xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผลกระทบของการเมืองแบบประชานิยม / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

 แต่เดิมแนวทางหลักที่นักการเมืองใช้เพื่อเอาชนะการเลือกตั้งคือ การเมืองแบบประชาจัดตั้ง ส่วนแนวทางรองคือ การเมืองแบบพลเมืองเสรี ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยได้สร้างการเมืองแบบประชานิยมขึ้นมา หลังจากนั้นการเมืองแบบประชานิยมก็กลายเป็นการเมืองกระแสหลักในสนามการเลือกตั้ง มีการนำการเมืองแบบนี้ไปใช้อย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม การเมืองแบบประชาจัดตั้งก็ยังคงดำรงอยู่คู่ขนานกันไป ส่วนการเมืองแบบพลเมืองพัฒนาอย่างช้า ๆ และเริ่มมีนัยสำคัญต่อการเลือกตั้งในปี 2562 ในปัจจุบันการเมืองแห่งการเลือกตั้งไทยจึงเป็นส่วนผสมเชิงพลวัตของการเมืองทั้งสามรูปแบบ ถึงกระนั้นในการเลือกตั้งปี 2566 การเมืองแบบประชานิยมก็ยังคงเป็นการเมืองกระแสหลัก ดังเห็นได้จากพรรคการเมืองไทยต่างก็ผลิตนโยบายประชานิยมแข่งขันกันอย่างเข้มข้น แม้ว่าการเมืองแบบประชานิยมอาจมีข้อดีอยู่บ้าง แต่ผลกระทบทางลบของการเมืองแบบประชานิยมก็มีอยู่มหาศาล

ก่อนลงรายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบของการเมืองแบบประชานิยม ผมของกล่าวถึงลักษณะและความหมายของการเมืองทั้งสามรูปแบบเป็นเบื้องต้น
“การเมืองแบบประชานิยม” คือ การเมืองแห่งการเลือกตั้งที่อาศัยนโยบายหาเสียงที่มีลักษณะเอื้อประโยชน์เชิงรูปธรรมแก่ผู้เลือกตั้ง โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจนที่มักถูกกีดกันจากอำนาจการเมือง เพื่อแลกกับการลงคะแนนให้พรรค

ขณะที่ “การเมืองแบบประชาจัดตั้ง” ซึ่งเป็นการเมืองแบบดั้งเดิมของการเลือกตั้งไทย เป็นการเมืองที่ผู้สมัครประเภทบ้านใหญ่ หรือผู้ทรงอิทธิพลในเขตเลือกตั้งจัดตั้งระบบหัวคะแนน และใช้หัวคะแนนเป็นกลไกในการจัดการ ควบคุมกำกับ และจัดตั้งผู้เลือกตั้งให้ไปลงคะแนนเสียงแก่ผู้สมัครและพรรคที่ผู้สมัครสังกัด การเมืองแบบประชาจัดตั้งถูกหล่อเลี้ยงโดยวัฒนธรรมอำนาจนิยมเชิงอุปถัมภ์ ระบบหัวคะแนนและวัฒนธรรมอุปถัมภ์เป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างประสิทธิผลให้กับการซื้อเสียง

รูปแบบการเมืองแห่งการเลือกตั้งที่แตกต่างจากการเมืองแบบประชาจัดตั้งคือ “การเมืองแบบพลเมืองเสรี” การเมืองแบบนี้ ผู้เลือกตั้งมีความเป็นอิสระในการคิดและตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง และมักตัดสินใจเลือกผู้สมัครและพรรคการเมืองบนพื้นฐานของอุดมการณ์ทางการเมืองและความปรารถนาขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรืออาจต้องการรักษาสังคมแบบจารีตดั้งเดิมเอาไว้ก็ได้ การตัดสินใจจะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของอุดมการณ์นั้น ๆ ขึ้นอยู่กับว่าผู้เลือกตั้งมีอุดมการณ์อะไร

ในสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เล่าความเป็นมา ลักษณะ และประเภทของการเมืองแบบประชานิยมแล้ว ในสัปดาห์นี้จะเขียนถึงผลกระทบของการเมืองแบบประชานิยมว่ามีเรื่องอะไรบ้าง เพื่อกระตุกความคิดของนักการเมืองที่กำลังใช้การเมืองแบบประชานิยมอย่างเข้มข้นอยู่ในขณะนี้ให้พึงระวังเอาไว้ เพราะหากใช้การเมืองแบบประชานิยมอย่างไม่บันยะบันยัง นอกจากจะไม่อาจสมานความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีตแล้ว ก็ยังขยายความขัดแย้งให้รุนแรงยิ่งขึ้น

ผลกระทบของการเมืองแบบประชานิยมมีดังนี้

  ประการแรก การสร้างความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ด้วยการที่การเมืองแบบประชานิยมมักผลิตนโยบายที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้นมากกว่าความมั่นคงเสถียรภาพในระยะยาว และมักเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ซึ่งจะสร้างความผันผวนและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รูปธรรมของความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจคือ การมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงลิ่ว สินค้าราคาแพง ค่าเงินตกต่ำจนกลายเป็นกระดาษ ดังที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศแถบลาตินอเมริกาซึ่งใช้การเมืองแบบประชานิยมอย่างเข้มข้น ความผันผวนทางเศรษฐกิจส่งผลให้นักธุรกิจและนักลงทุนประสบกับความยากลำบากในการวางแผนและลงทุนสำหรับอนาคต พวกเขาจึงมีแนวโน้มยุติหรือชะลอการลงทุน ผลที่ตามมาคือ การจ้างงานลดลง คนตกงานมากขึ้น รายได้ลดลง และหนี้สินมากขึ้น ในสุดเศรษฐกิจก็จะถดถอย และนำไปสู่ภาวะวิกฤตได้

 ประการที่สอง การสร้างความแตกแยกและแบ่งขั้วทางสังคม การเมืองแบบประชานิยมมักอาศัยวาทกรรมและโวหารที่สร้างความแตกแยกหรือการแบ่งขั้ว โดยแบ่งแยกกลุ่มคนในสังคมออกเป็นสองฝ่าย และทำให้เป็นปรปักษ์กัน โวหารที่มักนำมาใช้คือการแบ่งระหว่าง “ประชาชน” กับ “ชนชั้นนำ” อย่างชัดเจน หรือในกรณีสังคมไทยมีการแบ่งระหว่าง “ฝ่ายไพร่” กับ “ฝ่ายอำมาตย์” ความเป็นขั้วการเมืองสามารถสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เป็นพิษ และนำไปสู่ความแตกแยก ความขัดแย้ง และความตึงเครียดทางสังคม ก่อให้เกิดบรรยากาศของความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งจะขัดขวางการริเริ่มและความคืบหน้าในประเด็นนโยบายที่สำคัญ แต่ที่หนักหน่วงกว่านั้นคือ จะบั่นทอนความชอบธรรมของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเปิดทางให้กลุ่มทหารอ้างเป็นเหตุในการทำรัฐประหาร ดังที่เกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้งในประเทศไทย เมื่อปี 2549 และ 2557




เหตุผลสำคัญที่นโยบายประชานิยมก่อให้เกิดความแตกแยกและการแบ่งขั้วทางสังคมคือ

 1) ลักษณะของนโยบายประชานิยมมักเป็นนโยบายที่เลือกปฏิบัติและกีดกันคนบางกลุ่มในการเข้าถึงทรัพยากรของสังคม 
 นโยบายประชานิยมจัดลำดับความสำคัญของผลประโยชน์ของกลุ่มหรือบุคคลบางกลุ่มมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งนำไปสู่สภาวะการกีดกันทางสังคม และผลักไสคนบางกลุ่มกลายเป็นคนชายขอบ ดังเห็นได้จากในช่วงเวลานี้ ซึ่งใกล้จะมีการเลือกตั้ง รัฐบาลประยุทธ์ใช้นโยบายประชานิยม โดยอนุมัติการขึ้นเงินเดือนและค่าตอบแทนแก่คนบางกลุ่ม (นักการเมืองท้องถิ่น และอาสาสมัครสาธารณสุข) ที่มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง การทำเช่นนี้เพิ่มความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ให้เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก ในที่สุดก็จะนำไปสู่ภูมิทัศน์ทางการเมืองที่มีการแบ่งขั้วและแตกแยกจนยากแก่การเยียวยา

  2) นโยบายประชานิยมมักเสนอวิธีแก้ปัญหาแบบเรียบง่าย ประเภทคิดง่าย ทำง่าย  
นโยบายแบบนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่ซับซ้อนได้ นักการเมืองประชานิยมมักสร้างวาทกรรมว่า ทุกปัญหาสามารถแก้ได้อย่างง่าย ๆ ซึ่งเป็นสร้างความเชื่อและความเข้าใจผิดแก่ประชาชน วิธีการแก้ปัญหาแบบประชานิยมคล้ายคลึงกับการยืมเงินนอกระบบมาใช้หนี้ในระบบ ซึ่งยิ่งทำให้หนี้สินพอกพูนมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

 3) การเมืองแบบประชานิยมมีแนวโน้มต่อต้านการประนีประนอมหรือการเจรจาต่อรอง 
เนื่องจากอาจให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรืออุดมการณ์เฉพาะมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งทำให้ยากต่อการสร้างความเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับแนวทางการกำหนดนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม และอาจนำไปสู่การชะงักงันทางการเมืองและความตึงเครียดทางสังคมได้ และ4) การเมืองแบบประชานิยมมักเน้นทำลายชื่อเสียงของฝ่ายตรงข้าม ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือทำลายล้างผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเขา บรรยากาศทางการเมืองที่ไม่เป็นมิตรก็จะเกิดตามมา การแสวงหาจุดร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาจึงทำได้ยากขึ้น

 ประการที่สาม การทำลายของบรรทัดฐานในระบอบประชาธิปไตย
การเมืองแบบประชานิยมมักท้าทายและตั้งคำถามต่อบรรทัดฐานและสถาบันในระบอบประชาธิปไตย เพื่อรวมอำนาจไว้ที่ผู้นำ แนวทางการทำลายมีหลายวิธีด้วยกัน

1) การโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นคนไม่ดี ทุจริตคอรัปชั่น หรือเป็นพวกซื้อเสียง โดยปราศจากหลักฐาน ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อนักการเมือง สถาบันและกระบวนการทางประชาธิปไตยลดลง

2) การใช้สองมาตรฐานทั้งในแง่นโยบายและการบริหาร ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มมากกว่าหลักนิติธรรม ซึ่งอาจนำไปสู่การพังทลายของสถาบันประชาธิปไตย และระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลที่ป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบ

3) การทำลายองค์กรอิสระ นักการเมืองประชานิยมพยายามครอบงำและควบคุมสถาบันในกระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ และสื่อมวลชน ซึ่งทำให้ประชาชนสูญสิ้นความเชื่อถือต่อองค์กรเหล่านั้น 4) การทำลายความน่าเชื่อถือของผู้เชี่ยวชาญและการกำหนดนโยบายที่ใช้ฐานข้อมูล การเมืองแบบประชานิยมมีแนวโน้มปฏิเสธการใช้ความเชี่ยวชาญและหลักฐานเชิงประจักษ์ในการกำหนดนโยบาย ส่งผลให้การสร้างฉันทามติและความร่วมมือในการแก้ปัญหาเชิงนโยบายทำได้ยากขึ้น และนักประชานิยมยังพยายามสั่นคลอนความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อสถาบันวิชาการ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อของผู้นำ ซึ่งเป็นการบั่นทอนคุณภาพและประสิทธิผลของนโยบายในการแก้ปัญหาและสร้างความล้มเหลวแก่ระบอบประชาธิปไตย

 ประการที่สี่ การทุจริตและลัทธิพวกพ้องนิยม การเมืองแบบประชานิยมมักให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของกลุ่มหรือบุคคลบางกลุ่มมากกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งสามารถสร้างโอกาสให้เกิดการทุจริตและระบบพวกพ้องขึ้นมาได้ นโยบายประชานิยมมักมีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตขนาดใหญ่ และการมอบอภิสิทธิ์แก่กลุ่มชนชั้นสูง การทุจริตเกิดขึ้นเพราะ 1) การให้ความสำคัญกับความจงรักภักดีทางการเมืองมากกว่าระบบคุณธรรม บุคคลได้รับรางวัลสำหรับความสัมพันธ์ทางการเมืองมากกว่าคุณสมบัติหรือความสามารถของพวกเขา 2)ส่งเสริมพฤติกรรมการแสวงหาค่านายหน้าและเงินทอนทางเศรษฐกิจ สร้างโอกาสให้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลแสวงหาผลประโยชน์หรือผลกำไรผ่านนโยบายและโครงการของรัฐบาลมากกว่าผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิผล บริบทของการเมืองแบบประชานิยมจึงเต็มไปด้วยพฤติกรรมขายโครงการ การจ้างผู้รับเหมารายย่อยรับช่วงงานต่อเป็นทอด ๆ และการเรียกรับเงินทอนจากโครงการ 3) บ่อนทำลายการตรวจสอบและถ่วงดุล โดยการทำให้องค์กรตรวจสอบและถ่วงดุลทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐ สื่อมวลชน และภาคประชาสังคมอ่อนแอลง ด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา เช่น การซื้อตัว ส.ส. ฝ่ายค้าน การใช้งบประชาสัมพันธ์เพื่อควบคุมและปิดปากสื่อมวลชน การเล่นงานผู้ที่ตรวจสอบโดยใช้กลไกรัฐคุกคาม การฟ้องปิดปากผู้ที่เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เมื่อองค์กรตรวจสอบต่าง ๆ อ่อนแอลงก็ทำให้ยากต่อการเปิดเผยข้อมูลและดำเนินคดีกับการทุจริตของนักการเมืองประชานิยมและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และ4) การส่งเสริมลัทธิพวกพ้อง โดยผู้นำทางการเมืองสนับสนุนพวกพ้องหรือพันธมิตรด้วยการมอบสัญญาสัมปทานของรัฐบาล การกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ หรือการสนับสนุนในรูปแบบอื่น ซึ่งนำไปสู่การกระจุกตัวของความมั่งคั่งและอำนาจในมือของบุคคลหรือกลุ่มเพียงไม่กี่คน

  กล่าวโดยสรุป การเมืองแบบประชานิยมสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมในหลายมิติ ส่งผลให้เศรษฐกิจไร้เสถียรภาพและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สร้างความแตกแยกและการแบ่งขั้วทางสังคม ทำลายบรรทัดฐานในระบอบประชาธิปไตย ทำลายความน่าเชื่อของสถาบันวิชาการเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การตัดสินบนฐานความเชื่อของผู้นำ บั่นทอนระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลทั้งภายในและนอกรัฐสภา สร้างความอ่อนแอให้แก่องค์กรอิสระในการทำหน้าที่ และสร้างลัทธิพวกพ้องและการทุจริตอย่างเป็นระบบ


กำลังโหลดความคิดเห็น