ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สำรวจลมหายใจร้านหนังสืออิสระ ธุรกิจนอกกระแสที่อยู่นอกสายตา ย้อนมองร้านหนังสืออิสระที่อยู่คู่หอศิลปกรุงเทพฯ มานานนับ 10 ปี หลังออกอาการกระอักพิษเศรษฐกิจจากโควิด-19 ขาดทุนต่อเนื่อง แบกรับภาระค่าที่ไม่ไหว ถึงขั้นออกมาตัดพ้อออกมาประกาศปิดตัว จนกลายเป็นประเด็นร้อนสร้างความกระอักกระอ่วนใจแก่มิตรรักนักอ่าน เกิดคำถามกับความลักลั่นของพื้นที่ศิลปะที่ไม่โอบอุ้มวัฒนธรรมการอ่าน
แม้ท้ายที่สุด กรณี “Bookmoby (บุ๊คโมบี้)” กับ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” หรือ “หอศิลป์กรุงเทพฯ” (BACC) จะดีลจบแบบสวยๆ “ชะลอการขึ้นค่าเช่าเป็นระยะเวลา 1 ปี” แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นมีความน่าสนใจ ไม่ใช่เพียงเรื่องความอยู่รอดของธุรกิจร้านหนังสืออิสระ ท่ามกลางร้านหนังสือเชนสโตร์ แต่ยังสะท้อนปัญหาการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านในประเทศไทย การส่งเสริมเชิงนโยบายแต่ขาดการสนับสนุนพื้นที่สร้างศิลปวัฒนธรรมอ่าน
อีกทั้ง หอศิลป์กรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณที่ได้รับเป็นหลักจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีนโยบายส่งเสริมเมืองแห่งการอ่าน ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ เพิ่งแถลงข่าวเปิดเทศกาลการอ่านและหนังสือกรุงเทพฯ (Read & Learn) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” จัดเทศกาล 12 เดือน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในรูปแบบหนึ่งและเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ปักหมุด เดือน มี.ค. เป็นเดือนที่เกี่ยวข้องกับการอ่านและการเรียนรู้ จัดกิจกรรมเทศกาลการอ่านและหนังสือกรุงเทพฯ ตามแหล่งการเรียนรู้ของ กทม. และหน่วยงานความร่วมมือของภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน เช่น หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร, ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของ กทม. 34 แห่ง, TK Park รวมถึงห้องสมุดหน่วยงานของรัฐหน่วยงานและเอกชน ร้านหนังสืออิสระ กลุ่มเพจผู้รักการอ่าน และภาคีต่างๆ รวมทั้ง จัดกิจกรรมหนังสือในสวน, Book Club, Walking Trip, Biking Trip เป็นต้น
ยิ่งทำให้เกิดคำถามต่อการบริหารจัดการของหอศิลป์กรุงเทพฯ ซึ่งกระทบร้านหนังสืออิสระจนกลายเป็นประเด็นร้อน
ถอดบทเรียน กรณี Bookmoby ร้านหนังสืออิสระ ที่ตั้งอยู่บริเวณ ชั้น 4 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มานานกว่า 10 ปี แรกเริ่มหวังเป็นทางเลือกให้นักอ่าน เป็นพื้นที่ให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็ก คนทำหนังสือสามารถนำหนังสือมาขายและกิจกรรมต่างๆ
ย้อนกลับไปช่วงต้นเดือน ก.พ. 2566 Bookmobyเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กของทางร้าน ระบุความว่า
“เป็นเพื่อนนักอ่านมานานกว่า 10 ปี แต่เดือนนี้ (กุมภาพันธ์) อาจเป็นเดือนสุดท้าย”
สรุปความถึงสาเหตุได้ว่าค่าเช่าสถานที่ของพื้นที่ศิลปวัฒนธรรม หอศิลป์กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกินกว่าที่ร้านหนังสืออิสระเล็กๆ จะสามารถรับได้ไหว และแม้หลังสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย และนักอ่านจะแวะเวียนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้รายได้เพียงพอกับรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง โดยข้อมูลเบื้องต้นทางหอศิลป์ขอปรับขึ้นค่าเช่าอีก 10%
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน เจ้าของร้าน Bookmoby เปิดเผยว่าทางร้านประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอด แม้พยายามลดค่าใช้จ่ายแล้ว ถ้าพูดเรื่องผลกำไรร้านหนังสืออาจต้องปิดตัวลงนานแล้ว แต่เรามองถึงประโยชน์ที่นักอ่านจะได้รับ ย้อนกลับไปสู่วัถตุประสงค์แรกของการก่อตั้งร้าน Bookmoby เมื่อกว่า 10 ปีก่อน ที่หวังสร้างทางเลือกให้นักอ่าน เป็นพื้นที่ให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็ก คนทำหนังสือสามารถนำหนังสือมาขายหรือจัดกิจกรรมได้โดยตรง จึงเชื่อว่า Bookmoby ยังจะเป็นประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานคร
แม้ภาวะขาดทุนเป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจ ไปต่อไม่ไหวก็จำต้องปิดกิจการ หรือไม่ก็ขยับขยายเพื่อเอาตัวรอด แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับร้านหนังสืออิสระแห่งนี้กลายเป็นเรื่องไม่ปกติ เป็นประเด็นร้อนที่สายตาหลายคู่จับจ้อง
โดยเฉพาะหลังจากข้อความของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนและบรรณาธิการชื่อดัง อดีตศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า “เสียชื่อที่เคยเป็นกรุงเทพฯเมืองหนังสือโลก ที่แท้ก็ว่างเปล่า แค่ร้านหนังสือร้านเดียวในหอศิลป์ กท. ยังรักษาเอาไว้ไม่ได้”
นำสู่การพูดคุยพูดคุยหาทางออก ระหว่าง “หอศิลป์กรุงเทพฯ” กับ “Bookmoby” ช่วงกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดย “มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะชะลอการขึ้นค่าเช่าเป็นระยะเวลา 1 ปี” และในปีถัดไปจะมีการประเมินเรื่องค่าเช่ากันอีกครั้ง โดยหอศิลป์ยินดีที่จะสนับสนุนกิจกรรมด้านการอ่านและการเรียนรู้ และร่วมกับ Bookmoby ในการสร้างสรรค์กิจกรรมต่อไปในอนาคต
ด้าน อดุลญา ฮุนตระกูล ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าหอศิลป์ฯ ให้ความสำคัญกับร้านหนังสือ Bookmoby เพราะมองเป็นศูนย์การเรียนรู้ เช่นเดียวกับให้ความสำคัญกับร้านค่าอื่นๆ ในหอศิลป์
ต้องทำความเข้าใจว่า หอศิลป์ฯ ดำเนินงานโดยมูลนิธิไม่แสวงหากำไร ได้จัดสรรงบประมาณที่ได้รับเป็นหลักจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้สนับสนุนเอกชน และอีกส่วนหนึ่ง BACC ต้องจัดหางบประมาณเอง โดยมีที่มาจากค่าเช่าใช้พื้นที่ของร้านค้าต่างๆ ในโซน artHub และหนึ่งในแผนการทำงานในปีนี้คือการพัฒนาพื้นที่ร้านค้า artHub ให้มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนขึ้น
ที่ผ่านมามีแนวทางออกมาตรการการช่วยเหลือร้านค้าต่างๆ มาโดยตลอด นับตั้งแต่เริ่มมีสถานการณ์โควิด-19 กระทั่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลายในปัจจุบัน และโดยปกติ ก่อนครบสัญญาเช่าพื้นที่ของแต่ละร้าน ทาง BACC จะมีหนังสือแจ้งการครบสัญญา และต่อสัญญาใหม่ที่ได้ระบุรายละเอียดต่างๆ รวมถึงการขอปรับขึ้นอัตราค่าเช่าพื้นที่ ส่งไปยังผู้เช่าใช้พื้นที่ หรือร้านค้าต่างๆ หากมีปัญหาขัดข้องประการใด ให้ทำหนังสือแจ้งกลับมา เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
นอกจากนี้ หอศิลป์ฯ มีการช่วยเหลือตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 - เดือนเมษายน 2565 รวม 25 เดือน ทางหอศิลป์ได้มีการงดเก็บและลดค่าเช่าเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยการลดหย่อนค่าเช่าเฉลี่ยเดือนละ 40% ตลอด 25 เดือนที่ผ่านมา
สำหรับข้อมูลปัจจุบัน ประเทศไทยมีร้านหนังสืออิสระและร้านหนังสือเชนสโตร์ทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 796 แห่ง โดยแบ่งออกเป็นร้านหนังสืออิสระเพียง 171 ร้าน (หรือ 21.5%) และร้านหนังสือเชนสโตร์มี 625 สาขาทั่วประเทศ (หรือ 78.5%) อ้างอิงจากโครงการพัฒนาร้านหนังสือเป็นแหล่งความรู้สร้างสรรค์ ปี 2565
กระนั้นก็ดี แม้มีร้านหนังสืออิสระไม่ได้เป็นธุรกิจโกยกำไร แต่ก็ยังมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่วงการน้ำหมึก
DOT.b ร้านหนังสืออิสระป้ายแดง ในจังหวัดสงขลา เพิ่งเปิดร้านช่วง ม.ค. 2566 โดยมี ธีระพล วานิชชัง เจ้าของร้านฯ เป็นผู้ขับเคลื่อนภายใต้สโลแกน Support your local book store แนวทาง Your local book store เป็นร้านหนังสือในท้องถิ่นทางเลือก ซึ่งร้านหนังสือเป็นส่วนเสริมจากร้านกาแฟที่ทำอยู่เดิมมากว่า 10 ปี เรียกว่าเป็นจังหวะดีที่ในการเริ่มต้นทำสิ่งที่รัก
2 เดือนแรกหลังเปิดร้าน บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก นักอ่านแวะเวียนมาอุดหนุนหนังสือ กระแสตอบดี ดันยอดขายเป็นที่น่าพึงพอใจ แต่เข้าใจธรรมชาติว่าอาจหอมหวานในช่วงแรกๆ จะอยู่รอดในธุรกิจหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องดูกันยาวๆ
DOT.b ไม่ได้วางตัวเป็นเพียงร้านซื้อขายหนังสือ แต่เป็นคอมมูนิตี้สำหรับชุมชน มีการกิจกรรมค่อนข้างเยอะ ด้วยพื้นที่อำนวยลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้นครึ่ง เป็นหนึ่งในเหตุผลทำให้มีคนแวะเวียนเข้ามามาขาดสาย เป้าหมายของการทำร้านเรื่องธุรกิจกำไรเป็นเรื่องรอง DOT.b ต้องการสร้างบรรยากาศเมืองหนังสือ อาจไม่ต้องซื้อก็ได้เพียงเดินเข้ามาซึมซับบรรยากาศ เชื่อว่าการเดินเข้าร้านหนังสือเป็นประสบการณ์ที่หาซื้อไม่ได้จากร้านออนไลน์
ร้านกลิ่นหนังสือ จ.น่าน เป็นร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ที่เริ่มต้นมาจากการเป็นร้านหนังสือออนไลน์ และขายหนังสือด้วยวิธีการ Blind Date With a Book หลังจากทำร้านหนังสือออนไลน์อยู่ประมาณ 3ปี เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำร้านหนังสือ ก็ปรับวิธีการทำงานมาเรื่อยๆ และเมื่อมีระบบการขายที่ชัดเจน มีทีมงานพร้อม จึงเริ่มเปิดหน้าร้านอยู่ที่ จ.น่าน เมื่อปลายปี 2564
ทางร้านกลิ่นหนังสือ เล่าว่าการทำธุรกิจมีปัญหาและการปรับตัวมีอยู่ตลอดเวลา เช่น ช่วงที่เราก้าวเข้าสู่การเป็นร้านหนังสือออนไลน์ช่วงแรกๆ ร้านเติบโตค่อนข้างไว ทำงานคนเดียว ทำให้ขาดประสิทธิภาพและทำงานได้ไม่เต็มที่หลายอย่าง จึงได้ปรับให้การทำร้านมีความเป็นธุรกิจมากขึ้น มีระบบการทำงานที่ชัดเจน รวมถึง สร้างทีมงานให้เข้ามาช่วยในส่วนที่เรายังขาดและทำได้ไม่เต็มที่ ในขณะเดียวกัน
“แม้จะมีการปรับให้เป็นธุรกิจมากขึ้นเพื่อให้สามารถดำเนินงานไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เรายังคงมีการสมดุล Passion เริ่มแรกในการอยากทำร้านหนังสือด้วยความรู้สึกที่สนุกและอยากให้ลูกค้ารู้สึกสนุกในการอ่านหนังสืออยู่ด้วยค่ะ”
นอกจากนี้ มีช่วงที่ลูกค้าซื้อหนังสือกันน้อยลง อาจด้วยภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการมีตัวเลือกที่หลากหลายในการซื้อออนไลน์มากขึ้น ก็ต้องปรับให้มีการใช้ช่องทางการขายที่หลากหลายเพื่อรองรับลูกค้า รวมถึงปรับกลยุทธ์การตลาด และมีการใช้โปรโมชั่นเข้ามาช่วยส่งเสริมการขาย
อย่างไรก็ตาม ความอยู่รอดของร้านหนังสือ stand alone เป็นประเด็นที่คนในแวดวงหนังสือตระหนักให้ความสำคัญกันอยู่ไม่น้อย ย้อนกลับไปช่วงปี 2563
กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิวิชาหนังสือ ชวนนักอ่านตัวจริงต่อลมหายใจให้ร้านหนังสืออิสระ สร้างวัฒนธรรมร้านหนังสือให้กลับมาเฟื่องฟู โดยสนับสนุนร้านหนังสืออิสระผ่าน “โครงการ Book Passport” ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนร้านหนังสืออิสระให้เป็นสถานที่ส่งเสริมการอ่าน และแหล่งเรียนรู้พื้นฐานอันสำคัญของชุมชน
สำหรับ Book Passport เป็นการชวนนักอ่านออกเดินทางไปทั่วไทยไปร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมและอุดหนุนร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศ เป็นเป้าหมายส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงวัฒนธรรมหนังสือเข้าร้านหนังสือและซื้อหนังสือจากร้านหนังสือ โดยมุ่งหวังให้ร้านหนังสือเป็นองค์ประกอบสำคัญให้วงจรระบบหนังสือเติบโต ดำรงอยู่ และดำเนินกิจการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร้านหนังสืออิสระดำเนินการโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งไม่เคยได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ อย่างจริงจัง ร้านหนังสืออิสระจึงแตกต่างกับร้านหนังสือใหญ่ เช่น เชนสโตร์ หรือ บริษัทขนาดใหญ่ ที่มีอำนาจในการคัดเลือกหนังสือเพื่อวางจำหน่ายในร้านได้มากกว่า
ดังนั้น จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศ มีสถานะมั่นคงขึ้นด้วยนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล เพื่อจะเป็นฐานของสำนักพิมพ์ นักเขียน นักแปล บรรณาธิการ และอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งขยายพื้นที่แหล่งความรู้พื้นฐานแก่ประชาชนทั่วประเทศอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
ไม่นานมานี้ มีการพูดคุยผ่านวงเสวนาเรื่องการแก้ไขปัญหาร้านหนังสืออิสระ ประเด็นที่น่าสนใจคือหัวใจของการทำร้านหนังสืออิสระ คือการสำรวจภูมิศาสตร์ประชากรผู้อ่านว่าเป็นใคร เพื่อดูว่าจะนำหนังสือประเภทใดมาวาง หากบุคลิกของหนังสือไม่ตรงกับอุปนิสัยคนในพื้นที่ ก็จะเป็นการเพิ่มระยะห่างยากแก่การเข้าถึง และต้องเปิดโอกาสให้นักอ่าน ให้ได้รับประสบการณ์เห็นประโยชน์จากหนังสือ สร้างความคุ้นเคยกับการอ่าน ไม่มุ่งหวังว่าคนจะซื้อหนังสืออย่างเดียว รวมทั้ง มองหารายได้ทางอื่นจากการจัดกิจกรรมต่างๆ เป็นช่องทางเสริม
มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์และเลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ กล่าวว่าหน้าที่ของร้านหนังสืออิสระไม่ใช่เพียงสถานที่กระจายสินค้า หรือหนังสือออกไปสู่คนอ่านในชุมชนต่างๆ เท่านั้น ร้านหนังสือคือขุมทรัพย์ทางปัญญาที่จะช่วยพัฒนาคน พัฒนาชาติ ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งในเมืองไทยนั้น วัฒนธรรมหนังสือ ยังไม่เคยมีเป็นรูปธรรมมาก่อน การเริ่มสร้างวัฒนธรรมร้านหนังสือที่กระทรวงวัฒนธรรมกำลังทำผ่าน Book Passport เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่อยู่ใต้ร่มใหญ่ของวัฒนธรรมหนังสือที่ควรทำควบคู่กันไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทสำคัญของ “ร้านหนังสืออิสระ” ช่วยสร้างบรรยากาศ “เมืองแห่งการอ่าน”