ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technology) เป็นเทรนด์ธุรกิจที่กำลังมาแรง การฝากไข่ (Egg Freezing) หรือการแช่แข็งไข่ กำลังได้รับความนิยมในผู้หญิงยุคใหม่ เปรียบง่ายๆ การฝากไข่หมือนทำประกันสุขภาพ เพิ่มความมั่นใจ เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ (แต่ไม่ได้การรันตี 100 %) สำหรับวางแผนการตัดสินใจมีลูกในอนาคต
อ้างอิงรายงานจาก BBC ระบุว่าผู้หญิงในสหราชอาณาจักรฝากไข่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม อัตราการฝากไข่ที่เพิ่มขึ้น 11% จากปี 2016 ถึง 2017 เป็นไปในทิศทางเดียวกับรายงานของ TIME ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2019 ผู้หญิงทำการฝากไข่เพิ่มขึ้นกว่า 50%
เทรนด์การฝากไข่กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจดันคลีนิครักษาภาวะมีบุตรยากให้เติบโตทั่วโลก ขณะที่ศักยภาพด้านการแพทย์สมัยใหม่ของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์รองรับการเป็น “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)” ซึ่งมีข้อมูลเปิดเผยว่าธุรกิจด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 5,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
ประเด็นการฝากไข่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นหลักประกันเพิ่มโอกาสให้มีลูกได้ในอนาคต กล่าวคือเมื่อผู้หญิงอายุยิ่งเพิ่มมากขึ้นจำนวนและคุณภาพของไข่จะลดลงเรื่อยๆ การฝากไข่เพื่อคัดสรรค์ไข่ที่มีคุณภาพดี วางแผนมีบุตรในอนาคต การฝากไข่ช่วยลดโอกาสที่เด็กจะเกิดมามีความผิดปกติของโครโมโซมและลดโอกาสภาวะดาวน์ซินโดรมได้ เป็นการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์เมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งการฝากไข่สามารถฝากได้สูงสุดถึง 10 ปี ทำให้กำหนดช่วงอายุที่จะตั้งครรภ์วางแผนการมีลูกได้ด้วยตนเอง
พญ.วรมา เกษมพิพัฒน์ชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ แห่ง Genesis Fertility Center (GFC) ศูนย์รวมบริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก ให้ข้อมูลว่าการฝากไข่ตั้งแต่อายุยังน้อย คือ อายุไม่เกิน 35 ปี มีโอกาสที่จะได้เซลล์ไข่ที่มีทั้งปริมาณมากและคุณภาพยังดีอยู่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในโอกาสของการมีลูกในอนาคต แต่อายุมากกว่า 35 ปี ก็ยังสามารถทำได้เช่นกัน
“การฝากไข่ เปรียบให้เข้าใจง่ายๆ เหมือนการซื้อกองทุน ซึ่งการลงทุนมีความเสี่ยง (ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจก่อนการลงทุน) ความเสี่ยงคือ การเก็บไข่และฝากไข่ไว้ ไม่ได้เท่ากับ ลูกในอนาคต เพราะหลังจากการฝากไข่แล้ว เมื่อจะใช้ในอนาคตต้องละลายเซลล์ไข่ที่แช่แข็งไว้ มาปฏิสนธิกับอสุจิ เพื่อให้เป็นตัวอ่อน แล้วจึงนำใส่โพรงมดลูกของผู้หญิงเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ ซึ่งโอกาสในการตั้งครรภ์ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ณ ขณะนั้น”
การฝากไข่เพื่อมีลูกในอนาคตเป็นปรากฏการณ์ระดับสากล ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกรู้จักมานานแล้ว แต่กับสังคมไทยยังถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งเริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ มีการนำผู้หญิงที่มีชื่อเสียงทางสังคมแชร์ประสบการณ์ใช้บริการฝากไข่ เป็นการสร้างกระแสฝากไข่ในเมืองไทย
บทความเรื่อง “การฝากไข่” : ชีวการแพทย์สมัยใหม่กับการเจริญพันธุ์ของผู้หญิง” โดย ผศ.ดร.ปาณิภา สุขสม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุตอนหนึ่งความว่าชีวการแพทย์สมัยใหม่ของการฝากไข่ยังขับเน้นให้เห็นถึงประเด็นเรื่องอุดมการณ์ทางเพศ บรรทัดฐานและความไม่เท่าเทียมทางเพศที่รวมอยู่ด้วย เพราะการฝากไข่ขยายโอกาสแก่ผู้ที่อาจจะประสบปัญหาการมีบุตรในอนาคตอันเนื่องจากความเจ็บป่วย หรือแม้แต่การชะลอระยะเวลาการมีลูกให้ผู้หญิงยังสามารถเป็นแม่โดยสายเลือด แต่ขณะเดียวกัน ก็อาจนำมาสู่การสร้างความหมายบางอย่างหรือการตีตราผู้หญิงที่ไม่มีบุตรหรือรับบุตรบุญธรรม
นอกจากนี้ การตลาดของธุรกิจที่เข้มข้น การพัฒนาเครื่องมือเชิงเทคโนที่ใช้สำหรับการติดตามปริมาณและคุณภาพของไข่ การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักแก่สาธารณชนเกี่ยวกับการลดลงของภาวะการเจริญพันธุ์จากวัยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้หญิงไม่เพียงแต่คิดเกี่ยวกับอนาคตการเจริญพันธุ์ของตนเอง หากแต่ทำให้ลุกขึ้นมาทำบางอย่างด้วย สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นอุดมการณ์ทางเพศที่เชื่อมความเป็นผู้หญิงให้เข้ากับความเป็นแม่ โดยเฉพาะความเป็นแม่ที่มีความสัมพันธ์กับลูกโดยสายเลือดตามข้อกำหนดของสังคม
การฝากไข่เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มคนเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง เวลาที่เหมาะสมของการตั้งครรภ์และการเป็นแม่จึงสะท้อนบรรทัดฐานทางสังคมที่มีประเด็นชนชั้นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับบรรทัดฐานทางเพศเรื่องการเป็นแม่และการเลี้ยงลูกที่ดี
ในประเด็นนี้มีส่วนอย่างมากที่สนับสนุนให้ผู้หญิงชะลอการมีลูกและตัดสินใจฝากไข่ ความวิตกกังวลว่าจะต้องมีเวลาและอุทิศตัวให้กับลูก การมีความสัมพันธ์กับคู่สมรสและการเงินที่มั่นคง ข้อกำหนดของการเป็นแม่ที่มีลูกจากการสืบสายเลือดของตนเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนกลายมาเป็นมาตรฐานของการเป็นแม่ และมีผลต่อการตัดสินใจของผู้หญิงให้เลื่อนการเป็นแม่ออกไป จนกว่าความสัมพันธ์ของเธอกับคู่ชีวิต อาชีพการงานและความมั่นคงด้านอารมณ์ของพวกเธอจะอยู่ในจุดที่พร้อมสำหรับการมีลูก
อย่างไรก็ดี คนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันนิยมใช้ชีวิตเป็น * “โสด” อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าวัยทำงานในกลุ่ม Gen Y ที่เกิดในช่วงปี 2523 - 2543 หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 22 - 42 ปี มีค่านิยมในการใช้ชีวิตคู่ที่เปลี่ยนไป คือ มุ่งทำงานให้ประสบความสำเร็จ ครองตัวเป็นโสด ไม่สมรส และไม่มีลูก โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นติดต่อกัน 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2560 – 2564
สอดคล้องกับผลสำรวจความสัมพันธ์ของคนยุคดิจิทัล ผ่านแอปฯ หาคู่ยอดฮิต Tinder ตามรายงาน Year in Swipe 2022 เผยเทรนด์การออกเดทของนิวเจนไทย มองหาสถานะ “คนคุย” หรือ “Situationship” ความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด แต่ก็ไม่ฉาบฉวย เรียกง่ายๆ คือ เน้นคุย ไม่เน้นคบ
ขณะที่สถานการณ์อัตราการเกิดของเด็กไทยที่แนวโน้มเด็กเกิดลดลงตลอด 10 ปี ระหว่างปี 2555 - 2564 มีอัตราการเกิดของเด็กไทยลดลงจนเพียงไม่ถึง 6 คนต่อประชากร 100,000 คน จากระดับการเกิดมากว่า 8 คนต่อประชากร 100,000 คน สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยไม่อยากมีลูก
รศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่าอัตราเกิดหรือจำนวนเด็กแรกเกิดของประเทศไทยที่ลดลงนั้น เริ่มต้นและลดลงเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 40 ปี นับตั้งแต่ช่วงที่มีประชากรเกิดมากกว่า 1 ล้านคนในแต่ละปีราวปี 2506 - 2526 ซึ่งเราเรียกการเกิดเกิน 1 ล้านคนต่อปีในช่วงนั้นว่า ยุค Baby Boom จากนั้นก็เริ่มลดลงจนกระทั่งในปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นปีแรกที่มีจำนวนเด็กแรกเกิดต่ำกว่าจำนวนคนที่ตายไป
“ในปี พ.ศ. 2554 เรายังมีตัวเลขการเกิดสูงเกือบ 8.5 แสนคน ในขณะที่ 10 ปีผ่านไป ตัวเลขการเกิดต่ำกว่า 5.5 แสนคน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ตัวเลขการเกิดลดลงมากกว่า 1 ใน 3 โดยใช้เวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น อีกทั้งยังมีการคาดการณ์กันอีกด้วยว่า จากจำนวนประชากรไทยในปัจจุบันที่มีไม่ถึง 70 ล้านคนนี้นั้น จะลดลงมาเหลือเพียงครึ่งเดียวคือไม่เกิน 35 ล้านคน หรือคนไทยเราจะหายไปครึ่งหนึ่งเพราะเด็กเกิดใหม่น้อย ในขณะที่มีคนสูงอายุที่จะทยอยกันตายไปตามอายุขัยภายในเวลาไม่ถึง 100 ปี”
ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ในหลายประเทศก็อยู่ในภาวการณ์เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ โลกกำลังประสบปัญหาเด็กเกิดน้อย และสังคมสูงวัย จากอัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) ที่ต่ำกว่าระดับทดแทนประชากร
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่าในปี 2583 หากอัตราการเกิดยังคงลดลง สัดส่วนวัยเด็กจะมีเพียงร้อยละ 12.8 ในขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือร้อยละ 56 และสัดส่วนของผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 31.2 ขณะที่ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่า อีก 78 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรลดลงครึ่งหนึ่งจาก 71 ล้านคน เหลือ 35 ล้านคน
กลายเป็นวาระร้อนแห่งชาติ เพราะอัตราการเกิดใหม่ของเด็กไทยที่ลงฮวบลงนำสู่ปัญหาใหญ่ในอนาคต อาทิ การจัดเก็บภาษีได้ลดลง การขาดแคลน แรงงานที่มีฝีมือ ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ รวมทั้งรูปแบบ ครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปจากครอบครัวขยายกลายเป็น ครอบครัวเดี่ยว การเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ปัญหาความมั่นคง และขาดทรัพยากรมนุษย์ในการพัฒนาประเทศ
อย่างไรก็ดี การสร้างกลไกบริหารอัตราการเกิดเพื่อสร้างสมดุลให้แก่จำนวนประชากรจึงเป็นโจทย์ข้อใหญ่ของรัฐ โดยหัวใจสำคัญตั้งแต่นโยบายส่งเสริมการเข้าถึงระบบอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพครอบคลุมประชาชนทุกระดับ สร้างระบบการวางแผนชีวิตครอบครัวที่ได้มาตรฐาน
น.ส.เจนจิรา รัตนเพียร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่ากระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างครอบครัวให้มั่นคง แต่ยังไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดได้ จัดกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้ชีวิตคู่และการมีบุตร ตลอดจนเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของวัยแรงงาน
นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานหลักของภาครัฐในการขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคม ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) ได้ออกมาตราการๆ ส่งเสริมสวัสดิภาพประชากรเกิดใหม่ เป็นการกระตุ้นอัตราการเกิดอย่างเต็มกำลัง
สำหรับมาตรการส่งเสริมอัตรการเกิดใหม่ของภาครัฐ ยังคงต้องติดตามผลกันยาวๆ ยิ่งไปกว่านั้นนอกจากการเพิ่มอัตราการเด็กเกิดใหม่ ต้องไม่ลืมว่าจะสร้างกลไกอย่างไร ให้เด็กเกิดใหม่เติบโตมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพ และต้องยอมรับว่าแม้รัฐจะเร่งเครื่องส่งเสริมให้คนไทยมีลูกอย่างเต็มกำลัง แต่การตั้งครรภ์มีลูกเป็นสิทธิเสรีภาพของพลเมือง
และที่น่าสนใจคือทางเลือกชะลอการมีลูกวางแผนอนาคตตั้งครรภ์ด้วย “การฝากไข่” ที่กำลังป็นเทรนด์นิยมทั่วโลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ สู่เทรนด์ธุรกิจการแพทย์เจาะไลฟสไตล์การใช้ชีวิตของคนยุคใหม่