1-4% ของรายได้ เบื้องต้นค่าไฟที่ลดลงจะทำให้กำไรกลุ่มค้าปลีกมีอัพไซด์เพิ่มขึ้น 4% โดย MAKRO และ CPALL จะเกิดอัพไซด์มากที่สุด 6% ตามด้วย BJC อยู่ที่ราวๆ 4% อิงจากสัดส่วนต้นทุนค่าไฟมากที่สุดเมื่อเทียบกับกำไร
การบ้านค่าพลังงานแพง เป็นโจทย์ใหญ่ที่พรรคการเมืองขายนโยบายแก้ปัญหาเพื่อเรียกคะแนนเสียงกันคึกคัก แต่พรรคที่ตีปี๊บอย่างต่อเนื่องเห็นจะเป็น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี “พี่มิ่ง” นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งล่าสุด “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ก็ไฟเขียวให้ “เจ๊มิ่ง” โปรโมทนโยบายแก๊สประชาชน ลดราคาเหลือ 250 บาทต่อถัง ตอกย้ำจุดขายเรียกคะแนนนิยมอีกครั้ง
“พี่มิ่ง” ร่ายยาวว่าการแก้ปัญหาราคาก๊าซหุงต้มจะไปช่วยเหลือภาคครัวเรือนโดยตรง ซึ่งปัญหาราคาแก๊สเริ่มเกิดเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2557 ที่ กพช. กำหนดกรอบและแนวทางปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อมา กบง. ยอมให้โรงแยกแก๊สปรับราคาแอลพีจีจาก 10 บาท เป็น 15 บาท มีผลตั้งแต่ 2 ก.พ. 2558 และรัฐบาลเริ่มใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุนโดยคุมราคาปลายทาง จากนั้นเมื่อปี 2560 กบง.เปิดเสรีธุรกิจแก๊สแอลพีจีเต็มรูปแบบทำให้ราคาต้นทางขึ้นไม่หยุดต้องเอาเงินกองทุนน้ำมันไปอุดหนุน
ต่อมา เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ราคาแก๊สหุงต้ม ปรับขึ้นเป็น 423 บาทต่อถัง และรัฐบาลประกาศให้ตรึงราคาแก๊สไว้ที่ราคานี้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. เนื่องจากใกล้การเลือกตั้ง ถ้าปล่อยให้ราคาแก๊สสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จะกระทบต่อคะแนนเสียง แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นหลังวันที่ 30 มิ.ย.นี้ เพราะถ้าดูจากสถิติราคาแก๊สจะพุ่งสูงขึ้นถึง 513 บาทต่อถัง ซึ่งไม่ทราบว่าเวลานั้นรัฐบาลจะเป็นใคร
“พี่มิ่ง” ยังพูดเหมือนคราวที่รัฐบาลทหาร และพลังประชารัฐเข้ามาเป็นแกนนำรัฐบาลบริหารประเทศใหม่ๆ ว่า ต้องมีการรื้อและปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อให้ประชาชนคนไทยได้รับความเป็นธรรม และเกิดความโปร่งใสเป็นการใช้งบประมาณรายได้ของรัฐให้ถูกที่ถูกทาง คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน
คำกล่าวของ “พี่มิ่ง” ข้างต้น เท่ากับยอมรับผลงานความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาพลังงานของรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐโดยปริยาย เพราะเห็นแล้วว่า “รัฐบาล 3 ป.” ที่มีพลังประชารัฐเป็นแกนนำไม่ได้แตะปัญหาโครงสร้างพลังงานอย่างที่เคยคุยโม้แต่อย่างใด
มาถึงรอบนี้ “พี่มิ่ง” ก็ว่าพลังประชารัฐที่ “บิ๊กป้อม” คุมหัวเสืออยู่อย่างโดดเดี่ยว ไร้เงาพี่น้อง “2 ป.” จะลดราคาแก๊สเพื่อประชาชนจาก 423 บาทต่อถัง เป็น 250 บาทต่อถัง ใช้งบอุดหนุนประมาณ 24,000 ล้านบาท ทั้งยังจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลด้านพลังงาน ทั้งก๊าซ น้ำมัน และไฟฟ้าด้วย ฟังๆ ดูก็พอรู้ว่าคงเป็นแค่ “ราคาคุย”
ส่วน พรรคเพื่อไทย ที่จะผลักดันนโยบายพลังงานสองเรื่องหลักๆ คือ ลดราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาแก๊สหุงต้ม และราคาน้ำมัน ยังไม่มีรายละเอียดออกมาว่าจะทำยังไง ส่วนอีกเรื่องคือผลักดันการเจรจาเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา ก็ยังต้องรอดูว่าจะทำได้สักกี่มากน้อยเพราะเงื่อนไขการเจรจาขึ้นอยู่กับฝั่งกัมพูชาด้วย
สำหรับ พรรคก้าวไกล จะปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน กองทุนน้ำมัน ภาษีสรรพสามิต เปลี่ยนแก๊สธรรมชาติราคาแพงให้ถูกลง และลดค่าความพร้อมจ่ายเพราะมีโรงไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิกำลังหมดอายุ และปรับการพยากรณ์ไฟฟ้าใหม่เพราะสูงเกินจริงและผลักภาระประชาชน กำลังการผลิตส่วนเกินรัฐต้องรับผิดชอบ
โจทย์ราคาพลังงานแพงและโครงสร้างที่บิดเบี้ยวเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนเป็นหลัก ต้องการแนวทางแก้ไขปัญหาแบบคิดใหม่ ทำใหม่ และได้ผลลัพธ์แบบใหม่ แทนการวนลูปใช้กองทุนน้ำมันมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ใช้ กฟผ.มาแบกหนี้ ซ้ำซาก และพรรคการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศต้องไม่ลืมว่าพลังงานแห่งอนาคตกำลังมาแรง ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์เซลล์ พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ประชาชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน