xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองแบบบ้านใหญ่: อุปสรรคของการพัฒนาประชาธิปไตย / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

 รูปแบบ “การเมืองแบบบ้านใหญ่” ที่แพร่หลายกันในสังคมไทยปัจจุบันไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะของการเมืองไทย ในประวัติศาสตร์ของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย มีรูปแบบการเมืองที่คล้ายคลึงกันกับการเมืองแบบบ้านใหญ่ที่เรียกว่า “การเมืองแบบจักรกล” (political machine) ซึ่งเคยดำรงอยู่ในประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกามาแล้วในระยะเริ่มขึ้นของการพัฒนาประชาธิปไตยช่วงศตวรรษที่ 19 จวบจนถึงกลางศตวรรษที่ 20 และมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองของอเมริการะยะหนึ่ง ปัจจุบันการเมืองแบบจักรกลในสหรัฐได้เสื่อมถอยและหมดอิทธิพลไปแล้ว ทว่า การเมืองแบบบ้านใหญ่กลับยังมีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลสูงในการเมืองไทย

การเมืองแบบจักรกลเป็นคำที่ใช้เพื่ออธิบายถึงองค์กรทางการเมืองที่มีการจัดระเบียบสูง ซึ่งมีลักษณะเด่นคือความสามารถในการควบคุมและบงการกระบวนการทางการเมืองในท้องถิ่นหรือภูมิภาคหนึ่ง ๆ เงื่อนไขของการเกิดขึ้นและพัฒนาของการเมืองแบบจักรกลในสหรัฐฯ คือการกลายเป็นเมืองและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัญหาที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น ความยากจน อาชญากรรม และการทุจริต ก็เกิดขึ้นตามมา ขณะที่หน่วยงานราชการยังไม่สามารถพัฒนาสมรรถนะและประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ การเมืองแบบจักรกลจึงกลายเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้และให้บริการแก่ชาวเมือง

การเมืองแบบจักรกลมักจะถูกจัดตั้งขึ้นโดยนักการเมืองที่มีอำนาจและอิทธิพล ซึ่งมีเครือข่ายผู้สนับสนุนและพันธมิตรที่กว้างขวาง นักการเมืองเหล่านี้จะใช้อำนาจและอิทธิพลเพื่อควบคุมลักษณะสำคัญของกระบวนการทางการเมือง เช่น การเลือกตั้ง การแต่งตั้ง และการกระจายทรัพยากร และพวกเขาจะใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ เช่น การอุปถัมภ์ การติดสินบน และการข่มขู่เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจ

 หนึ่งในการเมืองแบบจักรกลที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกาคือ กลุ่มแทมมานี ฮอลล์ (Tammany Hall) ซึ่งตั้งอยู่ในนิวยอร์กซิตี้ แทมมานี ฮอลล์ นำโดยกลุ่มนักการเมืองผู้ทรงอำนาจ มีนายวิลเลียม มาเกียร์ ทวีด (William Magear Tweed) หรือรู้จักกันในนาม “บอส” เป็นแกนนำ นายทวีดหรือ “บอส” มีลักษณะแบบ “ใจถึง พึ่งได้” ซึ่งสร้างภาพลักษณ์ความเป็นนักบุญที่ใจดีพร้อมช่วยเหลือผู้มีปัญหา เช่น ผู้ใช้แรงงานและผู้อพยพ และใช้เครือข่ายระบบอุปถัมภ์เป็นกลไกหลักในการรักษาอำนาจ

เป้าหมายหลักของการเมืองแบบจักรกลคือ การทำให้ตัวเองอยู่ในอำนาจมากกว่าการจัดหารัฐบาลที่ดี ส่วนการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการ การช่วยเหลือกลุ่มผู้อพยพ และการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมดำรงอยู่ในฐานะวิธีการ เพื่อทำให้การครองอำนาจและความมั่งคั่งของกลุ่มมีเสถียรภาพและยืนยาว บุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นฟันเฟืองของการเมืองแบบจักรกลมักกล่าวในทำนองที่ว่า พวกเขาทำงานเพื่อรวมอำนาจไว้ในมือของเจ้านาย

การเมืองแบบจักรกลสามารถควบคุมการเมืองในนิวยอร์กซิตี้ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 กลุ่มแทมมานี ฮอลล์ ซึ่งเป็นผู้สร้างการเมืองแบบจักรกลเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายจากการทุจริต และความสามารถในการควบคุมการเลือกตั้งผ่านการซื้อเสียงและการใช้กลยุทธ์ที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม อำนาจของกลุ่มแทมมานี ฮอลล์เริ่มลดลงในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 อันเป็นผลมาจากการเกิดขึ้นและการขยายตัวของสื่อมวลชน และความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของการเมืองระดับชาติ ซึ่งทำให้การเมืองแบบจักรกลท้องถิ่นรักษาอำนาจของตนได้ยากลำบากมากขึ้น

ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายปฏิรูประบบราชการและการเมืองหลายฉบับ เช่น กฎหมายปฏิรูประบบราชการเพนเดิลตันปี 1883 โดยนำระบบคุณธรรมในการคัดเลือกและแต่งตั้งโยกย้ายมาใช้ในระบบราชการอย่างจริงจัง และกฎหมายแฮทช์ปี 1939 ซึ่งห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองบางอย่างในขณะปฏิบัติหน้าที่ ขณะสวมเครื่องแบบ หรือขณะกำลังใช้ทรัพย์สินของรัฐบาลกลาง เช่น จะใช้ยานพาหนะของรัฐบาลไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้ และห้ามมิให้พนักงานของรัฐบาลกลางใช้อำนาจหน้าที่เพื่อแทรกแซง หรือกระทำการใดที่ส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้ง หรือการเรียกรับเงินสนับสนุนจากฝ่ายการเมือง กฎหมายทั้งสองช่วยบั่นทอนและจำกัดสมรรถนะของการเมืองแบบจักรกลในการใช้ระบบอุปถัมภ์และกลวิธีทุจริตอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิผล

แม้การเมืองแบบจักรกลในสหรัฐอเมริกาจะถดถอยและเสื่อมลง แต่ยังคงทิ้งมรดกการเมืองบางอย่างเอาไว้ และยังคงเห็นได้ในการเมืองอเมริกันในปัจจุบัน เทคนิคหลายอย่างที่พัฒนาโดยการเมืองแบบจักรกล เช่น การจัดตั้งมวลชนระดับรากหญ้าในการลงคะแนนเสียงยังคงใช้อยู่ในการเมืองสมัยใหม่ และแนวคิดของการอุปถัมภ์ทางการเมืองโดยที่พันธมิตรทางการเมืองได้รับผลตอบแทนจากงานราชการหรือผลประโยชน์อื่น ๆ ยังคงมีอยู่ในหลายพื้นที่ของการเมืองอเมริกัน


 เมื่อพิจารณา “การเมืองแบบบ้านใหญ่” ของสังคมไทยในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงกันหลายอย่างกับการเมืองแบบจักรกล แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนคือ การเมืองแบบจักรกลอาศัยองค์กรของพรรคการเมืองและกลุ่มพวกพ้องที่เป็น “กลุ่มวงใน” เป็นโครงสร้างอำนาจหลักของจักรกล ขณะที่การเมืองแบบ “บ้านใหญ่” อาศัยตระกูลและความสัมพันธ์ทางเครือญาติเป็นโครงสร้างอำนาจหลักของการสร้างจักรกล ในแง่นี้ทำให้การเมืองแบบบ้านใหญ่เป็นเสมือนเวอร์ชันใหม่ที่กลายพันธุ์มาจากการเมืองแบบระบบเจ้าเมืองในอดีต ที่ถูกรื้อสร้างและประกอบขึ้นใหม่ภายใต้บริบทของการเมืองไทยในปัจจุบัน ลักษณะของการเมืองแบบบ้านใหญ่คล้ายคลึงกับการเมืองแบบเจ้าเมือง คือ การส่งคู่ครอง บุตรหลาน และญาติพี่น้อง เข้าไปช่วงชิงอำนาจและดำรงตำแหน่งในการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นทุกประเภท จากนั้นมีการส่งต่ออำนาจไปยังบุตรหลานรุ่นต่อไป

ความแตกต่างประการที่สองคือ การเมืองแบบจักรกลของสหรัฐอเมริกากำเนิดและพัฒนาขึ้นมาในเขตเมือง และมีเครือข่ายผู้สนับสนุนหลักเป็นผู้ใช้แรงงานและผู้อพยพที่ยากจน ขณะที่การเมืองแบบบ้านใหญ่ของไทยส่วนใหญ่มีเครือข่ายผู้สนับสนุนหลักเป็นเกษตรกรในชนบท เพราะบริบทหลักของสังคมไทยยังคงเป็นสังคมกึ่งเกษตรกรรม เช่น บ้านใหญ่ในหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง ฐานมวลชนหลักก็จะเป็นเกษตรกร แต่การเมืองบ้านใหญ่ในบางจังหวัดแถบปริมณฑล และภาคตะวันออก อาจมีฐานมวลชนเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพราะมีบริบทเป็นเมืองอุตสาหกรรม

สำหรับสิ่งที่คล้ายคลึงกันของการเมืองแบบจักรกลและการเมืองแบบบ้านใหญ่มีหลายประการ อย่างแรกคือ เป้าหมายของการทำงานการเมืองที่ต้องการเข้าถึงและรักษาอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มมากกว่าการสร้างและการพัฒนารัฐบาลที่ดีในการบริหารปกครองท้องถิ่นและประเทศ อย่างที่สองคือ การสร้างภาพลักษณ์การเป็นนักบุญ นักการเมืองที่เป็นแกนนำของระบบการเมืองทั้งสองประเภทนิยมสร้างภาพลักษณ์และบทบาทของความเป็นนักบุญและนักพัฒนา บทบาทที่พวกเขาแสดงอย่างต่อเนื่องคือ การจัดงานบุญ งานกุศล บริจาคเงินให้แก่วัด โรงเรียน และโรงพยาบาล การช่วยเหลือผู้ที่ประสบความเดือดร้อน การบริการสาธารณะในรูปแบบอื่น ๆ และการช่วงชิงงบประมาณแผ่นดินเพื่อใช้ในการพัฒนาพื้นที่เขตเลือกตั้งหรือจังหวัดของตนเอง สำหรับคำขวัญที่นักการเมืองประเภทนี้ชอบใช้อยู่เป็นประจำคือ  “ใจถึง พึ่งได้”

การสร้างภาพลักษณ์ความเป็นนักบุญด้านหนึ่งทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นคนดี และอยากเลือกเขาเป็นผู้แทนหรือผู้บริหารท้องถิ่นและประเทศ แต่การมีภาพลักษณ์ความเป็นคนดีแต่อย่างเดียวไม่ใช่หลักประกันการรักษาอำนาจและตำแหน่งของพวกเขาไว้ได้ พวกเขาจึงต้องจัดระบบที่ทรงประสิทธิภาพขึ้นมาเพื่อประกันการเข้าถึงตำแหน่งทางการเมืองได้อย่างต่อเนื่อง นั่นนำไปสู่ความคล้ายคลึงกันในประการที่สามของการเมืองทั้งสองรูปแบบ ซึ่งคือ การสร้างเครือข่ายหัวคะแนนหรือบริวารเพื่อเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนจักรกล

ระบบหัวคะแนนถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยอาศัยระบบอุปถัมภ์เป็นโครงสร้างหลัก หัวคะแนนอาจประกอบด้วย นักการเมืองท้องถิ่นในระดับรองลงมา ผู้นำชุมชน ผู้นำกลุ่มอาชีพ และผู้นำกลุ่มทางสังคมอื่น ๆ ในช่วงเวลาปกติ บุคคลเหล่านั้นทำหน้าที่เป็นตัวแทนนักการเมืองในการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม บริการสาธารณะ และช่วยเหลือมวลชนตามที่ได้รับการร้องขอ ในช่วงการเลือกตั้งหัวคะแนนจะทำหน้าที่ในการจัดหาคะแนนเสียงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การหาเสียง การซื้อเสียง การทุจริตในหน่วยลงคะแนนเสียง การควบคุมให้ผู้เลือกตั้งลงคะแนนตามที่กำหนด และการใช้กลยุทธ์ผิดกฎหมายอื่น ๆ เพื่อบั่นทอนคะแนนคู่แข่ง เช่น การข่มขู่คุกคามคู่แข่ง การปล่อยข่าวลือให้ร้ายคู่แข่ง การทำลายป้ายหาเสียงคู่แข่ง

 ประการที่สี่ ในการดำรงรักษาอำนาจทางการเมืองอย่างต่อเนื่องต้องอาศัยทรัพยากรจำนวนมาก ดังนั้น การเมืองทั้งสองประเภทต้องแสวงหาทรัพยากรมาค้ำจุนระบบเอาไว้ วิธีการที่การเมืองทั้งสองประเภทใช้ในการแสวงหาทุนคือ การทุจริตคอรัปชั่นในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ การซื้อขายตำแหน่งในแวดวงราชการ การใช้นโยบายเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนบางกลุ่มแลกกับผลประโยชน์ตอบแทนกลับมา หรือแม้กระทั่งเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจผิดกฎหมายนานาประเภท รวมไปถึงการคุ้มครององค์กรอาชญากรรมทั้งภายในชาติและข้ามชาติ

 ประการที่ห้า การตอบโต้กับสิ่งคุกคามความมั่นคงของระบบ การเมืองทั้งสองประเภทมีแนวโน้มใช้ทั้งมาตรการจูงใจและรุนแรงในการจัดการกับสิ่งคุกคาม มาตรการจูงใจคือการดึงเข้ามาเป็นพวก เพื่อลดการแข่งขันด้วยการเสนอผลประโยชน์และตำแหน่งทางการเมืองให้แก่คู่แข่งที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง หรือหากไม่สามารถดึงเข้ามาเป็นพวกได้ พวกเขาก็อาจใช้วิธีการรุนแรงในการบั่นทอนสมรรถนะของคู่แข่ง ซึ่งรวมไปถึงการขจัดคู่แข่งออกจากสนามการแข่งขันด้วย

การเมืองแบบบ้านใหญ่เป็นการเมืองที่ไม่นำเอาปัจจัยด้านอุดมการณ์เข้ามาอยู่ในสมการการเมือง ดังนั้น นักการเมืองบ้านใหญ่จึงพร้อมที่จะย้ายพรรคอยู่ตลอดเวลาทั้งช่วงเวลาปกติ และช่วงที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ สิ่งที่ฝังลึกอยู่ในกรอบแห่งจิตอย่างมั่นคงของพวกเขาคือการได้มาซึ่งอำนาจและตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น การเมืองแบบบ้านใหญ่จึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในสหรัฐอมริกา เมื่อมีกฎหมายปฏิรูประบบราชการและการเลือกตั้ง ปรากฏว่าทำให้การเมืองแบบจักรกลเสื่อมถอยและหมดบทบาท ทว่าในสังคมไทย การเมืองแบบบ้านใหญ่ก็ยังดำรงอยู่และมีอิทธิพลสูง ทั้งที่มีการปฏิรูประบบราชการหลายครั้ง มีการปรับปรุงกฎหมายเลือกตั้งและพรรคการเมืองให้มีความเข้มข้นในการลงโทษผู้ที่ใช้อำนาจรัฐแทรกแซงการเลือกตั้ง ผู้ที่ทุจริตการเลือกตั้ง และผู้ที่มีส่วนร่วมในการซื้อขายเสียงอย่างรุนแรง และมีสื่อมวลชนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ปรากฏในสหรัฐฯ มาก แต่ปรากฏในสังคมไทยน้อยคือ ปริมาณประชาชนผู้เลือกตั้งที่ตระหนักให้ความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตย กลับกันสิ่งที่ปรากฏในสังคมไทยมาก แต่ไม่ปรากฏในสหรัฐอเมริกาคือ การรัฐประหาร ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญและบั่นทอนความก้าวหน้าของประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ที่สำคัญคือ นักการเมืองประเภทบ้านใหญ่มักจะทำตัวเป็นฐานในการสร้างความชอบธรรมและการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารอยู่เสมอ ในแง่นี้นักการเมืองประเภทบ้านใหญ่จึงเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทย

 ดังนั้น จุดเริ่มขึ้นที่สำคัญอย่างยิ่งของผู้เลือกตั้งไทยในการวางรากฐานอีกครั้งให้แก่การพัฒนาประชาธิปไตยคือ การปฏิเสธพรรคการเมืองและนักการเมืองที่มีส่วนร่วมและสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และพรรคการเมืองเหล่านั้นในปัจจุบันก็คือ พรรคการเมืองที่รวบรวมบรรดานักการเมืองประเภทบ้านใหญ่อยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง



กำลังโหลดความคิดเห็น