xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ประกันสุขภาพ” ตัวเลือกตัวรอด!? มนุษย์เงินเดือนกัดฟันจ่ายเบี้ยแพง เพราะรอ “ประสังคม” นานๆ ก็ไม่ไหวนะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้ยามเจ็บป่วย “มนุษย์เงินเดือน” สามารถรักษาฟรีตามสิทธิ  “ประกันสังคม” ในระบบประกันสุขภาพของรัฐ แต่ต้องยอมรับว่าประกันสังคมอาจไม่ตอบโจทย์ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความล่าช้า การรอคิวรับการรักษา การตรวจโรคเฉพาะทางและการส่งตัวเพื่อรักษา ฯลฯ ทำให้ผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรงของบริษัทประกันชีวิตต่างๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

คนวัยทำงานจำนวนมากยอมจ่ายเงินเพื่อแลกรับความคุ้มครองยามเจ็บ ซึ่งหากเป็นไปได้คงไม่มีใครอยากใช้สิทธิเคลมประกันเท่าใดนัก แต่การซื้อประกันสุขภาพเรียกได้ว่ามีไว้อุ่นใจ อย่างน้อยกรณีเจ็บป่วยกระทันหันภายใต้เงื่อนไขประกัน จะได้รับความสะดวกสบายและเข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงที รวมทั้งลดภาระรายจ่ายไม่ให้บานปลาย ได้รับความคุ้มครองตามวงเงินประกัน

นอกจากนี้ มีข่าวลือต่อๆ กันมาในกลุ่มเซล์ลขายประกันทำนอง เขาว่ากันว่า... บริษัทต่างๆ จะมีการนำรายลูกค้าไปทำพิธีบุญเสริมดวงสะเดาะเคราะห์ เรียกว่าเมื่อลูกค้าแฮปปี้สุขภาพดีไม่เจ็บป่วย บริษัทประกันก็แฮปปี้ เพราะโกยเบี้ยประกันฟาดกำไรเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบแน่ชัด

แต่เท่าที่รื้อค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตพบเพียงแคมแปญ “ประกันแก้เคล็ดปีชง 2565” เป็นกิมมิคของไทยสมุทรประกันชีวิต พ่วงพิธีฝากดวงแก้ชงออนไลน์ สำหรับลูกค้าที่จ่ายเบี้ยอุบัติเหตุ 6,000 บาทขึ้นไป และจ่ายเบี้ยเหมาจ่ายสุขภาพต่อปี 19,000 บาทขึ้นไป เสริมดวงรับตรุษจีน คุ้มครองแคล้วคลาด สุขภาพแข็งแรง ให้ก้าวผ่านปีชง

 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (TTB Analytics)  ประเมินข้อมูลสถิติโครงสร้างการใช้สวัสดิการทางการแพทย์ของคนไทย พบว่าในช่วง 10 ที่ผ่านมา (2554 - 2564) แนวโน้มคนไทยใช้บริการการแพทย์ด้วยการใช้สวัสดิการประกันสังคมและทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปี 2564 สัดส่วนการใช้สวัสดิการประกันสังคมและทำประกันสุขภาพรวมกันมากถึง 24.5% ของการใช้สวัสดิการทางการแพทย์รวม โดยเพิ่มขึ้นจาก 15.7% ในปี 2554 สะท้อนดีมานด์ความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ที่มากขึ้นจากแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมกว่า 11 ล้านคน และประชาชนที่ยินดีจ่ายประกันสุขภาพเพื่อความคุ้มครองจากการเจ็บป่วย

สมาคมประกันชีวิตไทย ประมาณการเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ระหว่าง 612,500-623,500 ล้านบาท เติบโต 0 - 2% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ซึ่งจะล้อไปตามตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ที่ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.7-3.7%

ภาพรวมอุตสาหกรรมธุรกิจประกันในปี 2566 เต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ภายใต้ความท้าทายดังกล่าว ยังมีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะแบบประกันสุขภาพ และประกันโรคร้ายแรง ที่มีดีมานด์ความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ความเสี่ยงของการเกิดโรคอุบัติใหม่แบบครั้งที่เกิดโควิด-19 นวัตกรรมการรักษาที่สูงขึ้นและก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น
รวมถึงโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวัยที่มาพร้อมความเสื่อมของร่ายกาย ที่ต้องได้รับการดูแลรักษาพยาบาลที่ถี่ขึ้นกว่าวัยหนุ่มสาว อันหมายถึงค่าใช้จ่ายด้านนี้ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป มีการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงความคุ้มครองของประกันสุขภาพได้ ขยายความคุ้มครองไปถึง 99 ปี ซึ่งมีโอกาสที่จะขยายความคุ้มครองไปจนถึง 120 ปี เหมือนที่ต่างประเทศเริ่มทำแล้ว

สำหรับทิศทางผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่จะได้รับความนิยมและมีศักยภาพในการเติบโตสูง คือ ผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง หรือ Health & CI เนื่องจากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และมีการบริการหลังการขายที่ครบวงจร (ทั้งระบบ Online และ Offline) เช่น Telemedicine บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน (SOS) ฯลฯ โดยได้เชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาล ทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบทุกความต้องการและทุกกลุ่มเป้าหมาย

รวมถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมองหาช่องทางการลงทุนใหม่ ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่พอรับได้ รวมถึงได้รับความคุ้มครองจากการประกันชีวิตรวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ดี ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น มีผลต่อการเคลมของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกบริษัทประกันชีวิตต้องบริหารจัดการควบคุมเคลมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เช่น การให้ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) ค่าหรือใช้จ่ายร่วม (Copayment) คือบริษัทประกันออกค่าใช้จ่าย 80% ผู้เอาประกันภัยออก 20% ซึ่งการนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้ จะทำให้ผู้เอาประกันสามารถจ่ายเบี้ยในอัตราที่ถูกลง และเข้าถึงความคุ้มครองได้ง่ายขึ้น

สมาคมประกันชีวิตไทย คาดการณ์ว่าธุรกิจประกันชีวิต ปี 2566 จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 612,500 – 623,500 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตระหว่าง 0 – 2%  

ขณะที่ ปี 2565 ระหว่าง มกราคม - ธันวาคม มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 611,374 ล้านบาท เติบโตลดลงที่ 0.45% เมื่อเทียบกับปี 2564 แยกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 169,878 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลง 0.49% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 441,496 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตลดลง 0.43% โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ 82%

สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย เบี้ยประกันภัยรับปีแรก (FYP) 105,192 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 10.42% เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว 64,686 ล้านบาท เติบโตลดลง 14.27 %

 สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมในปี 2565 คือ สัญญาเพิ่มเติม (Riders) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคุ้มครองสุขภาพและโรคร้ายแรง ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวมสูงถึง 103,635 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 7.85% หรือ คิดเป็นสัดส่วน 16.95%

และประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) สามารถเติบโตได้ดีด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม 15,741 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 9.72% หรือ คิดเป็นสัดส่วน 2.57% 

ข้อมูลจาก บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต เปิดเผยว่าค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นราว 6 - 8% ต่อปี ซึ่งส่งผลให้บริษัทประกันต้องนำต้นทุนดังกล่าวเข้ามาคำนวณในเบี้ยประกัน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีแผนจะเข้ามาดูแลมาตรฐานค่ารักษาพยาบาลที่พยาบาลเรียกเก็บกับบริษัทประกันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

สำหรับแนวโน้มการเคลมประกันสุขภาพของอลิอันซ์ฯ ในปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่าการเคลมประกันโควิด-19 ลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับการเคลมประกันที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด (Non-covid Claim) ที่เริ่มปรับตัวขึ้น โรคที่มีการเคลมสูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1. ลำไส้อักเสบ/ท้องเสีย (AGE/Diarrhea) 2. โพรงจมูกอักเสบ (Rhinitis) และ 3. คออักเสบ (Pharyngitis)

นอกจากนี้ การเคลมประกันสุขภาพเด็กก็ปรับตัวขึ้นเช่นกัน หลังโรงเรียนเริ่มกลับมาเปิดเรียนตามปกติ โดยในปี 2565 ยอดเคลมประกันเด็กปรับตัวขึ้นเด็กปรับตัวขึ้นเกือบ 70,000 เคส และสัดส่วนกว่า 47.9% เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ

บทความเรื่อง  “4 ข้อควรรู้ก่อนเลือกซื้อประกันสุขภาพ” โดย SET เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่าว่าการซื้อประกันสุขภาพเป็นตัวช่วยสำคัญในการบริหารความเสี่ยงด้านการเงิน ข้อสำคัญต้องพิจารณาผลประโยชน์และความคุ้มครองคุ้มค่ากับเบี้ยประกันภัย สาระสำคัญความว่า

 1. ความเสี่ยงในชีวิตด้านสุขภาพ  โดยลองประเมินจากการใช้ชีวิตในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของเรา เช่น มีโอกาสเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์หรือไม่ มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเรื้อรังและโรคอื่น ๆ หรือไม่ เป็นต้น

 2. สวัสดิการที่มีปัจจุบัน เช่น สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิประกันกลุ่มของบริษัทที่ทำงาน ว่ามีทุนประกันเพียงพอกับความต้องการและครอบคลุมความเสี่ยงในชีวิตแล้วหรือยัง เช่น ถ้าต้องใช้วิธีการรักษาที่มีเทคโนโลยีที่สูงแต่ไม่สามารถเบิกได้ หรือต้องการคุณภาพห้องพักโรงพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าสิทธิประโยชน์ที่มี การซื้อประกันสุขภาพส่วนเพิ่มก็จะช่วยเราได้

 3. ความคุ้มครองที่เหมาะสม  ความคุ้มครองที่สูงจะมาพร้อมกับค่าเบี้ยประกันภัยที่สูง เราจึงควรประมาณการค่าเบี้ยที่เราสามารถจ่ายได้ในระยะยาว และควรศึกษารายละเอียดความคุ้มครองว่าตรงกับที่เราต้องการจริงหรือไม่

และ  4. เงื่อนไขการรับประกันและเรียกร้องสินไหม  ควรศึกษาเงื่อนไขต่างๆ ให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพ เช่น ข้อยกเว้นในกรมธรรม์เรื่องการไม่คุ้มครองโรคต่างๆ ระยะเวลารอคอยที่ประกันภัยยังไม่คุ้มครองหลังจากกรมธรรม์อนุมัติ และวิธีการเรียกร้องสินไหมที่แต่ละบริษัทก็จะมีช่องทางที่หลากหลายในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เอาประกัน

 อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ ขณะเดียวกันก็มองหาความคุ้มครองสุขภาพที่สามารถตอบโจทย์ จึงเป็นความท้าทายของธุรกิจประกันในการออกผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค 


กำลังโหลดความคิดเห็น