xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จับตา “ทุเรียน” ราชาผลไม้ไทย มีค่าดั่ง “ทอง” ปีนี้ “แพง” ได้อีก ตลาดส่งออกแสนล้านสะเทือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ยิ่งเข้าสู่ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวยิ่งน่าจับตา “ทุเรียน ราชาผลไม้ไทย” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจมูลค่าส่งออกกว่าแสนล้าน จากที่เคยครองตลาดส่งออกจีนเบอร์ 1 มาอย่างยาวนาน กำลังโดนประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างเวียดนามเบียดแซง 

อีกทั้ง   “ทุเรียนมีค่าดังทอง”  จากข่าว สภ.อ่าวช่อ จ.ตราด จึงจัด  โครงการฝากทุเรียนไว้กับตำรวจ  ป้องกันโจรแอบตัดทุเรียนชาวสวน เพราะในปี 2565 ที่ผ่านมา มีทุเรียนที่ถูกขโมยตัดออกจากสวนจำนวนหลายตัน มูลค่าหลายล้านบาท สร้างความเสียหายแก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างหนัก เป็นการตอกย้ำว่าทุเรียนเป็นผลไม้มูลค่าสูง

สำหรับสถานการณ์ทุเรียนในประเทศ ปี 2566 มีแนวโน้มปรับราคาขึ้น และแน่นอนว่า คนไทยเตรียมกินทุเรียนแพงอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนราคาปุ๋ยที่สูงขึ้นเกือบเท่าตัว จากปุ๋ย 50 กิโลกรัม ราคา 1,000 บาท ปรับราคาขึ้น 2,400 - 2,500 บาท ทั้งยังมีปัจจัยเรื่องโรคระบาดที่ทำให้ผลผลิตลดลง เช่น โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน, โรคกิ่งแห้งในทุเรียน ฯลฯ ส่งผลกระทบอย่างหนักโดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หมอนทองและกระดุมซึ่งมีความไวต่อโรค นอกจากนี้ เกิดการกว้านซื้อจากล้งนายทุนจีนจำนวนมากเพื่อส่งออกไปขายยังประเทศจีน เป็นเหตุผลว่าปีนี้ผู้บริโภคไทยต้องซื้อทุเรียนราคาแพงกว่าปีที่ผ่านมา

ทุเรียนเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญมีการส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีนมากเป็นอันดับ 1 มูลค่าการส่งออกมากกว่าแสนล้านบาท ทุเรียนเป็นราชาผลไม้ไทย นับเป็นพืชเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งที่ครองส่วนแบ่งในตลาดจีนกว่า 90 % ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาการบริโภคทุเรียนเกือบทั้งหมดในจีนพึ่งพาการนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย อ้างอิงตัวเลข ปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกทุเรียนสดจากไทยถูกส่งขายตลาดจีนสูงถึง 3.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.21 แสนล้านบาท)

สถานการณ์ส่งออกทุเรียนไทยเป็นน่าจับตามอง จากเดิมประเทศไทยเรียกได้ว่าผูกขาดการส่งออกทุเรียนสดไปยังจีนแบบไม่เสียภาษี โดยมีเงื่อนไขว่าได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) เป็นการรับประกันว่ามีการปลูก เก็บเกี่ยว และขนส่งอย่างเหมาะสม แต่ในปัจจุบัน ประเทศจีนเปิดกว้างการนำเข้าทุเรียนสดมากขึ้น ประเทศกลุ่มอาเซียนทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ต่างได้รับสิทธิ์ส่งออกทุเรียนสดส่งออกไปยังจีนเช่นเดียวกัน อีกทั้ง จีนสามารถปลูกทุเรียนเองได้แล้ว น่าสนใจว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น

 Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย  ออกบทวิเคราะห์  “จับชีพจรทุเรียนไทย จะโดนโค่นบัลลังก์หรือไม่? หลังศึกแย่งชิงตลาดจีนดุเดือด” เมื่อเดือนต.ค. 2565 โดยประเมินว่า ตลาดส่งออกทุเรียนไทยไปจีนจะขยายตัว 19.3% (2565-2573) เป็น 22,162 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท ในปี 2573 จากปัจจุบันที่ราว 1.2 แสนล้านบาท จากความต้องการบริโภคทุเรียนของชาวจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

แต่ส่วนแบ่งตลาดทุเรียนของไทยในจีนมีแนวโน้มลดลงจาก 95.9% ในปี 2564 เหลือ 90.4% และ 88.1% ในปี 2568 และปี 2573 ตามลำดับ จากการที่จีนสามารถปลูกทุเรียนได้เองและการส่งออกทุเรียนของประเทศคู่แข่งไปจีนมากขึ้น ได้แก่ มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนประมาณ 1.7-5.7 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2568-2573

โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ภายในปี 2568 ผลผลิตทุเรียนของไทยจะแซงหน้าอินโดนีเซีย และในปี 2573 ผลผลิตทุเรียนของไทยอาจเพิ่มขึ้นถึง 4.2 เท่าสู่ระดับ 5.05 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตทุเรียนของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามมีแนวโน้มอยู่ที่ 4.05 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 3 เท่า) 0.72 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า) และ 3.44 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 5.4 เท่า) ตามลำดับ ทั้งนี้ ปริมาณผลผลิตทุเรียนโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การแข่งขันในตลาดส่งออกรุนแรงมากขึ้น


สถานการณ์ทุเรียนส่งออก นับเป็นความท้าทายของภาคเกษตรไทย โดย  น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมมาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียนส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เกี่ยวกับนโยบายการกำกับดูแลการส่งออกทุเรียนไปจีนในฤดูกาลผลิตปี 2566 โดยวางเป้าหมายทุเรียนไทยคุณภาพดี เพื่อรักษาตลาดส่งออกทุเรียนของไทย เนื่องจากขณะนี้ไทยมีคู่แข่งทางการค้ามากขึ้น ล่าสุดประเทศจีนอนุญาตให้ประเทศเวียดนามและฟิลิปปินส์สามารถส่งออกผลทุเรียนไปยังจีนได้แล้ว ดังนั้น การที่จะสามารถรักษาตลาดส่งออกทุเรียนไทย จึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพที่ได้มาตรฐานเท่านั้น

“ปี 2566 นี้ จะต้องเพิ่มความเข้มข้นให้มากขึ้น เพื่อให้ทุเรียนไทยและทุเรียนที่ส่งออกไปจีนมีคุณภาพ โดยกำชับให้กรมวิชาการเกษตรรักษาพันธุ์และคุณภาพมาตรฐาน และเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยต้องหมั่นอบรมชี้แจงสร้างความเข้าใจกฎระเบียบที่จะต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศคู่ค้าอยู่สม่ำเสมอ เนื่องจากเรามีคู่แข่งเพิ่มขึ้น

“ดังนั้นการปลูกทุเรียนและการค้าทุเรียนของไทยจะต้องไม่หยุดพัฒนาคุณภาพ เพื่อไม่ให้ทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนด้อยคุณภาพเล็ดลอดออกไป และเพื่อรักษาเกษตรกรและตลาดการส่งออกทุเรียนของไทย ดังนั้นจึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานอย่างตรงไปตรงมา เพราะเราไม่มีนโยบายสนับสนุนให้ใครกระทำผิด หากเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิด ผลกระทบจะตกอยู่ที่เกษตรกร” น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมแผนรองรับสถานการณ์แก้ไขปัญหาผลไม้ทุเรียนอย่างเป็นระบบตั้งแต่ช่วงการดูแลผลผลิต จนไปถึงการตัดทุเรียนขาย ที่ผ่านมามักประสบปัญหาการลักลอบขายทุเรียนอ่อน มีการทำงานเชิงรุกผ่านคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย และจัดทำแผนพร้อมรับมือการแข่งการส่งออกทุเรียนของประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่สวนทุเรียน จัดตั้งจุดบริการตรวจเปอร์เซ็นของน้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ในพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 68 จุด ได้แก่ จันทบุรี (40 จุด) ตราด (7 จุด) ระยอง (6จุด) ชุมพร (10 จุด) นครศรีธรรมราช (5 จุด) ตรวจสอบโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ทุเรียนที่นำมาส่งที่ล้ง จะต้องมีใบรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นน้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ทั้งนี้ ทุเรียนไทยมีคุณภาพดีกว่าของต่างประเทศ แต่การลอบทุเรียนอ่อนจะส่งผลต่อคุณภาพด้อยลง โดยกรมฯ ได้กำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียน ดังนี้ ทุเรียนพันธุ์กระดุมและพวงมณี เก็บเกี่ยว วันที่ 10 มีนาคม พันธุ์ชะนี เก็บเกี่ยว วันที่ 20 มีนาคม และทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เก็บเกี่ยววันที่ 15 เมษายน 2566

รวมทั้ง เพิ่มความเข้มงวดกวดขัดตรวจติดตามสวนทุเรียนที่ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP (Good Agricultural Practices) และโรงคัดบรรจุที่ได้มาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต หรือ GMP (Good Manufacturing Practice) เพื่อรักษามาตรฐานการส่งออกให้เป็นไปตามข้อตกลงของประเทศคู่ค้า ตรวจเข้มทุเรียนส่งออก โดยให้ตรวจเข้มทุกชิปเมนท์ทั้งการขนส่งทางบก เรือ และอากาศ หากพบกระทำผิดไม่เป็นไปตามมาตรฐานทุเรียนส่งออกหรือแนวทางปฏิบัติตามพิธีสารไทย-จีน กรมวิชาการเกษตรจะไม่ออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเพื่อการส่งออก

สำหรับกรณีปัญหาทุเรียนอ่อน อยู่ระหว่างกรมวิชาการเกษตรพิจารณาแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งก่อนหน้านี้กรมวิชาการเกษตรจะใช้วิธีการพ่นสีทุเรียน แต่กลับพบปัญหาว่ามีการนำกลับมาขายข้างทาง ทำให้ผู้บริโภคเสียหายเมื่อซื้อไปแล้วพบว่าเป็นทุเรียนอ่อน ดังนั้น อาจมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เช่น การเผาทำลาย หรือนำไปประมูลเพื่อทำทุเรียนแปรรูป เป็นต้น

นอกจากบทบาทของรัฐยังเกิดเคลื่อนไหวในส่วนของภาคประชาชน มีการจัดตั้งจัดองค์กรพิทักษ์ผลไม้ (ทุเรียน) ในพื้นที่ภาคตะวันออก เสริมทัพการทำงานของภาครัฐ เพื่อช่วยกันสอดส่องและแจ้งเบาะแสการกระทำผิดให้หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะพบเห็นกรณีมีชาวสวนตัดทุเรียนอ่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ตัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด และตรวจสอบล้งรับซื้อทุเรียนไม่ให้มีการรับซื้อทุเรียนอ่อนเพื่อจำหน่าย ป้องกันการนำทุเรียนด้อยคุณภาพออกขาย โดยต้องการให้ชาวสวนผลิตทุเรียนคุณภาพออกสู่ตลาด และจะต้องไม่มีการนำทุเรียนจากที่อื่นมาสวมสิทธิ

 ทุเรียนถือได้ว่าเป็นราชาผลไม้ไทย มีมูลค่าส่งออกแสนกว่าล้านบาทต่อปี การรักษาคุณภาพมาตรฐานป้อนสู่ตลาดส่งออกและบริโภคภายในประเทศ นับเป็นความท้าทายของรัฐบาลและเกษตรกรไทย  



กำลังโหลดความคิดเห็น