xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เด็กจบใหม่ปี 66 ดันตัวเลขว่างงานพุ่ง? จับตา “AI” แย่งอาชีพ “มนุษย์”!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดาการสุดสัปดาห์ -  ตลาดแรงงานไทยแม้ภาวะว่างงานพ้นจุดต่ำสุดและเริ่มฟื้นตัว แต่ยังคงต้องกังวลกับสถานการณ์ “เด็กจบใหม่ ปี 2566” ที่ทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงานประมาณ 4 - 5 แสนคน ซึ่งจะเข้ามาสมทบเด็กจบใหม่ปีก่อนๆ ที่ยังหางานไม่ได้ รวมถึงแนวโน้มที่ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ”

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยสถานการณ์การจ้างงาน ไตรมาส 3 ปี 2565 มีการขยายตัวได้ดีขึ้น โดยมีการจ้างงาน 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.1% จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัว 4.3% ส่วนผู้เสมือนว่างว่างงานลดลงเหลือ 1.9 ล้านคน จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 2.2 ล้านคน และผู้ทำงานล่วงเวลาก็มีมากขึ้นที่ 6.8 ล้านคน จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 6.3 ล้านคน ด้านค่าจ้างแรงงาน แม้ปรับตัวดีขึ้น แต่ค่าจ้างที่แท้จริงหดตัวลงเล็กน้อย

ขณะที่ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติไตรมาส 4 ปี 2565 มีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 40.14 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีงานทำ 39.59 ล้านคนผู้ว่างงาน 4.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.2% แม้ว่าภาวะว่างงานจะพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วและเริ่มฟื้นตัว แต่ตัวเลขผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันแม้ว่าแรงงานกลุ่มนี้ไม่ตกงาน แต่ก็มีรายได้ลดลงตามชั่วโมงการทำงาน ที่อาจส่งผลให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพทั้งครัวเรือน โดยในไตรมาส 4 ปี 2565 มีผู้เสมือนว่างงานจำนวน 2.13 ล้านคนซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ซึ่งสะท้อนความเปราะบางของการจ้างงาน

 นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่าเด็กจบใหม่หากจบการศึกษาเฉพาะด้าน เช่น ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ การแพทย์ ฯลฯ ประเภทนี้ยังหางานได้ไม่ยาก แต่จบปริญญาตรีทั่วไปยอมรับว่ายังคงลำบาก โดยจะพบว่าในช่วงต้นปีปกติหลังรับโบนัสจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานสูงแต่ปีนี้มีน้อยมากแสดงให้เห็นว่างานหายากขึ้น

สำหรับแนวโน้มภาพรวมตลาดแรงงานในปี 2566 ของไทย สภาองค์การนายจ้างฯ ประเมินว่าอัตราการจ้างงานใหม่ขยายตัวแบบเปราะบางตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย โดยตลาดแรงงานของไทยเผชิญปัญหาใหญ่ๆ อยู่ 2 ด้าน คือ 1. การขาดแคลนแรงงานไร้ทักษะที่ต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวสูงและมีทักษะ 2. การตกงานของแรงงานที่จบใหม่ที่วุฒิการศึกษาไม่ตรงต่อความต้องการของนายจ้าง

ข้อมูลจาก  JobsDB  แพลตฟอร์มหางานชั้นนำของประเทศไทยภายใต้การบริหารงานของกลุ่ม SEEK สำรวจความคิดเห็นบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กในประเทศไทยจำนวน 429 บริษัท เกี่ยวกับแนวโน้มการจ้างงาน ผลตอบแทน และสวัสดิการ ปี 2565-2566 พบว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 ปรับตัวดีขึ้น ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ สถานการณ์การจ้างงานของผู้ประกอบการเริ่มกลับมาคึกคักเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19

48% ขององค์กรขนาดใหญ่ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 160 คน เริ่มกลับมาจ้างงานแล้ว และบริษัทส่วนใหญ่ยังต้องการจ้างงานพนักงานแบบเต็มเวลามากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19 ที่องค์กรต่างๆ ปรับกลยุทธ์การจ้างงานมาเป็นแบบการจ้างพนักงานชั่วคราวมากขึ้น และมีเพียง 1 ใน 5 บริษัทเท่านั้นที่เลิกจ้างพนักงานอย่างน้อยหนึ่งคนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

ในขณะที่สายงานที่ต้องเผชิญกับการถูกเลิกจ้างในช่วงก่อนหน้านี้ เช่น สายงานบัญชี การบริหารผลิตภัณฑ์ ธุรการและทรัพยากรบุคคล และเทคโนโลยีสารสนเทศ กำลังกลับมาเป็นที่ต้องการอีกครั้ง แถมยังจ้างงานแบบเต็มเวลาด้วย ยกเว้นงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการลูกค้า เป็นสายงานที่ได้รับผลกระทบมากสุดจากเทคโนโลยีการทำงานระยะไกล และวัฒนธรรมการทำงานที่ยืดหยุ่น ยังคงได้รับการว่าจ้างแบบพนักงานชั่วคราว แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย

ข้อมูลจาก  บริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย  ผู้ให้บริการทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร เปิดตัว Salary Guide 2023 โดยเปิดเผยอาชีพที่มาแรงที่สุดในปี 2566 อันดับหนึ่งคือสายงานด้านไอที รองลงมาคือด้านการจัดการซัพพลายเชน (Supply Chain Management) และงานด้านการตลาดและการขาย (SalesMarketing)

เนื่องจากสายงานดังกล่าวเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตตามยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในปัจจุบัน การขนส่งที่เป็นหัวใจสำคัญของอีคอมเมิร์ซ หรือการทำการตลาดที่ต้องเชื่อมระหว่างออฟไลน์และออนไลน์ให้โดดเด่นและมีประสิทธิภาพ เพื่อแข่งขันกับผู้เล่นในตลาดเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย  เปิดเผยรายงานผลสำรวจเงินเดือนทั่วโลกประจำปี 2566 ฉบับที่ 24 ตอนหนึ่งระบุว่าอุปสรรค์ที่ใหญ่ที่สุดในการจัดหาพนักงานของบริษัทกว่า 62% คือ ความคาดหวังในเงินเดือนที่สูงเกินของผู้สมัครงาน ส่วนอุปสรรคอื่นๆ ได้แก่ การขาดประสบการณ์ทำงาน ขาดความสามารถพิเศษ และคุณสมบัติทางเทคโนโลยี เพราะเมื่อมองไปในอนาคต บริษัทต่างๆ จะให้ความสำคัญกับทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยส่งผลต่อตัวเลขว่างงาน

นอกจากนี้ สถานการณ์ที่ต้องจับตา คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ในตลาดแรงงานหรือไม่? เพราะต้องยอมรับว่า AI สามารถเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ได้เกือบทุกอย่าง และอาจจะดีกว่าในบางอย่าง

 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล  เผยแพร่บทความเรื่อง “เทคโนโลยี AI มีผลกระทบต่อการจ้างงานหรือไม่ และแรงงานต้องเตรียมพร้อมปรับตัวอย่างไร” เผยว่าการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ จะสามารถสร้างตำแหน่งงานให้เพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีต กล่าวคือไม่ได้มองว่า AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ หรืออย่างน้อยๆ ก็ยังไม่ใช่ในเร็ววันนี้

ตัวอย่างเช่น งานวิจัยของบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PwC) ที่รายงานว่า ในระหว่างปี ค.ศ. 2017 ถึง ค.ศ. 2037 จะมีงานมากกว่า 7 ล้านตำแหน่งที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี AI แต่อย่างไรก็ตามมันจะนําไปสู่การสร้างงานในรูปแบบใหม่ถึง 7.2 ล้านงานซึ่งเป็นการเพิ่มสุทธิ 200,000 งาน

สาเหตุของการคาดการณ์ว่าตำแหน่งงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นเพราะว่าบริษัทส่วนใหญ่ยังมีความต้องการจ้างงานแบบผสมผสานระหว่างการทำงานโดยคนกับการใช้เทคโนโลยี AI เพราะเทคโนโลยี AI มีจุดแข็งที่มนุษย์ไม่สามารถแข่งขันได้ เช่น ความเร็ว ความแม่นยําในการคํานวณ ฯลฯ ในขณะที่มนุษย์เองก็มีจุดที่เหนือกว่า เช่น ความเห็นอกเห็นใจ การตัดสิน การรับรู้ ฯลฯ ซึ่งถ้าบริษัทได้มีการรวมจุดแข็งของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับมนุษย์แล้วนำมาเสริมกัน

 รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร  คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าอาชีพที่ร่วง คืออาชีพที่สามารถทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยี อาชีพที่มีคุณค่าประโยชน์ด้วยฟังก์ชั่นด้านการใช้สอย เช่น การตรวจความถูกต้อง แม่นยำ อาชีพเหล่านี้ไม่สามารถอยู่รอดได้แน่นอน ขณะที่อาชีพรุ่งต้องมีทักษะความฉลาดในการพัฒนาข้อมูลและรู้เท่าทัน อาชีพที่ AI ไม่สามารถทดแทนได้ เป็นอาชีพที่คนฉลาดเหนือ AI

สุดท้ายนอกจากการเติบโตอย่างเปราะบางของตลาดแรงงาน การเข้ามาของเทคโนโลยี AI พลิกโฉมตลาดแรงงานมนุษย์ ปัญหาแรงงานของไทยที่น่ากังวลคือการเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นแตะ 14% ของประชากรทั้งหมดในปี 2565 สาเหตุเป็นเพราะอัตราการเกิดของคนไทยมีแนวโน้มลดต่ำลงมาอย่างต่อเนื่อง

 และหากยังปล่อยไว้เช่นนี้ไทยจะขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper Aged Society) หรือมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเข้าหา 20% โดยใช้เวลาเพียง 9 ปีหลังการเป็นสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่รวดเร็วกว่าประเทศญี่ปุ่นที่ใช้ระยะเวลา 11 ปี โดยทางสภาองค์การนายจ้างฯ มองว่าสถานการณ์ดังกล่าว จะกระทบต่อตลาดแรงงานของไทยมากยิ่งขึ้น และเป็นโจทย์ที่รัฐบาลไทยต้องเร่งแก้ไขทั้งการพัฒนาเด็กใหม่ให้ตรงสายงาน และปัญหาคนสูงวัยที่จะเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ  


กำลังโหลดความคิดเห็น