xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พลิกปูมคดีสะเทือนใจ “เธอชื่อนิ่ม” สังคมโหดร้ายเบ้าหลอมปัญหา “ค้าประเวณีเด็ก - แม่วัยใส”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความเปราะบางของประชาชนในสังคมอันโหดร้ายกลายเป็นเบ้าหลอมให้เด็กสาววัย 15 ปี ตกเป็นเหยื่อค้าประเวณี กลายเป็นแม่วัยใสในวัย 17 ปี และพลั้งมือทำลูกวัย 8 เดือนเสียชีวิต ก่อนนำไปทิ้งเพราะกลัวความผิด โดยอำพรางเป็นคดีเด็กหาย กระทั่งความจริงปรากฏสร้างความสะเทือนใจในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง 


ต้องยอมรับว่า การขยายผลจากคดีเด็กหาย น้องต่อ  วัย 8 เดือน ในพื้นที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่เกี่ยวพันกับผู้เป็นแม่ คือ  น.ส.นิ่ม (นามสมมติ)  วัย 17 ปี ทว่า จากการการสืบสวนขยายผลกลับพบเรื่องฉาวว่า  นายพุด (นามสมมติ) สามีและพ่อของน้องต่อ มีความผิดในข้อหาเป็นธุระจัดหาให้มีการค้าประเวณี ให้ น.ส.นิ่ม ขายบริการทางเพศแก่  นายแจ้  เพื่อนของตนตอนที่อายุ 15 ปี เพื่อแลกกับเงิน ทำให้นายแจ้ถูกแจ้งข้อหากระทำชำเราเด็กและพรากผู้เยาว์ อีกทั้ง พบผลตรวจดีเอ็นเอของน้องต่อไม่ตรงกับ นายพุด แต่ตรงกับนายแจ้ เพื่อนสนิทของนายพุด

จากคดีเด็กหายสู่โศกนาฏกกรม ในที่สุด น.ส.นิ่มก็ยอมปริปากกับชุดคลี่คลายคดีว่าเป็นคนนำลูกไปทิ้งลงแม่น้ำ เพราะช่วงเช้ามืดของวันเกิดเหตุ เด็กตื่นร้องไห้งอแงร้องไม่หยุด เธอจึงอุ้มแล้วเผลอทำร่วงตกพื้น ทำให้เด็กนิ่งเงียบไป ด้วยความตกใจจึงอุ้มเด็กโยนลงไปในแม่น้ำบริเวณใกล้บ้าน ซึ่งข้อเท็จจริงเจตนาหรือไม่นั้นอยู่ในกระบวนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ต่อไป

ต่อมา  มูลนิธิกระจกเงา  ได้เปิดเผยบทสัมภาษณ์ น.ส. นิ่ม แม่เด็ก สะท้อนแง่มุมชีวิตก่อนเดินมาสู่ผู้กระทำความผิด เป็นเหยื่อความโหดร้ายของสังคม การเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่สู้ดีนัก ซึ่งชี้ชวนให้สังคมไทยหันกลับไปสำรวจภูมิทัศน์ชีวิตของผู้กระทำผิด หาก น.ส.นิ่ม วัย 17 ปี ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพตั้งแต่เด็ก เธอจะไม่ตกเป็นจำเลยของสังคม จะไม่เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจเช่นนี้

“หนูไม่เคยมีความฝัน ตอนเด็กๆ ไม่เคยคิดฝันว่าอยากเป็นอะไร แค่คิดว่าจะได้ทำงานที่พอเลี้ยงตัวเองได้ ไม่คิดมีความฝันว่าจะเป็นอาชีพอะไร ต้องเป็นหมอ ต้องเป็นพยาบาล หนูไม่เคยคิดไปไกลขนาดนั้น ดูความเป็นอยู่ของที่บ้านหนูสิ หนูคิดว่าหนูไปถึงตรงนั้นไม่ได้”

“หนูไม่มีบ้าน เกิดมาไม่เคยมีบ้านเป็นของตัวเอง อยู่แต่บ้านเช่า และบ้านในบ่อปลา ที่พ่อรับจ้างเฝ้าบ่อ หนูอยู่ในครอบครัวที่ลำบากตั้งแต่เด็กๆ ไม่มีความพร้อมอะไรสักอย่าง สมัยก่อนพ่อทำงานอยู่ในโรงรับซื้อของเก่า บางวันหนูก็ไปช่วยพ่อคัดแยกขวด”

“หนูไม่เคยมีเพื่อนสนิท มีแค่เพื่อนที่รู้จักกัน อาจไปไหนด้วยกันบ้าง แต่ไม่เคยได้รู้เรื่องส่วนตัว ไม่สนิทกันจริงๆ เพราะตอนที่อยู่โรงเรียนไม่ได้มีอะไรได้ทำด้วยกัน”

“ที่โรงเรียน หนูโดนบูลลี่ ทั้งคำพูด และการกระทำ เพื่อนที่โรงเรียนทำเหมือนหนูไม่มีตัวตน เป็นอากาศ หนูก็ต้องอยู่คนเดียว ทำอะไรคนเดียว มันเลยรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน พ่อก็ถามว่าวันนี้ไม่ไปโรงเรียนเหรอ หนูก็ตอบว่าไม่อยากไปแล้ว ลึกๆ ใจอยากเรียนนะ แล้วผลการเรียนหนูก็ไม่ได้แย่นะ”

“หนูแทบไม่เคยกอดแม่เลย ไม่ได้แสดงความรักต่อกัน ตั้งแต่หนูอยู่ชั้นประถม แม่หูตึง พูดไปเขาก็ไม่ได้ยิน ทำให้พอเราคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็ค่อยๆ ห่างกันไป เหมือนไม่สนิทกัน อยู่ด้วยกันในบ้านแต่เราอยู่กันแบบห่างๆ จนแม่ล้มป่วยติดเตียงก็ได้ดูแลแม่มากขึ้น พาไปกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล”

“หนูรักพ่อนะ มีอะไรก็มาบอกพ่อ คุยกับพ่อ แต่ไม่ชอบเวลาพ่อกินเหล้าเมาแล้วโวยวาย หนูเห็นพ่อทะเลาะกับแม่ตลอด มันบ่อยมาก เห็นตั้งแต่เด็กๆ หนูไม่ชอบเลย ตอนเล็กๆ หนูนั่งร้องไห้ พยายามขอร้องให้พ่อหยุด แต่เขาก็ไม่หยุด”

“หนูร้องไห้บ่อยมาก จะหยุดก็ตอนเขาเลิกทะเลาะกัน พอหนูโตขึ้น ความรู้สึกมันก็ชาชิน ชินแต่เจ็บปวด ยายบอกว่า ปล่อยเลย มึงไม่ต้องไปสนใจว่าเขาจะทะเลาะ เดี๋ยวเขาก็หยุดกันเอง แต่ในใจหนูมันก็ยังร้องอยู่ จากหยุดร้องไห้กลายเป็นไปด่าพ่อแทน เหมือนเราเริ่มเป็นปากเป็นเสียงให้กับแม่ รู้สึกว่าบ้านหนูไม่มีความสุขเลย”

“ความสุขของหนู มันคือการออกมานอกบ้าน ตั้งแต่มาอยู่กับพุดได้ใช้ชีวิตอยู่เอง ถ้าหนูมีอะไรไม่สบายใจ เขาก็จะพูดให้หนูสบายใจ เหมือนเป็นหลักในชีวิต ที่คุยกันได้ ปรึกษากันได้”

“ตอนคลอดน้องต่อ เจ็บท้องมาก เป็นความเจ็บที่สุดในชีวิต ไม่ได้ตั้งใจว่าจะมีน้อง แต่หลุดมา รู้ตัวว่ามีลูกตอนท้องได้เดือนหนึ่ง พอรู้ หนูตั้งใจเก็บไว้ คิดว่ามีก็มี ไม่เคยคิดว่าจะเอาเขาออก เราไม่มีเงินเก็บสำหรับคลอดลูกเลย เราไม่มีอะไรเลยจริงๆ มีแต่ของที่คนอื่นให้มา ตอนที่ออกจากโรงพยาบาลหนูก็ยังไม่มีอะไรเลย”

“ถามว่า ถ้ากลับไปแก้ไขอดีตได้ จริงๆ มันก็แก้อะไรไม่ได้แล้ว วันนี้เป็นวันที่หนูรู้สึกไม่เหลือใคร ไม่เหลือใครจริงๆ”

นั่นคือคำให้สัมภาษณ์ของ “นิ่ม”

 นพ.สุริยเดว ทรีปาตี  กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านเด็กและวัยรุ่น ให้ข้อคิดเห็นความว่าทุกคนที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยต้องได้รับการพัฒนา และได้รับการปกป้องคุ้มครองเวลาที่อยู่ในครอบครัว หรืออยู่ในรั้วโรงเรียน ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็ก อย่างไรก็ดี การเติบโตท่ามกลางระบบสังคมป่วย ครอบครัวที่มีปัญหา หน่วยงานที่ต้องดูแลเข้าไปไม่ถึง อีกทั้ง 3 องค์ประกอบสำคัญคือ “ครอบครัว สังคม ระบบการศึกษา” ถือเป็นเบ้าหลอมว่าเด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาอย่างไร

ทั้งนี้ ปัญหาการสร้างประชากรคุณภาพ สะท้อนกลับไปยังระบบการพัฒนาสังคมของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ที่ไม่มีศักยภาพในการสร้างประชากรคุณภาพ และประเด็นที่เกิดขึ้นทำให้สังคมไทยต้องกลับมาทบทวนสถานการณ์ค้าประเวณีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งนับเป็นเรื่องใหญ่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่อาจทำเป็นทองไม่รู้ร้อนอีกต่อไป โดยในปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนทั้งเพศหญิงและเพศชายจำนวนไม่น้อยติดอยู่ในวงจรอุบาทว์ ทั้งถูกบังคับและยินยอมเพราะด้อยเดียงสา

ที่สำคัญคือ ปัญหาทางสังคมเป็นเบ้าหลอมที่ทำให้เด็กและเยาชนเดินไปสู่หนทางที่ผิดพลาด

แม้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจับกุมเป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ แต่ปัญหาก็ไม่ได้บรรเทาเบาบางลงไป ยากตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ มีการบุกเข้าจับกุมหญิงสาวที่อ้างตัวเองว่าเป็นโมเดลลิ่ง ทำการจัดหาเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เพื่อส่งต่อไปค้าประเวณี โดยการเป็นธุระจัดหาเพื่อการค้าประเวณีนั้น เป็นความผิดตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบุคคลที่ถูกนำตัวไปค้าประเวณีเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ตาม จะเข้าข่ายเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ และในบางกรณีอาจมีอัตราโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ส่วนผู้ซื้อบริการก็มีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน และในบางกรณีอาจมีอัตราโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิต

สำหรับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเป็นธุระจัดหาหรือเป็นผู้ซื้อบริการทางเพศจากเด็ก มีดังต่อไปนี้ ผู้ที่เป็นธุระจัดหา หรือที่เรียกตัวเองว่า โมเดลลิ่ง 1.บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่ง ค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26(9) ประกอบมาตรา 78

2. เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยในกรณีเด็กอายุ เกินกว่า 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 6 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 600,000 บาท ถึง 1,500,000 บาท และในกรณีที่เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 8 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 800,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6(2) ประกอบมาตรา 52

3. เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งเด็ก แม้เด็กนั้นจะยินยอมก็ตาม หากเด็กนั้นอายุเกิน 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 6,000 บาท ถึง 30,000 บาท และหากเด็กนั้นอายุยังไม่เกิน 15 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 40,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282
4. ถ้ากรณีตาม ข้อ 3. เป็นการกระทำดังกล่าวกระทำโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด หากเด็กนั้นอายุเกิน 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 14,000 บาท ถึง 40,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต และหากเด็กนั้นอายุยังไม่เกิน 15 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 40,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ผู้ซื้อบริการทางเพศจากเด็ก - กรณีเด็กอายุเกิน 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี 1.พาบุคคลอายุเกิน 15 ปีแต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ 2. พรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสีย จากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 - กรณีเด็กอายุ ไม่เกิน 15 ปี 1.กระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาทถึง 400,000 บาท

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคแรก 2.ถ้ากรณีตาม ข้อ 1. เป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 7 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 140,000 บาท ถึง 400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสอง 3.พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาทถึง 400,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 4. กระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมาลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก 5.ถ้ากรณีตาม ข้อ 4. เป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมาลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง

ขณะที่  นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์  ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุถึงประเด็นการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การท้องไม่พร้อม หรือ คุณแม่วัยใส ว่าในมิติหนึ่งปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาเชิงระบบที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องร่วมดูแล

ยิ่งไปกว่านั้นปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (postpartum depression) ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก ระบุว่า 1 ใน 5 ของแม่ลูกอ่อนในประเทศกำลังพัฒนามีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดลูกรู้สึกเศร้า หดหู่ บางคนเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือฆ่าลูกน้อยตัวเองเลยทีเดียว ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากการเปลี่ยนของระดับฮอร์โมนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อารมณ์ของแม่มีความเปลี่ยนแปลง ซึ่งภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์

สำหรับการจัดการปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นของรัฐบาลไทย ได้ทำคลอด พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 และกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย หรือหากประสงค์จะตั้งครรภ์ต่อ ก็จะมีระบบดูแลต่อ มีหน่วยงานเข้าไป ดังนั้น หากเด็กยังอยู่ในระบบการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องเข้าไปดูแล ให้คำปรึกษาตั้งแต่ที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ และการดูแลหลังคลอดด้วย ซึ่งเด็กจำนวนหนึ่งหลุดออกนอกระบบการศึกษา แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนเป็นปัญหาใหญ่ในระบบการศึกษา มีนักเรียนหญิงจำนวนมากจำต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน

ทั้งนี้ ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์เป็นวิกฤตทางสุขภาพทั่วโลก กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ระบุว่าการตั้งครรภ์เกือบ 50% ทั่วโลก หรือประมาณ 121 ล้านราย เป็นการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ และมีผู้หญิงกว่า 160 ล้านคนทั่วโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงการคุมกำเนิด

สำหรับประเทศไทย ปี 2564 อัตราการคลอดในกลุ่มเด็กอายุ 15-19 ปีอยู่ที่ 25 ต่อ 1,000 ประชากร ลดลงจากปี 2563 ซึ่งมีอัตราอยู่ที่ 28.7 ต่อ 1,000 ประชากร อ้างอิงตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข แม้ตัวเลขทางสถิติลดลง แต่ปัญหาท้องไม่พร้อมต้องเร่งแก้ไข เพราะจะนำไปสู่ประชากรเกิดใหม่ที่ด้อยคุณภาพ

อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินงานลดอัตราการท้องไม่พร้อมอย่างต่อเนื่อง อัตราลดท้องไม่พร้อมลงตามเป้าหมายตั้งต้น โดยตั้งเป้าใหม่อัตราการตั้งครรภ์ในเด็กที่มีอายุระหว่าง 15 - 19 ปี อยู่ที่ 15 คน ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ภายในปี 2570 และยังคงค่าเป้าหมาย อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี ไว้ที่ ไม่เกิน 0.5 ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน

ขณะเดียวกัน กลุ่มที่ตั้งท้องไม่พร้อมยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาในโรงเรียนปี 2564 อยู่ที่ 47.5 % เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีอยู่ที่ 28% สะท้อนว่าสถานศึกษาสามารถรักษาจำนวนนักเรียนในระบบได้แม้ว่าจะอยู่ในภาวะตั้งครรภ์

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเผชิญสถานการณ์อัตราการเกิดใหม่ของประชากรต่ำ ปี 2565 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 5.02 แสนคน จากเป้าหมายจำนวนทารกเกิดไม่ต่ำกว่า 7 แสนคน ถือเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี และเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่ประเทศไทยมีจำนวนคนตายมมากว่าเด็กเกิดใหม่ ถือว่าเป็นอัตราที่สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอัตราการเกิดที่ลดลงจะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในอนาคต รวมทั้ง เกิดภาวะพึ่งพิงวัยแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น

 ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่ทุกกระทรวงทบวงกรมต้องประสานความร่วมมือ เพื่อสร้างเบ้าหลอมที่ดีสร้างประชากรคุณภาพในอนาคต 


กำลังโหลดความคิดเห็น