ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - บาดแผลทางใจในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น การถูกบูลลี่ (Bully) หรือกลั่นแกล้งในโรงเรียน เป็นสถานการณ์ปัญหารุนแรงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังพบด้วยว่า อัตรการป่วยโรคซึมเศร้าในเด็กรุ่นใหม่ก่อตัวเพิ่มตัวขึ้นอย่างน่ากังวลและมีนัยสำคัญ
การบูลลี่ในโรงเรียนเห็นได้ชัดหลังการกลับมาเปิดเรียนปกติของโรงเรียนต่างๆ เริ่มต้นปี 2566 เดือนมกราคม เกิดกรณีนักเรียนหญิง ม.2 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.บุรีรัมย์ ถูกเพื่อนร่วมชั้นเรียนบูลลี่เรื่องพ่อแม่แยกทางกัน และเคยถูกล่วงละเมิดทำอนาจารในโรงเรียน สุดท้ายตัดสินใจกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย
ถัดมาในเดือนกุมภาพันธ์เกิดกรณีนักเรียนชาย ม.3 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สงขลา ตกตึกชั้น 4 ในโรงเรียน บาดเจ็บสาหัส โดยแม่เชื่อว่าสาเหตุมาจากลูกชายถูกกลั่นแกล้ง ถูกพื่อนบูลลี่มาตลอด ซึ่งก่อนเกิดเหตุไม่นานลูกชายถูกเพื่อนรุมทำร้ายลูกชายจนร้องไห้ แม้ครูในโรงเรียนทราบเรื่องแต่เรื่องกลับเงียบ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับผลการวิจัยของเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง “บูลลี่ กลั่นแกล้ง ความรุนแรง ในสถานศึกษา” ในกลุ่มเด็ก อายุ10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน พบว่า 91.79 % เคยถูกบูลลี่ โดย 3 พฤติกรรมติดอันดับการบูลลี่มากที่สุดคือ การตบหัว 62.7%, การล้อพ่อแม่ 43.57% และการพูดจาเหยียดหยาม 41.78%
ในส่วนผลกระทบของผู้ถูกกระทำ 42.86 % คิดจะโต้ตอบเอาคืน, 26.33 % มีความเครียด, 18.2 % ไม่มีสมาธิกับการเรียน, 15.73 % ไม่อยากไปโรงเรียน, 15.6 % เก็บตัว และ 13.4 % ซึมเศร้า
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แบ่งการกลั่นแกล้งเป็น 4 ประเภท 1. ทางร่างกาย เช่น ชกต่อย การผลัก การตบตี ทางสังคมหรือด้านอารมณ์2. ทางสังคม หรือ ด้านอารมณ์ เช่น กดดัน ยั่วยุ แบ่งแยก 3. ทางวาจา เช่น ดูถูก นินทา เยาะเย้ย เสียดสี โกหกบิดเบือน และ 4. ทางไซเบอร์ (Cyberbullying) การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หลอกลวง โพสต์ข้อความโจมตี คุกคามทางเพศ
ประการสำคัญผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งอาจได้รับผลกระทบตามมา โดยเฉพาะเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนอาจจะมีภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล ซึ่งอาจส่งผลไปถึงวัยผู้ใหญ่ได้ เช่น ผลกระทบด้านการนอนหลับ การรับประทานอาหาร ปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาด้านความรู้สึก ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งอาจมีความรู้สึกโดดเดี่ยว สูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่เคยรู้สึกสนุก มีแนวโน้มที่จะออกจากโรงเรียนกลางคัน และประสิทธิภาพทางการเรียนลดลง
ขณะที่ผู้ที่เป็นฝ่ายกลั่นแกล้งผู้อื่นอาจได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่น เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เสพติดแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอื่นๆ มีพฤติกรรมลักขโมยและเรียนไม่จบ มีพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร รวมถึงมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงกับคู่สมรสหรือลูก คนใกล้ตัว และอาจจะเป็นอาชญากรในอนาคตได้
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นโฆษก กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่าสถานการณ์บูลลี่ในโรงเรียนเป็นข่าวครึกโครมต่อเนื่อง หากพบว่าเด็กนักเรียน บุตรหลานเริ่มมีความผิดปกติทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เบื้องต้นสามารถสังเกต 3 สัญญาณว่าเด็กกำลังกลายเป็นเหยื่อของการบูลลี่คือ 1.ร่องรอยการโดนบูลลี่ การรังแกทางร่างกาย สามารถสังเกตรอยแผลที่เกิดจากการขีดข่วน มีเลือดออกติดตามเสื้อผ้า มีการปิดบังอวัยวะบางอย่างในจุดที่ถูกทำร้าย หรือสภาพทางด้านจิตใจเด็กที่ถูกบูลลี่ จะไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเล่าเรื่องเพื่อนให้กับผู้ปกครองฟั 2 .สัญญาณของการโดนบูลลี่ผ่านทางโซเชียลฯ พบว่าเหยื่อไม่อยากเล่นมือถือ ไม่อยากมอง หรือเกิดความหวาดกลัวขณะที่พบว่ามือถือมีสัญญาณเตือน หรือมีเสียงเรียกเข้า และ 3. สัญญาณที่บ่งบอกเสี่ยงเป็นซึมเศร้าและกำลังจะฆ่าตัวตาย พบว่ามักจะมีการสั่งเสีย เช่นการเขียนจดหมายลา การฝากให้ช่วยดูแลของรักของตัวเอง การตัดพ้อว่าตัวเองไม่มีอนาคต ก่อนจะถึงจุดที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายนั้น แต่ในบางรายอาจมีการทำร้ายตัวเองก่อน
มีงานวิจัยและเก็บข้อมูลพบว่าหลายครั้งการถูกบูลลี่ถูกเพิกเฉยจากคนรอบข้าง แม้ว่าเหยื่อจะเคยแจ้ง หรือบอกไปแล้วว่ากำลังตกอยู่ในสถานะการถูกบูลลี่ อีกทั้งเหยื่อยังกลัวว่าเมื่อไปแล้วจะถูกซ้ำเติม เช่น ถูกมองว่าอ่อนแอเกินไป ซึ่งงานวิจัยได้ระบุว่าเหยื่อบางคนท้อแท้ที่จะเล่าพฤติกรรมของผู้กระทำให้แก่คนอื่นฟัง
พ.ญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ แพทย์เชี่ยวชาญจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต เจ้าของงานวิจัยคู่มือปฏิบัติสำหรับการดำเนินการป้องกันและจัดการการรังแกกันในโรงเรียน เปิดเผยถึงแรงจูงใจที่นำไปสู่การกลั่นแกล้งในโรงเรียน ระบุว่าในแต่ละเคสจะมีแรงจูงใจไม่เหมือนกัน ในกลุ่มเด็กโต มีทั้งการที่ผู้กระทำเป็นผู้ป่วยจิตเวช เช่น สมาธิสั้น, เป็นโรคทางอารมณ์รุนแรง, มีพฤติกรรมไม่สามารถควบคุมหรือยับยั้งอารมณ์ตัวเองได้, มีปัญหาบุคลิกภาพ เช่น ต้องการเป็นหัวโจก เพื่อให้เพื่อนๆ เคารพตัวเอง รวมทั้ง ยังมีกลุ่มที่เกิดแรงจูงใจในการกลั่นแกล้งเพื่อน เพราะปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เช่น ตัวเองถูกกระทำที่บ้านจึงอยากมาระบายออกกับเพื่อนที่โรงเรียน
ขณะที่แรงจูงใจในกลุ่มเด็กเล็ก มักเกิดจากความไม่รู้ว่า สิ่งที่ได้กระทำลงไปนั้นเป็นการรังแกเพื่อน เพราะคิดว่าเป็นเพียงการหยอกล้อเล่นกับเพื่อนเพื่อความสนุกคึกคะนองมากกว่า แต่อย่างไรก็ดีผู้ปกครองหรือครูอาจารย์ต้องไม่ปล่อยผ่านอย่างเด็ดขาด ต้องรีบทำความเข้าใจกับเด็กว่าพฤติกรรมเช่นนี้เป็นสิ่งไม่ดีและกำลังทำร้ายความรู้สึกของเพื่อน มิเช่นนั้น เด็กจะเกิดการเรียนรู้ว่าทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้
สถานการณ์การกลั่นแกล้งในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องเล่นๆ การบูลลี่เป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องหาทางออกร่วมกัน ตั้งแต่เชิงนโยบายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกระทรวงศึกษาธิการ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ครูอาจารย์ในสถานศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครอง และการปลูกฝังสร้างทัศนคติที่ดีจากตัวเด็กเอง
ประเด็นบูลลี่ในโรงเรียนทางเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน แนะว่าสังคมไทยต้องให้ความสำคัญ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เร่งปลูกฝังเรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย การให้เกียรติกัน ทั้งในระดับครอบครัวและในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการก็ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาบูลลี่ กลั่นแกล้ง ควรกำหนดให้สถานศึกษามีช่องทางให้เด็กๆ สามารถบอกเล่าปัญหา เพื่อขอความช่วยเหลืออย่างเป็นมิตรและปิดลับ
ทั้งนี้ หากสถานศึกษาไม่สามารถรับมือกับปัญหาและสุ่มเสี่ยงที่ปัญหาจะใหญ่ขึ้น ต้องใช้กลไกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เพื่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือแก้ไข ซึ่งตรงนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีกลไกพนักงานเจ้าหน้าที่อยู่ทั่วประเทศ ต้องเร่งออกแบบกระบวนการช่วยเหลือให้เป็นระบบ โดยอาจดึงองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรด้านเด็กเข้ามามีส่วนร่วม
ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังไม่ได้ตระหนักเรื่องของสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นเท่าที่ควร อ้างอิงข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เผยผลประเมินสุขภาพจิตคนไทย 721,155 คน ปี 2564 พบว่าเด็กและวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เสี่ยงฆ่าตัวตายและซึมเศร้ามากที่สุด
นอกจากนี้ ผลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทย พบว่า 28% ของเด็กและวัยรุ่นมีภาวะเครียดสูง, 32 % มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า และ 22 % มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย โดยเป็นการเก็บข้อมูลจากเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวน 183,974 คน ที่เข้ารับการประเมินสุขภาพจิตตนเองผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิตในช่วง 18 เดือนของการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ถึง 30 ก.ย. 2564
เด็กและวัยรุ่นไทยกำลังเผชิญภาวะเปราะบางทางอารมณ์ และที่น่าตกใจสถานการณ์ปัญหาภาวะซึมเศร้าในปัจจุบันพบได้ตั้งแต่เด็กประถมที่เป็นโรคซึมเศร้าจำนวนหนึ่งให้ข้อมูลว่า เขามีอาการและมีความคิดฆ่าตัวตายตั้งแต่เขาอยู่ประถมศึกษา
สำหรับโรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดจากความเครียดของปัญหารอบด้าน รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพและกรรมพันธุ์ ประเทศไทยผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ากว่า 1.5 ล้านคน ซึ่งโรคซึมเศร้าเป็นเหมือนเพชฌฆาตเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยจำนวนกว่า 4,000 รายต่อปี และเกิดการพยายามฆ่าตัวตายจำนวนกว่า 53,000 รายต่อปี
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหากไม่ได้รับการคัดกรองที่เหมาะสม จะก่อปัญหาสุขภาพในระยะยาวเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ระบบการเข้าถึงบริการทางจิตเวชในประเทศไทยยังมีข้อจำกัด จำนวนบุคลากรทางสุขภาพจิตที่ยังไม่เพียงพอต่อผู้เข้ารับบริการ อีกทั้ง ยังมีทัศนคติด้านลบต่อโรคทางจิตเวชทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา
รายงาน การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฉบับประเทศไทย โดยยูนิเซฟ กรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์
การฆ่าตัวตาย คือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย โดยการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 (2021 Global School-based Student Health Survey) พบว่า ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13 - 17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย
“เด็กและวัยรุ่นหลายล้านคนในประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต ทั้งโรคเครียด โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากปัจจัยมากมาย เช่น ความรุนแรง การถูกกลั่นแกล้ง ความโดดเดี่ยว ความไม่แน่นอน” นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว
และปัญหาทางจิตใจมักถูกบดบังเอาไว้ เนื่องจากการเข้าไม่ถึงข้อมูล การคัดกรอง การสนับสนุน ตลอดจนบริการด้านสุขภาพจิตที่เหมาะสม ปัญหาสุขภาพจิตอาจก่อผลกระทบรุนแรงในระยะยาวต่อสุขภาพ การเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน รวมทั้งเป็นการจำกัดความสามารถของพวกเขาในการพัฒนาตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ
แม้ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะในเชิงนโยบายและกฎหมาย รวมทั้งบริการบำบัดรักษา แต่ก็ยังมีช่องว่างที่สำคัญ เช่น การขาดงบประมาณ การขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจำนวนจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่ยังมีไม่เพียงพอในแต่ละหน่วยงาน
องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย หนุนให้รัฐบาลไทยสร้างระบบสนับสนุนทางจิตใจที่ครบวงจรเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อป้องกันความสูญเสียของประเทศทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดวิสัยทัศน์และแผนงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายของเด็กและวัยรุ่นที่รุนแรงขึ้นเรื่อย นอกจากนั้น ต้องเร่งจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานทั้งในด้านการศึกษา สวัสดิการสังคม และกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างหลักประกันให้เด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้มีสุขภาพจิตที่ดี และได้รับการสนับสนุน การดูแล และบริการที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการในเวลาที่เหมาะสมและทันท่วงที
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีจิตแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 325 คน ส่วนบุคลากรด้านสุขภาพจิตสาขาอื่นๆ เช่น พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีถึง 2,838 คน ถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียด้วยกัน ตลอดจนมีการเร่งฝึกอบรมเพิ่มขึ้นในแต่ละปีสำหรับแพทย์ทั่วไปในประเทศ และได้รับการฝึกอบรมด้านจิตเวชด้วยจำนวนชั่วโมงที่มากกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ บุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้ให้การดูแลผู้ป่วยทั้งในโรงพยาบาล และทำงานเชิงรุกเพื่อส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตร่วมกับเครือข่ายอื่น ๆ นอกระบบสุขภาพ ทั้งในโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถานประกอบกิจการ สถานสงเคราะห์ สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก เรือนจำ ฯลฯ ช่วยให้ค้นหาผู้ป่วยพบในระยะแรกเริ่ม และผลการรักษาดีกว่าการรอรับรักษาในโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว
สถานการณ์บูลลี่ในโรงเรียนและโรคซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่น เป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตระดับชาติ เป็นโจทย์ถึงภาครัฐจะยกระดับคุณชีวิตโดยเฉพาะการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจแก่เด็กไทยอย่างไร