xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยี่ห้อ “จุรินทร์” แบกไม่ไหว “พี่มาร์ค-อภิสิทธิ์” ได้ทีคัมแบ็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นหนึ่งตัวละครสำคัญที่ถูกจับจ้องถึงความเป็นไปในการเลือกตั้งปี 2566 สำหรับ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเก่าแก่ที่สุดในสารบบเมืองไทย ที่ในการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อนถือว่า ตกต่ำที่สุดครึ่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ หวิดสิ้นชื่อ “พรรคแมลงสาบ”

โดยได้ ส.ส.มาเพียง 52 ที่นั่ง ต่ำกว่าเป้าหมายก่อนเลือกตั้งบานตะไท พื้นที่ภาคใต้ทำเลหากินถูกเจาะจนพรุน หรือเมืองหลวงที่เคยครองแชมป์ก็ถึงขั้นสูญพันธุ์ เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงภายในพรรค และเป็น “เฮียอู๊ด” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ขึ้นกุมบังเหียนเป็นหัวหน้าพรรคมาจนถึงปัจจุบัน

ทว่า เกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ได้ดูแลกระทรวงหลัก ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพัฒนาสังคมเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ ก็ดูเหมือนว่า “ค่ายสะตอ” จะยังหากทางกลับฝั่งไม่เจอ คะแนนนิยมยังไม่กระเตื้องขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น

คะเนด้วยสายตาแล้ว ต้องบอกว่า เพราะตลอด 4 ปีมานี้ แทบจะไม่มีปัจจัยบวกให้กับพรรคประชาธิปัตย์เลย ตั้งแต่การเข้าร่วมรัฐบาลกับ “ขุนทหาร” ผลงานของกระทรวงที่ดูแลจับต้องไม่ได้ ยังมีเรื่องไม่ชอบมาพากลพาลให้มองว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน ไหนเรื่องฉาวส่วนตัวของอดีตผู้บริหารพรรค เป็นอาทิ

จากผลการสำรวจ “โพลการเมือง” คะแนนนิยมของพรรค และแคนดิเดตนายกฯ ของหลายสำนักชี้ตรงกันว่า พรรคประชาธิปัตย์ที่อดีตเคยเป็น “มวยหลัก” ทางการเมืองไทย กลายเป็น “ตัวประกอบ” ไปอย่างเต็มตัวแล้ว แทบไม่มีโพลไหนที่ “ค่ายสะตอ” จะติดทอป 5 ในฝ่ายพรรคการเมือง ขณะที่ตัวผู้นำอย่าง “จุรินทร์” ก็มักจะอยู่ท้ายปลายแถวเสมอๆ โดยมีคะแนนนิยมเพียงแค่หลักหน่วย

ที่พอดูได้หน่อยน่าจะเป็นโพลที่สำรวจ “รายภูมิภาค” ของนิด้าโพล ที่ในการสำรวจในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2565 ตัวพรรคประชาธิปัตย์จะยืนหนึ่งในแง่ความนิยมในพื้นที่ภาคใต้ ด้วย 27.49% ของ ส.ส.แบ่งเขต และ 27.64% ของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มาเป็นอันดับ 1 ทิ้งห่างพรรคเพื่อไทยที่มาอันดับ 2 อยู่ราวไม่ถึง 10% ดี ถือเป็นอัตราส่วนที่สะท้อนว่า “ค่ายสะตอ” ไม่ได้ทรงอิทธิพลแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในพื้นที่ด้ามขวานอีกต่อไป

ถัดมาเดือนกุมภาพันธ์ 2566 “นิด้าโพล” ก็ได้เจาะสำรวจเฉพาะพื้นที่ “เมืองคอน” จ.นครศรีธรรมราช ก็ปรากฎว่า พรรคประชาธิปัตย์ ยังมาเป็นอันดับ 1 ทั้งในหมวด ส.ส.แบ่งเขตที่ 22.29% มี พรรคเพื่อไทย ได้อันดับ 2 ด้วย 21.68% ตามด้วย พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ 21.22%

ขณะที่หัวข้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ปรากฎว่า พรรคเพื่อไทย แซงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ด้วย 22.44% ส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เป็นที่ 2 ได้ 21.68% และพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ 20.69%

ซึ่งในทางสถิติแล้ว ความห่างในระดับไม่ถึง 5% ถือว่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ หรือแปลว่า คะแนนนิยมของทั้ง 3 พรรคการเมืองเท่ากันในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช นั้นเอง

 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หนักไปกว่านั้นคงเป็นในส่วนของตัวบุคคล ซึ่งนิด้าโพลสำรวจทั้งภาคใต้เมื่อปลายปีกลาย ไม่น่าเชื่อว่า “จุรินทร์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน อยู่ในสภาพ “โคม่า” อย่างเห็นได้ชัด เมื่อได้รับเลือกให้เป็นนายกฯของคนใต้ อันดับ 6 ด้วย 5.95% ตามหลังทั้งอันดับ 2 “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่ได้ 13.24% และอันดับ 4 “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ได้ 11.24% ทั้งที่รู้กันดีว่า พื้นที่ภาคใต้เป็น “ของแสลง” ของทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล โดยมี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ขณะนั้นยังไม่ประกาศตัวเข้าพรรคการเมือง มาเป็นอันดับ 1 ที่ 23.94%

ขณะที่ผลการสำรวจใน จ.นครศรีธรรมราช เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปรากฏว่า ยังเป็น “บิ๊กตู่” ที่มาอันดับ 1 ด้วย 29.08% ตามมาด้วย “หลานอิ๊ง” ที่ 21.07% ที่ 3 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ ที่ 10.53% ที่ 4 เป็น “ทิม-พิธา” ที่ 8.93% ส่วน “จุรินทร์” มาที่ 5 ได้ 7.33%

แม้เป็นการสำรวจหน่วยตัวอย่างส่วนน้อยเพียงหลักพันคนต้นๆ แต่ก็ถือเป็นตัวบ่งชี้ได้พอสมควรว่า “จุรินทร์” ไม่ใช่ “คนที่ใช่” ของ “ค่ายสะตอ” ในการชูธงนำทัพเข้าสู่การเลือกตั้ง ไม่เพียงแต่คะแนนนิยมส่วนตัวที่ “ขุนไม่ขึ้น” แล้ว ยังประเมินได้ว่า ฉุดให้แต้มพรรคตกต่ำลงไปด้วย ถึงขั้นแพ้ให้กับอริต่างถิ่นอย่างพรรคเพื่อไทยเลยทีเดียว

แล้วยังมีปัจจัยสำคัญคือ ตัว “นายกฯ ประยุทธ์” ที่ยังถือเป็นขวัญใจชาวใต้ นำพาพรรครวมไทยสร้างชาติมาชิงการนำในพื้นที่ปักษ์ใต้ แถมเล่นเกม “ตกปลาในบ่อเพื่อน” คว้า “ตัวดี” ของพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมงานหลายคนด้วย

ทั้งหลายทั้งปวงคงเป็นเหตุให้พรรคประชาธิปัตย์ โดย “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ตั้ง “เป้าต่ำ” ขอได้ ส.ส.แค่เท่าเดิม หรือราว 52+ ที่นั่ง ในการเลือกตั้งครั้งหน้าเท่านั้น ทั้งที่จำนวน “ครึ่งร้อย” ที่ได้มานั้นถือเป็นยุคตกต่ำของ “ค่ายสีฟ้า” แท้ๆ

  แคมเปญ “เช้าวันใหม่” ที่มี “นายชวน หลีกภัย” เป็นผู้นำทัพ
จนอาจจะพูดได้ว่า “จุรินทร์” กลายเป็นจุดอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์อย่างแท้จริง จนถึงขั้นมีข่าวหนาหูว่า กรรมการบริหารพรรคบางส่วนล่าชื่อลาออกเพื่อหาทางปลด “จุรินทร์” และเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค แต่ก็ “วงแตก” เสียก่อน และท้ายที่สุดก็ต้องจำใจให้ “หัวหน้าอู๊ด” ถือธงนำเข้าสู่สนามเลือกตั้ง

ไม่ต้องอะไรมาก ล่าสุด พรรคประชาธิปัตย์ปล่อยแคมเปญมิวสิกวิดีโอเพลง ชื่อ “เช้าวันใหม่” ขับร้องโดย เมธี อรุณ หรือเมธี ลาบานูน ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นราธิวาส ของพรรค ปรากฎว่ารูปที่ใช้โปรโมทกลับเป็นรูป ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และแกนนำพรรค กำลังถือไม้กลอง คู่กับกลองสะบัดชัย แทนที่จะเป็น “จุรินทร์” ที่เป็นผู้นำพรรค

ด้วยสภาพการณ์ที่ว่าไป เกจิบางสำนักยังประเมินว่า งวดนี้ “ค่ายสะตอ” น่าจะหืดจับยิ่งเสียกว่าเลือกตั้งปี 2562 ถึงขั้นที่ว่า “เป้าต่ำ” ที่วางไว้ก็อาจจะไปไม่ถึงด้วยซ้ำ

คำถามจึงมีว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะเอาตัวรอดไม่ให้สิ้นชื่อ “แมลงสาบ” ในการเลือกตั้งหนนี้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการจุดพลุ “เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์” เพื่อต่อสู้กับ “ระบอบทักษิณ” หรือแม้แต่ “สายสีส้ม”

เพราะต้องยอมรับว่า “ค่ายสะตอ” ที่เคยยืนหนึ่งในแง่ “อนุรักษ์นิยม” มาวันนี้เสียการนำไปให้กับ “นายกฯ ตู่” ที่กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้กับขั้วตรงข้ามไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และก็เป็นที่รู้กันว่าคะแนนนิยมของ “บิ๊กตู่” ล้วนแล้วมาจาก “ฝ่ายขวา” ที่เดิมเคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อยู่นั่นเอง

จุดเปลี่ยนสำคัญคงมาจากการที่ “จารย์มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 ประกาศชัดเจนว่า “ไม่เอาบิ๊กตู่” ที่แม้จะเป็นการประกาศจุดยืนในแง่อุดมการณ์ที่ชัดเจน แต่ก็เป็นผลให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องตกต่ำจากผลการเลือกตั้ง

ต่อเนื่องไปถึงการตัดสินใจละทิ้งอุดมการณ์ และเข้าร่วมรัฐบาล โดยถีบส่ง “อภิสิทธิ์” ที่ลาออกจาก ส.ส.ในวันที่เลือก “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ เพื่อเข้าร่วมรัฐบาล

จากความอ่อนแอของหัวหน้าพรรค และความไม่ชัดเจนในจุดยืนของพรรค จึงมีเสียงเรียกร้องภายในว่า ควรที่จะดึง “อภิสิทธิ์” ที่แม้ลาออกจาก ส.ส.ตั้งแต่ต้นเทอม แต่ก็ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่กลับมาช่วยในการหาเสียงเลือกตั้ง

ด้วยต้องยอมรับว่า แม้ “อภิสิทธิ์” จะมีคนชังอยู่มาก แต่ก็มีคนรักที่เป็นแฟนคลับอยู่ไม่น้อยเช่นกัน และเชื่อได้ว่าเยอะกว่า “จุรินทร์” แน่ๆ

ซึ่งก็เป็นจังหวะพอดิบพอดีกับที่ พรรคประชาธิปัตย์ เริ่มกระบวนการคัดสรรตัวผู้สมัคร ส.ส.ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขต เพื่อเตรียมการสำหรับการลงสมัครเลือกตั้งที่คาดว่าน่าจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

โดย “จุรินทร์” เองก็เพิ่งออกมาให้ข่าวว่า จะมีการออกเทียบเชิญ 3 อดีตหัวหน้าพรรค ได้แก่ “ชวน หลีกภัย-บัญญัติ บรรทัดฐาน” และ “อภิสิทธิ์” มาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค

เอาเข้าจริงถือเป็นเรื่องปกติของ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องทำตามธรรมเนียมปฏิบัติในการให้เกียรติ “ผู้อาวุโส” ของพรรคนั่นเอง หากรอบนี้แต่มีชื่อ “อภิสิทธิ์” อยู่ด้วย จึงกลายเป็นประเด็นน่าสนใจขึ้นมา

เพราะก่อนหน้านี้มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาตลอดว่า “บิ๊ก ปชป.บางคน” พยายามกีดกันไม่ให้ “จารย์มาร์ค” กลับเข้ามามีส่วนร่วมในพรรค ถึงขั้นว่า อาจจะไม่เว้นที่ให้ “อภิสิทธิ์” ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อตามธรรมเนียมในฐานะอดีตหัวหน้าพรรคด้วยซ้ำ

ด้วยมีการประเมินว่า เลือกตั้งรอบนี้ที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์ที่ถือเป็น “เซฟโซน” ของพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ที่ไม่เกิน 10 ที่นั่งเท่านั้น เอาแค่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปัจจุบันที่มีอยู่ 20 คน รวมไปถึงแกนนำพรรคที่ต่อคิวอยู่ก็ยัดไม่ลงแล้ว

แต่ประเด็นเรื่องที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นเพียงแค่เรื่องเล็ก เพราะเอาเข้าจริง เหตุที่พยายามกีดกันไม่เปิดพื้นที่ให้ “อภิสิทธิ์” กลับมาโลดแล่นทางการเมือง จนเข้าตัวต้องใช้ “กำลังภายใน” เดินสายบรรยาย และให้สัมภาษณ์ออกสื่อด้วยตัวเอง ก็เพราะมี “บางคน” หวาดระแวงว่า หากเปิดประตูเวลคัม “อภิสิทธิ์” กลับมามีบทบาทในพรรค อาจกลายเป็นรันเวย์ให้ “อภิสิทธิ์” หาทางกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ใน “ค่ายสะตอ” อีกคำรบ

ต้องไม่ลืมว่า หลังเลือกตั้งปี 2566 ก็เป็นช่วงใกล้เคียงกับการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคครบ 4 ปีของ “จุรินทร์” พอดิบพอดี ซึ่งต้องมีการเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ รวมไปถึงตัวหัวหน้าพรรคด้วย หากถึงวันนั้นแล้วมีเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง

โดยมีหลักหมุดสำคัญก็คือผลการเลือกตั้งนั่นเอง

จากสภาพการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ “จุรินทร์” ดูจะมีโอกาสน้อยที่จะทำที่นั่ง ส.ส.ได้เท่าเดิมตามที่ “เลขาฯ ต่อ”ประกาศไว้ หากพลาดเป้าแน่นอนว่า “เฉลิมชัย” คงต้องรับผิดชอบด้วงยการลาออก หรือเลิกเล่นการเมืองตามคำมั่นของตัวเอง

และ “จุรินทร์” ก็คงไม่พ้นที่ต้องแสดงความรับผิดชอบไปด้วย แม้จะไม่ได้พูดถึงขั้นเลิกเล่นการเมืองก็ตาม

สถานเบาสุดก็คือต้องลาออกเพื่อให้สมาชิกพรรคเลือกหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ใครจะอยู่จะไป ใครจะใหญ่จะโต ก็อยู่ที่ผลการเลือกตั้งอีกเช่นกันว่า ใครทำผลงานมาได้เท่าไร

น่าจะเป็นจังหวะเหมาะเจาะหาก “อภิสิทธิ์” จะรีเทิร์นสู่ถนนสายการเมืองเต็มตัว เพราะเป็นแค่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ คงไม่เพียงพอสำหรับเบอร์ “อดีตนายกฯ มาร์ค”

ช่วงปลายปีกลาย “อภิสิทธิ์” เคยปรากฎตัวไปร่วมรับประทานอาหารวงเดียวกับ “เสี่ยตี๋” สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ครั้งนั้นก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงนัยทางการเมืองพอสมควร ก่อนที่คนในวงจะออกมาปฏิเสธว่าเป็นการนัดหมายกันตามประสาคนรู้จักกันเท่านั้น

โดยวันนั้น “อภิสิทธิ์” ยืนยันหนักแน่นว่า “เส้นทางทางการเมืองของผมไม่ได้สนใจกติกา แต่รอดูทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า ซึ่งขณะนี้พรรคก็ยังไม่ได้พูดคุยอะไร ยังไม่ตัดสินใจอะไร และยังอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะยังเป็นสมาชิกพรรค”

เป็นการส่งสัญญาณว่า “อภิสิทธิ์” กับ “ค่ายสะตอ”เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกกันไม่ขาด

และเชื่อว่า “สาธิต” เองก็เป็นหนึ่งในคีย์แมนของ “ทีมเพื่อนมาร์ค” เพราะไม่กี่วันก่อนหน้าในการปราศรัยที่ จ.ระยอง เพื่อประกาศจุดยืนอยู่ร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภาคตะวันออกในนาม “ทีมตี๋” ที่ตัวเองดูแล ก็มีจังหวะพูดถึง “อภิสิทธิ์” ด้วยว่า “จะพยายามที่จะทำอย่างไรก็ได้ ที่จะให้ท่าน (อภิสิทธ์) กลับมาช่วยในนามผู้บริหาร…มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้นำพรรคจะต้องไปพูดคุยกับท่านอภิสิทธิ์ให้กลับมาช่วยพรรคประชาธิปัตย์หาเสียง”

ไม่เพียงเท่านั้น “สาธิต” คนเดียวกันยังได้หล่นความเห็นเรื่องแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ว่า "ควรจะมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อตามระเบียบของ กกต. แต่ต้องยอมรับว่าด้วยการเป็นสถาบันทางการเมือง หัวหน้าพรรคควรจะเป็นอันดับ 1 แต่ผมก็คิดว่าอีก 2 ที่ ควรไม่ปล่อยให้ว่างต้องทำให้เกิดประโยชน์”

ปัญหามีว่า ก็เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่ง “สาธิต” ร่วมประชุมด้วยนั้น ก็เพิ่งมีมติเสนอชื่อ “จุรินทร์” หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียวไปแล้ว

เมื่อ “สาธิต” ที่เป็นรองหัวหน้าพรรคออกมาโพล่งเช่นนี้ พร้อมๆ กับการเชียร์ให้ “อภิสิทธิ์” กลับมาช่วยพรรค หากใครเป็น “จุรินทร์” ก็คงฟังแล้วไม่รื่นหูเท่าไร

ดังนั้นการดึง “อภิสิทธิ์” กลับมา ก็น่าจะทำให้ “จุรินทร์” กลืนไม่เข้า คายไม่ออก พอสมควร เพราะย่อมรู้ดีว่าสะเทือนถึงเก้าอี้หัวหน้าพรรคในอนาคต รวมถึงยังไม่ใช่แค่ทาบรัศมี และรัศมี “อดีตนายกฯ” จะมาบดบังตัว “จุรินทร์” เองด้วย

กลับกันหากไม่ดึง “อภิสิทธิ์” กลับมา ก็แทบไม่มีตัวช่วยในการนำพรรคให้ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งได้

ก็น่าจับตาว่า “หัวหน้าอู๊ด” จะให้ซีน “พี่มาร์ค” ในการเลือกตั้ง 2566 ขนาดไหน?.


กำลังโหลดความคิดเห็น