xs
xsm
sm
md
lg

พรรคการเมืองในสนามเลือกตั้ง: ความนิยม จุดเด่น และรูปแบบการเมือง / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 หลังจากนั้นเพียงวันเดียวคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้ง บรรยากาศการแข่งขันและการหาเสียงของพรรคการเมืองซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว ก็ยิ่งทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น นักการเมืองเดินสายปราศรัยหาเสียงและลงพื้นที่พบปะประชาชนถี่ยิบ เสาไฟฟ้าข้างถนนเต็มไปด้วยป้ายหาเสียง สื่อมวลชนทั้งกระแสหลักและสื่อออนไลน์ต่างนำเสนอข่าวการเคลื่อนไหวหาเสียงและวิเคราะห์กันอย่างคึกคัก บรรยากาศและสีสันการเลือกตั้งเป็นความงดงามอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย

ระหว่างการเลือกตั้ง ผู้คนจำนวนมากแสดงความหวังและความฝันออกมา นักการเมืองหวังชนะเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล เสนอความฝันมากมายเพื่อจูงใจประชาชนให้เลือกตนเอง ทว่าประชาชนเองก็มีความหวังและความฝันของพวกเขา นักการเมืองคนใดและพรรคการเมืองพรรคใดที่ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าสามารถตอบสนองความหวังของพวกเขาได้ ก็ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาพรรคการเมืองหลายสิบพรรคที่เข้าสู่สนามการเลือกตั้ง มีเพียงไม่กี่พรรคที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งและมี ส.ส.มากที่สุดเห็นจะเป็นพรรคเพื่อไทย แนวโน้มนี้ปรากฏตัวขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 ดัชนีชี้วัดอย่างชัดเจนคือ พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 25.89 % ในเดือนมีนาคม 2565 ทะยานขึ้นไปถึง 49.85 % ในเดือนมีนาคม 2566 ความนิยมเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า และมีความเป็นไปได้ว่าเมื่อถึงวันเลือกตั้งจะทะลุไปถึง 55%

มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมจากประชาชนทิ้งห่างพรรคการเมืองอื่น ๆ ประการแรก พรรคเพื่อไทยมีมวลชนที่ภักดีต่อพรรคอย่างเหนียวแน่นอยู่จำนวนหนึ่ง มวลชนเหล่านี้เป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากนโยบายและการบริหารประเทศของพรรคเพื่อไทยในอดีต และมีความเชื่อมั่นไว้วางใจในตัวนายทักษิณ ชินวัตรและครอบครัวไม่เสื่อมคลาย ตัวชี้วัดคือ แม้ในยามที่พรรคเพื่อไทยตกต่ำที่สุด แต่คนเหล่านี้ยังคงเลือกพรรคเพื่อไทย กลุ่มนี้มีประมาณ 20 – 25 % ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มวลชนกลุ่มนี้มีความผูกพันสูงและเชื่อมโยงอัตลักษณ์ของตนเองกับพรรค และมีอย่างหนาแน่นในกลุ่มเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และชนชั้นกลางระดับล่างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ส่วนภูมิภาคอื่น ๆ ลดหลั่นลงตามลำดับ

ประการที่สอง พรรคเพื่อไทยมีความสามารถในการผลิตนโยบายประชาชนที่ทรงพลังในการจูงใจผู้เลือกตั้ง และมีความสามารถในการผลักดันให้นโยบายหลักที่ใช้ในการหาเสียงไปสู่การปฏิบัติจริง ซึ่งทำให้ผู้สนับสนุนเชื่อมั่นว่าพรรคให้ความสำคัญกับการรักษาสัญญา (แม้ว่านโยบายหลายอย่างมีผลกระทบเชิงลบต่อประเทศ มวลชนก็มองข้าม และทรงจำเฉพาะผลในเชิงบวกที่มีต่อพวกเขา) ในการเลือกตั้งครั้งนี้ นโยบายที่มีพลังในการจูงใจผู้เลือกตั้งสูงคือ นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการขึ้นเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี เห็นได้จากภายหลังที่มีการประกาศนโยบายนี้ออกมาคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ประการที่สาม พรรคเพื่อไทยมีความสามารถในการคัดเลือกและนำเสนอภาพลักษณ์ของแกนนำที่ดึงดูดใจกลุ่มเป้าหมาย ดังการคัดเลือก น.ส. แพทองธาร ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นมาเป็นจุดขายของพรรค น.ส. แพทองธาร ได้รับการนำเสนอในฐานะคนรุ่นใหม่ เพื่อดึงดูดใจผู้เลือกตั้งที่เป็นนักศึกษาและผู้เลือกตั้งวัยทำงานช่วงเริ่มขึ้น ภาพลักษณ์ของเธอคือ หญิงแกร่งรุ่นใหม่ที่ใจสู้ ทุ่มเทกับการทำงาน ไปปราศรัยในแทบทุกสนามของพรรคแม้ว่าอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ก็ตาม เรียกได้ว่าเป็นตัวแบบให้กับผู้หญิงในวัยทำงานช่วงต้นทีเดียว ด้านนายเศรษฐา ซึ่งเปิดตัวในช่วงหลัง ได้รับการนำเสนอในฐานะที่เป็นนักธุรกิจผู้มากประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งสามารถสร้างแรงดึงดูดใจในกลุ่มนักธุรกิจและชนชั้นกลางระดับกลางได้เป็นอย่างดี

ประการที่สี่พรรคเพื่อไทยมีความสามารถในการตรึงตระกูลการเมืองประเภทบ้านใหญ่เอาไว้ในพรรค ขณะเดียวกันก็มีความสามารถในการดึงตระกูลการเมืองบ้านใหญ่ที่สังกัดพรรคอื่น ๆ ให้เข้ามาอยู่ในพรรคเพิ่มขึ้น นักการเมืองบ้านใหญ่ส่วนมากเป็นผู้ทรงอิทธิพลในจังหวัดหรือเขตเลือกตั้ง มักเป็น ส.ส. หลายสมัย ครอบครอง “จักรกลการเมือง” หรือระบบการจัดตั้งเครือข่ายหัวคะแนนในเขตเลือกตั้งที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถทำงานได้หลายประเภทอันได้แก่ การรักษาความนิยมระหว่างเวลาปกติ การจัดหาคะแนนและการควบคุมการลงคะแนนให้ได้ตามเป้าหมาย และการบั่นทอนคะแนนนิยมของคู่แข่ง ในสังคมไทย การเมืองแบบบ้านใหญ่ยังคงดำรงอยู่ในหลายจังหวัด


อย่างไรก็ตาม นักการเมืองแบบบ้านใหญ่มิได้มีเฉพาะในพรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองอื่น ๆ อันได้แก่พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็มีนักการเมืองประเภทนี้อยู่ไม่น้อยทีเดียว พรรคใดมีนักการเมืองแบบบ้านใหญ่สังกัด จะทำให้พรรคนั้นมีโอกาสค่อนข้างสูงในการชนะในเขตเลือกตั้ง แม้ว่าคะแนนนิยมของพรรคในภาพรวมจะต่ำก็ตาม แต่การเมืองแบบบ้านใหญ่เป็นสิ่งบ่งชี้ภาวะการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์ของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นความจริงที่ไม่น่าพึงปรารถนา แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธการดำรงอยู่ของมันได้

 ประการที่ห้า 
พรรคเพื่อไทยพยายามสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นพรรคแนวประชาธิปไตย เพื่อตรึงการสนับสนุนจากมวลชนเสื้อแดงที่ให้ความสำคัญกับประเด็นทางการเมืองมากกว่าประเด็นเศรษฐกิจ และเพื่อดึงดูดใจชนชั้นกลางรุ่นใหม่ให้มาสนับสนุนพรรค และพรรคเพื่อไทยสามารถตรึงคนเสื้อแดงเอาไว้ได้ แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงจากอดีตแกนนำคนเสื้อแดงก็ตาม การพยายามรักษาภาพลักษณ์กับความจำเป็นที่ต้องยอมรับความเป็นจริงทางการเมือง ทำให้พรรคเพื่อไทยมักหลีกเลี่ยงในการตอบคำถามแบบเด็ดขาดว่าจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่เมื่อถูกกดดันมากขึ้นให้ต้องตอบ ก็มักตอบในลักษณะของการมีเงื่อนไข

 กล่าวได้ว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มีความสามารถในการปรับตัว ผสมผสานระหว่างการเมืองแบบประชานิยมกับการเมืองแบบบ้านใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิผล ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างภาพลักษณ์ของการเมืองแบบอุดมการณ์ฉาบหน้าเอาไว้ด้วย โดยการสร้างภาพว่าเป็นพรรคแนวประชาธิปไตยสายกลาง เพื่อป้องกันการสูญเสียมวลชนให้แก่พรรคก้าวไกล 


อีกประมาณเดือนเศษก่อนถึงวันเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยอาจได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นบ้างจากผู้เลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจและผู้เลือกตั้งที่เคยสนับสนุนพรรคเล็ก ๆ โดยเฉพาะพรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ และมีความเป็นไปได้ที่สามารถดึงผู้เลือกตั้งบางส่วนที่สนับสนุนพรรคภูมิใจไทยอีกด้วย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะผู้เลือกตั้งเหล่านั้นอาจถูกกดดันด้วยกระแสความนิยมในชุมชนของตนเอง จนต้องเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคเพื่อไทย ทว่า พรรคเพื่อไทยมีโอกาสน้อยมากที่จะช่วงชิงผู้ที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลได้ เพราะผู้ที่ตัดสินใจเลือกพรรคก้าวไกล เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มที่ให้น้ำหนักกับการเมืองเชิงอุดมการณ์และการเมืองแบบใหม่เป็นหลัก

พรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยมอยู่ประมาณ 17 % เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนมีนาคมปี 2565 การที่พรรคก้าวไกลรักษาความนิยมเอาไว้ได้มาจากการทำงานที่โดดเด่นในรัฐสภาของ ส.ส. และความมั่นคงในจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค พรรคก้าวไกลมีจุดเด่นที่เข้มแข็งมากในเรื่องการมีบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพเปี่ยมด้วยความสามารถจำนวนมากในพรรค มีความทุ่มเทในการทำงานอย่างจริงจัง รักษาสัญญากับประชาชนในการผลักดันนโยบายที่เคยหาเสียงเอาไว้ด้วยการเสนอกฎหมายหลายฉบับ แม้ว่ากฎหมายเหล่านั้นไม่ผ่านรัฐสภา แต่ก็สร้างความทรงจำที่ดีแก่ผู้สนับสนุนไม่น้อยทีเดียว

 พรรคก้าวไกลมีความแตกต่างกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ในหลายเรื่องด้วยกัน ประการแรกเป็นพรรคที่มีรากฐานเชิงอุดมการณ์ที่ชัดเจน นำเสนอภาพสังคมที่พึงปรารถนาหรือวิสัยทัศน์ของสังคมต่อประชาชน เสนอนโยบายอย่างเป็นระบบเพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ประการที่สอง เป็นพรรคที่พยายามสร้างและพัฒนาความเป็นสถาบันทางการเมืองอย่างเป็นระบบ พยายามขยายฐานสมาชิกในกลุ่มที่หลากหลาย รวมทั้งกลุ่มชายขอบ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และผู้เลือกตั้งทั่วไประดับภูมิภาคและท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง และสร้างภาพลักษณ์พรรคให้เป็นสัญลักษณ์ของพรรคประชาธิปไตยสากลและการเมืองแบบใหม่ ประการที่สาม ในการรณรงค์หาเสียง มีการระดมทุนในการหาเสียงด้วยการขอรับบริจาคจากผู้เลือกตั้ง เน้นการหาเสียงด้วยสื่อสังคมออนไลน์ ควบคู่กับการหาเสียงแบบพบปะประชาชน สนทนากลุ่ม และปราศรัยย่อย  


ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา พนักงานเอกชน ผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กและกลางในเมือง ข้าราชการรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยทำงานช่วงต้น และชนชั้นกลางระดับกลางที่สนับสนุนประชาธิปไตยและการเมืองที่มีธรรมาภิบาล ซึ่งกระจายอยู่ในหลายอาชีพและหลายช่วงวัย อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลได้รับการสนับสนุนค่อนข้างน้อยจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มที่เกษียณอายุ ซึ่งเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนและเป็นโจทย์สำคัญของพรรคก้าวไกล ที่จะต้องหาหนทางในการพัฒนาต่อไปว่าจะเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านั้นด้วยวิธีการใด และจะทำให้พวกเขาหันมาสนับสนุนได้อย่างไรในระยะยาว สำหรับช่วงเวลาสองเดือนก่อนวันเลือกตั้ง กลุ่มผู้เลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลอาจช่วงชิงมาได้บ้างคือ กลุ่มที่เคยคิดสนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่เริ่มระแวงในจุดยืนของพรรคเพื่อไทย และกลุ่มวัยทำงานช่วงต้นที่ยังไม่ตัดสินใจว่าเลือกพรรคใด

 พรรครวมไทยสร้างชาติ มีความนิยม 12.15 % เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2565 สองเท่า ในแง่กระแสความนิยมถือว่าเป็นพรรคที่มีกระแสค่อนข้างสูงตามหลังพรรคก้าวไกลไม่มากนัก จุดแข็งของรวมไทยสร้างชาติคือการมี  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในพรรค ทำให้พรรคได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่นิยมชมชอบพลเอกประยุทธ์ และพรรคได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจากนักธุรกิจและกลุ่มชนชั้นนำที่มีความสัมพันธ์อันดีกับแกนนำพรรคไม่น้อยทีเดียว ลักษณะทางการเมืองพรรครวมไทยสร้างชาติคล้ายคลึงกับพรรคเพื่อไทย นั่นคือมีกระแสความนิยมในตัวผู้นำ การใช้การเมืองแบบประชานิยม และการเมืองแบบบ้านใหญ่ เพียงแต่พรรครวมไทยสร้างชาติเพิ่งจัดตั้ง จึงเป็นรองพรรคเพื่อไทยในทุกด้าน พรรคนี้อาจได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นโดยการช่วงชิงจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย

 พรรคประชาธิปัตย์ เคยรุ่งเรืองและมีแนวโน้มเดินเส้นทางการเมืองแบบอุดมการณ์ แต่ถูกทำลายด้วยความพ่ายแพ้แก่พรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งปี 2562 หลังจากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็หันเหทิศทางไปใช้การเมืองแบบบ้านใหญ่มากขึ้น ส่วน  พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 ใช้การเมืองแบบประชานิยมผสมกับการเมืองแบบบ้านใหญ่ และการเมืองแบบรัฐอำนาจนิยม จนประสบความสำเร็จเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐหลงเหลือเพียงการเมืองแบบบ้านใหญ่อย่างเดียว จำนวน ส.ส.ที่จะได้รับอาจเหลือเพียงหนึ่งในสามของการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

และสุดท้าย พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ใช้ระบบการเมืองบ้านใหญ่เป็นหลัก เสริมด้วยการเมืองแบบประชานิยม พรรคสามารถดูดนักการเมืองประเภทบ้านใหญ่เข้ามาได้เป็นจำนวนมาก และคาดกันว่าอาจได้ที่นั่งมากเป็นลำดับสองรองจากพรรคเพื่อไทย แต่ช่วงก่อนการยุบสภาไม่นานนัก พรรคถูกเปิดโปงและถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากนักเคลื่อนไหวการเมือง ทำให้คะแนนนิยมตกลงไปมาก อย่างไรก็ตามเนื่องจากพรรคภูมิใจไทยใช้ระบบการเมืองแบบบ้านใหญ่ ดังนั้นแม้ความนิยมจะลดลง แต่อาจกระทบต่อผลการเลือกตั้งของพรรคไม่มากนัก
 


กำลังโหลดความคิดเห็น