"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
อนาคตทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามีความไม่แน่นอนสูง โอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งตามความปรารถนายากลำบากราวกับการเข็นครกขึ้นภูเขา หาได้ราบเรียบโรยด้วยกลีบกุหลาบดังเมื่อปี 2562 อีกต่อไป เพราะบริบทสังคมการเมืองไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก และพลังอำนาจที่หนุนหลังก็อ่อนตัวลง อย่างไรก็ตาม ภายใต้เงื่อนไขพิเศษที่เหนือปกติบางประการ พลเอกประยุทธ์ อาจสามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งก็ได้ แต่ก่อนจะพิจารณาว่าเงื่อนไขพิเศษที่ว่าคืออะไร ผมอธิบายบริบททางสังคมการเมืองบางประการที่มีผลกระทบต่อพลเอกประยุทธ์เป็นเบื้องแรก
บริบทแรกคือความนิยมของประชาชนต่อพลเอกประยุทธ์ ปรากฏว่าในภาพรวมประชาชนนิยมพลเอกประยุทธ์น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ในเดือนกันยายนปี 2564 ประชาชนนิยมร้อยละ 17.54 ต่อมาในเดือนธันวาคมปี 2565ลดลงเหลือร้อยละ 14.05 เมื่อพิจารณาช่วงอายุ ปรากฏว่า อายุมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความนิยมพลเอกประยุทธ์ กล่าวคือ กลุ่มสูงอายุมีแนวโน้มนิยมพลเอกประยุทธ์มากกว่ากลุ่มอายุน้อยซึ่งนิยมพลเอกประยุทธ์ต่ำมากไม่ถึงร้อยละ 5
แบบแผนนี้มีเสถียรภาพค่อนข้างมาก ตลอดระยะเวลาปีเศษก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบคะแนนนิยมในปี 2564 และ 2565 ปรากฏว่าเกือบทุกกลุ่มอายุนิยมพลเอกประยุทธ์ลดลง แม้แต่กลุ่มอายุ 60 ปี ขึ้นไปที่นิยมพลเอกประยุทธ์มากที่สุด ก็ยังนิยมพลเอกประยุทธ์น้อยลงเช่นเดียวกัน โดยทั่วไปผู้สูงวัยมีอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยม การที่กลุ่มผู้สูงวัยนิยมพลเอกประยุทธ์น้อยลงก็ความหมายว่าแม้แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมเองก็ดูเหมือนเบื่อหน่ายพลเอกประยุทธ์ไม่น้อยทีเดียว
บริบทของอาชีพ ในปี 2564 กลุ่มอาชีพที่นิยมพลเอกประยุทธ์มากที่สุดคือ กลุ่มพ่อบ้าน แม่บ้าน และผู้เกษียณอายุ ประมาณหนึ่งในสี่ของคนกลุ่มนี้นิยมพลเอกประยุทธ์ ถัดมาเป็นกลุ่มเกษตรกร ซึ่งประมาณหนึ่งในห้านิยมพลเอกประยุทธ์ ส่วนกลุ่มอายุที่นิยมพลเอกประยุทธ์พอ ๆ กัน คือกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มข้าราชการ ซึ่งประมาณหนึ่งในหกนิยมพลเอกประยุทธ์ ส่วนกลุ่มที่นิยมพลเอกประยุทธ์ต่ำมากคือกลุ่มพนักงานเอกชน ซึ่งมีเพียงประมาณหนึ่งในสิบเท่านั้นที่นิยมพลเอกประยุทธ์ ส่วนกลุ่มที่ไม่นิยมพลเอกประยุทธ์เลยคือกลุ่มนักศึกษา ต่อมาในปี 2565 เกือบทุกกลุ่มอาชีพนิยมพลเอกประยุทธ์น้อยลง กลุ่มที่นิยมพลเอกประยุทธ์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือมากกว่าร้อยละ 5 ขึ้นไปคือ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และพนักงานเอกชน ส่วนกลุ่มที่นิยมพลเอกประยุทธ์ลดลงเล็กน้อยคือ กลุ่มเกษียณอายุและกลุ่มเกษตรกร แต่มีข้อสังเกตบางประการคือ กลุ่มนักธุรกิจและอาชีพอิสระนิยมพลเอกประยุทธ์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าจะไม่มีนัยสำคัญก็ตาม
ด้านบริบทการศึกษามีแบบแผนที่น่าสนใจคือ มีรูปแบบคล้ายระฆังหงาย นั่นคือกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำนิยมพลเอกประยุทธ์มากที่สุด แต่ความนิยมของพลเอกประยุทธ์ลดลงอย่างต่อเนื่องตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้น จนถึงจุดต่ำสุดในกลุ่มที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี แต่กลับพลิกสูงขึ้นในกลุ่มที่มีการศึกษาที่สูงกว่าปริญญาตรี กล่าวอีกนัยคือ กลุ่มที่มีการศึกษาต่ำ (จบประถม) และสูง (จบปริญญาโท)นิยมพลเอกประยุทธ์มากกว่ากลุ่มที่มีการศึกษาในระดับปานกลาง (จบมัยม อนุปริญญา และปริญญาตรี)
หากนำเรื่องการศึกษากับอาชีพมาพิจารณาร่วมกันก็จะทำให้เข้าใจมากขึ้น กล่าวคือกลุ่มคนที่จบประถมศึกษาเกือบทั้งหมดจะเป็นกลุ่มเกษตรกร ซึ่งกลุ่มเกษตรกรนิยมพลเอกประยุทธ์ค่อนข้างมาก ส่วนกลุ่มที่มีการศึกษาระดับปริญโทขึ้นไปส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มข้าราชการและข้าราชการเกษียณ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมกลุ่มที่มีการศึกษาระดับปริญญาโทจะมีสัดส่วนในการนิยมพลเอกประยุทธ์ค่อนข้างสูง แบบแผนของการศึกษากับความนิยมของพลเอกประยุทธ์เหมือนกันทั้งในปี 2564 และ 2565 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือความนิยมของพลเอกประยุทธ์ลดลงเกือบทุกระดับการศึกษา ยกเว้นกลุ่มที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
เมื่อประชาชนในหลายช่วงอายุ หลายอาชีพ และหลายระดับการศึกษานิยมพลเอกประยุทธ์ลดลง ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) คะแนนนิยมในภาพรวมทั้งประเทศของพลเอกประยุทธ์ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 14 หากพลเอกประยุทธ์สามารถรักษาความนิยมของตนเองจนถึงวันเลือกตั้ง และสามารถทำให้ผู้นิยมตนเองทั้งหมดไปเลือกพรรค รทสช. จะทำให้ รทสช. ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อประมาณ 14 คน และหากพิจารณาโอกาสที่พรรค รทสช.จะได้รับเลือกตั้งในระดับเขต ตามศักยภาพของพรรคนี้ ณ ปัจจุบัน คาดว่าอาจจะได้ ส.ส.เขตประมาณ 10-16 ที่นั่ง โดยในภาคใต้อาจจะได้ประมาณ 5-8 ที่นั่ง กรุงเทพ ภาคกลาง และภาคตะวันออกรวมกันจะได้ประมาณ 5-8 ที่นั่งเช่นกัน ส่วนภาคอิสานและภาคเหนือ โอกาสที่ รทสช. ได้รับชัยชนะในระดับเขตมีต่ำมาก รวมแล้ว รทสช. จะมี ส.ส. ประมาณ 24-32 ที่นั่ง หาก รทสช. ได้ไม่ถึง 25 ที่นั่ง พลเอกประยุทธ์ก็หมดโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี และต้องปิดฉากชีวิตการเมืองของตนเองลงไป ส่วนในกรณีที่ รทสช.ได้มากกว่า 25 ที่นั่ง ก็ยังไม่มีความชอบธรรมเพียงพอที่จะเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกก็ตาม เพราะจำนวน ส.ส. น้อยกว่าพรรคการเมืองอื่น ๆ อีกหลายพรรค
ยิ่งกว่านั้นในสถานการณ์ปัจจุบัน วุฒิสมาชิกแตกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ กับกลุ่มที่สนับสนุนพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำให้พลังอำนาจที่เกื้อหนุนพลเอกประยุทธ์อ่อนตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพลเอกประวิตรได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแข่งกับพลเอกประยุทธ์ เมื่อวุฒิสมาชิกขาดความเป็นเอกภาพ ย่อมทำให้โอกาสที่พลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งริบหรี่ลง
เงื่อนไขที่ทำให้พลเอกประยุทธ์อาจกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง แต่เป็นไปได้ยากมากถึงยากที่สุดคือ พรรค รทสช. ต้องจำนวน ส.ส.มากกว่าพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ หรืออย่างน้อยต้องมี ส.ส. 60 คนขึ้นไป อีกทั้งต้องได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาอย่างน้อย 200 เสียงขึ้นไปด้วย ยิ่งกว่านั้น ถึงแม้ว่าพลเอกประยุทธ์จะได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะพิจารณาจากคะแนนนิยมในปัจจุบัน มีความเป็นไปได้สูงยิ่งที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะชนะเลือกตั้งและมี ส.ส.ถึง 300 คน ภายใต้เงื่อนไขนี้ ถึงแม้ว่าพลเอกประยุทธ์สมารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่รัฐบาลก็บริหารประเทศไม่ได้ และอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือนก็ล่มสลาย
ภายใต้โอกาสที่เลือนรางเช่นนี้ พลันมีการปล่อยข่าวลือออกมาว่า จะมีการยุบพรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งของพลเอกประยุทธ์ อันได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคพลังประชารัฐ ข่าวลือนี้เกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แก้ไขระเบียบในการยุบพรรคการเมืองใหม่ โดยจะพิจารณาตัดสินยุบพรรคให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว หรือที่เรียกกันว่า “การยุบพรรคแบบติดเทอร์โบ” หากพรรคการเมืองทั้งสามถูกยุบจริงโดยเฉพาะถูกยุบในช่วงที่มีการสมัคร ส.ส. แล้ว ก็หมายความว่า ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคทั้งสามจะหมดสิทธิในฐานะเป็นผู้สมัคร ส.ส.
นัยของข่าวลือประการหนึ่งคือ อาจมีกลุ่มอำนาจการเมืองบางกลุ่มพยามยามสร้างเงื่อนไขใช้กลอุบาย และกำลังดีดลูกคิดในรางแก้ว คิดเชิงเพ้อฝันว่า เมื่อสามารถจำกัดพรรคคู่แข่งออกไปได้ จะทำให้พรรคฝ่ายตนเองชนะการเลือกตั้ง และบุคคลที่ตนเองชอบหรือควบคุมได้จะมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี โดยลืมนึกถึงความจริงที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ซึ่งความต้องการนี้สะท้อนออกมาในการสำรวจคะแนนนิยมต่อพรรคการเมือง ที่ประชาชนประมาณร้อยละ 65-70 ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลถูกยุบ ประชาชนที่ตัดสินใจเลือกพรรคทั้งสองก็ย่อมไม่พอใจ และคิดว่าผู้มีอำนาจรัฐกลั่นแกล้ง พวกเขาบางส่วนอาจออกมาชุมนุมประท้วง แต่เกือบทั้งหมดจะใช้บัตรเลือกตั้งในการสั่งสอนผู้มีอำนาจรัฐ ด้วยการเลือกพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ยังเหลืออยู่ โดยเฉพาะพรรคเสรีรวมไทย และพรรคสร้างอนาคตไทย ซึ่งทำให้พรรคการเมืองทั้งสองมี ส.ส.เป็นจำนวนมาก และอาจมากกว่าครึ่งในสภาผู้แทนราษฎร
กลยุทธ์ทำลายคู่แข่งทางการเมืองด้วยการยุบพรรคไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะการยุบพรรคเป็นเพียงการยุบองค์การหรือเครื่องมือทางการเมือง แม้ยุบพรรคได้ แต่ไม่สามารถ “ยุบความคิด” ของประชาชนได้ เมื่อเครื่องทางการเมืองถูกทำลาย ประชาชนก็สามารถสร้างพรรคใหม่ขึ้นมาทดแทนได้ ความจริงนี้ หากไม่โง่เขลาจนเกินไป อาจจะคิดและรู้ได้ เพียงแต่ปัญหาคือ ชนชั้นนำไม่ยอมรับความจริง และพยายามดิ้นรนฝืนความจริงจนถึงที่สุด
หากกลไกการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเดินไปตามครรลองปกติ พลเอกประยุทธ์ไม่มีโอกาสจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเลย แต่หากกลไกระบอบประชาธิปไตยถูกอำนาจรัฐหรือำนาจนอกระบบแทรกแซง และตามมาการยุบพรรคการเมืองคู่แข่งระหว่างการเลือกตั้ง แม้ทำให้พลเอกประยุทธ์มีโอกาสเพิ่มขึ้นในการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังไม่ใช่หลักประกันที่แน่นอน เพราะจะผู้นำการเมืองใหม่ที่เป็นคู่แข่งปรากฏตัวขึ้นมา ถึงกระนั้น หากการเมืองไทยตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กลไกระบอบประชาธิปไตยถูกทำลายด้วยเงินตราจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อเสียงประชาชน และซื้อตัว ส.ส. หรือด้วยการปืนและรถถังทำการรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์ก็อาจจะมีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง
กล่าวโดยสรุป ภายใต้สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันและภายใต้เงื่อนไขของ “ความเป็นปกติของระบอบประชาธิปไตย” พลเอกประยุทธ์จะไม่มีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน แต่หากเกิดความผันผวนจนทำให้เกิดภาวะ “ความไม่ปกติของระบอบประชาธิปไตย” พลเอกประยุทธ์ก็อาจมีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง