xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พลิกปูมอุบัติเหตุกัมมันตรังสี “ซีเซียม 137” หายปริศนา! “ใคร” ต้องรับผิดชอบความเสียหาย?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณีวัสดุกัมมันตรังสี  “ซีเซียม 137”  หายไปอย่างเป็นปริศนา จากโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้รัฐโดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ถูกตั้งคำถามถึงการจัดการที่สะท้อนการปฏิบัติงานที่  “ไร้ประสิทธิ” อีกทั้งลดทอนเรื่องราวของเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ซึ่งส่งผลกระทบต่ออย่างร้ายแรงต่อมนุษย์ ทั้งด้านสาธารณสุขและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยเคยมีบทเรียนจากอุบัติเหตุกัมมันตรังสีมาแล้วจากรณี “โคบอลต์ 60”  ที่เกิดขึ้นในปี 2543 ดังนั้น หลังจากภาครัฐการได้รับแจ้งเหตุการหายไปของวัสดุกัมมันตรังสี  “ซีเซียม 137” ย่อมเกิดความคาดหวังว่ารัฐ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบจะดำเนินอย่าง “รวดเร็ว รอบคอบ รัดกุม” ทว่า สิ่งที่ปรากฏกลับไม่เป็นเช่นนั้น

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2566 ได้รับแจ้งว่าท่อวัสดุกัมมันตรังสี  “ซีเซียม 137”  ลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ของ  “บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ”  ได้หายไปจากจุดติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ ที่ตั้งอยู่ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี แต่คาดว่า  “ซีเซียม 137”  น่าจะหายไปก่อนหน้าในช่วงวันที่ 23 ก.พ. 2566

กระทั่งเข้าสู่ วันที่ 20 มี.ค. 2566 มีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวการแก้ปัญหาซีเซียม 137 ที่ถูกประชาชนค่อนแคะว่าเป็นการ “แถลง” ที่ดูเป็น “แถ” นำโดย  นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี คลุมเครือ ไม่ชัดเจนเรื่องการจัดการ การดำเนินการเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้อง การให้ข้อมูลสะท้อนว่าการควบคุมกัมมันภาพรังสีได้เป็นเรื่องง่าย การสื่อสารที่ลดทอนความน่าเชื่อถือกรณีการหายไปของซีเซียส 137

ผู้ว่าฯ รณรงค์ แถลงข่าวพบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ที่สูญหายอยู่ในผงโลหะที่อยู่ในที่กักเก็บผงโลหะที่ได้จากกระบวนการการหลอมโลหะ ในโรงหลอมโลหะของ “บริษัท เค.พี.พี. สตีล จำกัด” ซึ่งตั้งอยู่พื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี พบสาร ซีเซียม 137 อยู่ในฝุ่นแดงบริเวณโรงงานดังกล่าว ซึ่งโรงงานหลอมโลหะได้นำฝุ่นแดง 12.4 ตัน ไปสู่กระบวนการรีไซเคิล ที่โรงงานแห่งหนึ่ง ใน จ.ระยอง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบแล้ว ไม่พบสาร ซีเซียม-137 และส่งกลับต้นทางโรงงานที่ปราจีนบุรี

โดยเบื้องต้นยืนยันว่า โรงงานหลอมโลหะนี้ดำเนินการอยู่ในระบบปิด ไม่มีสารกัมมันตรังสีฟุ้งกระจายออกมา และได้ทำการตรวจพื้นที่เก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมบริเวณ 5 กิโลเมตรโดยรอบโรงงานและพนักงานทุกคนแล้ว ยังไม่พบสารกัมมันตรังสีตกค้าง

ส่วนพนักงานประมาณ 70 คนที่ทำงานอยู่ภายในโรงงาน ที่มีการหลอมรวมสารอันตราย ได้มีการสั่งให้หยุดงานก่อน และจะให้แพทย์เข้าไปตรวจร่างกาย พร้อมสั่งให้มีการกั้นพื้นที่โดยรอบ ไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปยังบริเวณดังกล่าว

ที่ถูกจับจ้องคือบทบาทของ  นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์  เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ที่ประกาศว่างานนี้ต้องพูดยาวๆ จนกลายเป็นความยืดเยื้อ ทั้งๆ ที่ประชาชนกำลังร้อนใจและต้องการความชัดเจน ควรรับทราบข้อมูลอย่างรวดเร็วและตรงไปตรงมา ครั้นนักข่าวถามแทรก นายเพิ่มสุขถามว่า “คุณฟังผมอยู่ไหม?” จนท้ายสุดท้ายหมดท่า โดนสื่อและชาวบ้านรุมถามเละเทะ

ขณะที่ พล.ต.ต.วินัย นุชชา  ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ปราจีนบุรี เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ได้รับแจ้งความเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 ได้จัดชุดสืบสวนเพื่อตรวจสอบว่าวัตถุชิ้นนี้ออกไปสู่ด้านนอกได้อย่างไร แน่นอนว่า คนธรรมดาเอาออกไปไม่ได้ นอกจากเป็นพนักงานภายในเท่านั้น

นอกจากนี้ ประเด็นการเอาผิดทางกฎหมาย ที่ออกอาการกล้าๆ กลัวๆ ไม่ฟันฉับว่าจัดการกับงานโรงไฟฟ้าตัวต้นเหตุให้เด็ดขาดหรือไม่ อย่างไร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการความไม่โปร่งใสในการให้ข้อมูล จุดชนวนหายนะกัมมันตภาพรังสี ซีเซียม 137 ที่ประเทศไทยกำเผชิญอยู่ในเวลานี้

แต่อย่างไรก็ตาม ร่องรอยการหลังตรวจพบซีเซียม 137 ซึ่งปนเปื้อนอยู่ใน “ฝุ่นเหล็ก” หรือ “ฝุ่นแดง” ซึ่งเกิดจากการหลอมโลหะด้วยความร้อนสูง ณ โรงหลอมเหล็ก ใน จ.ปราจีนบุรี ยังไม่ยืนยันว่า เป็น “ซีเซียม 137” ที่มาจากวัตถุที่สูญหาย ซึ่งกำลังตามหากันอยู่

และที่ถูกจับจ้อง คืออันตรายในการแพร่กระจายของรังสี การที่ตัวแทนของรัฐระบุว่าโรงานเป็นระบบปิด ต่อให้หลอมซีเซียม 137 ไปแล้วก็ตรวจไม่พบปัญหาการแพร่กระจาย มีการการอ้างถึงความเชี่ยวชาญด้านปรมาณู ความเพียบพร้อมไปด้วยเครื่องมือไฮเทค รวมทั้ง การ “แถลง - แถ” ที่ตัดจบแบบรวบรัดเร่งรีบ “คุมได้ เอาอยู่”

ตรงกันข้ามกับภาพสถานการณ์ที่ปรากฎเป็นข่าว โดยเฉพาะภาพถุงบรรจุผงเหล็กปนเปื้อนรังสีซีเซียม 137 ที่ถูกเก็บรวมกันในโกดังธรรมดา เอาผ้าใบสีฟ้าขาวมาปิดทับแค่นั้น จนสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติโดนประชาชนถล่มเละ

และที่ถูกเพ่งเล็งอย่างเสียมิได้คือท่าทีเฉื่อยชาของผู้นำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ทำนองว่า การหายไปของซีเซียม 137 เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรับผิดชอบ  “นายกฯ จะไปตามเอง คงไม่ใช่”  เรียกว่าเป็นการตอบคำถามให้ข้อมูลของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ยันผู้นำประเทศ สร้างความเอือมระอาให้ประชาชนรู้สึก “สิ้นหวัง” กันอย่างสุดๆ

ซีเซียม 137

ซีเซียม 137
 “ซีเซียม 137” หายไปจากโรงไฟไอน้ำ

กล่าวสำหรับ “บริษัท เนชันแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด” นั้น จากการตรวจสอบพบว่า เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้า 11 แห่ง ในการดูแลของบริษัทแม่ คือ “บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน)” หรือ “เอ็นพีเอส (NPS)”  ซึ่งประกอบธุรกิจบริษัทผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และไอน้ำ โดยปรากฎชื่อของ “นายสิทธิพร รัตโนภาส”  อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บ.เอ็นพีเอสฯ

ตามรายงานของ บ.เอ็นพีเอสฯ ระบุว่าโรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัท ผลิตได้ทั้งไฟฟ้าและไอน้ำ โดยจนถึง 30 ก.ย. 2565 กลุ่มบริษัทมีโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ทั้งหมด 11 โรง มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 770.70 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำติดตั้ง รวม 2,661.80 ตันต่อชั่วโมง

สำหรับ “บริษัท เนชันแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด”  ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าไอน้ำ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ต.ท่ามะตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี มีทุนจดทะเบียนบนข้อมูล dataforthai.com ที่ 6,270,000,000 บาท ผลิตไฟฟ้าได้รวม 172.3 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 660 ตันต่อชั่วโมง (รวม 3 โรงงานที่อยู่ภายใต้ เนชันแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ หรือ NPP5A

เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจพลังงานและพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่มีประสบการณ์ในการผลิตไฟฟ้ามานานกว่า 30 ปี ดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักบรรษัทภิบาลที่ดี ให้ความสำคัญกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดกับกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2538 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2553

จากนั้นได้ขยายการลงทุนในธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจโรงไฟฟ้า รวมทั้งได้ลงทุนในธุรกิจที่สนับสนุนการประกอบธุรกิจหลักของบริษัทฯ ได้แก่ ธุรกิจอื่นๆ และธุรกิจโลจิสติกส์ ตลอดจนลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น โรงงานผลิตเอทานอล ซึ่งธุรกิจดังกล่าวได้รับการบริหารจัดการภายใต้การดำเนินงานของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมแต่ละแห่งที่บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นมาสำหรับการลงทุนในแต่ละโครงการ

บริษัทฯ ได้เพิ่มทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจดังกล่าว โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท โดยเป็นทุนที่ออกและชำระแล้วรวมทั้งสิ้น 9,354.04 ล้านบาท ซึ่งผลประกอบการในปี 2565 บริษัทมีรายได้รวมถึงกว่า 20,000 ล้านบาท

การหายไปอย่างเป็นปริศนาของ ซีเซียม 137 ถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่แจ้งทันที ทั้งๆ ที่ บริษัท ระบุชัดในเอกสารว่าด้วยความรับผิดชอบทางสังคมความว่า “เคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ เพื่อมุ่งมั่นดำเนินการให้ดีกว่ามาตรฐานเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน”

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯ แจ้งการสูญหายของ “ซีเซียม 137” ในวันที่ 10 มี.ค. 2566 ขณะที่ตำรวจสืบสวนพบสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ตั้งแต่ 17 ก.พ. 2566

 พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง  
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่าเมื่อวัน 7 มี.ค.2566 บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ ตรวจพบว่าสารซีเซียม 137 สูญหายไป และ 10 มี.ค.ได้มาแจ้งความที่ สภ.ศรีมหาโพธิ ต่อมา 19 มี.ค. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ตรวจพบรังสีจากการหลอมของโรงงานที่กบินทร์บุรี พื้นที่ สภ.ศรีมหาโพธิ โดยพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้ คดีอาญาที่ 363/2566 ในความผิดตาม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฯ มาตรา 100, 126 และ 143 คดีอยู่ระหว่างสอบสวนและร่วมประชุมกับคณะกรรมการจังหวัดเพื่อเรียกบริษัทมาแจ้งข้อกล่าวหาตามกฎหมายต่อไป

เบื้องต้น สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ร้องทุกข์กับตำรวจถึงกรณีทางโรงไฟฟ้าแล้ว  นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์  เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เปิดเผยถึงการดำเนินคดีกับโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำที่เป็นผู้ครอบครองซีเซียม 137 ทาง ปส. ได้แจ้งดำเนินคดีตามพ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 มาตรา 100 หากผู้ครอบครองวัสดุกัมมันตภาพรังสี ไม่แจ้งโดยพลัน หลังทำสูญหาย จะมีโทษปรับ 100,000 บาท และโทษจำคุก 1 ปี ซึ่งจากไทม์ไลน์ที่แจ้งหายล่าช้าเกือบ 20 วันหลังรู้ว่าท่อบรรจุซีเซียม 137 สูญหาย

โดยเหตุที่กฎหมายเขียนให้แจ้งโดยพลัน เพราะไม่ต้องการให้สารกัมมันตรังสีนี้ไปตกกับคนอื่น ถ้าแจ้งไวและและล้อมพื้นที่ไว้ ภายในโรงงานที่มีการขึ้นทะเบียนในการดูแลก็จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ขออนุญาตครอบครองวัสดุกัมมันตรัง ในแพลน 5 เอ ประมาณ 16 รายการ มีหลายแบบ หลายหน้าที่แต่เครื่องจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล

ภาคประชาสังคม จ.ปราจีนบุรี เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาซีเซียม-137 ที่ถูกนำออกมาจากโรงไฟฟ้าใน จ.ปราจีนบุรี อย่างเร่งด่วน โดยมีนายสมภาส นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่อง
 พลิกข้อกฎหมายคุมสารกัมมันตรังสี 

 นายธารา บัวคำศรี 
 ผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่าโรงงานแห่งนี้ เป็นบริษัทจดทะเบียน ทุนสูงกว่า 6,000 ล้านบาท มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่น่าจะรัดกุม แต่ทำไมซีเซียมขนาดใหญ่จึงหายไปได้

อย่างไรก็ตาม ซีเซียม 137 เป็นกัมมันตรังสีที่ถูกใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในประเทศไทย ซึ่งไทยมีพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ฉบับล่าสุดแก้ไขในปี 2562 กำหนดให้ผู้ที่จะใช้งานต้องมีใบอนุญาต แต่เมื่อมีใช้งานแล้ว กลับไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้ตรวจสอบกลไกการกำกับดูแล อย่าง

นอกจาก โรงงานไฟฟ้าไอน้ำต้นทางการสูญหายของ “ซีเซียม 137” ที่ถูกจับตาอย่างหนัก ปลายทางอย่างโรงหลอมเหล็ก กำลังถูกตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบ

 นายจุลพงษ์ ทวีศรี  อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยถึงกรณีการตรวจพบสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม 137 ในบริษัท เค.พี.พี. สตีล จำกัด โรงหลอมเหล็ก ตั้งอยู่พื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งทางโรงหลอมเหล็กยืนยันว่าวัตถุที่รับมานั้นไม่ได้ถูกแจ้งว่าเป็นอะไร มีลักษณะคล้ายแท่งเหล็ก จึงได้ส่งเข้าโรงหลอม ซึ่งขณะที่เข้าตรวจไม่พบแท่งซีเซียม 137 แต่พบสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม 137 ปะปนอยู่ในฝุ่นแดง จึงคาดว่าได้มีการหลอมไปแล้ว

การครอบครองสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม 137 อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน 2562 จะมีอำนาจในการควบคุมดูแลโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดทั่วประเทศ โดย 1.ทุกโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องรายงานการใช้สารกัมมันตภาพรังสีทุกประเภททุกปี ในช่วงเดือน เม.ย.ของทุกปี และ 2.กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) มีหน้าที่อมุมัติ อนุญาตกากอุตสาหกรรม เมื่อโรงงานมีการทำลายวัตถุใด ๆ เกิดขึ้น จะเรียกว่า “กากอุตสาหกรรม” ซึ่งโรงงานจะต้องมีการแจ้งการขนย้ายเมื่อจะนำออกไปพื้นที่ ทั้งปริมาณ ขนาด เส้นทางการขนย้าย แหล่งปลายทางที่จะนำไปกำจัด เช่น โรงงานรีไซเคิล

กรณีการสูญหายของ “ซีเซียม 137” จากจุดติดตั้งของโรงไฟฟ้าไอน้ำต้นเรื่อง ในการกำกับดูแลตามกฎหมายมีการตรวจสอบ และรายงานการใช้การครอบครองซีเซียม-137 ทุกปี จนกระทั่งตรวจสอบในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีสารซีเซียม 137 หายไป 1 ตัว จากทั้งหมด 10 ตัว ซึ่งจะจัดเตรียมทำรายงานต่อ กรอ. ในเดือน เม.ย. 2566 ที่

 นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าเศษเหล็กในเมืองไทยที่ใช้กว่า 5 ล้านตันนำเข้ามา 1.5 ล้านตัน และมีประมาณ 3.5 ล้านตันในประเทศ ซึ่งอธิบดีกรมโรงงานฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกรมศุลกากรแล้วให้เข้มงวดในการนำเศษเหล็ก 1.5 ล้านตันเข้ามา เพราะในพื้นที่ อ.แหลมฉบัง มีเครื่องวัดรังสีอยู่ การเข้มงวดตั้งแต่ด่านแรกจะลดอัตรการการเกิดปัญหาอุบัติเหตุกัมมันตรังสี

ข้อมูลที่สนใจจาก นายสนธิ คชวัฒน์  นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชื่อดัง เปิดเผยว่าหากอยากจะรู้ว่าควรจะเฝ้าระวังโรงงานที่หลอมเหล็ก กับสารซีเซียมต้องไปดูที่อีไอเอ จะสามารถตอบได้ทันที สำหรับของบริษัท เค.พี.พี. สตีล เป็นโรงงานผลิตเหล็กแท่ง ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ตามข่าวถูกระบุเป็นโรงงานที่ได้ทำการหลอมเศษเหล็กที่มีสารซีเซียม 137 ที่หลุดจากโรงไฟฟ้าไปแล้ว

โรงงานดังกล่าวได้จัดทำรายงานอีไอเอเมื่อ พ.ศ.2552 โดยเตาหลอมเศษเหล็กจะมีอยู่ 4 เตา ทุกเตามี Hood ดูดอากาศจากเตาหลอมไปรวมกันที่ระบบดักฝุ่น หรือ Baghouse filter ซึ่งมีประสิทธิภาพการดักฝุ่นประมาณ 95% ขึ้นไป แต่หากใช้งานไปนานๆ จะเหลือประมาณ 90-95% เท่านั้น โดยจะดักฝุ่นเหล็กขนาดเล็กไว้ในถุงกรองเรียกว่าฝุ่นแดง แต่ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 ไมครอนจะถูกปล่อยไปที่ปล่องระบาย (ซึ่งจะมีไอของสาร Cs137 ที่ถูกเผาจากเตาหลอมออกไปพร้อมฝุ่นขนาดเล็กด้วย)

โดยมีอัตราการระบายที่ปากปล่องควันมีค่าระหว่าง 1.90-94.78 กรัมต่อวินาที (ขึ้นกับถุงกรองว่าประสิทธิภาพดีแค่ไหน) ออกไปสู่บรรยากาศ จากข้อมูลแบบจำลองทางคณิตศาสตร์โดยใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในรอบ 30 ปี พบว่าฝุ่นเหล่านี้จะไปตกพื้นที่เกษตรกรรม ห่างจากโครงการไปทางทิศตะวันออก 0.5กิโลเมตร (ค่าเฉลี่ย 24 ชม.) และกำหนดจุดตรวจวัดฝุ่นในบรรยากาศจากโรงงานคือ ที่บ้านโคกมะม่วง บ้านลาดตะเคียน โรงเรียนลาดตะเคียนราษฎร์บำรุง ซึ่งอยู่ในเส้นทางของลมที่พัดมาจากโรงงาน

ดังนั้น หากจะตรวจวัดสารซีเซียมที่ปะปนมากับฝุ่นในอากาศคงตรวจไม่พบ เนื่องจากปล่อยออกมาหลายวันแล้ว ลมพัดไปหมดแล้ว แต่ต้องตรวจการปนเปื้อนในดิน น้ำผิวดิน พืชผลทางการเกษตรที่ระยะ 0.5 กม.ทางทิศตะวันออกของโรงงาน และตรวจสุขภาพของคนว่าหายใจเอาฝุ่นผสมซีเซียมเข้าไปหรือไม่โดยกลุ่มเสี่ยงคือ ที่บ้านโคกมะม่วง บ้านลาดตะเคียน และโรงเรียนลาดตะเคียนราษฎร์บำรุง

โรงงานแยกผงเหล็กใน จ.ระยอง นำผงเหล็กกว่า 12 ตันส่งคืนโรงหลอมใน จ.ปราจีนบุรี
การตรวจวัดรังสีจากสารซีเซียม 137 ในพื้นที่ดังกล่าวจะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น อาจจะพบหรือไม่พบมีทางเป็นไปได้หมด หากตรวจวัดไม่พบยิ่งดี แต่หากกล่าวอ้างว่าสารซีเซียมปล่อยออกมาน้อย ไม่ต้องกังวลไม่ต้องตรวจสอบ นั่นแสดงว่าคุณไม่ใช่นักวิชาการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งแวดล้อม หลักการคือประชาชนและสิ่งแวดล้อมต้อง Safety first และต้องคิดกรณี worse case ร่วมด้วย

ดังนั้น การ Monitor การตรวจวัดจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในพื้นที่ ยกตัวอย่างพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีโรงงาน 161 แห่ง การคำนวณต่างๆ ระบุมีไอระเหยสารอินทรีย์ หรือ VOCs ออกมาน้อยมากไม่ต้องกังวล สร้างโรงงานเพิ่มได้ แต่จากการตรวจวัดมาเกือบ 10 ปี โดยกรมควบคุมมลพิษกลับพบว่าสารเบนซีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเกินค่ามาตรฐานรายปีทุกแห่งของจุดตรวจวัดที่ล้อมรอบนิคม โดยที่จุดตรวจวัดดังกล่าวไม่มีรถยนต์วิ่ง

“กระบวนการหลอมโลหะ มีโอกาสที่ฝุ่นปนเปื้อนซีเซียม-137 จะหลุดไปจากปากปล่อง กระจายไปในอากาศ หากปะปนในสิ่งแวดล้อมทั้งอากาศ ดิน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน ซีเซียม-137 ก็อาจเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนในระยะยาว 5 - 10 ปี โดยเฉพาะการก่อโรคมะเร็ง”

ดังนั้น รัฐต้องวางมาตรการกำกับดูแลให้ตรวจหารังสี ในรัศมีรอบโรงงานเป็นเวลา 1-2 ปี จนแน่ใจว่าไม่มีจริงๆ จึงค่อยวางมือ พร้อมกันนี้ก็ต้องเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร เป็นเวลา 5 ปีด้วย เพราะอันตรายจากรังสี เป็นเรื่องการของตายผ่อนส่ง ไม่ค่อยแสดงผลร้ายใดๆ ที่ชัดเจนในระยะสั้น

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด กรณีการสูญหายของ “ซีเซียม 137” จากโรงงานไฟฟ้าไอน้ำ จ.ปราจีนบุรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับแนวทางการทำงาน ป้องกันผลกระทบ วางแนวทางแก้ไขระยะยาวเพื่อปกป้องประชาชน และสั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติส่งชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ซีเซียม-137 หายออกจากโรงงานได้อย่างไร เพื่อหาตัวคนผิดมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้

ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อเฝ้าระวังและติดตาม สถานการณ์เกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจในการเฝ้าระวังและตอบสนองกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ในพื้นที่เกิดเหตุ ณ จังหวัดปราจีนบุรี ตรวจวิเคราะห์ดิน น้ำ และอากาศ ให้แน่ใจว่าไม่ปนเปื้อนรังสี พร้อมได้มอบเครื่องตรวจวัดระดับรังสีแก่ประชาชนในพื้นที่ติดตัวไว้ ซึ่งหากมีรังสีเครื่องตรวจวัดจะแสดงค่ารังสีปรากฏให้เห็น โดยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนรับมือหากเกิดการปนเปื้อนในร่างกาย แต่จนถึงขณะนี้ผลการตรวจสุขภาพเจ้าหน้าที่ในโรงหลอมและชาวบ้านโดยรอบ ยังไม่พบการปนเปื้อน และล่าสุด ได้เปิดสายด่วน 24 ชั่วโมง ให้ประชาชนโทรสอบถามข้อมูลหากสงสัยว่าเสี่ยง ส่วนการตรวจสุขภาพชาวบ้านรอบโรงงาน อยู่ในแผนการตรวจอยู่แล้ว โดยตั้งเป้าว่า จะต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างน้อย 5 ปี เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทยที่เตรียมหาริอกับกระทรวงการคลังเรื่องระเบียบการจ่ายเงินเยียวยา ซึ่งต้องติดตามว่าผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีจะเยียวยาอย่างไร

 งานนี้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วจะมี “ใคร” ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร 


จาก “โคบอลต์ 60” ถึง “ซีเซียส 137 

ความปริวิตกเหตุการณ์สารกัมมันตรังสี “ซีเซียม 137" สูญหาย ถูกจับตาซ้ำรอยหายนะ “โคบอลต์ 60” ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2543 โดยครั้งนั้นมีการนำวัตถุส่วนหัวของเครื่องโคบอลต์-60 ซึ่งเป็นเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ที่ไม่ใช้แล้ว ออกมาจากสถานที่เก็บที่ไม่มีการควบคุมดูแล นำไปเก็บในลานจอดรถร้าง

คนเก็บของเก่ามาพบกล่องโลหะทรงกระบอกขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร ยาว 80 เซนติเมตร แล้วนำไปเก็บที่สนามหญ้าซึ่งอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 100 เมตร จากนั้นนำไปแยกชิ้นส่วนเพื่อนำไปขายแก่ร้านรับซื้อของเก่า ในซอยวัดมหาวงษ์ ต. สำโรง อ. พระประแดง จ.สมุทรปราการ

ทำให้รังสีแผ่ออกมาตลอดเวลา จนมีผู้ป่วยรุนแรง 10 ราย ในจำนวนนี้มี 3 รายเป็นผู้ทำงานในร้านรับซื้อของเก่า เสียชีวิตในระยะเวลา 2 เดือน หลังจากได้รับรังสี กรณีการแพร่กระจายของ โคบอลต์ 60 ปี 2543 จ.สมุทรปราการ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 1,872 คน

และเป็นคดีความสู่การฟ้องร้อง กรณี “โคบอลต์ 60” นำมาสู่การยื่นฟ้อง  “บริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริค จำกัด”  แยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นคดีศาลปกครอง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ร่วมกันฟ้องสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2544 ส่วนที่สอง เป็นคดีศาลแพ่ง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ร่วมกันฟ้องต่อบริษัท กมลสุโกศล อิเล็คทริค จำกัด กับพวกรวม 5 คน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544 ในคดีศาลปกครองถึงที่สุดเมื่อปี 2550 โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องกับศาลปกครองกลาง พิพากษาตัดสินให้สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ จ่ายค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงิน 5,222,301 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543

และในส่วนคดีศาลแพ่ง ซึ่งคดียื้อยาวกว่า 15 ปี ถึงที่สุดเมื่อ 8 มิถุนายน ปี 2559 ศาลฎีกาพิพากษาตัดสินให้จำเลย คือ บริษัท กมลสุโกศล อิเล็คทริค จำกัด จ่ายค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงิน 529,276 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543




กำลังโหลดความคิดเห็น