ผู้จัดการสุดสัดาห์ - ข้อเคลือบแคลงสงสัยของสังคมต่อการทำหน้าที่ของอัยการสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้องค์กรที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดี “‘บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา’ในคดีขับรถชนนายดาบตำรวจรายหนึ่งเสียชีวิตที่อัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งนั่นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง เมื่อ “ขยะที่ซุกไว้ใต้พรม” ยังมีอีกใช่น้อย “นารี ตัณฑเสถียร” อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน จึงสั่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้อง 5 คดีดังที่สุดอื้อฉาว ทิ้งทวนก่อนเปิดหมวกอำลาตำแหน่งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
สำหรับคณะทำงานตรวจสอบ 5 คดี ที่น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด มีคำสั่งตั้งคณะทำงานขึ้นตรวจสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วย คณะที่ 1 คดีนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ กับพวก และคดีเผาสวนงูภูเก็ต ประกอบด้วย นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ รอง อสส. หัวหน้าคณะทํางาน นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รอง อสส. และนายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ ผู้ตรวจการอัยการ เป็นคณะทํางาน
คณะที่ 2 คดี ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด กับพวก (บริษัทเครือเปรมชัยถูกกล่าวหารุกป่า) ประกอบด้วย นายศักดา ช่วงรังษี รอง อสส. เป็นหัวหน้าคณะทํางาน นายโชคชัย ทิฐิกัจจธรรม นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการ สคช. เเละรองโฆษก อสส. เป็นคณะทํางาน
คณะที่ 3 คดี นายแทนไท ณรงค์กูล กับพวก ประกอบด้วย นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ รอง อสส. หัวหน้าคณะทำงาน นายโกวิท ศรีไพโรจน์ อธิบดีอัยการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ นายคถา สถลสุด อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เเละรองโฆษก อสส. เป็นคณะทำงาน
คณะที่ 4 คดี มาวินเบต ดอทคอม มีนายสมเกียรติ คุณวัฒนานนท์ รอง อสส.เป็นหัวหน้าคณะทํางาน นายชาติ ชัยเดชสุริยะ อธิบดีอัยการสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย นายทรงพล สุวรรณพงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการอัยการสูงสุด เเละรองโฆษก อสส. เป็นคณะทำงาน
คณะที่ 5 คดี ยาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 400,000 เม็ด ที่จังหวัดนนทบุรี มีนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ รอง อสส. หัวหน้าคณะทํางาน นายนิติ สุขเจริญ รองอธิบดีอัยการสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย นายจิตภัทร พุ่มหิรัญ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคดีแพ่งกรุงเทพใต้ เเละรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นคณะทำงาน
คณะทำงานดังกล่าวข้างต้น มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและการสั่งคดีของพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ได้รับมอบหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยจัดทำลำดับเหตุการณ์ (Timeline) ในการดำเนินคดีที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่รับสำนวน และการสั่งคดีของพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงต่อที่ประชุม คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) และสาธารณชน
นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่เรียกสำนวนคดีที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา เชิญพนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อเท็จจริง ข้อมูล หรือความเห็นประกอบการตรวจสอบ เรียกเอกสารจากหน่วยงานภายในสำนักงานอัยการสูงสุดที่เก็บรักษาเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณา และให้หน่วยงานดังกล่าวให้ความร่วมมือจัดส่งเอกสารโดยพลัน และเชิญบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อเท็จจริง ข้อมูลหรือความเห็นประกอบการตรวจสอบ และขอเอกสารหลักฐานจากบุคคลและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ ให้หัวหน้าคณะทํางานฯ แต่ละคณะมีอำนาจลงนามในหนังสือออก
อีกทั้งยังให้หัวหน้าคณะทํางานแต่ละคณะมีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมได้ตามความจําเป็นและเหมาะสม และให้หัวหน้าคณะทำงานแต่ละคณะมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลดำเนินการอื่นใด เพื่อให้ความช่วยเหลือสนับสนุน หรืออำนวยความสะดวกในการดำเนินการตรวจสอบของคณะทำงานให้สำเร็จ ลุล่วง รวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำเนินการตรวจสอบของคณะทำงานได้ตามที่เห็นสมควรและจำเป็น โดยรายงานผลการตรวจสอบพร้อมความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นเกี่ยวกับการสั่งคดี และข้อเสนอแนะอื่นๆ ตามที่เห็นสมควรต่ออัยการสูงสุดเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งการต่อไป
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า คดีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ก่อให้เกิดความกังขาจากสังคม และเรียกร้องให้อัยการสูงสุดตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคดีที่ อสส.สั่งรื้อใหม่นั้น มี 2 คดีที่เกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์
นั่นคือ คดีที่คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายแทนไท ณรงค์กูล กับพวก ซึ่งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งข้อหาเมื่อปี 2563 ว่า เป็นผู้ก่อตั้งเว็บพนันออนไลน์โดยมีข้อมูลว่า มีเงินหมุนเวียนนับหมื่นล้านบาท
คดีนี้ นายสมคิด สายเจริญ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักอัยการพิเศษคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด มีหนังสือลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ใจความว่า อัยการสูงสุด มีความเห็นเด็ดขาดไม่สั่งฟ้องนายแทนไทในข้อหาดังกล่าวและข้อหาฟอกเงิน ต่อมา มีข่าวว่า นายแทนไท เป็นผู้ชนะประมูลทะเบียน หมายเลข 9 กก 9999 ของกรมขนส่งทางบกจัดขึ้น ทุบสถิติราคาประมูลสูงสุดที่ 45,090,000 บาท เมื่อเดือนธันวาคม 2565 จนกลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์
ถัดมาเป็น คดีกลุ่มเครือข่ายบ่อนพนันออนไลน์รายใหญ่ชื่อ “มาวินเบต คอทคอม” ซึ่งมีการเปิดให้เล่นพนันในหลายรูปแบบ เช่น หวยยี่กี หวยออนไลน์ แทงบอลออนไลน์ และกาสิโนออนไลน์ มีเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่าหลักหมื่นล้านบาท
คดีนี้เคยปรากฏเป็นข่าวใหญ่โต ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2563 ว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคอมมานโด กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ปิดล้อมตรวจค้นภายใต้ปฏิบัติการ “วาฬเกยตื้น” และจับกุมตัวผู้ต้องหาได้จำนวนหนึ่ง พร้อมยึดของกลางเงินสด 50 ล้านบาท รถยนต์หรู 8 คัน อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนอีก 5 กระบอก
ต่อมา อัยการสูงสุดอ้างว่า เป็น ‘คดีนอกราชอาณาจักร’ ดึงสำนวนจากอัยการจังหวัดชลบุรี ที่มีความเห็นสั่งฟ้องไปแล้ว มาดำเนินการเอง จนกระทั่งอัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี โดยอ้างว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอ ต่อมาพนักงานสอบสวนในคดีทำหนังสือร้องเรียน น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด คนปัจจุบัน และ ก.อ.ให้มีการสอบสวนใหม่
อีกคดีที่เกี่ยวกับ “ทุนจีนสีเทา” เผาสวนงู เป็นคดีที่นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งเด็ดขาดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ไม่ฟ้องนายชัยณัฐร์ หรือ 'ตู้ห่าว' กรณ์ชายานันท์ และพ.ต.ท.หญิง วันทนารีย์ กรณ์ชยานันท์ (ยศขณะนั้น) ภรรยา ในคดีจ้างวานบุกเข้าไปเผาสวนงูของบริษัท ภูเก็ต เฮลตี้นูทรีเมนต์ จำกัด ที่จังหวัดภูเก็ต และทำร้ายนายอนุชิต ไชยทองงาม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนพิการเมื่อ 23 เมษายน 2555 หรือเมื่อกว่า 10 ปีก่อน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ ผู้ตรวจอัยการ ในฐานะโฆษกอัยการสูงสุด และ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงว่า หลังจากอัยการจังหวัดภูเก็ตมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ‘ตู้ห่าว’กับพวก ต่อมาทางตำรวจมีความเห็นแย้งขอให้ฟ้องคดี แต่นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุดในขณะนั้น มีคำสั่งเด็ดขาดเมื่อปี 2563 สั่งไม่ฟ้อง
“คดีนี้เสร็จสิ้นเด็ดขาดแล้วด้วยคำสั่งอัยการสูงสุดชี้ขาดไม่ฟ้อง คงไม่มีการตรวจสอบอะไรแล้ว เพราะอดีตอัยการสูงสุดได้มีการชี้ขาดไปแล้ว แต่ถ้ามีพยานหลักฐานชิ้นใหม่ก็อาจจะนำมาพิจารณาอีกได้” นายนายธรัมพ์ กล่าว
ต่อมา เมื่อเดือนธันวาคม 2565 นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เรียกร้องให้อัยการสูงสุดรื้อคดี “ตู้ห่าว” จ้างวานฆ่า-เผาสวนงูภูเก็ต และขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบอัยการ จ.ภูเก็ต โดยนายวัชระ ชี้ว่าอัยการจังหวัดภูเก็ต มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีทั้งหมด ซึ่งสำนวนคดีมีจำนวน 800 หน้า แต่ใช้เวลาพิจารณาเพียง 1 วัน และต่อมาเมื่อปี 2563 นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งชี้ขาดนั้น เป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัยของประชาชน และขอถามอัยการสูงสุดว่าอัยการจังหวัดภูเก็ต (ขณะนั้น) มีคำสั่งไม่ฟ้องนั้นเป็นตามหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมหรือไม่ และการที่อัยการสูงสุด (ขณะนั้น) มีคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้องคดี สำนักงานอัยการสูงสุด สามารถทบทวนคำสั่งตามกฎหมายอื่นใดเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือผู้เสียหายได้หรือไม่ อย่างไร
“ขอให้พิจารณาตั้งคณะกรรมการสอบสวนอัยการจังหวัดภูเก็ตกับพวก (ขณะนั้น) ....ว่าการสั่งคดีเป็นไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยชอบหรือไม่” นายวัชระ กล่าวเรียกร้อง ซึ่งเรื่องก็เงียบจนล่าสุด อสส.เพิ่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง
สำหรับ คดี ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด กับพวก (บริษัทเครือเปรมชัยถูกกล่าวหารุกป่า) เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด มีหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งว่า นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 , นางพิไลจิตร เริงพิทยา ผู้ต้องหาที่ 2 , นางนิจพร จรณะจิตต์ ผู้ต้องหาที่ 3 และนางอรเอม เทิดประวัติ ผู้ต้องหาที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งได้กระทำเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ และร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครอง รวมตลอดถึงการก่นสร้างหรือเผาป่าในที่ดินของรัฐมีเนื้อที่เกิน 50 ไร่ หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นการทำอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดินโดยไม่มีสิทธิครอบครอง หรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อปี 2561 เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานได้เข้าตรวจสอบและตรวจยึดบริเวณสวนเกษตรภูเรือวโนทยาน ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ซึ่งเป็นป่าท้องที่บ้านร่องจิก หมู่ที่ 6 บ้านนาขาป้อม หมูที่ 9 ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย และบ้านหนองสนุ่น หมู่ที่ 7 ตำบลโคกงาม บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 2 ตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย โดยมีบริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ครอบครอง โดยพื้นที่ดังกล่าวเคยมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มาก่อน จำนวน 147 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 6,229 ไร่ จึงได้ทำการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนังกานสอบสวน
ต่อมาปี 2563 ดีเอสไอ มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหากับพวก ตามฐานความผิด และได้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย กระทั่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในที่สุด
สำนักข่าวอิศรา ตั้งข้อสังเกตว่า คดีข้างต้นล้วนแต่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวมาตลอดว่าในการเข้าจับกุมโดยพนักงานสอบสวนกระทำกันอย่างอึกทึกครึกโครม แต่พอถึงขั้นตอนการพิจารณาว่าสั่งไม่ฟ้อง กลับทำกันอย่างเงียบเชียบซึ่งสะท้อนให้เห็นระบบความไม่โปร่งใสไม่สามารถตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและการใช้ดุลพินิจของอัยการสูงสุดได้ ที่สำคัญไม่มีระบบการเปิดเผยเหตุผลในคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องเหล่านั้นต่อสาธารณชน ยิ่งทำให้มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มฉวยโอกาสในการแสวงหาประโยชน์จากคดีที่มีมูลค่าสูงหรือผู้ต้องหาที่มีอิทธิพลทางการเงินได้อย่างง่ายดาย
ส่วน คดีค้ายาบ้า 400,000 เม็ด เป็นคดีที่ยังไม่เคยตกเป็นข่าวอื้อฉาวเหมือนกับคดีข้างต้น แต่มีการทำเรื่องร้องเรียนไปที่ ก.อ.ขณะที่อัยการจังหวัดนนทบุรี ได้ทำหนังสือหารือไปยัง น.ส.นารี ตัณฑเสถียร ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรนั้น โดยคดีดังกล่าวมีอัยการระดับสูงรายหนึ่งนำเอา ‘กากสำนวน’ หรือสำเนาคดีค้ายาบ้า 400,000 เม็ด ที่นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อดีตอัยการสูงสุด เคย ‘ชี้ขาด’ ให้ฟ้องไว้แล้ว มากลับคำสั่งเป็นไม่ฟ้อง ทั้งๆ ที่อัยการจังหวัดนนทบุรี นำคดีนี้ยื่นฟ้องต่อศาลไปแล้ว และปรากฏว่าผู้ต้องหาที่มีบางคนหนีไปต่างประเทศ ได้นำเอา ‘กากสำนวน’ ไปอ้างขอให้อัยการจังหวัดนนทบุรีถอนฟ้อง แต่อัยการจังหวัดนนทบุรีไม่กล้าเลยทำเรื่องหารืออัยการสูงสุดคนปัจจุบัน
บทเรียนการ “ค้ากากสำนวน” ในอดีตเคยมีมาแล้ว สมัยยังเป็นกรมอัยการที่อธิบดีกรมอัยการ ชี้ขาดให้ฟ้องไว้แล้ว ต่อมารองอธิบดีขึ้นมาเป็นอธิบดี แล้วจับเอาคดีมาชี้ขาดไม่ฟ้อง ซึ่งศาลอาญาเคยตัดสินลงโทษจำคุก คดีสุดท้ายดังกล่าวกลายเป็นเรื่องเม้าท์กันกระฉ่อนในสำนักงานอัยการสูงสุด
5 คดีดังที่อัยการสูงสุดคนก่อนหน้าสั่งไม่ฟ้อง มีข้อจริงเท็จอย่างไร อัยการสูงสุดคนปัจจุบันต้องทำให้ความลับดำมืดกระจ่างเพื่อเรียกความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม และทำให้สำนักงานอัยการสูงสุด กลับมาเป็นที่พึ่งพาของผู้คนในสังคมได้อย่างวางใจอีกครั้ง