xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดหลักฐาน! ความจริง “กัญชา” ไม่เคยเสรี / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในที่สุดร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ. จะไม่สามารถเสร็จสิ้นในรัฐสภาชุดปัจจุบัน และพิจารณาเสร็จสิ้นไปถึงมาตรา 15/3 จาก 95 มาตรา ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 และเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของสภาชุดดังกล่าวนี้ ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภาในโอกาสต่อไป

สำหรับผู้เขียนได้ทำหน้าที่คณะกรรมาธิการฯ และโฆษกของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ……อย่างเต็มที่แล้ว เพราะไม่เคยขาดประชุมเลยแม้แต่ครั้งเดียว และได้พยายามสู้รบในสงครามอคติทางข่าวสารของฝ่ายที่ต่อต้านกัญชาอย่างเกินจริง

แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่ว่า นักการเมืองที่อ้างว่าห่วงการใช้กัญชาในประเทศไทยกลับใช้วิธีการเตะถ่วงการตรากฎหมาย พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ…เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์และควบคุมการใช้อย่างเป็นระบบ และต้องการสถานการณ์ที่ไม่มีกฎมายเพื่อโจมตีทางการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

และหลังจากนี้ประชาชนจะต้องรู้เท่าทันวาทกรรมในเรื่องกัญชาที่นักการเมืองทั้งหลายพยายามบิดเบือนเพื่อให้ประชาชนหลงประเด็น ก็จะยังคงมีต่อไปดังนี้

วาทกรรมแรก เราสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ร้อยเปอร์เซ็นต์

วาทกรรมที่สอง ขอต่อต้านกัญชาเสรีที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

ทั้ง 2 วาทกรรมข้างต้นล้วนแล้วแต่มีวาระซ่อนเร้น เพราะนักการเมืองกลุ่มเดียวกันนี้ ได้เตะถ่วงร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ...จนสำเร็จ คือไม่มีกฎหมาย กัญชา กัญชง ระดับพระราชบัญญัติเพื่อทำให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริง 5 ประการที่ว่า

ประการแรก กัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่[1]-[2]

ประการที่สอง กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ในหลายมิติ เป็นที่ยอมรับโดยแพทยสภา[1],[3],[4] สภาการแพทย์แผนไทย[1],[5]-[8] หมอพื้นบ้าน[1],[6] และรวมถึงภูมิปัญญาการใช้กัญชาในครัวเรือนเพื่อเป็นยาสำหรับพึ่งพาตนเอง[1],[9]

ประการที่สาม กัญชาช่วยส่งเสริมสุขภาพและลดหรือเลิกการใช้ยาแผนปัจจุบันในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก[10] สอดคล้องกับการใช้กัญชาแม้แต่ในทางนันทนาการในสหรัฐอเมริกาลดความเสี่ยงได้หลายโรคที่ปรากฏมาแล้วในต่างประเทศ[11],[12] ซึ่งรวมถึงงานวิจัยที่พบว่าผู้ที่ใช้กัญชาลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ[13]-[14] ลดการใช้ยาแก้ปวด ลดการใช้ยานอนหลับ ลดการใช้ยาแก้วิตกกังวล ลดการใช้ยาแก้โรคลมชัก ลดการใช้ยาแก้โรคจิต[11],[12]

ประการที่สี่ ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดที่ใช้กัญชาทางการแพทย์คือผู้ที่ใช้กัญชาใต้ดิน[1],[10] เพราะเข้าไม่ถึงกัญชาทางการแพทย์

โดยร้อยละ 83 ของผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ใช้ในข้อบ่งใช้มากกว่าที่แพทย์สั่งจ่าย(ซึ่งแปลว่าแพทย์จะไม่จ่ายให้กลุ่มคนเหล่านี้) แต่ผลการศึกษาในประเทศไทยกลับพบว่าผู้ที่ใช้กัญชามีสุขภาพที่ดีขึ้นถึงดีขึ้นมากหลังการใช้กัญชาถึงร้อยละ93[1],[10] แต่ผู้ที่ใช้กัญชาเหล่านี้แต่ต้องมีความเสี่ยงรอบด้านและไม่ได้รับการคุ้มครองทั้งในด้านกฎหมาย การปนเปื้อนสารพิษ การปลอมปนคุณภาพ และการปนเปื้อนสารสังเคราะห์กัญชา[1]

ประการที่ห้า ในต่างประเทศกัญชามีบทบาทในฐานะเป็นสมุนไพรที่ช่วยลดปัญหายาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction) โดยเฉพาะ ยาบ้า ยาไอซ์ กลุ่มยาฝิ่น เหล้าและบุหรี่ โดยปรากฏในงานวิจัยทั้งในแคนนาดา[15],[16] สหรัฐอเมริกา[17] และเนเธอร์แลนด์[18]-[19]

ในขณะที่ประเทศไทยมีกรณีศึกษาเกิดขึ้นแล้วที่มีผู้เลิกจากการติดยาบ้า (ซึ่งก่อปัญหาความรุนแรงต่อสังคม)ด้วยการสูบกัญชาและสามารถเลิกกัญชาต่อมาได้โดยง่าย[20] นอกจากนั้นยังมีข้อน่าสังเกตว่านับตั้งแต่มีการใช้กัญชาทางการแพทย์(ทั้งใต้ดินและบนดิน)นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ปรากฏว่า 3 ปีผ่านไป ในปีงบประมาณ 2565 ยอดผู้ที่ติดยาบ้าที่ต้องได้รับการบำบัดลดลงไปถึงร้อยละ 51.34[21]

และเมื่อชั่งน้ำหนักดังที่กล่าวข้างต้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จึงได้มีมติให้ปลดล็อกกัญชาทั้งต้นออกจากเป็นยาเสพติด โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมาเพื่อให้ประชาชนและผู้ป่วยสามารถเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้โดยการพึ่งพาตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงการถูกดำเนินคดีในฐานะเป็นอาชญากรครอบครองหรือผลิตยาเสพติด และลดความเสี่ยงอันตรายจากกัญชาใต้ดินที่ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพ

การที่นักการเมืองบางจำพวกอ้างว่ากัญชาเป็นยาเสพติดแต่ก็ยังใช้ในทางการแพทย์ได้จึงเป็นวาทกรรมที่อยู่บนหอคอยงาข้าง ใช้คำพูดสวยหรูให้ดูเท่ แต่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในประเทศไทยเลย

เพราะในความเป็นจริงผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์กลับได้รับ “กัญชาทางการแพทย์”ในระบบสาธารณสุขรวมกันไม่เกินร้อยละ 5 เท่านั้น ซึ่งแปลว่าคนไทยใช้กัญชาใต้ดินจำนวนมากและใช้มานานหลายปีแล้วด้วย[10]

แต่ถึงแม้ว่าจะปลดล็อกให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติด และประชาชนสามารถปลูกได้เพื่อการพึ่งพาตัวเอง เข้าถึงกัญชาได้มากขึ้นโดยไม่ผิดกฎหมายก็ยังไม่ได้ทำให้กัญชาเสรีอยู่ดี

เพราะความจริงแล้ว “กัญชายังไม่เคยเสรี” จนถึงปัจจุบัน มีกฎหมายหลายฉบับควบคุมอยู่ และไม่ได้มาจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังมีกระทรวงอื่นๆที่ทยอยออกประกาศตามมาก่อนหน้านี้ ซึ่งมีบทลงโทษด้วย

โดยในปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมกัญชา กัญชง ที่สำคัญ 12 ฉบับดังต่อไปนี้

กฎหมายฉบับแรก คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565

ซึ่งสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายยาเสพติดกำหนดให้ ส่วนกัญชาทั้งต้นไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป

แต่เฉพาะ “สารสกัด” จากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงยังคงเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ยกเว้น “สารสกัด” กัญชา กัญชง ที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol,THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 ของน้ำหนักไม่ถึงเป็นยาเสพติดเป็นยาเสพติด แต่การสกัดนั้นจะต้องมาจากการปลูกกัญชา กัญชงภายในประเทศเท่านั้น [22]

ถ้าผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งสารสกัดกัญชาที่มี THC เกินร้อยละ 0.2 ของน้ำหนักโดยไม่ได้รับอนุญาต (ทางการแพทย์และทางวิทยาศาตร์) ต้องระวางโทษตามมาตรา 148 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด 2564 คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 5 แสนบาท[23]

แต่ถ้าผู้ใดกระทำความผิดอื่นร่วมด้วย ได้แก่ กระทำเพื่อการค้า แพร่กระจายในกลุ่มประชาชน จำหน่ายให้กับบุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี จำหน่ายในบริเวณสถานศึกษา ศาสนสถาน หรือสถานที่ราชการ หรือ หรือกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำโดยใช้มีอาวุธหรือใช้อาวุธ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท ถึง 1.5 ล้านบาท[23]

ดังนั้นตัวอย่างตามที่ปรากฏเป็นข่าว เช่น ผู้ใดขาย “สารสกัดกัญชาที่มี THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 ของน้ำหนัก” แล้วกัญชาใส่ในอาหารให้เด็ก เยาวชน หรือแม้แต่จำหน่ายให้ผู้ใหญ่โดยไม่เคยได้รับอนุญาต ก็ต้องมีโทษอาญาตามประมวลกฎหมายยาเสพติดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท ถึง 1.5 ล้านบาทเช่นกัน[23]

กฎหมายฉบับที่สอง คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม(กัญชา)พ.ศ. 2565 ฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565

สาระของกฎหมายฉบับนี้คือให้ “ช่อดอกกัญชา” เป็นสมุนไพรควบคุม ดังนั้นใครจะศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปช่อดอกกัญชาเพื่อการค้า ต้องขออนุญาตต่อกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกก่อนเท่านั้น

โดยผู้ที่จะได้รับอนุญาตในการศึกษา วิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปช่อดอกกัญชาเพื่อการค้า จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขหลายประกาศตามประกาศฉบับดังกล่าวนี้ ซึ่งรวมถึง การห้ามจำหน่ายช่อดอกให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร

ห้ามจำหน่ายเพื่อสูบในสถานประกอบการ (ยกเว้นการสูบเพื่อการแพทย์โดยแพทย์ทุกสาขาตามใบประกอบวิชาชีพ), ห้ามโฆษณาช่อดอกกัญชา, ห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชาผ่านเครื่องข่ายอัตโนมัติ, ห้ามจำหน่ายในวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา, หอพัก, สวนสาธารณะ และสวนสนุก[24]

และคำว่า “จำหน่าย” ตามคำนิยามในกฎหมายฉบับนี้ให้รวมถึง การขาย การจ่ายการแจก แลกเปลี่ยน ดังนั้นการนำช่อดอกให้ผู้อื่น (แม้ไม่ใช่เพื่อการค้า) ก็ต้องขออนุญาตภายใต้หลักเกณฑ์นี้ทั้งสิ้น

ผู้ใดศึกษา วิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปช่อดอกกัญชาเพื่อการค้า โดยไม่ขออนุญาตย่อมมีบทลงโทษตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ต้องละวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ[25]

กฎหมายฉบับที่สาม คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อประเภทชนิดหรือลักษณะของผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. 2565 ภายใต้พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562

โดยกำหนดให้ “ห้ามนำเข้า” ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เป็นพืชกัญชา กัญชง ยกเว้นหน่วยงานของรัฐเพื่อการบำบัดโรค หรือเพื่อศึกษาวิจัย[26]

ผู้ใดนำเข้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เป็นพืชกัญชา กัญชง โดยไม่ได้รับอนุญาตต้องระวางโทษตามมาตรา 91 แห่งผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[27]

กฎหมายฉบับที่สี่ คือ ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง พ.ศ. 2565

กำหนดให้การนำเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง จะทำได้จะต้องได้รับการอนุญาตนำเข้าซึ่งออกโดยกรมวิชาการเกษตร และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ด้วย[28]

ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมีบทลงโทษตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[29]

กฎหมายฉบับที่ห้า คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565[30] โดยอาศัยพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535[31]

โดยกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น เป็นเหตุรำคาญ[30]

ผู้ใดฝ่าฝืนให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งห้าม หากผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องระวางโทษตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ. 2535 คือ จําคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ[31]

กฎหมายฉบับที่หก คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424) พ.ศ. 2564 ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้ห้ามใส่ช่อดอกกัญชาหรือกัญชง รวมถึงสารสกัดที่มี THC เกินกว่าร้อยละ 2 ของน้ำหนักในอาหาร[32]

อย่างไรก็ตามแม้จะไม่ใช่ช่อดอกหรือไม่ใช่สารสกัดที่มี THC น้อยกว่าร้อยละ 2 ของน้ำหนักในอาหาร (เช่น ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น เมล็ดกัญชง) ก็ต้องติดป้ายแสดงสัดส่วนและคำเตือนผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตรไม่ควรรับประทาน[32]

ผู้ใดฝ่าฝืนประกาศฉบับนี้ต้องระวางโทษตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติอาหารพ.ศ. 2522 จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท[33]

กฎหมายฉบับที่เจ็ด ถึง ฉบับที่สิบ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับ“ผลิตภัณฑ์อาหาร” ออกความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 คือ 4 ฉบับที่425, ฉบับที่ 427 พ.ศ. 2564, และ ฉบับที่ 438, ฉบับที่ 439 พ.ศ. 2565

กล่าวโดยสรุปคือ “ผลิตภัณฑ์ภัณฑ์อาหาร”ที่มีกัญชา กัญชง สารแคนนาบิไดออล(CBD) น้ำมัน เมล็ด หรือโปรตีนจากกัญชา กัญชง เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องมีคุณภาพ หรือมาตรฐานและต้องมีปริมาณสาร THC และ CBD ไม่เกินที่กำหนด[34]-[37]

ซึ่งหมายความว่าทุกผลิตภัณฑ์อาหารจะต้องผ่านความเห็นชอบจากองค์การอาหารและยา (อ.ย.) เพื่อให้เป็นหลักประกันว่ามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ผู้ใดฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องผลิตภัณฑ์อาหารต้องระวางโทษตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท[33]


กฎหมายฉบับที่สิบเอ็ด ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหาร ประภทปรุงสำเร็จในสถานที่จำหน่าย(ฉบับที่ 2)[38] พ.ศ. 2565 อาศัยอำนาจของกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561[39] โดยมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535[31]

ซึ่งกำหนดให้ติดป้ายแสดงว่าเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารที่มีกัญชา กัญชง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จ แสดงในเมนูอาหารที่มีกัญชา กัญชงเป็นส่วนประกอบ และแสดงข้อความความปลอดภัยในอาหาร ได้แก่ บุคคลที่อายุต่ำกว่า 20ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตรควรงดเว้นการรับประทาน, ถ้ามีอาการผิดปกติควรหยุดรับประทานทันที และถ้ามีอาการรุนแรงให้ปรึกษาแพทย์หรือพบแพทย์โดยเร็ว, ผู้ที่แพ้กัญชา หรือกัญชงควรงดเว้นการรับประทาน, รับประทานแล้วง่วงซึม ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล[39]

ผู้ใดฝ่าฝืนย่อมมีบทลงโทษตามมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุขพ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท[31]

กฎหมายฉบับที่สิบสอง ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษาส่วนราชการหรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2565[40] โดยอาศัยอำนาจในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546[41]


“กำหนดห้ามใช้และห้ามจำหน่ายกัญชา กัญชา กัญชงในสถานศึกษา”[40]

นอกจากนั้นการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชา กัญชง ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ นั้นจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายนั้นๆ อยู่แล้ว โดยหากเป็นผลิตภัณฑ์อาหารก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์ว่าด้วยสมุนไพร และถ้าเป็นยารักษาโรคก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยยาอยู่แล้ว

ตัวอย่างกฎหมายทั้ง 12 ฉบับนี้ แสดงให้เห็นว่าแม้ยังไม่มีพระราชบัญญัติ กัญชากัญชง พ.ศ…แต่ประเทศไทยก็ไม่ได้ไร้ขื่อแป เพราะในความจริงกัญชาไม่เคยเสรีแม้แต่วันเดียว คงเหลือแต่เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจะต้องบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น


อย่างไรก็ตามถึงแม้ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ… ซึ่งมีการจัดระบบกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา กัญชงอยู่ในฉบับเดียว ทั้งมิติการใช้ประโยชน์ การทำธุรกิจ การควบคุม และบทลงโทษที่รุนแรงกว่าสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า สภาผู้แทนราษฎรเล่นการเมืองถ่วงเวลาจนกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ พิจารณาไม่แล้วเสร็จแน่นอนแล้ว

ถึงแม้จะหมดหวังไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สิ้นหวัง

เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 147 วรรคสองบัญญัติเอาไว้ว่า

“บรรดาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบที่ตกไปตามวรรคหนึ่ง ถ้าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี พิจารณาต่อไป ถ้ารัฐสภาเห็นชอบด้วยก็ให้รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี พิจารณาต่อไปได้ แต่คณะรัฐมนตรีต้องร้องขอภายใน หกสิบวันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป”[42]

หมายความว่า ถ้า พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….พิจารณาไม่แล้วเสร็จในสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ จะต้องรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการเลือกตั้งที่ร้องขอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบก็ให้พิจารณาต่อไปได้ โดยจะต้องร้องขอภายใน 60 วัน นับแต่วันที่เรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไป

เมื่อยังมีโอกาสอยู่ที่ที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จึงย่อมขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงว่า พรรคการเมืองที่สนับสนุน พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….ได้รับการเลือกตั้งเท่าไหร่ หากพรรคการเมืองที่ต่อต้าน พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…มีจำนวนมากกว่าย่อมมีโอกาสที่กัญชาอาจจะกลับไปเป็นยาเสพติดได้อีก ซึ่งหมายความว่าผู้ปลูกและผู้ป่วยที่ใช้กัญชา กัญชง (ที่แพทย์ไม่ได้จ่าย) ทั้งหมดจะกลายเป็นอาชญากรต้องถูกจับกุมและถูกลงโทษในการ ผลิตหรือครอบครองยาเสพติด

แต่ถ้าพรรคการเมืองที่สนับสนุน พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….ได้รับการเลือกตั้งจำนวนมาก และมีอำนาจต่อรองมากพอในรัฐบาลชุดใหม่ พ.ร.บ. กัญชา กัญชงพ.ศ…ย่อมมีโอกาสที่ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. จะได้รับการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรต่อไปได้

ดังนั้นแม้ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…..จะใกล้หมดหวังด้วยเพราะไม่สามารถพิจารณาแล้วเสร็จในวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ แต่ยังไม่สิ้นหวังด้วยเพราะยังมีโอกาสจากการตื่นรู้ของประชาชน ที่จะต้องมาเลือกสิทธิของประชาชนและอนาคตกัญชา กัญชง ในการเลือกตั้งที่กำลังมากถึงนี้

เพราะการตัดสินใจด้วยการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้นที่จะกำหนดอนาคตกัญชาได้

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
ในฐานะโฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจกระทรวงสาธารณสุข
23 กุมภาพันธ์ 2566

อ้างอิง
[1] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, 5 ประเด็นถาม-ตอบ จากปัจจุบันสู่อนาคตกัญชาไทย, ผู้จัดการออนไลน์, 17 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 17:49 น.
https://mgronline.com/daily/detail/9660000015499

[2] Catalina Lopez-Quintero, et al, Probability and predictors of transition from first use to dependence on nicotine, alcohol, cannabis, and cocaine: Results of the National Epidemiologic Survey on Alcohol and Related Conditions (NESARC),Drug and Alcohol dependence, Volume 115, Issues 1-2, May 2011, Pages 120-130
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3069146/

[3] คณะอนุกรรมการพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์แพทยสภา, คำแนะนำสำหรับแพทย์ การใช้กัญชาทางการแพทย์, ฉบับที่ 1, ตุลาคม2562
https://tmc.or.th/pdf/fact/guideline_cannabis_101062.pdf

[4] Tom P Freeman, Medicinal use of cannabis based products and cannabinoids, BMJ 2019; Published 04 April 2019), doi: https://doi.org/10.1136/bmj.l1141
https://www.bmj.com/content/365/bmj.l1141

[5] กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, ชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฉบับอนุรักษ์ ตำรับยาแผนไทยของชาติที่เข้าต้วยากัญชา, 2564, 454 หน้า, ISBN 978-616-11-4755-6
https://www.dtam.moph.go.th/E-Book/ptmk/ptmk-ganja/index.html

[6] จักราวุธ เผือกคง, กัญชาทางการแพทย์แผนไทย
http://164.115.41.179/tm/sites/default/files/6.%20หลักการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย.pdf

[7] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาการแพทย์แผนไทย เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานและกรรมวิธกีารแพทย์แผนไทยผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ตามพระราชบัญญัตวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556, วันที่ 15 กรกฎาคม 2563, เล่ม 137 ตอนพิเศษ 162 ง, หน้า 27, ท้ายประกาศหน้า 12 และ 19 จาก 42 หน้า
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/162/T_0027.PDF

[8] ธเนศพล พันธ์เพ็ง, สุกก์สลิล บูรณะทรัพย์ขจร, สุวีรวรรณ ลิ้มสุวรรณ, การปรุงยาสมุนไพร ตามกรรมวิธีทางการแพทย์แผนไทย 28 วิธี, สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2564-กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 2564, 268 หน้า ISBN: 978-616-8201-17-6, (กรรมวิธีที่ 23 ยาประสมแล้วมวนบุหรี่สูบเอาควัน เช่น บุหรี่ โดย อรอุษา ธรรมเสริมสร้าง, หน้า 163-169

[9] พระยาทิพจักษุสาตร์ (สุ่น สุนทรเวช), แพทย์ประจำบ้าน, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2458 หน้า 172

[10] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคณะ. การศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สอง. ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก). 2565

[11] Ziemowit BednarekI, et al., U.S. cannabis laws projected to cost generic and brand pharmaceutical firms billions, plos one, Published: August 31, 2022
https://journals.plos.org/plosone/article/file?id=10.1371/journal.pone.0272492&type=printable

[12] Shyam Raman, Ashley C. Bradford, Health Economics, Recreational cannabis legalizations associated with reductions in prescription drug utilization among Medicaid enrollees First published: 15 April 2022 https://doi.org/10.1002/hec.4519
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/hec.4519

[13] Rajavashisth TB, Shaheen M, Norris KC, Pan D, Sinha SK, Ortega J, Friedman TC. Decreased prevalence of diabetes in marijuana users: cross-sectional data from the National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES) III. BMJ Open. 2012 Feb 24;2:e000494. doi: 10.1136/bmjopen-2011-000494.

[14] Huang J, Huang D, Ruan X, Huang J, Xu D, Heavey S, Olivier J, Na R. Association between cannabis use with urological cancers: A population-based cohort study and a Mendelian randomization study in the UK biobank. Cancer Med. 2022 Aug 17. doi: 10.1002/cam4.5132. PMID: 35975633.

[15] Janice Mok, et al, Use of Cannabis for Harm Reduction Among People at High Risk for Overdose in Vancouver, Canada (2016–2018), American Journal of Public Health (AJPH) May 2021,
https://ajph.aphapublications.org/doi/abs/10.2105/AJPH.2021.306168?journalCode=ajph

[16] Janice Mok, et al., Use of Cannabis as a Harm Reduction Strategy Among People Who Use Drugs: A Cohort Study, Cannabis and Cannabinoid Research, Published Online 31 May 2022
https://doi.org/10.1089/can.2021.0229
https://www.liebertpub.com/doi/10.1089/can.2021.0229

[17] Jack K. Reed, Impacts of Marijuana Legalization in Colorado, A Report Pursuant to C.R.S. 24-33.4-516, July 2021
https://cdpsdocs.state.co.us/ors/docs/reports/2021-SB13-283_Rpt.pdf

[18] ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, เปรียบเทียบสถานะสารเสพติด (กัญชา) ที่ต่างกันสุดขั้วในเนเธอร์แลนด์และสิงคโปร์…….แล้วไทยควรเลือกทางไหน?, เว็บไซต์ศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด, 30 กรกฎาคม 2564 : 9:32:15 น.
https://cads.in.th/cads/content?id=295

[19] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, กัญชา” กับ “เนเธอร์แลนด์โมเดล” ลดปัญหาอาชญากรรม “เรือนจำร้าง”จนต้องนำเข้านักโทษจากต่างประเทศ!?, ผู้จัดการออนไลน์, เผยแพร่: 1 ก.ค. 2565 17:15 ปรับปรุง: 1 ก.ค. 2565 17:15 น.
https://mgronline.com/daily/detail/9650000062568

[20] ผู้จัดการออนไลน์, เปิดอก “ไก่ ขอนแก่น” หนุ่มวัย ๓๓ ปีเลิกยาบ้าได้เด็ดขาดเพราะกัญชา, Todayline, 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565, เวลา 14.06 น.
https://today.line.me/th/v2/article/mW30nJW

[21] ฐานข้อมูลการบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศของกระทรวงสาธารณสุข, 27 ธันวาคม 2565

[22] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ พ.ศ. ๒๕๖๕, วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๓๕ง, หน้า ๘
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/139D035S0000000000800.pdf

[23] ราชกิจจานุเบกษา, ประมวลกฎหมายยาเสพติด, วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนที่ ๗๓ ก หน้า ๖๘
https://www.moj.go.th/attachments/20211215135357_76320.PDF

[24] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม(กัญชา)พ.ศ. ๒๕๖๕, ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ๒๗๒ ง, หน้า ๓-๔
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/139D272S0000000000300.pdf

[25] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒, ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒, เล่มที่ ๑๑๖ ตอนที่ ๑๒๐ ก, หน้า ๖๘
https://www.dtam.moph.go.th/index.php/th/services/laws/enactment/6151-enactment-17

[26] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชื่อประเภทชนิดหรือลักษณะของผลิตภัณฑส์มุนไพรที่ห้ามนำเข้า พ.ศ. ๒๕๖๕, วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑๒๙ ง, หน้า ๒๑
https://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/2022/06/T65_0021.pdf

[27] ราชกิจจานุเบกษา,พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒, วันที่ ๓๐เมษายน ๒๕๖๒, เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๕๖ ก, หน้า ๑๕๗
https://www.dtam.moph.go.th/index.php/th/services/laws/enactment/6152-enactment-18.html

[28] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง พ.ศ. ๒๕๖๕, ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๕๖ ง, หน้า๙-๑๑
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/139D256S0000000000900.pdf

[29] สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗
http://chmthai.onep.go.th/doc/policy/law/PRB2507_02.pdf

[30] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. ๒๕๖๕
https://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/2022/06/Law_T0002_150665.pdf

[31] สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A136/%A136-20-9999-update.pdf

[32] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๔) พ.ศ. ๒๕๖๔ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้า หรือจำหน่าย, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๔๕ ง, หน้า ๓๒, บัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข หน้า ๓ - ๔
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/17159157.pdf

[33] สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒, หน้า๑๓
http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER9/DRAWER022/GENERAL/DATA0004/00004468.PDF

[34] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๕) พ.ศ. ๒๕๖๔ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒, เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง, ๔ มีนาคม ๒๕๖๔, เล่ม๑๓๘ ตอนพิเศษ ๔๙ ง, หน้า ๑-๗
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P425.PDF

[35] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๗) พ.ศ. ๒๕๖๕ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒, เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง (ฉบับที่ ๒) , ๒๑ ตุลาคม๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๒๕๑ ง, หน้า ๒๙-๓๐
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P437.PDF

[36] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๒๗) พ.ศ. ๒๕๖๔
ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒, เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชา หรือ กัญชง, ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ๑๖๘ ง, หน้า ๓๑
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P427.PDF

[37] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๔๓๘) พ.ศ. ๒๕๖๕
ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชา หรือ กัญชง (ฉบับที่ ๒), ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ตอนพิเศษ ๒๕๑ ง, หน้า ๓๑
https://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P438.PDF

[38] ราชกิจจานุเบกษา, ประการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหาร ประเภทปรุงสำเร็จในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๕, ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๕, เล่ม๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑๙๘ ง, หน้า ๖ - ๗
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/139D198S0000000000600.pdf

[39] ราชกิจจานุเบกษา, กฎกระทรวง สุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. ๒๕๖๑, วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๑, เล่ม ๑๓๕ ตอนที่ ๔๒ ก, หน้า ๑๙-๒๕
https://drive.google.com/file/d/1qcuAyQQ3SLHS9ZR5GXL5bsNC9SzufD2h/view

[40] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษาส่วนราชการหรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ, ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ๑๕๖ ง, หน้า ๒๐-๒๑
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/139D156S0000000002000.pdf

[41] สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖
https://www.moe.go.th/backend/wp-content/uploads/2020/10/พรบ.-ศธ.-2546-ฉบับอัพเดท.pdf

[42] ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐, ลงวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๔๐ ก, หน้า ๔๓
https://cdc.parliament.go.th/draftconstitution2/ewt_dl_link.php?nid=1038&filename=index


กำลังโหลดความคิดเห็น