ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สุดคึกศึกเลือกตั้ง’66 เงินสะพัดกว่าแสนล้าน นักการเมืองขายฝัน ผู้ประกอบการขายไอเดีย ประชาชนออกเสียง ร่วมพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย แต่เมื่อเห็นหน้าค่าตาทีมเศรษฐกิจที่แต่ละพรรคเปิดโฉมแล้วส่วนใหญ่ก็คนหน้าเดิมๆ ดูทรงแล้วคงไม่ปังอย่างว่า
เลือกตั้งรอบนี้ เจ้าสำนักโพลเศรษฐกิจอย่าง ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดย นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาของศูนย์ฯ ประเมินว่าการแข่งขันที่เข้มข้น การต่อสู้เชิงการเมืองค่อนข้างดุดันส่งผลให้มีเม็ดเงินใช้จ่ายเพื่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสะพัดมากในช่วงหนึ่งเดือนครึ่งก่อนการเลือกตั้งในทุกเขตการเลือกตั้ง รวมแล้วอย่างน้อย 1-1.2 แสนล้านบาท กระตุ้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีในปีนี้ได้ราวร้อยละ 0.5-0.7 จากเดิมที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดราว 5-6 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจมองว่าการเมืองยังเป็นปัจจัยเสี่ยง โดยกังวลว่าจะเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น การจัดตั้งรัฐบาลอาจยืดเยื้อจนกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ นักธุรกิจส่วนใหญ่จึงมองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นได้ในช่วงไตรมาส 4
ขณะที่ผลสำรวจความเห็นผู้ประกอบการจำนวน 600 ตัวอย่างในระหว่างวันที่ 1-15 มี.ค. 2566 ถึงผลกระทบภาวะเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจไทยในประเด็นต่างๆ นั้น นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า ปัจจุบันสถานะทางธุรกิจของผู้ประกอบยังเหมือนเดิมทั้งยอดขาย ต้นทุน กำไร สภาพคล่องทางเศรษฐกิจ และผู้ประกอบการมีความกังวลจากต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง ทำให้ยอดขายและกำไรลดลงแต่ภาระหนี้เพิ่มขึ้น
สำหรับเงินเฟ้อที่เหมาะสมภาคธุรกิจมองว่าไม่ควรเกิน 2-3% และหากปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอีกภาคธุรกิจส่วนใหญ่กว่า 70% เห็นว่าจะกระทบต่อโอกาสผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่อัตราค่าแรงขั้นต่ำเหมาะสมควรอยู่ที่ 325 บาต่อวัน จากเฉลี่ย 328-354 บาทต่อวัน ซึ่งหากปรับขั้นค่าแรงอีก 10% ผู้ประกอบการกว่า 50% อาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้าอีก 5.7% และเลิกจ้างงานบางส่วนเพื่อลดภาระต้นทุน
ด้านค่าไฟฟ้านักธุรกิจส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่จะลดจาก 5.69 บาทต่อหน่วย เหลือ 5.33 บาทต่อหน่วย ยังเป็นอัตราที่สูง ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมควรที่ 3.94 บาทต่อหน่วย หากรัฐบาลขึ้นค่าไฟภาคธุรกิจจะปรับขึ้นราคาสินค้าทันที และชะลอแผนลงทุนเพื่อรักษาสภาพคล่อง ส่วนราคาน้ำมันดีเซลควรอยู่ที่ 29.60 บาทต่อลิตร
ผลการสำรวจความเห็นคราวนี้ ภาคธุรกิจมีข้อเรียกร้องต้องการให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดูแลเรื่องต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เร่งเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพเพื่อหนุนท่องเที่ยวและส่งออกให้ขยายตัว ดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีและเศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอย โดยให้ธุรกิจและประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้สะดวก
โจทย์ที่เป็นข้อกังวลต่อการพลิกฟื้นธุรกิจและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ เป็นการบ้านข้อใหญ่สำหรับพรรคการเมืองที่ลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งเพื่อขันอาสามาบริหารบ้านเมือง จังหวะนี้จึงเห็นแต่ละพรรคเปิดตัวทีมเศรษฐกิจและขายนโยบายซื้อใจชาวบ้านกันคึกคัก ล่าสุด พรรคก้าวไกล และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เพิ่งเผยโฉมหน้าทีมเศรษฐกิจ ส่วนพรรคเพื่อไทย และพลังประชารัฐ เปิดตัวดรีมทีมล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ขณะที่ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ความโดดเด่นอยู่ที่หัวหน้าพรรคเป็นตัวชูโรง
หากสแกนรายชื่อทีมเศรษฐกิจของ รทสช.ที่เปิดตัวสู้ศึกเลือกตั้ง’66 เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา มีด้วยกัน 7 คน โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มือวางด้านเศรษฐกิจของ “รัฐบาลลุง” เป็นหัวหน้าทีม
ส่วนทีมเศรษฐกิจ ประกอบด้วย นักการเมืองเก่าแก่ที่เคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์มานมนาน คือ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประธานที่ปรึกษาพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และอดีตรองนายกรัฐมนตรี อีกคนคือ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งทำงานร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ มาตั้งแต่แรก และ นายชวิน อรรถกระวีสุนทร นักธุรกิจรุ่นใหม่ ส่วนที่เหลือเป็นนักวิชาการ รวมทั้งคนในแวดวงธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์
กล่าวสำหรับนายสุพัฒนพงษ์ ปัจจุบัน อายุ 63 ปี เดิมทำงานในภาคธุรกิจพลังงาน และเคยนั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล ตั้งแต่เดือนต.ค. 2557 -ก.ย. 2562 ถูกดึงเข้ามาร่วมทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และหลังจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจชุดก่อนหน้า ลาออกจากตำแหน่ง พร้อมกับ “ทีมสี่กุมาร” พล.อ.ประยุทธ์ จึงตั้งนายสุพัฒนพงษ์ ขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี คุมงานด้านเศรษฐกิจแทน
ผลงานดรีมทีมเศรษฐกิจ ภายใต้การนำของนายสุพัฒนพงษ์ นั้นก็เห็นเป็นที่ประจักษ์ในฝีมือชัดแจ้งแล้วว่าเศรษฐกิจของไทยอยู่ในสภาพฟื้นตัวได้ดีหรือลูกผีลูกคน ไม่นับการแก้ปัญหาเรื่องราคาพลังงานแพง ซึ่งจนป่านนี้ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ยังคร่ำครวญถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศไทยที่สูงลิ่วจากภาระสำรองไฟฟ้าล้นเกิน จนทำให้ศักยภาพการแข่งขันของประเทศสู้คู่แข่งไม่ไหว
ส่วน ม.ล.ชโยทิต กฤดากร อายุ 56 ปี ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้แทนการค้าไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาล เคยดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2552 - พ.ย. 2563 และยังเป็นกรรมการ บมจ.ปตท. อีกด้วย
ทางด้าน พรรคก้าวไกล ซึ่งคุยโวใหญ่โตทีมเศรษฐกิจเหนือกว่าทุกพรรค เพราะคัดสรรส่วนผสมที่ลงตัวอาจไม่ใช่หน้าเก่าที่คุ้นเคยนั้น จะเป็นแค่คำโม้โอ้อวดหรือไม่มาดูกันว่ามีใครบ้าง เต็งหนึ่งหัวหน้าทีมคือ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยเป็น ผอ.ฝ่ายนโยบายพรรคอนาคตใหม่ และสวมหมวกประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจของสภาฯ
ถัดมาคื นายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร หรือ “ต้น” ปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์ที่ National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) มหาวิทยาลัยด้านนโยบายสาธารณะ แห่งกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทำงานวิจัยเรื่องเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย และกับดักรายได้ปานกลาง เป็นผู้เขียนหนังสือ “เศรษฐกิจสามสี : เศรษฐกิจแห่งอนาคต” โดยจะมาผลักดันเรื่องซัพพลายเชนอุตสาหกรรมไฮเทคโลก
นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล หรือ “ดร.ชาย” ปัจจุบันเป็นกรรมการบริษัทเอกชนสินค้าไลฟ์สไตล์แบรนด์ไทย Moshi Moshi เป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ, นายวรภพ วิริยะโรจน์ หรือ เติ้ล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หนึ่งในแกนนำพรรคด้านเศรษฐกิจ
นายอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันเป็น 1 ใน 100 รายชื่อว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้ง 2566 ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการสำนักการตลาด กทม. เป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย เคยเป็นอดีต ผอ.ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)
นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร หรือ “ดร.โจ” ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางการเงิน และนักยุทธศาสตร์ด้านข้อมูล อดีตรอง ผอ.กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร มีส่วนผลักดันโครงการพัฒนาเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) สำหรับชำระเงินระหว่างประเทศ
นายเดชรัต สุขกำเนิด ผอ.ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) ของพรรคก้าวไกล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ผลักดันด้านนโยบายต่างๆ ของพรรคก้าวไกล
ทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา นำเสนอประเด็น “7 วาระเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย” คือ Made with Thailand, เปิดโอกาส เปิดตลาด SME, ทลายทุนผูกขาดลดค่าครองชีพ, Unlock เศรษฐกิจสร้างสรรค์, แปลงข้อมูลเป็นขุมทรัพย์, หยุดแช่แข็งชนบทไทย และยกเครื่องภาครัฐ นำเศรษฐกิจไทยก้าวหน้า เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบเป็นธรรม คือเติบโตทางเศรษฐกิจและกระจายดอกผลของการเติบโตอย่างเป็นธรรมหรือที่เรียกว่า Inclusive Growth เป้าหมายมี 3 ส่วนคือ วางรากฐานชีวิตคนไทยให้มั่นคง สร้างกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรม และพาธุรกิจไทยไปบุกตลาดโลก
ส่วน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ล่าสุดดึงเอา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน เข้าเสริมแกร่งทีมเศรษฐกิจ
ถึงตอนนี้ ทีมเศรษฐกิจของ พปชร. ถือเป็นทีมใหญ่ที่แกรนด์พอแล้วสำหรับ “บิ๊กป้อม” เพราะมีทั้ง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลังและเลขาธิการพรรค, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ , นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง, นายอุตตม สาวนายน, นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์, นายอภิชัย เตชะอุบล, นายวราเทพ รัตนากร และล่าสุด นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี
“....พรรคพลังประชารัฐมีความตั้งใจไม่ใช่แค่การลดราคาพลังงานแบบฉาบฉวย แต่จะเป็นการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบอย่างจริงจัง....” ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวถึงเป้าหมายการทำงานที่สอดคล้องกับพรรค พปชร. และยินดีรับคำเชื้อเชิญร่วมดรีมทีมเศรษฐกิจ
“....เรามีทีมเศรษฐกิจเพียงพอแล้ว เราพร้อมแก้ปัญหาให้บ้านเมือง ให้ประชาชนให้สามารถอยู่ดีกินได้ และยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ...พรรคเรามีทีมเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง พร้อมทำงานเพื่อประเทศชาติ และประชาชน” พล.อ.ประวิตร อวดโอ่ทีมงานซึ่งส่วนใหญ่เป็น “เหล้าเก่าในขวดเก่า” จะมียกเว้นก็แต่ “หม่อมกร” กับนายธีระชัย เท่านั้น
ส่วน พรรคเพื่อไทย ที่ประกาศแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน แถมโพลทุกสำนักต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าขึ้นแท่นเต็งหนึ่งในศึกเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2566 นี้ ได้เปิดตัวทีมเศรษฐกิจไปแล้วตั้งแต่ไก่โห่ ซึ่งดูหน้าค่าตากันแล้วก็ล้วนแต่คนเคยๆ ที่หอบหิ้วกันมาตั้งแต่ “ยุคพ่อทักษิณ” ที่อยู่ยาวมาจนถึง “ยุคลูกอุ๊งอิ๊ง”
ทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค แต่งตั้งคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ มี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นประธาน พร้อมผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจด้านต่างๆ ได้แก่ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบาย 3 นายกรัฐมนตรี, นายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศ, ดร.ปานปรีย์ มหิทธานุกร อดีตผู้แทนการค้า และที่ปรึกษานายกด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ, และยังมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เป็นรองประธาน
นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมาให้คำปรึกษาและร่วมเป็นกรรมการ เช่น นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ นักวิชาการด้านการเกษตร, นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ อดีตผู้บริหารฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย, นายจักรพงษ์ แสงมณี นักธุรกิจผู้ประกอบการรุ่นใหม่, นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย อดีตผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าการลงทุนชายแดน, นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านไอที และอาชญากรรมทางไซเบอร์, ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งนายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ ผู้ประกอบการด้านธุรกิจยานยนต์
นอกจากคณะกรรมการชุดดังกล่าวข้างต้นแล้ว พรรคเพื่อไทย ยังมีชุดทำงานด้านอื่นๆ ทั้งด้านเกษตร ด้านพลังงาน ด้านสาธารณสุข ด้านนวัตกรรมและการมีส่วนร่วม ฯลฯ
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะทำงานนโยบายและประธานกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ชูการผลักดันเศรษฐกิจ 3 ด้านหลักคือ ภาครัฐจัดเก็บภาษีกำไรจากการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน 20% นำมากระตุ้นเศรษฐกิจ อีกเรื่องคือยกฐานเศรษฐกิจด้านล่างขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ เพิ่มการผลิตการจ้างงาน การจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้น และสุดท้ายต้องหาโอกาสจากวิกฤตและเจรจาการค้าเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น FTA ต้องเดินหน้า ประมงต้องกลับมายิ่งใหญ่ กำลังซื้อภาคเกษตรต้องกลับมา เศรษฐกิจต้องฟื้นตัวอย่างน้อย 5% การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจากปัจจุบัน 1.9 ล้านล้านบาท เป็น 3 ล้านล้านบาท ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน ....
กล่าวสำหรับการหาเสียงกับเรื่องการขึ้นค่าแรงและค่าจ้างเงินเดือนปริญญาตรี เป็นมุกเก่าที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาขายฝัน เพราะว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้วการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ มีคณะกรรมการไตรภาคีที่ประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ร่วมกันพิจารณาตามกระบวนการขั้นตอน ใช่ว่าพรรคการเมืองจะทำได้ตามอำเภอใจแม้จะเข้ามานั่งเป็นรัฐบาลก็ตาม อีกทั้งการปรับขึ้นค่าแรงก็นำมาซึ่งค่าครองชีพที่แพงขึ้นตามต้นทุนการผลิตส่งผลต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่จึงต้องดูในหลายมิติ
ขณะที่เงินเดือนปริญญาตรีที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยโพนทะนาเมื่อปี 2554 และใช้วิธีปรับเงินเดือนของข้าราชการระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท ก็ใช่ว่าภาคเอกชนจะปรับตาม มีไม่น้อยที่สตาร์ทกันแค่เดือนละ 12,000 บาท และหากจะเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้นเป็น 25,000 บาท ในอีก 4 ปีข้างหน้าก็ไม่ต่างอะไรกับการขายฝัน เช่นเดียวกันกับที่รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐหาเสียงเอาไว้เมื่อเลือกตั้งคราวก่อนเมื่อปี 2562 ว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท/วัน จบอาชีวะ เงินเดือนเริ่มต้น 18,000 บาท และจบปริญญาตรี เงินเดือนเริ่มต้น 20,000 บาท สุดท้ายก็เป็นแค่ราคาคุย
ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ พปชร.จึงเหนียมที่จะชูประเด็นขึ้นค่าแรงค่าจ้างเพราะผลงานมันฟ้องว่าทำไม่ได้จริง มีเพียงพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่เกทับกัน โดยพรรคก้าวไกลคุยโวว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันทีในปี 2566 เป็น 450 บาท และจะปรับขึ้นทุกปี
“....การขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องของนายจ้างภาคเอกชนที่เป็นผู้จ่าย ไม่ได้ใช้งบประมาณของพรรคการเมืองหรืองบจากภาครัฐแต่อย่างใด หากค่าจ้างที่สูงขึ้นเกินจากความเป็นจริง จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ของการอุปโภคบริโภคทั้งหมด และสุดท้ายภาระจะตกอยู่กับผู้บริโภค ในฐานะนายจ้าง มองว่าค่าจ้างขั้นต่ำของไทยควรจะเป็นค่าจ้างที่ขึ้นเป็นอัตโนมัติตามอัตราเงินเฟ้อ และต้องไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง....” นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวไว้ในงานเสวนาเรื่อง ‘ค่าแรงขั้นต่ำ ขายฝันแรงงานไทย?’ จัดโดยสถาบันอิศรา เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา ตอกย้ำให้เห็นว่าคำสัญญาขึ้นค่าแรงค่าจ้าง เป็นนโยบายชวนเชื่อทางการตลาดของพรรคการเมืองเพื่อให้ได้เข้ามาในสภาฯ ประชาชนต้องรู้เท่าทัน
ไม่ต่างไปจากนโยบายการหาเสียงลดราคาพลังงานเพื่อเอาใจประชาชน ที่เรียกเสียงโห่ฮามากที่สุดมาจากราคาคุยของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เสนอนโยบาย ‘น้ำมันประชาชน’ ลดเบนซินลิตรละ 18 บาท ดีเซลลิตรละ 6 บาท ทันทีถ้าได้เป็นรัฐบาล
ส่วน พรรคไทยสร้างไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค ประกาศถ้าได้เป็นรัฐบาลจะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือไม่เกิน 3.5 บาท/หน่วย จากการลดสำรองไฟฟ้าที่ล้นความต้องการใช้จริงสูงถึง 20,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ขณะที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายในการจัดสรรก๊าซธรรมชาติใหม่ โดยให้สิทธิ กฟผ.ในการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ถึง 70 สตางค์ต่อหน่วย
ตีปี๊บกันอึกทึกครึกโครม กระทั่งนายกัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ออกมาขอให้พรรคการเมืองอย่านำนโยบายการลดราคาพลังงานที่เกินจริงมาเป็นเครื่องมือในการหาเสียง เพราะนอกจากจะทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังที่เป็นไปไม่ได้แล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างด้านพลังงานและวินัยการเงินการคลัง ความเป็นอยู่ของประชาชน และความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ราคาพลังงานจะผันผวนตามตลาดโลก แต่การบริหารจัดการพลังงานในประเทศก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามีความบิดเบี้ยว เอื้อประโยชน์ทุนใหญ่ โยนภาระให้ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และประชาชนแบกรับ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเห็นพรรคการเมืองชูนโยบายพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ที่โดดเด่นคือ พรรคภูมิใจไทย ที่ชูจุดขาย “นโยบายพลังงานสะอาด ลดรายจ่ายประชาชน ฟรีหลังคาโซล่าเซลล์ ลดค่าไฟฟ้าหลังคาเรือนละ 450 บาท มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ผ่อนเดือนละ 100 บาท 60 งวด” คาดว่าจะมีการติดโซล่าเซลล์ 21 ล้านหลังคาเรือน โดยแหล่งเงินจะมาจากกองทุนขายพันธบัตร ระดมทุนให้สามารถติดโซล่าเซลล์ได้ฟรีทุกหลังคาเรือน
อย่างไรก็ดี ในมุมมองของ รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดอันดับทีมเศรษฐกิจที่เข้าตามีไม่กี่พรรค โดยระบุผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อว่า ถ้าเอาเกณฑ์เรื่องนโยบายที่ชัดเจน เปิดตัวบุคลากรแล้วสังคมมีความเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้จริง มีความเป็นไปได้ว่าจะทำได้ตามนโยบายที่หาเสียง อันดับหนึ่งคือ พรรคเพื่อไทย
อันดับ 2 คือ พรรคก้าวไกล เพราะอย่างน้อยๆ ก็มีงานวิชาการที่เข้มแข็ง เข้าใจปัญหา ทิศทางในการแก้ปัญหาถูกต้อง ตอบโจทย์ เพียงแต่ว่าเมื่อเทียบปอนด์ต่อปอนด์พรรคเพื่อไทยได้รับความเชื่อมั่นมากกว่า เพราะมีประสบการณ์และเคยทำให้เห็นมาแล้ว ส่วนอันดับ 3 ยกให้พรรคพลังประชารัฐ และอันดับ 4 พรรคชาติพัฒนากล้า ที่มีตัวชูโรงคือ นายกรณ์ จาติกวณิช แต่เนื่องจากนักดนตรีในวงมีไม่เยอะจึงยังมองไม่เห็นว่าจะจัดคอนเสิร์ตได้หรือไม่
เปิดตัวทีมเศรษฐกิจคึกคักและคุยเขื่องขายฝันใหญ่โตกันไป พอได้เข้าสภาฯ กันแล้ว จะทำได้ไม่ได้ดูเหมือนจะเป็นอีกเรื่องอย่างที่เห็นๆ กัน จึงต้องรู้เท่าทันเพราะนาทีนี้ประชาชนคือผู้กำหนดอนาคตประเทศชาติ